​มหาวิทยาลัย ๔.๐ : ๑. สู่การเรียนการสอน ๔.๐



ในความเห็นของผม มหาวิทยาลัย ๔.๐ มีได้หลายแบบ แต่ทุกแบบต้องผูกพัน (engage) กับสังคม ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ร่วมทำหน้าที่เปลี่ยนแปลง (transform) สังคม จากประเทศไทย ๓.๐ สู่ประเทศไทย ๔.๐


หลักการผูกพันกับสังคม ดูได้จากเว็บไซต์ของ Engagement Thailand ที่นี่ หลักการคือ ไม่ใช่ความช่วยเหลือ (assistance) แต่เป็นความร่วมมือหรือความสัมพันธ์แบบภาคี (partnership) ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผล และร่วมสร้างความรู้ใหม่ ในยุคนี้ความร่วมมือดังกล่าวต้องเน้นสร้างนวัตกรรม


นวัตกรรมที่สำคัญที่สุดสำหรับสถาบันอุดมศึกษาคือ มหาวิทยาลัย ๔.๐ ซึ่งหมายความว่า มหาวิทยาลัยร่วมสร้างประเทศไทย ๔.๐ โดยกลไก “ทุกกิจกรรมเพื่อสร้างประเทศไทย ๔.๐” ที่เป็นพัฒนาการอย่างยั่งยืน


ผมเรียกมหาวิทยาลัย ๔.๐ ว่า Translational HE (Translational Higher Education) ซึ่งหมายถึงสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นทำงานประยุกต์ความรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคม ทุกกิจกรรมหลักมีเป้าหมายสุดท้ายที่การประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อสร้างประเทศไทย ๔.๐


ตัวหลักที่สุด (และเปลี่ยนยากที่สุด) คือการเรียนการสอน สิ่งที่ต้องเปลี่ยนเป็นปฐมคือมุมมองต่อนักศึกษา เปลี่ยนจาก “ผู้มารับถ่ายทอดความรู้” เป็น “ผู้มาร่วมทำงานเพื่อการเรียนรู้อย่างลึกและรอบด้านของตนเอง” แต่ละหลักสูตรจะต้องมีการเตรียม “งาน” ให้ทีมนักศึกษาทำ ซึ่งหมายความว่าต้องเตรียมภาคีหน่วยงานที่ประกอบกิจการที่มีงานนั้น และพร้อมที่จะให้นักศึกษาไป “ทำงาน” เพื่อการเรียนรู้ของตน การเตรียมการณ์ในขั้นนี้ต้องใช้เวลาและลงแรงความริเริ่มสร้างสรรค์ของอาจารย์และฝ่ายบริหารอย่างมาก รวมทั้งต้องเปลี่ยนกติกาการคิดเวลาและภาระงานของอาจารย์และพนักงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องแก้หลักสูตรด้วย


ตามข้างบนนั้น คือการ transform การเรียนการสอน และการบริหารการเรียนการสอน ไปเป็น translational learning คือ เรียนจากการประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริง ใช้กิจกรรมการ “ทำงาน” เป็นกิจกรรมหลักของการเรียนรู้ นักศึกษาได้สัมผัสสถานการณ์จริง สัมผัสทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลว ได้เรียนรู้ทั้งจากความล้มเหลวและความสำเร็จ ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้สอดคล้องกับชีวิตจริง

อาจารย์ต้องมีทักษะในการโค้ช และ facilitate / scaffolding การเรียนรู้ของศิษย์ ให้ได้เรียนรู้ทฤษฎีอย่างลึก จากการปฏิบัติ โดยฝึกทำหน้าที่ตั้งคำถามในกระบวนการ critical reflection หลังการปฏิบัติงาน


การเรียนการสอน ๔.๐ คือ การเรียนการสอนที่ผูกพันกับสังคม เรียนรู้และสอนในสถานการจริงของสังคม เรียนรู้บนฐานของการปฏิบัติ แล้วทำความเข้าใจความรู้เชิงทฤษฎีเชิงลึก จากการปฏิบัตินั้น


วิจารณ์ พานิช

๑๔ มี.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 627704เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2017 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2017 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

This "...สิ่งที่ต้องเปลี่ยนเป็นปฐมคือมุมมองต่อนักศึกษา เปลี่ยนจาก “ผู้มารับถ่ายทอดความรู้” เป็น “ผู้มาร่วมทำงานเพื่อการเรียนรู้อย่างลึกและรอบด้านของตนเอง” แต่ละหลักสูตรจะต้องมีการเตรียม “งาน” ให้ทีมนักศึกษาทำ ..." is really a much needed change but it is also a paradigm/giant change. It goes right through the whole culture of bringing up children in Thailand. First we have to trust the children that they can do great things, while we show them that we have experiences but are still learning just like them.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท