​ยาของลูกค้า


เราจึงควรมีความรู้และทักษะมากพอที่จะบอกได้ว่า อาการแปลกๆที่เห็นนั้นเป็นผลมากจากยาหรือผลข้างเคียงของยาหรือไม่ อีกทั้งมีการรักษาหลายอย่างที่อาจเป็นข้อห้ามข้อควรระวังเมื่อคนไข้ใช้ยาบางอย่างอยู่ การไม่รู้สิ่งที่ต้องรู้เหล่านี้อาจทำให้เกิดผลเสียหรือแม้แต่เกิดอันตรายต่อลูกค้าของเรา

ถ้าเราทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะหกล้ม (Risk of Falls) ในคนแก่ เราจะพบเสมอว่า การใช้ยาหลายชนิดเกินจำเป็น (Polypharmacy) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำนายว่าคนแก่คนนั้นมีโอกาสสูงขึ้นที่จะล้ม แม้รายงานวิจัยใหม่ๆจะเสนอว่า ชนิดยาที่คนแก่ได้รับมีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงหกล้มมากกว่าจำนวนยา งานทบทวนวรรณกรรมหลายฉบับระบุชนิดของยาที่สัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงล้มเช่น กลุ่มที่ให้ผล sedatives, hypnotics, และ antidepressants ส่วนยากลุ่ม antihypertensive นั้นยังไม่แน่ชัดว่ามีผลเพิ่มความเสี่ยงล้มหรือไม่ มีการศึกษาในประเทศไทยพบว่าหากคนแก่ใช้ยามากกว่า 4 ชนิด จะมีความเสี่ยงล้มเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า

ที่กลับมาค้นดูข้อมูลเรื่องยาที่มีผลต่อความเสี่ยงในการล้มนี้ เพราะเพิ่งสอบวิชา Pharmacology in Rehabilitation ผ่านไป วิชานี้เป็นหนึ่งในหลายวิชาที่ต้องลงทะเบียนในโปรแกรม Transitional Doctor of Physical Therapy (tDPT) ที่ได้รับมอบหมาย (และสมัครใจ) ลงเรียนออนไลน์กับ University of Montana ในภาคเรียนนี้ และหัวข้อ Geriatric Pharmacology ก็เป็นหัวข้อสุดท้ายที่เรียนก่อนสอบ

โดยปกตินักกายภาพบำบัดรู้กันอยู่ว่า ผู้สูงอายุซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่(อาจจะที่สุด)ของเรานั้น มีการใช้ยารักษาโรคและภาวะต่างๆเกือบทุกคน สถิติในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีคนแก่ (อายุมากกว่า 65 ปี) อยู่ร้อยละ 12 ของประชากรแต่ปรากฏว่าใช้ยาประมาณ 1 ใน 3 ของยาทั้งหมดที่จ่ายตามคำสั่งแพทย์ในประเทศ (ไม่นับรวมยาที่ซื้อกินเอง และยาบำรุง/อาหารเสริมทั้งหลาย) ในประเทศไทยซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุใกล้เคียงกันก็คงมีตัวเลขสัดส่วนการใช้ยาไม่ต่างกัน (หรืออาจมากกว่า เพราะระบบยาของไทยน่าจะเข้าถึงยาได้ง่ายกว่า) ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะโดยธรรมชาติคนแก่มักจะเจ็บป่วยบ่อยและรุนแรงกว่าคนวัยอื่น ทั้งนี้ก็ทำให้ผลข้างเคียงจากการใช้ยาก็ย่อมจะมากตามไปด้วย

นอกจากจะได้เรียนคุณสมบัติและการใช้ยาในกลุ่มโรคต่างๆ 14 กลุ่มแล้ว หัวข้อการใช้ยาในคนแก่ถูกยกมาเป็นหัวข้อเฉพาะของวิชานี้ ซึ่งเนื้อหาพูดถึงประเด็นสำคัญในลูกค้ากลุ่มนี้ของเราหลายอย่าง รวมทั้งประเด็นที่เน้นหนักว่ายาที่คนแก่ใช้อยู่ส่วนหนึ่งนั้นเป็นการใช้ยาที่ผิดหรือเกินจำเป็น

ปัญหานี้เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ใช้เพราะเคยมีอาการบางอย่างแต่หลังจากนั้นแม้จะไม่เป็นแล้วก็ยังใช้ต่อมาเรื่อยๆ (เช่น กลุ่มยารักษาภาวะหัวใจวาย) ยาบางอย่างเคยใช้เมื่ออายุน้อยแต่เมื่อแก่ลงอาจเป็นยาที่ห้ามหรือควรระวังในการใช้ หรืออาจต้องเปลี่ยนขนาดที่ใช้แต่คนแก่ก็ไม่ทราบ บางคนอาจใช้ยาซ้ำซ้อน (ที่เราเห็นบ่อยๆในคลินิกคือ ยาลดปวดลดอักเสบทั้งหลาย) คนแก่(และนักกายภาพบำบัดเองด้วย)ไม่ทราบว่ายาหลายชนิดอาจมีปฏิกิริยาต่อกัน หรือมีการใช้ยาเพื่อรักษาอาการที่เป็นผลข้างเคียงของยาชนิดอื่น

นอกจากนั้นนักกายภาพบำบัดยังอาจต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงการตอบสนองของร่างกายกับยาชนิดต่างๆทั้ง Pharmacokinetics การดูดซึม การกระจาย เมตาบอลิสม และการจำกัดยาออกจากร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป และ Pharmacodynamics ทั้งในระดับเซลซึ่งมักจะจำเพาะกับชนิดของยา และระดับระบบร่างกายซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดความสามารถการรักษา Homeostasis ของร่างกายในคนแก่

ยังมีประเด็นสำคัญอื่นคือปัจจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ยาของคนไข้ เช่น ความเข้าใจผิด การหลงลืม หรือการกินยาไม่ตรงตามที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่ง การสะสมยา การแบ่งปันยากันเอง การใช้ยาร่วมกับสารอื่นๆที่ได้จาก อาหาร อาหารเสริมเป็นต้น

ฉันนึกไปถึงเรื่องราวที่พี่จู (ดร.ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรชุมชน) พี่เภสัชกรที่เชิญมาบรรยายพิเศษให้นักกายภาพบำบัดชุมชนที่มาอบรมระยะสั้นที่คณะฯเคยเล่าให้ฟัง ภาพประกอบคือยานับสิบถุงของคนแก่ในชุมชนที่พี่จูและเภสัชกรในทีมไปจัดการให้ที่บ้าน ยังจำได้ว่ารู้สึกตกใจและกังวลแทนนักกายภาพบำบัดที่ต้องไปดูแลคนไข้ที่บ้านอยู่มาก

หลายครั้งที่เราสังเกตเห็นอาการผิดปกติของคนไข้ในคลินิกหรือในชุมชนก่อนคนอื่น อาจเพราะนักกายภาพบำบัดมักมีโอกาสใช้เวลาอยู่กับคนไข้นานและบ่อย รวมทั้งวิธีรักษาทางกายภาพบำบัดก็มักจะกระตุ้นการทำงานของร่างกายหลายระบบ เช่น หัวใจและหลอดเลือด หายใจ ผิวหนัง สมองโดยเฉพาะการรับรู้และการคิด การทรงตัว เราจึงควรมีความรู้และทักษะมากพอที่จะบอกได้ว่า อาการแปลกๆที่เห็นนั้นเป็นผลมากจากยาหรือผลข้างเคียงของยาหรือไม่ อีกทั้งมีการรักษาหลายอย่างที่อาจเป็นข้อห้ามข้อควรระวังเมื่อคนไข้ใช้ยาบางอย่างอยู่ การไม่รู้สิ่งที่ต้องรู้เหล่านี้อาจทำให้เกิดผลเสียหรือแม้แต่เกิดอันตรายต่อลูกค้าของเรา

การได้ศึกษาและทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับยา จึงน่าจะเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่สถาบันการศึกษาและองค์กรวิชาชีพต้องช่วยกันเพิ่มเติมให้นักกายภาพบำบัดผู้ประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ

ท่านที่สนใจทบทวนรายชื่อยาที่คนแก่ควรหลีกเลี่ยงหรือใช้ด้วยความระมัดระวัง สามารถเข้าไปดูรายการที่ Dr. Mark Beers สร้างและพัฒนาไว้ได้ที่ http://www.americangeriatrics.org/files/documents/...

หรือลิงค์สรุปอย่างสั้น http://esahec.org/wp-content/uploads/2016/10/printablebeerspocketcard.pdf

หมายเลขบันทึก: 627522เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2017 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2017 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท