(161) Best Practice: เพื่อปฏิบัติการที่ 'เหนือกว่า' ของทีมจิตเวชฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ (ตอนที่ 1)


“อย่าไปตีมันๆ มันยิ่งไม่สบายอยู่” .. เอ๊ะ! มันไม่ถูกแล้วนะ ในสถานการณ์เดียวกัน ญาติมองเห็นเจ้าหน้าที่กำลังทำร้ายผู้ป่วย แต่ดิฉันเห็นผู้ป่วยกำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่

บันทึก Best Practice: เพื่อปฏิบัติการที่ ‘เหนือกว่า’ ของทีมจิตเวชฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ นี้มีเนื้อหายาวถึง 4 หน้ากระดาษ A4 ดิฉันขออนุญาตตัดมานำเสนอเป็น 2 ตอนนะคะ

เนื้อหาในบันทึกเชื่อมโยงกับเรื่อง “(112) Best Practice: ปฏิบัติการทีมจิตเวชฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์” https://www.gotoknow.org/posts/597052 ซึ่งนำเสนอเรื่องราวปฏิบัติการของทีมจิตเวชฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ที่สามารถปลดอาวุธจากผู้ป่วยฉุกเฉินได้สำเร็จแนบเนียนเหมือน "ไม่มีอะไรเกิดขึ้น" แม้ดิฉันเองที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ผู้มีประสบการณ์’ ก็เกือบจะทำให้เสียเรื่อง จึงกลับมาเขียนเล่าเรื่องดีๆ เพื่อลบล้างความผิด

วันนี้ดิฉันจะเขียนเรื่องทำนองนี้อีก เพื่อสะท้อนภาพความรุนแรงที่บุคลากรทีมจิตเวชได้รับทั้งด้านร่างกายและจิตใจ (ไม่มีเจตนาโหนกระแสบุคลากรทางการแพทย์ถูกผู้รับบริการทำร้ายร่างกายนะคะ)

เบื่องต้น เราต้องยอมรับความจริงนะคะว่าแม้ ‘ทีมปฏิบัติการจิตเวชฉุกเฉิน’ จะมีประสิทธิภาพเพียงใด ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีประสิทธิภาพสูงสุดทุกครั้งไป เพราะมีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่ปัจจัยด้านผู้ป่วย ธรรมชาติของผู้ป่วยจิตเวชที่จะเพิ่มความรุนแรงเป็นระดับ ‘ฉุกเฉิน’ ได้ตลอดเวลา ปัจจัยด้านทีมปฏิบัติการจิตเวชฉุกเฉิน เอง ในเรื่องจำนวนคน กระบวนการ สถานที่และสิ่งแวดล้อมให้บริการที่เป็นสาธารณะ ฯลฯ และปัจจัยด้าน สิ่งแวดล้อม อาทิเช่น ได้รับการกระตุ้นท้าทายจากผู้ป่วยด้วยกัน ความแออัดใน ‘ห้องสังเกตอาการ’ สถานที่ที่เราจัดไว้อำนวยความสะดวกผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ หรือแม้แต่ความกดดันจากญาติที่นำส่งผู้ป่วยก็มีผลเช่นกัน

โอกาสพัฒนาจุดที่ 1 : ผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมรุนแรงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น มีความต้องการพื้นที่เฉพาะตัวมากกว่าบุคคลทั่วไป

เหตุเกิดขึ้นเมื่อ 19 เมษายน 2560 ดิฉันเดินออกประตูด้านหลังอาคารอำนวยการเพื่อไปพักรับประทานอาหารกลางวันตามปกติ ขณะเดินผ่านห้องสังเกตอาการได้ยินเสียงตะคอกซ้ำๆ ของชายคนหนึ่งว่า

“ร้องเข้าไป ร้องเข้าไป ..”

ขณะเดียวกันก็มีเสียงร้องไห้จ้าของชายอีกคนหนึ่ง เสียงกรีดร้องกระชากซ้ำๆ เหมือนจะขาดใจ จึงมีการประสานเสียงระหว่างเสียงตะคอกแบบตำหนิคุกคามกับเสียงกรีดร้องเจ็บปวดใจอย่างต่อเนื่อง นั่นคือบรรยากาศในห้องสังเกตอาการค่ะ ส่วนบริเวณหน้าห้อง มีญาติหญิงชายยืนเกาะประตูอยู่ 3-4 คน

ดิฉันชะโงกหน้าเข้าไปในห้องก็ถึงกับอึ้ง! เพราะในห้องนั้นมีผู้ป่วยถึง 4 คน คนแรก ใกล้ประตูเป็นพระภิกษุค่อนข้างมีอายุแล้ว กำลังตะคอกผู้ป่วยชายหนุ่มตัวเล็กผอมบางท่าทางจะปัญญาอ่อนสักหน่อย กำลังกรีดร้องเป็นจังหวะรับกับเสียงตะคอก

ถัดไปคนที่สาม เป็นผู้ป่วยชายหนุ่มหน้าตาขึงขัง ทั้งสามคนถูกมัดข้อมือติดกับเก้าอี้นั่ง แล้วยังมีผู้ป่วยชายนอนบนเตียงอีกหนึ่งคน โดยมีเจ้าหน้าที่ชายยืนอยู่ในห้องนั้นหนึ่งคน

แม้ห้องนี้จะมีพื้นที่กว้าง แต่ผู้ป่วยพฤติกรรมรุนแรง(ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น)ต้องการพื้นที่เฉพาะตัวมากกว่าบุคคลทั่วไป กรณีนี้ผู้ป่วยจึง disturb หรือกระตุ้นกันเองได้ง่ายมาก

สถานการณ์เช่นนี้ดิฉันทำอะไรไม่ได้ และไม่ควรทำอะไรด้วย เพราะไม่ทราบแผนปฏิบัติการของทีมจิตเวชฉุกเฉิน อีกทั้งจะเกะกะส่งผลเสียต่อทีมปฏิบัติการ เสียมากกว่า

โอกาสพัฒนาจุดที่ 2 : การประเมินผิดพลาด เปลี่ยนผู้ป่วยจิตเวชเป็น ‘จิตเวชฉุกเฉิน’

คิดในใจได้เท่านี้ เจ้าหน้าที่ชายในห้องนั้นก็พาผู้ป่วยชายหนุ่มคนที่สามเดินออกมาจากห้อง

“ผมจะพาไปแอดมิดคับ”

หมายถึง เธอจะพาผู้ป่วยไปรับการรักษาแบบผู้ป่วยในตามคำสั่งแพทย์ค่ะ จากนั้นก็เรียกญาติให้เดินตามไปด้วย ภาพที่ดิฉันเห็นคือ เจ้าหน้าที่จับแขนผู้ป่วยไว้ เดินคู่กันลงทางลาดไป ตามด้วยญาติ ดิฉัน และคนอื่นๆ อีกหลายคน สถานการณ์เป็นปกติดี

เมื่อเดินมาถึงจุดสิ้นสุดทางลาดซึ่งเป็นถนนและฟุตบาทกว้างๆ ผู้ป่วยทำท่าออกตัววิ่งพร้อมกับสะบัดมือหลุดจากเจ้าหน้าที่ที่จับแขนเธอไว้จนกระเด็นไปทางหนึ่ง เหวี่ยงมือที่ยังมีเชือกผู้ข้อมือไปมา ยกขาเตะถีบเจ้าหน้าที่อีกสองคนที่พยายามเข้าไปควบคุมผู้ป่วย (ดิฉันเพิ่งเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ชายอีกสองคนบริเวณนั้น)

โอกาสพัฒนาจุดที่ 3 : การดูแลด้านจิตใจสำหรับญาติผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน

ดิฉันเล่าต่อนะคะ สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่พยายามควบคุมผู้ป่วยอยู่นั้น ญาติที่เป็นชายมากกว่าหนึ่งคนพยายามกอดผู้ป่วยเพื่อรั้งไว้ไม่ให้วิ่ง ส่วนญาติที่เป็นหญิงคนหนึ่งร้องบอกเจ้าหน้าที่ว่า

“อย่าไปตีมันๆ มันยิ่งไม่สบายอยู่” แล้วตรงเข้าแกะมือเจ้าหน้าที่ออกจากผู้ป่วย

เอ๊ะ! มันไม่ถูกแล้วนะ ในสถานการณ์เดียวกัน ดิฉันเห็นผู้ป่วยกำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่ญาติมองเห็นเจ้าหน้าที่กำลังทำร้ายผู้ป่วย โดยญาติที่เป็นหญิงพยายามเข้าขัดขวาง อะไรมันจะแตกต่างกันได้ขนาดนี้

ดิฉันร้องบอกให้ญาติทั้งชายและหญิงถอยออกมาให้หมด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานสะดวกขึ้น แล้วสั่งให้เจ้าหน้าที่พาผู้ป่วยขึ้นรถตู้ของโรงพยาบาลที่จอดอยู่ใกล้กัน (โดยไม่ทราบว่ารถตู้คันนี้มาจอดตรงนี้ด้วยวัตถุประสงค์ใด ฮา..) เพื่อพาไปส่งที่หอผู้ป่วยในโดยเร็ว

จังหวะนั้นเจ้าหน้าที่สามคนพยายามควบคุมผู้ป่วยชายที่ดิ้นรนเตะถีบอยู่ตลอดเวลาขึ้นรถตู้ ขณะที่ญาติที่เป็นหญิงคนเดิมยอมถอยออกมา 2-3 ก้าว แต่ร้องห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้ป่วยด้วยประโยคที่บาดใจดิฉันเป็นระยะ..

.. ขออนุญาติตัดไปตอนที่ 2 นะคะ

หมายเลขบันทึก: 627777เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2017 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2017 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท