นักศึกษาแพทย์อยากทำความดี ปีที่ ๗


นักศึกษาแพทย์อยากทำความดี ปีที่ ๗

ผมเก็บบันทึกนี้ไว้นาน ๑ ปี เพราะมีงานบางอย่างเข้ามาแทรก จนลืมไปเลย ว่า “นักศึกษาแพทย์อยากทำความดี” นั้น มีความสำคัญ เพราะมันเกิดขึ้นทุกปี และปีนี้ก็มีเข้ามาอีกหน

แต่เอาเหอะ มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มา และอีกอย่าง มันก็ไม่ได้กินแรงผมมากนัก เพราะท้ายที่สุด ผมก็เอาจากที่นักเรียนแพทย์เขียนมานั่นแหละเข้ามาแปะไว้ โดยอ้างชื่อคนเขียนมาด้วย

เรื่องราวของปีที่ ๗ นี้ก็คล้ายๆกับทุกปี นั่นคือนักเรียนแพทย์คิดโปรเจคมาก่อน และเมื่อคุยกันผมก็จะถามถึงประโยชน์ที่สังคมจะได้รับประโยชน์จากเขา เมื่อเห็นพ้องก็ดำเนินการไป เมื่อไม่เห็นพ้องก็ต้องมาปรับกันใหม่

“พวกเราจะไปสร้างฝายกัน” นั่นเป็นการเปิดประโยคที่ทำให้ผมต้องรีบหยุดฟังอย่างตั้งใจ

พวกเขาจะทำเช้นนั้นจริงๆ มีการไปติดต่อสอบถามตัวแทนหมู่บ้านมาเรียบร้อย มันเหมือนดูดี แต่ผมว่ามันไม่น่าจะใช่

ไม่น่าจะใช่ที่อำเภอตะโหมดต้องการฝาย (อันที่จริง นี่เป็นความรู้สึกส่วนตัวนะครับ)

ไม่น่าจะใช่ที่ฝายที่ทำด้วยทรายใส่กระสอบจะอยู่ทน (อันที่จริง มันน่าจะกลายเป็นการทำให้ลำน้ำตื้นเขินมากขึ้น เพราะวันหนึ่งทรายก็จะรั่วออกไปหมด และกระสอบก็จะกลายเป็นขยะ)

ไม่น่าจะใช่ ที่พวกเราเพียงสิบกว่าคนจะสร้างฝายเสร็จในวันเดียวและเงินเราคงไม่พอ (อันที่จริง เงินไม่พอคงไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะว่าเราหาเงินได้ นักเรียนผมวางแผนกันมาแล้วว่าจะไประดมทุนที่ไหนบ้าง ซึ่งไม่พ้นการมายืนขอรับบริจาค แต่ประเด็นหลักคือ เราจะไปเป็นภาระให้ชาวบ้านเขาหรือเปล่า นั่นคือประเด็น)

ไม่น่าจะใช่ ฯลฯ ผมพยายามหาข้อหักล้างให้พวกเขาได้ลองฝึกหาทางแก้ต่อไปไม่หยุด

...................................................................................................................................................

นั่นเป็นปีที่ ๗ ที่ผมได้มีโอกาสดูแลนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๒ ที่พวกเขาต้องทำกิจกรรมเพื่อคนอื่นในวิชาเรียนที่มีชื่อราบเรียบว่า “รายวิชากิจกรรมเสริมหลักสูตร” อันที่จริง หัวใจของรายวิชานี้ก็คือ “การทำงานเพื่อคนอื่น”

เรา (หมายถึงผมและนักเรียน) ผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับรายวิชานี้มามาก (เอิ่ม อันที่จริงควรจะเป็นผมมากกว่าสินะ) ผมมีโอกาสนั่งฟังนักเรียนแพทย์ที่ต้องมาเป็นลูกศิษย์ในกลุ่มเสนอโครงการต่างๆ บางงานมองตาก็รู้ว่านักเรียนของผมอยากไปเที่ยว เช่น อยากไปปลูกป่าบ้าง ปลูกป่าโกงกางบ้าง และแน่นอนว่าผมไม่เคยเห็นด้วย ถ้าใครได้มีโอกาสย้อนไปอ่านประวัติศาสตร์ของซีรี่ส์นี้ก็จะพบว่า กลุ่มผมเริ่มด้วยงานไปอ่านหนังสือให้เด็กโรคเรื้อรังในโรงพยาบาล การไปนั่งคุยกับบรรดาหมอนวดเพื่อ reflection ไปร่วมในการแต่งหน้าผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาล และการไปดูแลคนไข้ที่อาคารเย็นศิระ

.................................................................................................................................................

เราใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนเรื่องโครงการอยู่นาน โดยผมเองก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยสักเท่าไหร่นักกับโครงการที่ว่านี้ แต่ก็แอบไปติดต่อลูกศิษย์ซึ่งเป็นผู้อำนวการโรงพยาบาลตะโหมด เพื่อจะให้เขาเป็นตัวช่วยในการดูแลน้องๆเมื่อไปทำกิจกรรม “สร้างฝาย”

“อาจารย์ครับ โครงการนี้ไม่ผ่านโดยกรรมการใหญ่ครับ” ลูกศิษย์มารายงานให้ทราบในทันทีที่ถูกแขวนโครงการโดยกลุ่มอาจารย์ที่เป็นกรรมการอีกที ซึ่งบอกตรงๆ ผมนี่แทบอยากจะไปจูบปากขอบคุณทุกท่านเลยจริงๆ

............................................................................................................................

นักเรียนของผมมักจะมีความกังวลเรื่องการประเมินผลโครงการ ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาพวกเขาต้องการการประเมินที่วัดเป็นตัวเลขได้ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงไม่ใช่ผมที่เป็นครูที่ปรึกษา เพราะผมมักจะขอให้พวกเขาประเมินโดยการสะท้อน การพูดคุย การมานั่งทำความเข้าใจกับตนเองและเพื่อนๆในกลุ่ม ผมเรียกกระบวนการนี้ว่า “reflection” โดยเราจะมานั่งคุยกัน สอบถามถึงอารมณ์ ประโยชน์จากการทำงาน ซึ่งผมจะให้พวกเขาเริ่มต้นกันที่ “ประโยชน์ของผู้ที่เราไปทำกิจกรรมให้” “เขาได้อะไรจากพวกเรา” และท้ายที่สุดก็มาจบกันที่ “แล้วเราได้อะไรกลับมาจากงานที่ทำบ้าง” เพราะหัวใจของรายวิชานี้ก็คือ การบำเพ็ญประโยชน์ไง

..................................................................................................................

มาถึงตรงนี้ ผมจึงอยากจะหยิบยกส่วนหนึ่งของรายงานที่พวกเขียนขึ้นมาให้ดูนะครับ

คำนำ

โครงการ “เสกสรรปันสุข” นี้ จัดทำขึ้นตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของรายวิชากิจกรรมเสริมหลักสูตร ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนของชั้นปีที่สอง หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้นักศึกษาได้ตระหนักและนึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน อีกทั้งยังเสริมสร้างการทำงานเป็นหมู่คณะและความสามัคคีภายในกลุ่มด้วย

สำหรับทางคณะผู้จัดทำ ได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นภายใต้การดูแลของนายแพทย์ธนพันธ์ ชูบุญ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่ม โดยโครงการที่จัดทำ จะเน้นกิจกรรมทางด้านดนตรี ด้านศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมนันทนาการ มีจุดประสงค์เพื่อร้างความผ่อนคลายให้กับผู้ป่วยและญาติที่มาเข้ารับการรักษาและการบริการ ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ด้วยความเคารพ

นักศึกษาแพทย์กลุ่ม PBL 1 และ PBL 13

ชั้นปีที่ 2 ปีการศึกษา 2558

บทคัดย่อ

ก่อนที่จะริเริ่มเป็นโครงการ “เสกสรรปันสุข” นั้น ทางกลุ่มได้มีความคิดที่จะทำฝายชะลอน้ำ ณ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง สืบเนื่องจากมีสมาชิกในกลุ่มซึ่งเป็นคนในพื้นที่แห่งนั้น และได้เล็งเห็นความสำคัญว่าพื้นที่อำเภอตะโหมดจำเป็นต้องมีน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งเพื่อรองรับการเกษตร จึงได้ทำการติดต่อกับผู้ใหญ่ในชุมชนซึ่งก็คือคุณลุงวรรณ ขุนจันทร์ เพื่อติดต่อขอลงพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่ได้รับการอนุมัติจากทางแพทยศาสตร์ศึกษา เนื่องจากเกรงว่าการทำฝายชั่วคราวนั้นจะทำให้เกิดผลกระทบต่อส่งแวดล้อม และสร้างภาระให้ชาวบ้าน ทางกลุ่มจึงได้จัดทำโครงการอื่นขึ้น ซึ่งก็คือโครงการ “เสกสรรปันสุข” นั่นเอง

“โครงการเสกสรรปันสุข” เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 กลุ่ม PBL1 และ PBL13 รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 19 คน โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อมอบความสุข และลดความตึงเครียดจากการรอรับบริการ ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่มีผู้รอรับบริการมากถึง 5,000 คนต่อวัน แรกเริ่มนั้น “โครงการเสกสรรปันสุข” ถูกจัดตั้งด้วยแนวคิดที่ว่า จะจัดกิจกรรมอย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงต่อตัวผู้ป่วยและผู้ใช้บริการจำนวนมาก อีกทั้งต้องไม่สร้างภาระให้กับโรงพยาบาล และต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงต้องเหมาะสมกับจำนวนคนที่ทำโครงการด้วยด้วย จากแนวคิดที่ริเริ่มขึ้นมานั้น ได้นำพวกเราไปสู่การลงมือปฏิบัติตามโครงการจริง โดยได้รับคำแนะนำและควบคุมดูแลของอาจารย์ธนพันธ์ ชูบุญ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา รวมถึงพี่มีนา(พยาบาล) และฝ่ายเครื่องเสียงชองโรงพยาบาล ที่ได้ให้การช่วยเหลือในครั้งนี้ด้วย

ในครั้งแรกชองการประชุมคิดแผนงานนั้น อาจารย์ได้พูดถึงเรื่องของกิจกรรมเวทีสุขภาพขึ้นมา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดเป็นประจำทุกสัปดาห์ที่สองและสี่ของเดือน มีทั้งการแสดงดนตรีเพื่อผ่อนคลาย และการบรรยายความรู้ด้านสุขภาพ พวกเราจึงได้ตระหนักว่า การใช้เวทีการแสดงซึ่งเป็นเวทีที่อยู่บริเวณชั้นหนึ่งหน้าห้องจ่ายยา ในการเป็นที่จัดกิจกรรมเพื่อมอบความสุขและลดความตึงเครียดจากการรอรับบริการนั้น เป็นแนวคิดที่ดีและเกิดขึ้นได้จริง จึงได้นำมาสู่การลงมือทำที่เป็นรูปธรรม โดยที่ PBL1 และ PBL13 จะเป็นผู้จัดการในการจัดหาการแสดงของวงดนตรี รวมถึงใช้ความสามารถด้านนาฏศิลป์ของกลุ่มมาแสดงเองด้วย ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อมอบความสุขในครั้งนี้ รวมแล้วเป็นจำนวน 4 ครั้ง ประกอบด้วย 1. การแสดงจากวงดนตรีดุริยางค์จากฐานทัพเรือสงขลา 2. การแสดงนาฏศิลป์จากชมรมนาฏรักษ์ และดนตรีโฟล์กซองจากนักศึกษาแพทย์ 3. การแสดงจากนักเรียนโรงเรียนชาลีการดนตรี และการเป่าแซกโซโฟนจากผศ.ดร.คมสันต์ วงศ์วรรณ 4. การแสดงจากวงดนตรี TSU Band ของมหาวิทยาลัยทักษิณ

ซึ่งในแต่ละครั้งที่จัดกิจกรรม ทางกลุ่มของเราได้ตระหนักถึงจุดประสงค์และเงื่อนไขที่วางไว้เสมอ เพราะนอกจากการจัดการเรื่องวงดนตรีแล้ว พวกเรายังเป็นคนจัดเก้าอี้ในการรับชมการแสดง จัดโต๊ะขายซีดีจากเวทีสุขภาพและเสื้อเพื่อสมทบทุนเข้ามูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ รวมถึงมีการแจกจ่ายยาดมสมุนไพรให้แก่ผู้มารับบริการที่ผ่านไปมาอีกด้วย นอกจากการจัดกิจกรรมหลักตามโครงการที่วางไว้ กลุ่มของพวกเรา ได้ช่วยเหลืองานของกิจกรรมเวทีสุขภาพที่จัดขึ้นโดยโรงพยาบาลอีกเป็นจำนวน 2 ครั้งด้วย จากการดำเนินงานในครั้งนี้แน่นอนว่าย่อมมีอุปสรรคเกิดขึ้น แต่พวกเราก็ใช้ความสามัคคีทำให้สามารถผ่านอุปสรรคนั้น และสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายได้ อีกทั้งโครงการนี้ทำให้พวกเราเกิดความรู้สึกอิ่มเอมใจในการเป็นผู้ให้ สมดั่งพระราชปณิธานที่กล่าวไว้ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”

หลักการและเหตุผล

เนื่องจากในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มีคนไข้และญาติที่มารอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งนี้จำนวนมาก โดยในแต่ละวันจะมีคนไข้เข้ารับการรักษาประมาณ 3,500 คน ซึ่งหากรวมกับจำนวนญาติของคนไข้ จะมีผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลประมาณ 5,000 คน ต่อวัน

ผู้มารับบริการ ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มักจะมีความทุกข์ 2 อย่าง คือ ความทุกข์กายและทุกข์ใจ ความทุกข์กายเกิดจากโรคหรือความเจ็บป่วยของผู้ป่วยเอง บางส่วนอาจมีความทุกข์และความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง ส่วนความทุกข์ใจเกิดได้จากโรคที่เป็นอยู่ ทั้งในการรอคอยพบแพทย์ รอรับผลการตรวจ หรือรอเข้ารับการรักษา

จากการสังเกตบรรยากาศบริเวณแผนกผู้ป่วยนอกที่มีความแออัดและพลุกพล่าน หากมีวิธีใดที่สามารถบรรเทาความทุกข์และความวิตกกังวลของคนไข้ได้ ก็จะเป็นการสร้างเสริมกำลังใจของคนไข้และผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลให้ดีมากยิ่งขึ้น ทางกลุ่มจึงจัดทำโครงการเสกสรรปันสุข เพื่อบรรเทาความเครียดแก่คนไข้และญาติระหว่างที่รอเข้ารับการรักษา ประกอบด้วยกิจกรรมด้านดนตรี ด้านศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมนันทนาการ อีกทั้งมีการนำเสนอการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร โดยการสาธิตการทำยาดมสมุนไพรด้วยตนเอง พร้อมทั้งแจกจ่ายผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ทางกลุ่มจะเข้าร่วมกิจกรรมเวทีสุขภาพของทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อเป็นอีกหนทางหนึ่งในการช่วยให้ผู้ที่มาเข้ารับการรักษาและญาติมีความผ่อนคลาย ลดความเครียด ตลอดจนเกิดความประทับใจในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

วัตถุประสงค์

1.เพื่อสร้างความผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดให้กับผู้ป่วยและญาติที่มารอเข้ารับการรักษา

2.เพื่อเสริมสร้างการทำงานเป็นหมู่คณะและพัฒนาความเป็นผู้นำให้กับนักศึกษาแพทย์

3.เพื่อเพิ่มทักษะทางสังคม มีความสามารถในการจัดการและประสานงานกับบุคลากรหรือ

หน่วยงานภายนอก

4.เพื่อหารายได้เข้าสู่กองทุนมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยรายได้ส่วนนี้จะถูกนำไป

ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้


ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1.ผู้ที่มารอรับบริการของโรงพยาบาลมีความสุขในการเข้าร่วมกิจกรรมและพึงพอใจต่อกิจกรรม

2.ผู้ที่มารับบริการของโรงพยาบาลรู้สึกผ่อนคลายความตึงเครียดและความกังวลจากอาการเจ็บป่วย

3.ผู้มารับบริการมีทัศนคติต่อโรงพยาบาลที่ดีขึ้น

4.ประชาชนมีความรู้ด้านการใช้สมุนไพรมากขึ้น

5.นักศึกษาแพทย์ได้ฝึกการทำโครงการซึ่งเป็นการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม

การดำเนินโครงการ

1.ขั้นวางแผนงาน
1.1 ประชุมกับสมาชิกในกลุ่ม PBL 1และ13 เพื่อเลือกประธาน รองประธาน และร่วมกันคิดโครงการ
1.2 นัดวันและเวลา กับอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อนำเสนอโครงการอย่างย่อ
1.3 พูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อหาโครงการที่ดีและเหมาะสมที่สุด รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการให้เหมาะสม
1.4 ปรับปรุงตามคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา และนัดวัน/เวลาที่นำเสนอโครงการอีกครั้งหนึ่ง
1.5 สรุปโครงการที่ได้ พร้อมกับวางแผนเริ่มขั้นดำเนินการ

2.ขั้นดำเนินการ
2.1 ติดต่อประสานงานกับ พว.มีนา ทองวงศ์ ผู้รับผิดชอบงานเวทีสุขภาพเพื่อกำหนดวันในการทำกิจกรรมได้ถูกต้อง

2.2 วางแผนกิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละวัน ซึ่งจะจัดขึ้นใน 1-2 วันต่อสัปดาห์ โดยมีรายละเอียดกิจกรรม ดังนี้

2.2.1 วันที่ 23 มีนาคม 2559 ช่วยกิจกรรมเวทีสุขภาพของโรงพยาบาลและช่วยหาเงินเข้ามูลนิธิของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

2.2.2 วันที่ 24 มีนาคม 2559 เชิญวงดนตรีดุริยางค์ จากฐานทัพเรือสงขลามาแสดง และทางโครงการได้มีการแจกยาดมสมุนไพรให้กับคนไข้และญาติที่เข้ารับการรักษา

2.2.3 วันที่ 25 มีนาคม 2559 เชิญชมรมนาฏรักษ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาร่วมแสดง และมีการเซิ้งโปงลางจากสมาชิกของ PBL1, 13 รวมถึงการแสดงดนตรีของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2

2.2.4 วันที่ 30 มีนาคม 2559 เชิญนักเรียนจากโรงเรียนชาลีการดนตรีมาแสดง และ ผศ.ดร.คมสันต์ วงศ์วรรณ์ ภาควิชาสารัตถศึกษา คณะศิลปศาสตร์

2.2.5 วันที่ 5 เมษายน 2559 เชิญวงดนตรีจากมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา

2.2.6 วันที่ 8 เมษายน 2559 ช่วยกิจกรรมเวทีสุขภาพของโรงพยาบาลและช่วยหาเงินเข้ามูลนิธิของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ รวมถึงแจกยาดมสมุนไพร

3.ขั้นสรุปและประเมินผลการจัดกิจกรรม

3.1 การนับจำนวนผู้รับบริการที่มาเข้าร่วมกิจกรรม

3.2 Self-reflection ของนักศึกษาแพทย์แต่ละบุคคล ผ่านบันทึก

ผลการดำเนินการ

วันที่ 23 มีนาคม 2559 และวันที่ 8 เมษายน 2559 ทางกลุ่มได้ช่วยกิจกรรมเวทีสุขภาพของโรงพยาบาล มีผู้สนใจกิจกรรมจำนวนมาก และช่วยหาเงินเข้ามูลนิธิของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

วันที่ 24, 25, 30,และ 5 เมษายน 2559 ทางกลุ่มได้จัดกิจกรรมขึ้น ในวันที่ระบุไว้ดังกล่าว โดยมีการแสดง จากหลากหลายที่ด้วยกัน อาทิ วงดนตรีดุริยางค์ จากฐานทัพเรือสงขลา, ชมรมนาฏรักษ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สมาชิกของ PBL1, 13 ,นักเรียนจากโรงเรียนชาลีการดนตรี, ผศ.ดรคมสันต์ วงศ์วรรณ์ ภาควิชาสารัตถศึกษา คณะศิลปศาสตร์, วงดนตรีจากมหาวิทยาลัยทักษิณ กิจกรรมที่จัดขึ้นได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย โดยสังเกตได้จากจำนวนเก้าอี้ที่ไว้รับชมการแสดงนั้นเต็ม ผู้ชมหลายๆคนยืนชมการแสดง และต่างปรบมือเมื่อจบการแสดง ในระหว่างการแสดงผู้ชมมีสีหน้าที่ยิ้มแย้ม เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข

นอกจากกิจกรรมข้างต้นแล้วทางกลุ่มยังช่วยมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์โดยการ ช่วยขายเสื้อของทางมูลนิธิ, ขาย CD เวทีสุขภาพ, ขายหนังสือและแจกเอกสารให้ความรู้ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี มีผู้คนเข้ามาซื้อจำนวนมากจนเสื้อมูลนิธิหมด และมีคนจำนวนมากมายที่ได้รับชมการแสดงแล้วร่วมบริจาคเงินเข้ามูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการช่วยโรงพยาบาลทางหนึ่ง นอกจากนี้ทางโครงการได้มีการแจกยาดมสมุนไพรให้กับคนไข้และญาติที่เข้ารับการรักษาพร้อมกับให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร ซึ่งก็ได้รับความสนใจเช่นกัน โดยดมยาสมุนไพรที่เตรียมมานั้นได้หมดลงอย่างรวดเร็ว

จากการจัดโครงการ “เสกสรรปันสุข” ได้ช่วยคลายความเครียดของผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยได้จริง ช่วยส่งเสริมกิจกรรมของมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานคริทร์ อีกทั้งยังฝึกฝนให้พวกเราได้ทำงานกันเป็นทีม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการมีเมตตา การช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน รู้จักการแบ่งปัน การเป็นผู้ให้ ซึ่งสอดคล้องกับพระปณิธานของพระราชบิดาที่ได้กล่าวไว้ว่า “ให้ถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”

สรุปผลการประเมินโครงการ
ในการดำเนินโครงการครั้งนี้ ได้ประเมินความสัมฤทธิ์ผลของการดำเนินโครงการ โดยอาศัยการสอบถามซึ่งจะประเมินความพึงพอใจต่อโครงการ ของผู้ที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ โดยตัวชี้วัด คือ ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการ โดยกลุ่มของเราได้มีการพูดคุยและให้ทำแบบสอบถาม ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนมีความสุขที่ได้เข้าร่วมในโครงการนี้ เนื่องจากเป็นการบรรเทาความเครียดจากการรักษา หรือ เป็นสิ่งช่วยคั่นเวลาในการรอรับยาของผู้ป่วย กิจกรรมนี้ทำให้ผู้ป่วยได้รับความรู้หรือความสนุกสนานไปทั่วๆกัน โดยกิจกรรมทำเราได้ทำนั้น มีทั้งการให้ความรู้ เช่น วันไบโพลาร์โลก ซึ่งประชาชนทั่วไป รวมถึงพวกเราบางคนยังไม่รู้จักความผิดปกตินี้เลย และยังมีกิจกรรมให้ความสนุกสนานอีก เช่น การแสดงนาฏศิลป์ไทย การแสดงเป่าแซกโซโฟน ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับฟังกัน และอีกครั้งคือการแสดงดนตรีจากคณาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมขึ้น จะมีผู้เข้าร่วมโครงการแน่นจนเก้าอี้เต็มแทบทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่าผู้คนที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลเกิดความสนใจ และให้การตอบรับในโครงการที่กลุ่มเราจัดทำขึ้นมา

ในส่วนของสิ่งที่ต้องปรับปรุงนั้น มีสองอย่าง คือ 1.) การเตรียมอุปกรณ์ ซึ่งให้วันที่เชิญคณาจารย์ และ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ การเตรียมอุปกรณ์เกิดความผิดพลาด ซึ่งเกิดจากการประสานงานที่ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทำให้อุปกรณ์ที่เตรียมมาไม่พอต่อความต้องการที่คณาจารย์ต้องการ แต่ก็มีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ทำให้เหตุการณ์ผ่านมาด้วยดี 2.) การประชาสัมพันธ์โครงการยังไม่ทั่วถึง โดยผู้มาร่วมโครงการบอกว่า มาเจอด้วยบังเอิญ เพราะได้มาหาหมอที่โรงพยาบาล โดยผู้เข้าร่วมโครงการหลายคนชอบ และ ถามว่าโครงการนี้จะมีอีกเมื่อไร ครั้งหน้าใครมาให้ความรู้ หรือความสนุกสนานอีก

สรุปผลการดำเนินโครงการ

จากการดำเนินโครงการ "เสกสรรปันสุข" โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด เสริมสร้างความสุขแก่ผู้คนที่มาโรงพยาบาล ณ บริเวณที่ทำการจ่ายยาและเวทีสุขภาพ โดยการจัดกิจกรรมบนเวทีสุขภาพ ทางด้านดนตรีและนาฏศิลป์เพื่อความบันเทิงรื่นรมย์จรรโลงใจ อันได้แก่ การแสดงและการขับร้องเพลงของวงดนตรีทหารเรือ การแสดงของวงดนตรีดุริยางคศาสตร์สากล คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ การแสดงรำไทยของโรงเรียนสอนดนตรีของคุณครูชาลี การแสดงเซิ้งสาละวันของชมรมนาฏรักษ์ ม.อ. และการแสดงเซิ้งโปงลางของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่สอง ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่ม นอกจากนี้ มีการบริการยมดมให้แก่ผู้คนที่ผ่านไปมา ณ บริเวณดังกล่าว

จากการดำเนินโครงการ ทำให้ได้เห็นถึงความพอใจ เนื่องจากได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและได้รับคำเอ่ยชมจากผู้คนที่ผ่านไปมาในบริเวณนั้น อันได้แก่ญาติผู้ป่วย ผู้ป่วย และบุคลากรของทางโรงพยาบาล มีกลุ่มคนมานั่งชมการแสดงบนเวที และมีคนอีกจำนวนหนึ่งยืนชมการแสดงเนื่องจากเก้าอี้ไม่พอ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการดำเนินโครงการ เกิดปัญหาต่างๆขึ้นด้วยเหตุสุดวิสัย ซึ่งสมาชิกในกลุ่มเจ้าของโครงการแสดงความรับผิดชอบร่วมกันโดยการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าและสามารถจัดกิจกรรมจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี รวมทั้งการดำเนินโครงการนี้ ทำให้สมาชิกในกลุ่มรู้จักการทำงานเป็นทีม รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของแต่ละคน ได้รับประสบการณ์ต่างๆที่ไม่เคยได้มาก่อน และที่สำคัญ คือการได้รับความสุขจากการเป็นผู้มอบความสุขให้ผู้อื่นผ่านจากจัดโครงการ................................................................................................................

เป็นยังไงครับ ลูกศิษย์ผมไม่ธรรมดาเลยใช่ไหม และจากนี้ไปก็เป็นส่วนที่พวกเขาได้เขียนบรรยายความรู้สึกของตัวเองออกมา ซึ่งเป็นส่วนที่ผมให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะนั่นคือ “เขาได้รับอะไรจากการทำงานบ้าง”

นางสาวชุดามน หล่อเพชร 5710310035

ความรู้สึกจากการทำกิจกรรมครั้งนี้

จากกิจกรรมเสกสรรปันสุข ทำให้ดิฉันได้รับประสบการณ์ใหม่ๆหลายอย่าง คือดิฉันได้เซิ้งโปงลางครั้งแรก ตอนแรกที่เพื่อนขอช่วยให้มาเซิ้ง ดิฉันได้ปฏิเสธไปเพราะดิฉันไม่เคยรำเซิ้งหรือทำกิจกรรมด้านนาฏศิลป์มาก่อนในชีวิต และดิฉันก็ไม่มั่นใจในตัวเองว่า ดิฉันจะทำออกมาได้ดีหรือเปล่า อีกอย่างดิฉันกังวลว่าจะทำให้เพื่อนที่แสดงด้วยลำบาก หากดิฉันจำท่าไม่ได้ ก็ต้องมาสอนท่ารำให้ฉันอยู่บ่อยๆ อย่างที่บอกคือ ดิฉันไม่เคยรำมาก่อนเลยและไม่มีพื้นฐานด้านนาฏศิลป์ด้วย แต่พอดิฉันมาคิดดูอีกทีว่า อย่างน้อยเราก็ควรลองทำอะไรใหม่ๆที่ไม่เคยทำบ้าง และการเซิ้งครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่จะสามารถทำให้คนไข้และญาติผ่อนคลายและคลายกังวลได้บ้าง ดิฉันเลยเปลี่ยนใจและตอบตกลงไป การเซิ้งโปงลางไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยสำหรับคนอย่างดิฉัน ถึงแม้ว่าการแสดงจะไม่ถึง 10 นาทีแต่ท่าเยอะมากและยากด้วย แต่ดิฉันก็ไม่ควรยอมแพ้ ในเมื่อเราเลือกที่จะทำแล้ว ก็ควรทำมันให้เต็มที่ พอถึงวันที่แสดงจริง ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นและอายมาก ดิฉันกลัวจะจำท่าไม่ได้ กลัวจะลืมท่า แต่พอแสดงจริงกลับไม่เป็นแบบนั้น ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี ดิฉันได้เห็นรอยยิ้มของคนไข้ที่มาชมแล้วทำให้ดิฉันมีความสุข คุณลุง คุณป้ารวมถึงคุณตา คุณยายชอบแสดงแบบนี้มาก เพราะจังหวะดนตรีมันสนุกดี พอได้ฟังทำให้คนไข้ผ่อนคลายได้ มันทำให้ดิฉันรู้สึกดีใจ ภูมิใจที่อย่างน้อยได้เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถทำให้คนไข้ยิ้มได้

ประโยชน์ที่คนอื่นได้รับจากกิจกรรมของเรา

เนื่องจากกิจกรรมของเราเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในโรงพยาบาล โดยหน้าที่ของพวกเราคือ ติดต่อวงดนตรีจากที่ต่างๆมาแสดง มีการแสดงนาฏศิลป์และช่วยหาเงินเข้ามูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ด้วย ดังนั้นคนที่ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมในครั้งนี้คือ คนไข้และญาติ การแสดงจะเป็นแนวสุนทรียภาพ สร้างความผ่อนคลายให้แก่ คนไข้และญาติ อีกทั้งเป็นการสร้างกำลังใจให้แก่คนไข้ด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานและการแก้ไข

การติดต่อประสานงานกับทางโรงพยาบาล ที่เกิความผิดพลาดในบางครั้ง อาจจะเป็นการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน แต่ ทางวงดนตรีที่มาเล่นก็ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับเครื่องดนตรีจนงการแสดงผ่านไปได้ด้วยดี

.......................................................................................................

นางสาวเนตรกวิน พาณิชยูปการนันท์ 5710310081

โครงการนี้เริ่มต้นมาด้วยการที่เราจะต้องทำงานอะไรสักอย่าง เพื่อสุดท้ายจะได้มีงานส่งไปอย่างที่เขากำหนดมา พอเราได้โจทย์มาแบบนั้น เราก็เลยแค่คิดไปว่าจะทำอะไรดีที่เราทำแล้วรู้สึกว่าสนุก ไม่น่าเบื่อ แล้วก็มีงานส่งแค่นั้นก็พอ ไม่เอางานที่ต้องทำหลายๆครั้งเพราะมันเสียเวลาเลยสรุปกันว่าไปทำฝายดีกว่า น่าจะสนุกดี ไม่เคยทำมาก่อน เลยหา PBL เพิ่มอีก PBL หนึ่ง เพื่อหาคนมาช่วย แล้วเอาความคิดนี้ไปเสนอกับอาจารย์ที่ปรึกษา เราก็พยายามหาเหตุผลต่างๆเพื่อตอบคำถามกับอาจารย์ คำถามของอาจารย์ทำให้เราได้ฉุกคิดว่า เราทำไปเพื่ออะไร เขาได้ประโยชน์จริงๆรึเปล่า หรือว่าเราแค่คิดไปว่าอยากทำอะไร แต่ไม่เคยถามเขาเลยว่าอยากให้เราทำอะไรให้ หรือว่าขาดแคลนอะไร ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เราลืมสิ่งที่สำคัญที่สุดไป การทำโครงการนี้ไม่ได้แค่ทำให้เราผ่านวิชานี้เท่านั้น มันมีอะไรที่มากกว่านั้น เพราะมันเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำอะไรสักอย่างเพื่อคนอื่นๆ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย เราก็เลยศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมจากคนในพื้นที่ว่า ที่นั้นจำเป็นต้องการฝายจริงๆรึเปล่า ถ้าทำไปแล้วจะเกิดผลเสียหรือผลดีมากน้อยแค่ไหน ลักษณะของงานเป็นอย่างไร แล้วเราทำอะไรได้บ้างพอได้คำตอบของคำถามเหล่านี้แล้ว ก็ส่งตัวโครงร่างโครงการไป สรุปคือไม่ผ่าน ตอนนั้นเราก็เลยได้ความคิดอื่นๆเพิ่มขึ้นมาว่า เราทำอะไรเพิ่มจากนี้รึเปล่า เราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้นะ ก็เลยเพิ่มการไปช่วยผ่อนคลายความเครียดที่ชุมชนแถวๆนั้นกันไหม (ตอนนั้นคิดว่าจะไปค้างที่โรงพยาบาล) เพราะเรายังเป็นแค่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 คงจะไปช่วยในด้านของความรู้หรือเรื่องของการรักษายังไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถให้คนไข้ที่มารอคิวผ่อนคลายได้ แล้วก็เอาไปเสนอต่ออาจารย์อีกรอบ อาจารย์ก็เลยแนะนำว่า “งั้นทำที่นี่เลยไหม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์” เลยได้จุดเริ่มต้นของโครงการจริงๆของเรา งานของเราก็จะมีทั้งคนที่ไปติดต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ทำเอกสาร ติดต่อและเชิญกลุ่มคนมาแสดงบนเวที จัดสถานที่ จัดจำหน่าย CD จากเวทีสุขภาพและเสื้อ เพิ่มสมทบทุนให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ นักแสดงบนเวที พิธีกร คนบันทึกภาพ งานที่ฉันทำส่วนใหญ่จะเป็นจัดสถานที่ ขาย CD และเสื้อจากมูลนิธิ เป็นคนบันทึกภาพ ซึ่งจากการทำหน้าที่เหล่านี้ ทำให้ได้พูดคุยกับคนที่แวะเวียนมาหลายๆคน ได้เห็นภาพบรรยากาศโดยรวมในขณะนั้นไปด้วย บางคนก็เจอ 3 ครั้งของการจัดกิจกรรมทั้งหมด 6 ครั้ง เพราะว่าเขาต้องพาญาติมาทำแผลทุกวัน ผู้คนที่เดินผ่านไปมา ที่รอรับยา มีมากมาย บางคนก็นั่งรถเข็นมีญาติมาช่วยเข็น คนสูงอายุ วัยกลางคน เด็กๆ พอเขาเห็นว่ามีดนตรี มีการบรรยายความรู้ก็มานั่งฟัง แล้วก็ให้ความสนใจ มีรอยยิ้ม พอเห็นแบบนั้นแล้วทำให้เรารู้สึกว่าถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะยังไม่ได้มีความรู้ไปช่วยเขาได้ แต่เราได้ให้ความสุข ทำให้เขาได้ผ่อนคลายเพียงแค่ไม่กี่นาทีก็นับว่ามันบรรลุวัตถุประสงค์ของการมีโครงการนี้แล้ว การที่เราได้ให้อะไรซักอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นตามกำลังที่เรามี

......................................................................................................

นางสาวศุภศิริ สัมพันธรัตน์ 5710310155

จากการที่ได้ทำกิจกรรมเสกสรรปันสุขภายในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กิจกรรมของเราได้แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ กิจกรรมบนเวทีและกิจกรรมขายสินค้าที่ระลึกของมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในส่วนของกิจกรรมบนเวที เราก็เริ่มจากการประชุมหารือกันว่ามีสมาชิกในกลุ่มคนไหนพอจะรู้จักใครที่จะมาแสดงให้กิจกรรมของเราได้บ้าง หลังจากรวบรวมข้อมูลได้แล้วก็ให้สมาชิกในกลุ่มที่รู้จักหรือเคยติดต่อกับผู้ที่เราอยากให้มาแสดงประสานงานให้ผู้แสดงมาร่วมแสดงในวันจัดกิจกรรม โดยการแสดงของเราจะเน้นการแสดงที่ให้ความบันเทิงซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ นอกจากนี้ยังมีการแสดงจากสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งเพื่อนๆ นักแสดงก็ได้สละเวลามาซ้อมการแสดงเพื่อมอบความสุขให้กับผู้ชมในวันจริง ระหว่างนั้นก็มีสมาชิกอีกส่วนไปติดต่อเรื่องสถานที่และเครื่องเสียง ในแต่ละครั้งที่จัดกิจกรรมระหว่างที่มีการแสดงบนเวทีเราได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยถามความรู้สึกของคนที่มานั่งชมและนั่งฟังพบว่าพวกเขาพอใจและดีใจที่มีกิจกรรมแบบนี้ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปซักถามพูดคุยกับผู้ที่ชมการแสดงมากนักแต่ดูจากจำนวนผู้ที่สนใจชมการแสดง รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หรือแม้แต่แววตาเวลาที่เขาชมการแสดง มันทำให้รู้สึกเลยว่า กิจกรรมที่พวกเราทำอยู่นี้ ถึงแม้จะไม่ได้ไปสร้างสิ่งของหรืออะไรที่คงอยู่เป็นรูปธรรมจับต้องได้แต่มันก็ได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ไม่แพ้กันนั้นก็คือ สร้างความสุข ความสบายใจ ให้แก่คนที่มาใช้บริการในโรงพยาบาล คนที่เราไม่มีโอกาสรู้จักแม้แต่ชื่อ แต่เราก็รู้ว่าลึกๆแล้ว แต่ละคนมีความทุกข์อยู่ในใจกันทั้งนั้น การที่เราได้แบ่งปันความสุขให้เขามันอาจไม่มีอะไรมาวัดว่ามากน้อยขนาดไหนไม่มีอะไรจับต้องได้ แต่เรารู้สึกได้ มันเหมือนเป็นกระจกที่สะท้อนกลับไปกลับมา เราตั้งใจที่จะสร้างความสุขให้พวกเขา พวกเขาได้รับความสุขนั้น แล้วความสุขจากพวกเขาก็สะท้อนกลับมาถึงเรา ถึงแม้ส่วนมากเราจะทำงานอยู่เบื้องหลัง แต่เวลาที่พวกเขายิ้มให้นักแสดงบนเวที ก็เหมือนกับเขายิ้มให้เราด้วย (ถึงพวกเขาจะไม่รู้ตัวก็ตาม) ซึ่งหลายครั้งมันก็ทำให้เราแอบยิ้มตามไปด้วย เป็นความสุขที่เกิดขึ้นทั้งกับผู้ให้และผู้รับ เป็นกิจกรรมที่พิสูจน์ให้เห็นประโยคที่ว่า 'กลิ่นดอกไม้จะติดมือผู้ให้เสมอ' เป็นความจริง นอกจากนี้อีกกิจกรรมหนึ่งคือ กิจกรรมขายของที่ระลึกของมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นอีกกิจกรรมที่จะส่งผ่านความช่วยเหลือถึงบุคคลที่จะได้รับประโยชน์จากเงินส่วนนี้ ถึงแม้เราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาคือใคร แต่เชื่อแน่ชัดว่าเงินส่วนนี้จะช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น และยินดี ดีใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งผ่านความช่วยเหลือนี้

............................................................................................................................

นางสาวปวรา ณ รังสี 5710310086

ความรู้สึกจากการที่ได้ทำกิจกรรมนี้

ในตอนแรกที่รู้ว่าต้องเปลี่ยนจากทำฝาย มาเป็นกิจกรรมนี้ ก็แอบรู้สึกกังวลลึกๆว่า มันจะดีแล้วหรอ ที่จะให้คนมาเล่นดนตรีในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่แออัด และวุ่นวาย มันจะหนวกหูรบกวนผู้ป่วยหรือเจ้าหน้าที่บ้างหรือเปล่า (ส่วนหนึ่งเพราะว่าไม่ค่อยมาใช้บริการโรงพยาบาล เลยไม่ค่อยรู้สภาพว่าจริง ๆ แล้วเป็นอย่างไรด้วย) แล้วผลลัพธ์มันจะคุ้มค่ากับการมาทำกิจกรรมนี้หรือไม่ มีกิจกรรมอื่นที่มีประโยชน์กว่านี้อีกหรือไม่ จนมาได้เริ่มทำจริง ทางกลุ่มมีการติดต่อประสานงาน ได้จัดงาน เตรียมงาน จนมาถึงวันที่มีการจัดกิจกรรมจริง ๆ ได้เห็นภาพบรรยากาศ ทั้งโดยส่วนตัวนอกเหนือจากการช่วยจัดงานแล้ว ก็รับหน้าที่สัมภาษณ์ อัดและจัดทำวิดิโอความรู้สึกของผู้ใช้บริการ ได้รับฟังความคิดเห็นมากมายของคนหลายกลุ่มจึงรู้สึกว่า กิจกรรมนี้มีประโยชน์ต่อผู้มาใช้งานในโรงพยาบาลมากกว่าที่คิด มีผู้ใช้บริการมากมายให้ความสนใจขณะเดินผ่านไปมา บางคนถึงกับมาจับจองเก้าอี้แถวหน้าตั้งแต่ยังไม่เริ่มมีการแสดง ก็รู้สึกประทับใจ ผู้ป่วยหลายคนชอบ และสนุกสนานกับการได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ บางคนชอบถึงขนาดฝากเงินมาเป็นทิปให้นักร้อง บางคนถึงกับเดินมาบอกว่า นี่เป็นกิจกรรมที่ดีและเอ่ยปากชมว่า เป็น นศพ. แต่ก็ขึ้นไปรำบนเวทีได้เยี่ยมมากๆ บางคนดูการแสดงไปยิ้มไป ก็ทำให้เผลอยิ้มตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังรู้สีกขอบคุณ ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ ทั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล (พี่สอง) ที่ออกเงินและเวลาส่วนตัวในการดูแลสมาชิกในกลุ่ม หน่วยงานอื่นๆที่มาช่วยเหลืองานด้วยความเต็มใจและไม่ขอรับเงิน เพื่อนๆในกลุ่มที่ช่วยกันทำกิจกรรมด้วยความตั้งใจแม้บางอย่างจะไม่เคยทำมาก่อน เป็นครั้งแรกที่มีความรู้สึกว่า สิ่งที่ตัวเองทำ เป็นประโยชน์ของคนอื่น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจจะทำสิ่งที่ดีต่อไปในอนาคต

............................................................................................................................

นางสาววรรษมน อุไรวรรณ 5710310134

Feedback โครงการเสกสรรปันสุข

โครงการเสกสรรปันสุข เป็นการสร้างความสุขให้กับผู้ที่มาใช้บริการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้จัดโครงการ รู้สึกมีความสุขที่ได้เป็นผู้ให้ ทำงานสาธารณะ ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเป็นผู้สร้างรอยยิ้ม ในความรู้สึกจริงๆแล้วคือ เหนื่อยกับงานมาก เพราะอยากทำโครงการระยะสั้น แต่พอสุดท้าย ในส่วนการทำคลิปวิดิโอ ได้สัมภาษณ์ผู้ป่วยก็เห็นผลการทำงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น ว่าสิ่งที่เราทำได้ผลจริง และพวกเขาอยากให้เราทำงานนี้ต่อ ทำให้คิดว่า บางทีการทำโครงการในระยะยาวก็ไม่ได้เหนื่อยมากมายนัก

ส่วนในเรื่องการทำงานในทีม รู้สึกว่าพวกเราไม่ค่อยรู้ขอบเขตงาน ไม่รู้จำนวนงานทั้งหมด รู้แต่ภาพรวม ทำให้ไม่ได้วางแผนและจัดสรรให้ดีว่าใครทำอะไร ได้แต่แบ่งงานเป็นครั้งๆที่งานมา หรือถ้าไม่อยากเรียกรวมคนก็ทำกันเอง ทำให้เพื่อนบางคนทำงานบางส่วนที่คนอื่นไม่รู้ อาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งเรื่องปริมาณการทำงานของแต่ละคนได้ ทำให้รู้สึกว่าคงจะดีกว่านี้ถ้าพวกเราได้พูดคุยกันมากขึ้น ไม่ทำแต่งาน

งานเสกสรรปันสุขนี้ โดยรวมแล้ว รู้สึกมีความสุขมากๆ ที่ได้ทำงานเป็นผู้ให้ ได้เห็นรอยยิ้มของผู้อื่นที่เกิดจากงานที่เราลงแรง ผู้ป่วย ผู้ที่มารับบริการของทางโรงพยาบาลก็ได้มีโครงการของพวกเราบรรเทาความรู้สึกต่างๆ ทั้งความเครียด ความเบื่อหน่าย ความวิตกกังวล และได้มีกิจกรรมระหว่างรอ กลุ่มคนที่เราเชิญมาก็คงรู้สึกว่าได้มาเป็นผู้ให้ และคงมีความสุขเช่นกัน และพวกเราเองก็ได้รับประสบการณ์ การทำงานเป็นทีม และทำประโยชน์เพื่อสังคม

....................................................................................................

นางสาวพัณนิตา ดีเอียด 5710310188

จากการกิจกรรมเสกสรรปันสุข เป็นกิจที่เราจะหาการแสดงเพื่อมาผ่อนคลายความเครียดให้กับผู้ป่วยซึ่งเราจะทำทั้งหมด 6 ครั้ง แต่ปัญหาคือเราจะหาอะไรมาแสดงให้ครบ ติดต่อไปตามที่ต่างๆได้บ้างไม่ได้บ้าง ทำให้เราต้องจัดกิจกรรมที่เราเองเป็นผู้แสดง แล้วคนในกลุ่มใครจะแสดง กว่าจะตกลงหาคนแสดงทั้งหมดได้ก็เหลือเวลาอีกแค่ 2 วัน ซึ่งคนที่แสดงหนึ่งในนั้นก็คือหนูเอง เวลา 2 วันใครจะจำท่าได้เพลงยาว 8 นาที ถ้าโวยวายไปยังไงมันก็แก้อะไรไม่ได้ พวกเราจึงต้องเสียสละเวลาในการอ่านหนังสือส่วนหนึ่งมาซ้อม เพื่อจะได้การแสดงที่สวยงามและโครงการที่สมบูรณ์ ในเวลา 2 วันที่พวกหนูซ้อมการแสดง เพื่อนๆอีกส่วนหนี่งก็ไปช่วยทำกิจกรรมในโรงพยาบาล พวกเขาคงเจอปัญหาอื่นๆเหมือนกัน ทุกคนเหนื่อยและเสียสละพอๆกัน ซึ่งมันหมายความว่าเราตั้งใจทำโครงการนี้ด้วยใจจริงๆ เราอยากให้ทุกคนที่มาเข้ารับการรักษาได้มีความสุข ผ่อนคลายความเครียดลงไปบ้างขณะรอรักษา จากการทำโครงการทุกครั้งที่ผ่านมา หนูเห็นได้ชัดเจนเลยว่าทุกคนที่ได้ชมการแสดงหรือฟังดนตรีเขามีความผ่อนคลาย เขามีกิจกรรมทำ เขาไม่เบื่อหน่ายกับการรอ จนเขามีความสุขกับกิจกรรมที่เราทำให้ บางคนที่ต้องมาโรงพยาบาลทุกวัน เขาถามหาพวกเราว่าจะมาทำกิจกรรมอีกครั้งวันไหน เขาดูชอบกิจกรรมที่เราทำมากๆ ส่วนตัวเราเองไม่ได้แค่หาการแสดงมาเท่านั้น เรายังมีการหาเงินเข้ามูลนิธิโรงพยาบาล มีผู้คนสนใจร่วมซื้อของและบริจาคจำนวนมาก ระหว่างนั้นเราก็ได้พูดคุยกับผู้ป่วยบ้าง ญาติผู้ป่วยบ้าง บางคนที่เข้ามาเขาอยากจะพูดอยากจะเล่าให้เราฟังว่าเขาเป็นอะไร เราก็จะคอยคุยกับเขาเพื่อให้เขาได้ระบายความเครียดได้ โครงการเสกสรรปันสุขถือว่าเป็นโครงการที่ดี อาจจะดูเหมือนโครงการง่ายๆ แต่เมื่อเราได้ลงมือทำเองจริงๆ เราจะรู้เลยว่าโครงการที่ว่าง่ายเนี่ย มันได้รับค่าตอบแทนอย่างมหาศาล ค่าตอบแทนที่ว่าคือความสุข คือรอยยิ้ม เพราะการที่เราจะทำให้ใครสักคนหนึ่งมีความสุขได้นั้นมันไม่ง่ายเลย

.........................................................................................................

นายจักรพล สัมมาทิตย์ 5710310012

ความรู้สึก

จากการทำกิจกรรม “เสกสรรปันสุข” ที่ได้จัดการแสดงบนเวทีสุขภาพของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ให้ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและบุคคลากรในโรงพยาบาลได้ดู เพื่อเป็นการช่วยลดความตึงเครียดที่เกิดกับผู้ป่วยและญาติจากการที่ต้องรอคิวตรวจหรือรับยาและจากโรคที่ผู้ป่วยเป็น ในการจัดกิจกรรมมีเรื่องราวต่างๆมากมายทั้งความสุขที่ได้เป็นคนจัดกิจกรรม ความสุขของผู้ที่มาร่วมรับชมการแสดง รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างจัดกิจกรรมและการเตรียมการ

สิ่งที่เห็นในวันที่จัดกิจกรรมคือรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้ป่วยและญาติที่มานั่งรับชมการแสดง สัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่ปราศจากความตึงเครียดในพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมการแสดงซึ่งต่างจากบริเวณอื่นๆที่บรรยากาศเต็มไปด้วยความตึงเครียดอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เห็นว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยและญาติที่มานั่งรอให้โรงพยาบาลจริงๆ การแสดงส่วนใหญ่ที่คนดูชอบคือการแสดงรำ (เซิ้งสาละวันและเซิ้งโปงลาง) และการแสดงดนตรีที่เป็นเพลงเก่าๆ เนื่องจากผู้ที่มารับชมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุสังเกตุได้จากการที่มีกิจกรรมดังกล่าวแล้วจะมีคนมานั่งฟังมากขึ้น

ในเวลากิจกรรม ส่วนมากแล้วผมจะทำงานบริเวณขายของเพื่อหาเงินเข้ามูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผมได้เห็นคนมากมายที่เข้ามาช่วยซื้อของเพื่อเป็นการสบทบทุนให้มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และยังมีบางส่วนที่มาร่วมบริจาคโดยตรง ทุกครั้งที่ใส่เงินลงกล่องบริจาคจะสังเกตเห็นรอยยิ้มของคนที่มาซื้อของและร่วมบริจาคอยู่เสมอ ทำให้ผมรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นว่าความช่วยเหลือยังคงมีอยู่ในสังคมไทย อีกงานหนึ่งที่ทำคือการแจกน้ำดื่มให้ผู้ป่วยบริเวณเวทีสุขภาพ ทุกครั้งที่เอาน้ำไปให้จะได้รับคำขอบคุณและรอยยิ้มจากคนรับเสมอ อีกทั้งยังเห็นว่าผู้รับมีความสุขที่ได้ดื่มน้ำเย็นๆในเวลาที่อากาศร้อน

การจัดกิจกรรมนี้ทำให้ผมรู้จักการให้ การให้ที่ไม่ใช่การให้สิ่งของแต่เป็นการให้ความสุข เป็นการสร้างบรรยากาศที่ปราศจากความตึงเครียดและสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนที่มีความเครียด ในการจัดกิจกรรมย่อมต้องมีปัญหาและความเหนื่อยล้าเป็นธรรมดา แต่ทุกครั้งที่ผมหันไปเห็นคนที่มาร่วมชมยิ้มและหัวเราะอย่างมีความสุข ทุกครั้งที่ผมได้เห็นคนที่มาร่วมบริจาคให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์บริจาคเงินด้วยรอยยิ้ม ทำให้ผมหายเหนื่อยในทันทีและมีความสุขมาก ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิงที่ได้มาจัดกิจกรรม “เสกสรรปันสุข”

...........................................................................................................................................

นายธนภัทร เลิศวิทยาวิวัฒน์ 5710310062

จากการทำกิจกรรมนี้กระผมมีความรู้สึกหลาย ๆ อย่าง เริ่มแรกจากการวางแผนงานด้วยตนเองซึ่งพวกกระผมก็ได้เจออุปสรรคระหว่างงาน ในตอนนั้นรู้สึกว่า เราจะทำมันออกมาได้จริง ๆ เหรอ งานจะออกมาดีหรือไม่ จึงเกิดความกังวลใจ แต่หลังจากที่ได้ปรึกษากับอาจารย์ พวกเราก็ได้ข้อสรุปงานออกมาดี

เมื่อถึงวันงาน พวกเราได้จัดกิจกรรมบันเทิงบนเวทีสุขภาพ โดยกิจกรรมก็มีมากมาย ทั้งการแสดงร้องเพลงจากที่ต่าง ๆ การแสดงรำ การแสดงดนตรี ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่นั่งสำหรับผู้ป่วยที่มารอรับยา โดยในตอนแรกมีจำนวนคนดูเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นก็มากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับรอยยิ้มบนใบหน้า ซึ่งเราก็ได้สัมภาษณ์ผู้ป่วยบางส่วน ทุกคนนั้นล้วนชื่นชอบ เพราะเป็นการแก้เหงาและความเบื่อหน่ายให้กับพวกเขานั่นเอง

นอกจากกิจกรรมบนเวทีแล้ว ในทุก ๆ วันเรายังได้มีการขายเสื้อและแผ่นซีดีความรู้จากเวทีสุขภาพ เพื่อเข้ากองทุนมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในการนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ ทำให้เราได้สร้างโอกาสในชีวิตของผู้คน ให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น

จากทั้งหมดแม้ในงานจะมีอุปสรรคบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ได้สร้างโอกาสและรอยยิ้มให้กับผู้ป่วย กระผมรู้สึกดีจริง ๆ ที่ได้ทำกิจกรรมนี้

............................................................................................................

นายนภดล หมัดอาหวา 5710310072

Reflection

จากการที่กลุ่มของพวกเราได้เล็งเห็นถึงปัญหา สภาพบรรยากาศภายในโรงพยาบาล ระหว่างการมารอคอยของผู้มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการรอรับยาของผู้ป่วย การรอคอยของญาติผู้ป่วย หรือแม้แต่การรอรับการรักษาของผู้ป่วย จะเห็นว่าการรอคอยเหล่านี้ เต็มไปด้วยความรู้สึกตึงเครียดและความกังวล จากผู้ที่มาใช้บริการ กลุ่มของพวกเราจึงจัดทำโครงการ เสกสรรปันสุข ขึ้นซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นที่เวที สุขภาพของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ไม่ว่าจะเป็นการโชว์การเล่นดนตรี จากวงดนตรีที่พวกเราได้ติดต่อเชิญมาเข้าร่วมบรรเลง การร้องเพลงและโชว์ดนตรีจากสมาชิกในกลุ่มและเพื่อนในคณะแพทยศาสตร์ การแสดงนาฏศิลป์ของสมาชิกในกลุ่ม ที่ได้จัดขึ้นบนเวทีนั้น เป็นการผ่อนคลายความเครียดและให้ความบันเทิง แก่ผู้มาใช้บริการภายในโรงพยาบาล ทำให้ผู้มาใช้บริการไม่รู้สึกถึงความเครียดและความกังวลในการมารับการรักษาหรือการรอคิวเป็นเวลานาน นอกจากการแสดงบนเวทีแล้ว กลุ่มของพวกเรายังมีการขายของที่ระลึกไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เสื้อ ซีดีการบรรยายสุขภาพจากเวทีสุขภาพ เพื่อสมทบทุนผู้ป่วยที่ยากไร้ของมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และในวันที่มีงานการบรรยายบนเวทีสุขภาพของโรงพยาบาล กลุ่มของพวกเรายังช่วยให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการโรงพยาบาลที่มานั่งฟังการบรรยาย เช่นการ เสิร์ฟน้ำ มีการจัดเก้าอี้ และเก็บเก้าอี้ เมื่อจบงาน อำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ที่ทำงาน เช่น แจกแบบประเมินและแผนพับความรู้ของงานในวันนั้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการช่วยงานบนเวทีสุขภาพของโรงพยาบาลหรืองานติดต่อของวงที่จะเข้ามาเข้าร่วมในกิจกรรมของเรานั้นทำให้ ได้เรียนรู้ถึงการทำงานในระบบกลุ่มซึ่งต้องใช้ทักษะในการติดต่อประสานงานเกิดการเรียนรู้ถึงการที่จะปรับตัวและสื่อสารกับคนหลายๆรูปแบบเพื่อบรรลุจุดประสงค์ของเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เรียนรู้ถึงการวางตัวต่อบุคคลในหลายๆระดับ ฝึกทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นประโยชน์ที่กระผมได้รับจากกิจกรรมนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วการเห็นผู้มาใช้บริการมีความรู้สึกที่ดีในการมารอรับบริการก็ทำให้ผมรู้สึกถึงความสุข แม้ว่าเราจะจัดกิจกรรมเหนื่อยแค่ไหนผมก็รู้สึกว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้ทำลงไปไม่ใช่ได้ความสุขกับตัวเองแต่รู้ถึงความสุขจากคนรอบข้างที่เราทำให้ก็เพียงพอแล้ว

...........................................................................................................

นายสุรินทร์ แซ่ตัน 5710310167

จากการทำกิจกรรมเสริมหลักสูตรนี้ปัญหาแรกที่เกิดก็คือไม่รู้ว่าจะทำอะไรดีและไม่กล้าที่จะทำ กลัวผลที่ตามมาหลายๆอย่างและไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะคุ้มค่ากับที่ลงทุนไปหรือไม่ เริ่มแรกในกลุ่มคิดจะไปทำฝายแต่ปัญหาหลักคือพวกเราในกลุ่มขาดความรู้ด้านการสร้างฝายและกิจกรรมไม่ผ่าน ทำให้คิดกิจกรรมใหม่ขึ้นมาคือเสกสรรปันสุขซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องทำในวันจันทร์ถึงศุกร์ในช่วงเช้าซึ่งมีเรียนทำให้พวกเราต้องจัดตารางเวลาให้ดี

บรรยากาศในโรงพยาบาลในช่วงเช้าจะเต็มไปด้วยผู้ป่วยที่มารอคิวซึ่งเมื่อมีดนตรีหรือกิจกรรมต่างๆที่ทำก็จะทำให้คนไข้ไม่เบื่อและลดความเครียด ครั้งแรกที่ผมไปทำกิจกรรมเสริมหลักสูตรก็ได้มีการแจกน้ำเฉาก๊วย ทุกครั้งที่ยื่นให้กับคนที่เดินผ่านไปผ่านมาก็ได้เห็นรอยยิ้มที่ตอบกลับมา ถึงบางคนจะมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่สำหรับผมคิดว่าการทำอะไรแล้วเกิดความสุขก็พอแล้ว บางครั้งก็ได้เข้าไปคุยกับคนไข้ที่มานั่งฟังเพลงที่เวทีสุขภาพก็รู้สึกว่ากำลังใจเป็นสิ่งสำคัญการที่คนไข้ได้มาฟังเพลง มีกิจกรรมให้ทำ หรือมีคนมานั่งคุยเอาใจใส่ก็จะทำให้คนไข้คลายกังวลในเรื่องต่างๆและมีแรงสู้กับโรคร้ายที่เข้ามารุมเร้า

ความประทับใจทุกครั้งที่ได้ทำกิจกรรมจะเห็นคนที่หลากหลายมีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุก็ได้เห็นรอยยิ้มและสีหน้าที่มีความสุขและการช่วยกันทำงานของทุกฝ่ายตั้งแต่เครื่องเสียง ดนตรี และพวกเราพีบีแอลทั้งสองกลุ่มทำให้งานลุล่วงไปได้ดีแม้จะมีบกพร่องไปบ้างแต่ทุกคนก็ตั้งใจที่จะมาทำกิจกรรมเพื่อสังคม

.............................................................................................................

นางสาวกาญจนี กาญจนโสภณ 5710310008

ดิฉันได้รับสิ่งต่างๆมากมาย จากการทำโครงการเสกสรรปันสุข ไม่ว่าจะเป็นการฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม การจัดการงาน วางแผนดำเนินโครงการ ร่วมกัน ตลอดจนการแก้สถานการณ์ล่วงหน้าต่างๆ เช่นในกรณีที่มีเครื่องดนตรีไม่เพียงพอ ก็ได้เปลี่ยนแนวดนตรีตามเครื่องดนตรีที่อยู่ โครงการนี้ได้ทำให้ดิฉันเห็นมุมมองความคิดหลายๆด้านมากขึ้น จากการที่ได้พูดคุยกับผู้ป่วยและญาติคนไข้ที่มาชมการแสดง ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ฝึกการสื่อสารพูดคุย ชักชวนให้คนมาซื้อสินค้าของทางมูลนิธิสงขลานครินทร์ หรือบริจาคเงินเพื่อเข้ามูลนิธิ นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกความอดทน เพราะต้องมีการขนย้ายโต๊ะ เก้าอี้จำนวนมากมาให้ผู้ชม ผู้แสดงใช้งาน และสุดท้ายส่งที่ดิฉันประทับใจที่สุดคือ การได้เห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ของผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยในโรงพยาบาล

สิ่งที่ดิฉันได้มอบให้กับผู้อื่น ดิฉันคิดว่า คงเป็นความสุข การผ่อนคลายความเครียด วิตกกงวล

จากการที่ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ได้รับชมการแสดง ได้ความรู้จากเวทีสุขภาพ เอกสารความรู้ ได้ยาดมสมุนไพร และได้ช่วยเหลือมูลนิธิสงขลานครินทร์ โดยการนำเงินบริจาคเข้ามูลนิธิ

........................................................................................................................

นางสาวชีวาพร นิลพันธ์ 5710310034

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 อย่างดิฉัน คิดมาเสมอว่าถ้าเราเดินเข้าไปที่โรงพยาบาลตอนนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง เรายังไม่รู้เลยว่าเราจะรักษาคนไข้ได้อย่างไร เจาะเลือด ฉีดยา หรือแม้แต่จะวัดความดันยังทำไม่ได้ แต่เมื่อได้มาทำกิจกรรมครั้งนี้เราเข้าไปในสถานะเดิมคือ “นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2” แต่เราได้ทำในสิ่งที่แตกต่าง เราเลือกที่จะรักษาคนไข้ทางใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพอจะทำได้ในตอนนี้ เราได้เห็นคนมานั่งฟังดนตรี ชมการแสดงมีความสุขไปกับการรับชม มันทำให้เรารู้สึกมีความสุขขึ้นมาว่าอย่างน้อยเราก็ทำให้พวกเขาเพลิดเพลินได้ บางคนผ่านมาและหยุดเดินเพียงสั้นๆ หรือบางคนที่ชมตลอดการแสดง และมีการถามว่าจะมีอีกเมื่อไหร่ ทำให้เรารู้สึกได้ว่าการทำกิจกรรมแบบนี้ในโรงพยาบาลสามารถผ่อนคลายความเครียดความกังวลจากสิ่งต่างๆได้

จากการทำงานครั้งนี้เราพบปัญหาต่างๆมากมาย อย่างเช่น การประสานงานที่เกิดความคลาดเคลื่อนเรื่องเวลาขึ้นทำให้ต้องมีคนมารอ การสื่อสารที่ผิดพลาดทำให้มีเครื่องตนตรีไม่พร้อม และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย ในตอนนั้นถึงแม้ว่ามันจะวุ่นวายแต่ทุกฝ่ายก็ช่วยกันจนสามารถแก้ปัญหาได้ ในส่วนตัวของดิฉันแล้วไม่ได้มีหน้าที่อะไรเป็นหลัก แต่ครั้งหนึ่งได้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรกับเพื่อนอีกหนึ่งคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คิดจะทำได้และก็ทำไม่ได้ดีอะไรจริงๆ แต่ก็ดีใจที่ได้ลองทำ การทำงานในกลุ่มใหญ่ๆเราต้องสื่อสารกันให้ชัดเจนและถูกต้อง การมีกันหลายคนทำให้เราสามารถช่วยกัน หรือเมื่อมีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นมาแล้วเราก็ต้องช่วยกันแก้ไขได้ และดิฉันเชื่อเสมอว่าทุกปัญหาจะกลายมาเป็นประสบการณ์ และมันจะทำให้เราเติบโตขึ้น

การได้เห็นคนที่มารับชมกิจกรรมต่างๆที่เราจัดขึ้นนั้นมีความสุขขึ้น ถึงแม้อาจจะเป็นการฆ่าเวลาก็ตามแต่ก็ทำให้การฆ่าเวลานี้ไม่น่าเบื่อและสนุกสนาน สำหรับคนที่ทุกข์หรือกังวลจากการเจ็บป่วยเราก็เพียงแต่หวังว่าการมาชมครั้งนี้จะทำให้คนไข้หรือญาติคนไข้เหล่านี้ผ่อนคลายความเครียดลงไปได้บ้าง และทำให้มีทัศนคติต่อโรงพยาบาลที่ดีขึ้นว่าไม่ใช่สถานที่ที่มีแต่ความเจ็บป่วย ความกังวล ความทุกใจ หรือสถานที่ที่ต้องมาเสียเวลารอนาน แต่การมาโรงพยาบาลในครั้งนี้ก็สามารถสร้างความบันเทิง ความสุขและให้กำลังใจสามารถรักษาให้ทุกคนให้ผ่านพ้นสิ่งต่างๆไปได้ รวมถึงบุคลากรของโรงพยาบาลถึงแม้ทุกคนจะแทบไม่มีเวลาว่างแต่การได้ยินเสียงเพลงที่ดังขึ้น การได้ผ่านมาเห็นจะสามารถคลายความกังวลหรือความเหน็ดเหนื่อยได้

นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราตั้งใจที่จะทำมันขึ้น มันอาจไม่ใช่สิ่งใหญ่ ไม่สามารถวัดผลออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ แต่การได้เห็นผู้อื่นมีความสุขจากสิ่งที่เราทำ ทำให้ดิฉันรู้สึกอิ่มเอมใจว่าอย่างน้อยเราก็ได้ทำในสิ่งเล็กๆของเราให้เกิดผลได้

...........................................................................................................

นางสาวนภัสสร ตันสกุล 5710310073

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้มอบการผ่อนคลายให้กับผู้อื่น จะเรียกมันว่าความสุขมั้ย ก็พูดได้ไม่เต็มคำเพราะเราจัดกิจกรรมแค่ 2 ชม. เวลาสั้นๆ ที่ผู้ใช้บริการได้เข้าร่วมกิจกรรม มันอาจไม่ได้ช่วยให้เค้ามีความสุขขึ้นมากมาย หรืออาจไม่ได้แก้ปัญหาด้านสุขภาพได้ขนาดนั้น แต่รู้สึกเหมือนตัวเองได้ซื้อความตึงเครียด การรอคอย หรือความกังวลได้ในช่วงเวลาหนึ่ง การจัดกิจกรรมของเราอาจไม่ได้ทำให้ชีวิตใครมีความสุขขึ้นหรือดีขึ้นขนาดนั้น แต่หนูคิดว่าแค่นี้ก็มากพอแล้วกับการที่ช่วยแบ่งเบาความกังวลในการมา รพ. ได้ในช่วงเวลาสั้นแต่หนูรู้สึกว่ามันมีความหมาย เวลาทีเราบอกว่าเรา 'เห็นรอยยิ้มของผู้ใช้บริการ' มันเป็นอะไรที่ดูเหมือนจัดวัดเป็นสถิติหรือจะเขียนรายงานไม่ได้ แต่ตอนยืนมองมันได้ซึมซับบรรยากาศมันรู้สึกดีจริงๆ รู้สึกว่า 2 ชม. นี้เราได้ให้อะไรกับคนได้หลายคนจัง รู้สึกว่าที่เหนื่อยเมื่อกี้ก็คุ้มดีแฮะ รู้สึกว่ามาอีกได้มั้ยเหมือนได้หยุดเวลาไว้ซักครู่หนึ่ง รู้สึกว่ากิจกรรมที่เราทำมีค่าและ มีความหมายจังเลย รู้สึกดีที่ได้รับความสนใจและเอ็นดูเสมอจากผู้ใช้บริการเสมอทุกๆครั้งที่ไปจัดกิจกรรม

หนูคิดว่าโครงการหนู ทางผู้จัดทำไม่ได้ปันสุขให้ผู้อื่นหรอก แต่เราต่างหากที่ได้รับความสุขจากการจัดกิจกรรมให้ผู้อื่น มันเป็นงานที่ค่อนข้างเหนื่อยเลยทีเดียวในการเตรียมอะไรหลายๆให้ออกมาดี แต่มันก็เป็นโครงการที่ดีมากยิ่งโดยเฉพาะกับการเรียนหมอ หนูคิดว่ามันเหมือนการได้ออกชุมชนเป็นชุมชนที่ใกล้ตัวหมอที่สุด ซึ่งบางทีตอนเป็นหมอจริงๆเราอาจจะมองข้ามชุมชนนี้ไปก็ได้

หนูคิดว่าโครงการนี้ทำให้การมองโลกของหนูในมุมมุมเดิมแต่เห็นอะไรชัดขึ้นค่ะ

..........................................................................................................................

นางสาวภัทรลดา ชิระมณี 5710310114

จากการที่พวกเราได้ดำเนินโครงการ “เสกสรร ปันสุข” ซึ่งเป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างรอยยิ้ม บรรยากาศที่ผ่อนคลาย และลดความตึงเครียด ให้แก่ผู้คนที่มาโรงพยาบาลในช่วงสายถึงเที่ยง โดยการจัดกิจกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละวัน อาทิเช่น การแสดงรำไทยของโรงเรียนสอนดนตรีคุณครูชาลี การแสดงและการขับร้องเพลงของวงดนตรีทหารเรือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการบริการยาดมให้แก่ผู้คนที่ผ่านไปมาบริเวณที่ทำการจ่ายยาและเวทีสุขภาพ

ซึ่งเมื่อพวกเราได้ดำเนินโครงการจนสำเร็จลุล่วงไปแล้ว พวกเราได้รับการตอบรับ คำชื่นชม การแสดงให้เห็นถึงความพอใจจำนวนมากจากผู้คนที่พบเห็น โดยมีผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยมานั่งชมการแสดงบนเวที และมีอีกจำนวนหนึ่งยืนชมการแสดง เนื่องจากเก้าอี้มีไม่พอ พวกเราได้เห็นสีหน้าที่สดชื่น รอยยิ้มของกลุ่มคนเหล่านี้ และบรรยากาศสบายๆผ่อนคลายโดยรอบ ซึ่งทำให้พวกเรามั่นใจได้ว่า โครงการ “เสกสรร ปันสุข” ของพวกเรานั้น ได้บรรลุจุดมุ่งหมายที่แท้จริงแล้ว รวมถึงบุคลากรของทางโรงพยาบาลที่ผ่านไปมาบริเวณที่ทำการจ่ายยาและเวทีสุขภาพ ก็ชื่นชมในการจัดโครงการนี้ ทำให้พวกเรารู้สึกดีใจและภูมิใจที่โครงการของพวกเราได้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงแก่สังคม

.................................................................................................................

นางสาววิณัฏฐ์ชรินทร์ เกตุพันธุ์ 5710310145

Reflection

การดำเนินงานกิจกรรมโครงการ”เสกสรรปันสุข” ทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสใช้ความสามารถพิเศษคือ นาฏศิลป์ไทย มาร่วมสร้างความสุขให้แก่ผู้คนที่มาโรงพยาบาล ข้าพเจ้าเลือกแสดงเซิ้งโปงลาง เพราะมีทำนองสนุกสนาน ในตอนแรก ข้าพเจ้ามีความกังวลเกี่ยวกับการแสดงเพราะอยากให้เพื่อนๆสมาชิกในกลุ่มคนอื่นมาร่วมงานด้วย เมื่อไปพูดคุยก็ได้รับการปฏิเสธมาหลายรูปแบบ ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่าพวกเขาไม่มั่นใจหรือไม่ถนัดจริงๆ แต่ว่า แม้จะเป็นเด็กนาฏศิลป์มาสิบกว่าปี ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ต้องการความสมบูรณ์แบบ ข้าพเจ้าแค่ต้องการให้พวกเราสนุกและมีความสุขจากการสร้างความสุขแก่ผู้อื่น สุดท้ายก็ได้สมาชิกมาเพิ่มและทำการซ้อมได้ โดยซ้อมสองสามวันแล้วแต่ว่าใครสะดวกบ้าง ในที่สุดการแสดงก็ออกมาดีมาก ข้าพเจ้าภูมิใจที่สามารถทำหน้าที่ได้สำเร็จ ต้องขอบคุณพี่น้ำใสที่ช่วยแนะนำการซ้อม และเพื่อนๆที่ตั้งใจฝึกซ้อมด้วยกัน

ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกชมรมนาฏรักษ์ของมหาวิทยาลัย จึงได้ติดต่อทางชมรมนาฏรักษ์มาร่วมแสดงด้วยในชุดเซิ้งสาละวัน ข้าพเจ้ารู้สึกเกรงใจเพราะงานนี้ไม่มีค่าตอบแทน ทั้งพี่ๆน้องๆบางคนต้องลาเรียนมาช่วยงานพวกเรา ทั้งข้าพเจ้าซึ่งเป็นคณะแพทย์คนเดียวในชมรมก็ไม่ค่อยได้ไปช่วยงานชมรมเพราะเรียนหนัก หลังจากจบงานโครงการข้าพเจ้าจึงไปช่วยงานแสดง “ลานร่มบ่มศิลป์” ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย จากการร่วมงานครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่าตัดสินใจถูกแล้วที่ไม่ห่างหายไปจากชมรมนาฏรักษ์ การมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานทำให้การทำงานดำเนินไปได้ดีมาก สมาชิกชมรมก็มีความสุขที่ได้มาช่วยงานในครั้งนี้ด้วย ผู้คนที่โรงพยาบาลต่างก็ชื่นชอบการแสดงทั้งสองชุดเช่นกัน ข้าพเจ้าคาดหวังว่าจะได้เห็นบรรยากาศเหล่านั้นอีกหลายๆครั้งในอนาคต.........................................................................................................................................

นางสาวหทัยชนก บุญจันทร์ 5710310169

ตอนครั้งแรกที่รู้ว่ามีรายวิชาเสริมหลักสูตร ก็มีความรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้ทำงานเพื่อสังคม แต่ว่าด้วยความที่ PBL13 มีคนอยากจะทำฝายจำนวนมาก จึงขอไปร่วมกับ PBL1 ซึ่งปกติหนูเป็นคนที่ไม่ชอบทำอะไรแบบนี้อยู่แล้ว แล้วก็ไม่สนิทกับ PBL1 เลยด้วย นอกจากจะรู้สึกอึดอัดแล้วก็กลายเป็นความรู้สึกงงๆ และทำได้แค่เออออตามเขาไป คือไม่อยากเสนอความเห็นและไม่อยากริเริ่มอะไรทั้งนั้น แต่ว่าพอมันกลายเป็นโครงการเสกสรรปันสุข หนูดีใจมาก เพราะว่าเราเป็นคนชอบฟังดนตรีอยู่แล้ว เลยขอเป็นคนติดต่อการแสดงวงดนตรีจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ปัญหาอย่างแรกที่ต้องเจอก็คือการที่จะติดต่อมาได้ ต้องมีการร่างหนังสือเชิญ อันนี้ก็ไม่ได้ยากหรอก แต่คือขั้น fax จากงานแพทยศาสตร์ศึกษาไปให้มหาวิทยาลัยทักษิณ คือฝั่งม.ทักษิณเค้าก็บอกว่ายังไม่ได้ fax ทั้งที่พี่ออมบอกว่าส่งไปอาทิตย์หนึ่งแล้ว หนูในฐานะคนกลางคือรู้สึกลำบากใจมาก แต่สุดท้ายก็ผ่านไป ไม่ faxแล้ว ส่งเมลล์แทน ต่อมาอาจารย์ฝั่งมหาวิทยาลัยทักษิณ มีความต้องการที่จะรวมวงมาเล่นให้ได้จำนวนมากที่สุด ทำให้กว่าจะสรุปจำนวนคนเล่นได้ก็คือวันก่อนหน้าที่จะมาทำการแสดงเลย สืบเนื่องจากตรงนี้ทำให้ไม่สามารถสรุปกับทางฝ่ายเครื่องเสียงโรงพยาบาลได้ว่าวงที่จะมาเป็นวงแบบไหน แต่ถึงอย่างนั้น ทางเราก็ได้จดรายการไปหมดแล้วว่าต้องการเครื่องดนตรีอะไรเท่าไหร่ และทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้บอกปัญหามาว่าไม่สามารถจัดหาอะไรให้ได้ บอกแค่ไมค์ไม่พอ เราก็นึกว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่พอวันจริงทางโรงพยาบาลกลับมาบอกว่าเราไม่ได้แจ้งไป สุดท้ายจึงหาของได้ไม่ครบ แถมฝ่ายเครื่องเสียงพูดแบบนี้ต่อหน้าเราและอาจารย์จากม.ทักษิณด้วย โมเม้นท์นั้นคืองงและงง อย่างนี้อาจารย์เค้าจะมองกลุ่มเรา คณะเรา เป็นคนยังไง รู้สึกเสียหน้า ในขณะที่ PBL13 ที่มีสมาชิกแค่ 9 คน และต้องแบ่งไปทำงานส่วนต่างๆทั้งขายซีดี ขายเสื้อ แต่ว่าม.ทักษิณมากันถึง 20 คน หนูเลยรู้สึกว่าต้อนรับเค้าได้ไม่เต็มที่ เอาตรงๆคือทำได้แค่แจกน้ำและตามเรื่องเครื่องเสียงให้นิดหน่อย ด้านปัญหาเรื่องอุปกรณ์ดนตรีเค้าก็แก้ปัญหากันเอง โชคดีที่พี่สองช่วยโทรหาชมรมดนตรีสากลของโรงพยาบาล เลยสามารถเปลี่ยนการแสดงเป็นวงโฟล์กซองได้

ถ้าถามว่าโครงการนี้ได้ให้อะไร ขอบอกเลยว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก เอาจริงๆคือไม่ใช่แค่ผู้คนที่มารับบริการได้ผ่อนคลายจากความทุกข์จากโรคที่เค้าเป็น เรายังสามารถหาเงินสมทบทุนเข้ามูลนิธิสงขลานครินทร์ได้ด้วย แถมได้เยอะมาก คือเสื้อตัวละ 450 บาท ขายหมด รวมถึงการได้พูดคุยกับผู้ป่วยที่ผ่านไปมา นอกจากจะช่วยตอบคำถามเค้า ยังมีการพูดให้กำลังใจ ทำให้เค้าได้สู้ต่อ ได้พูดว่าคุณยายรักษาสุขภาพด้วยนะคะ ซึ่งเป็นคำที่แบบน่ารักอะ หนูชอบนะ จากที่พูดมาทั้งหมดนี้ถ้าถามว่ามีความรู้สึกอะไร คือ 1.ดนตรีเพราะมาก สมกับความเหนื่อยยากที่เชิญมา 2.รู้สึกดีใจที่มันผ่านไปได้ 3.รู้สึกถึงความสามัคคีในหมู่คณะ คือถ้าไม่ร่วมใจกัน 19 คนนี้ งานจะไม่ออกมาดีแบบนี้เลยจริงๆ 4.รู้สึกขอบคุณและขอโทษ ทั้งอาจารย์ พี่ๆพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นพี่สอง พี่ฝ่ายเครื่องเสียงโรงพยาบาล ขอบคุณมากๆค่ะที่สละเวลามาทำงานให้ ที่ปล่อยให้พี่เขารอก็เสียใจมากๆค่ะ ที่จริงรักฝ่ายเครื่องเสียงมากนะ พี่ตากล้องด้วย พี่เค้าเป็นคนขยันขันแข็งมาก จุ๊บๆ

........................................................................................................................................

นายเจนวิทย์ กุลสิริโรจน์ 5710310023

ถ้าถามตัวเองว่า ได้อะไรจากการทำกิจกรรมครั้งนี้บ้าง ผมคงตอบได้ว่า ผมได้หลายสิ่งหลายอย่างจากการเป็นผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ คือ ได้ฝึกการติดต่อประสานงาน คือ ได้มีการติดต่อให้ผู้ที่มีความสามารถในด้านต่างๆ เช่น ได้ไปรับอาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มาแสดงการเป่าแซกโซโฟนในกิจกรรมที่เราได้จัดขึ้น และ อีกอย่างคือ การทำงานเป็นกลุ่ม สิ่งได้คือ มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ทำให้งานออกมาดีและราบรื่น รวมถึงการช่วยกันแก้ปัญหา ทั้งปัญหาที่พบก่อนทำกิจกรรม เช่น โครงการไม่ผ่าน หรือ ปัญหาในขณะทำกิจกรรม เช่น ปัญหาเรื่องเครื่องดนตรี มีการประสานที่ผิดพลาดทำให้เครื่องดนตรีไม่พอ ทำให้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ ให้เปลี่ยนไปแสดง Folk song แทน ซึ่งกิจกรรมที่ออกมานั้นก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่มาเข้าร่วมกิจกรรม และอีกอย่างที่ได้คือ ได้ความสุข เนื่องจากเราเห็นรอยยิ้มของผู้ที่มาร่วมกิจกรรม ผู้ที่เข้ามานั่งฟัง บางส่วนก็มีร้องตามด้วย เห็นแล้วก็หายเหนื่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วย หรือ ญาติผู้ป่วย ซึ่งผมคิดว่าผู้ป่วย รวมถึงญาติผู้ป่วยนั้นต้องการสิ่งที่จะทำให้พวกเขาผ่อนคลาย ไม่คิดกังวลเรื่องอาการเจ็บป่วยของตัวเอง หรือ คนใกล้ตัว ซึ่งดนตรีนี้เหละ ที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและสบายใจ ทำให้ลืมความเจ็บป่วยในชั่วขณะนั้น แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆที่เราได้จัดกิจกรรม ผมก็คิดว่านี้เป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมนี้

สิ่งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้นั้น จากที่ได้สอบถามก็คงจะเป็น ความสุข ความผ่อนคลาย ที่ได้ฟังเสียงดนตรี ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากโรคภัยได้ชั่วขณะหนึ่ง และ ทำให้ผู้ป่วยไม่เครียดจากโรคที่เป็นอยู่ หรือ ญาติของผู้ป่วยที่อาจจะเครียดเรื่องคนใกล้ตัวป่วย พอมาฟังดนตรีก็จะทำให้ความเครียดนั้นลดน้อยลงไปได้ และ ยังช่วยให้ผู้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลไม่เบื่อหน่าย เนื่องจากการรอคิว เนื่องจาก มีดนตรีมาเล่นให้ฟัง

ปัญหาที่พบ ก็เหมือนที่พูดมาข้างต้นคือ การประสานงานที่ผิดพลาด ทำให้เครื่องดนตรีไม่พอต่อความต้องการจริงๆ ของผู้มาแสดง แต่ก็มีการแก้ปัญหาไปได้ด้วยดี และอีกปัญหาคือ ต้องมีการเปลี่ยนโครงการ เนื่องจากโครงการแรกที่ส่งไปนั้นไม่ผ่านคือ โครงการการสร้างฝายชะลอน้ำ ทำให้ต้องมาคิดโครงการกันใหม่ ทำให้เกิดความเสียเวลาอย่างมาก ทำให้ในการทำรายงาน หรือ วีดีโอนั้น ต้องรีบเร่งไปด้วย เนื่องจาก เวลาส่งยังเหมือนเดิม

...........................................................................................................................

นายธนาดุล บุญขันธ์ 5710310064

จากกิจกรรมเสกสรรปันสุข ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย ทั้งกระบวนการดำเนินงาน การทำงานเป็นกลุ่ม ทำติดต่อประสานงาน การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการ รวมทั้งความสุขที่เกิดขึ้นของเราและผู้คนที่มาใช้บริการภายในโรงพยาบาล

ประโยชน์ที่เราได้รับจากการทำกิจกรรมเสกสรรปันสุขนั่นคือ

1.การทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกความอดทน และความมุ่งมั่นในการทำงานให้สำเร็จ

2.การดำเนินการติดต่อประสานงานกับฝ่ายต่างๆภายในโรงพยาบาล ทั้งบุคคลภายนอกที่เป็นเกียรติมาทำกิจกรรมเสกสรรปันสุข รวมถึงได้สร้างจิตสำนึกในการแบ่งปันให้กับบุคคลเหล่านั้น

3.ความสุขจากการทำกิจกรรม คือการสร้างตนเองให้มีจิตสาธารณะในการที่จะทำกิจกรรมเพื่อสังคม ทั้งเรื่องเล็กน้อยอย่างการแจกน้ำ การพูดคุยกับผู้ป่วย หรือแม้กระทั้งอย่างการจัดเวทีสุขภาพ เสกสรรปันสุข

ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานและการแก้ไข

1.โครงการที่ต้องเปลี่ยนไปจากเดิม (โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ) เนื่องจากความไม่เหมาะสมหรือด้วยเหตุผลอื่นๆ จึงถูกปฏิเสธมา ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนโครงการ จนเกิดเป็นโครงการดีดีอย่างโครงการเสกสรรปันสุข อาจมีความเร่งรีบในการดำเนินโครงการ การเขียนโครงการ หรือแม้กระทั่งการทำคลิปวิดีโอ แต่ทุกอย่างก็สามารถพลิกแพลงจนออกมาเป็นผลงานที่ก่อประโยชน์แก่สังคมในที่สุด

2.การติดต่อประสานงานกับทางโรงพยาบาล ที่เกิความผิดพลาดในบางครั้ง เช่นการติดต่อขอเครื่องเสียง ที่เมื่อถึงวันจริงแล้ว อุปกรณ์ที่ได้ไม่ครบตามที่ได้ร้องขอไปตามการประสานงานถึง 2 ครั้ง อาจจะเป็นการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันหรือด้วยเหตุผลของทางผู้ประสานงานเองที่ก่อให้เกิดความผิดพลาด อย่างไรก็ตามทางวงดนตรีที่มาเล่นให้ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับเครื่องดนตรีจนงานสามารถผ่านไปได้ด้วยดี

ประโยชน์ที่ได้รับของบุคคลที่มาใช้บริการในโรงพยาบาล

1.สร้างความผ่อนคลาย เพลิดเพลิน สลายความทุกข์จากการรอ และมีความสุขจากการแสดงดนตรี การรำ ได้รับความรู้จากการบรรยายของผู้เชี่ยวชาญ รพ.สงขลานครินทร์

2.การเยียวยาผู้ป่วยด้วยสุนทรียภาพอย่างหนึ่ง สร้างจิตใจที่ดีในการต่อสู้กับโรคภัยของตน

3.ทำให้การมาโรงพยาบาลไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

....................................................................................................................................................

นายวรุตม์ ชนะสิทธิ์ 5710310140

จากการจัดกิจกรรมโครงการเสกสรรปันสุข ข้าพเจ้าได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น ตั้งแต่ในกลุ่มนักศึกษาแพทย์ด้วยกันเอง ตลอดจนบุคคลากรในส่วนต่างๆ ทั้งบุคลากรในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และบุคลากรจากหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ สถานศึกษา ชมรมของทางมหาวิทยาลัย ศิลปิน และแม้กระทั่งร้านค้า ซึ่งทุกภาคส่วนล้วนมีความสำคัญในการดำเนินโครงการ ข้าพเจ้าได้ใช้โอกาสนี้ในการฝึกฝนการประสานงานกับบุคลากรและหน่วยงานต่างๆเพื่อให้กิจกรรมเป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้ฝึกฝนทักษะการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เนื่องจากการจัดทำโครงการครั้งนี้ต้องอาศัยการทำงานในหลายๆส่วนประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านอุปกรณ์เครื่องเสียง ด้านสถานที่ ด้านกิจกรรมบนเวที ด้านของที่ระลึก ด้านการจัดทำสื่อ ด้านพิธีการ และอีกหลายๆด้านที่ช่วยให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ ข้าพเจ้ายังได้เรียนรู้ระบบการบริหารงานของทางโรงพยาบาลในการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม ได้เรียนรู้องค์ประกอบ แนวทาง ขั้นตอน และรายละเอียดของการจัดกิจกรรมในรูปแบบเวทีสุขภาพ ซึ่งมิใช่เพียงแค่การบรรยายตามหัวข้อต่างๆเท่านั้น แต่ยังมีรายละเอียดต่างๆ รวมไปถึงแนวทางในการนำเสนอและเชิญชวนผู้ป่วยและญาติให้มาเข้าร่วมกิจกรรม อีกทั้งยังได้รับรู้แนวทางต่างๆของมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ในการให้ความช่วยผู้ป่วยยากไร้ ทั้งการรับบริจาคและจำหน่ายของที่ระลึก ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าผู้ใดก็ตามที่ได้รับรู้เรื่องราวดีๆเหล่านี้ จะสามารถนำเรื่องราวไปเผยแพร่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต

ในส่วนของผลจากการจัดทำโครงการ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ได้แก่ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ นอกจากนี้ยังมีบุคลากรในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์บางส่วนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมหรือรับชมการแสดงที่ได้จัดขึ้น กิจกรรมต่างๆที่ทางคณะทำงานได้จัดขึ้นได้รับความสนใจจากผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นอย่างดี ในทุกครั้งที่จัดกิจกรรม ในส่วนของกิจกรรมบนเวที ผู้ชมจะเกิดความเพลิดเพลินและผ่อนคลายจากการรับชมการแสดงและดนตรี ในส่วนของการแจกของที่ระลึก ผู้ที่ได้รับก็มีความยินดีและรับผลิตภัณฑ์ไปใช้ด้วยความเต็มใจ และส่วนของงานส่งเสริมมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผู้ป่วยและญาติจำนวนมากมีความต้องการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ ทั้งในรูปแบบของการบริจาคเป็นเงินและการอุดหนุนซื้อเสื้อของทางมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ นอกจากนี้ผู้ป่วยและญาติยังให้ความสนใจเลือกซื้อสื่อวีซีดีจากกิจกรรมเวทีสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ป่วยและญาติได้รับความรู้เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น พร้อมๆกับได้สนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ด้วยเช่นกัน

.......................................................................................................................

เป็นอย่างไรครับ แล้วมันก็จะผ่านไป เมื่อทำงานก็ต้องมีอุปสรรค นั่นคือเรื่องธรรมดาที่สุด และเมื่องานสำเร็จ ก็จะได้รับความสุขเป็นผลตอบแทน แต่ความสุขที่ลูกศิษย์ผมได้รับมันก็ไม่ธรรมดาไปเสียทีเดียว เพราะการมีความสุขที่ได้จากการเป็นผู้ให้นั้น มันยิ่งใหญ่เสมอ

ธนพันธ์ ชูบุญทิ้งงานค้างไว้หนึ่งปี

๑๑ เมษายน ๒๕๖๐


หมายเลขบันทึก: 627408เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2017 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2017 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท