ชาว “บ้านล่าง” ผนึกกำลังทุกหน่วยงาน ต้นแบบชุมชนจัดการจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ


“ถนนภายในหมู่บ้านเรามีจุดเชื่อมต่อ มีแยก มีโค้ง มีทางแยกออกถนนใหญ่ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อคนในชุมชนของเรา ถ้าเราไม่ช่วยกันทำ” ประเสริฐ ขุนวิเศษ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 บ้านล่าง ชี้ถึงสาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุในชุมชน


มีคำกล่าวว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจาก 2 ปัจจัย คือ ตัวบุคคลและถนน ซึ่งการจะป้องกันและการเกิดอุบัติเหตุให้ประสบผลสำเร็จนั้น จะต้องจัดการทั้ง 2 ปัจจัยนี้ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนโยบายการสนับสนุนจากทางภาครัฐแล้ว ส่วนท้องถิ่นและชุมชนเองสามารถเข้ามามีบทบาทในการจัดการในเรื่องดีได้ดีไม่น้อย

ดังเช่นที่ ชุมชนบ้านล่าง ต.ดอนฉิมพลี อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้กำหนดแนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นภายในชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของคนชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการจัดทำโครงการ “การจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในชุมชนบ้านล่าง”


“ถนนภายในหมู่บ้านเรามีจุดเชื่อมต่อ มีแยก มีโค้ง มีทางแยกออกถนนใหญ่ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อคนในชุมชนของเรา ถ้าเราไม่ช่วยกันทำ” ประเสริฐ ขุนวิเศษ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 บ้านล่าง ชี้ถึงสาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุในชุมชน พร้อมทั้งกล่าวต่อว่า

จากข้อมูล 3 ปีหลัง พบอุบัติเหตุเกิดขึ้นในชุมชน 7-8 ครั้ง แม้จะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็ทำให้บาดเจ็บและสูญเสียทรัพย์สินไปไม่น้อย ซึ่งถนนที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด คือทางแยกออกสู่ทางหลวงหมายเลข 4016 ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมระหว่านครนายก-ฉะเชิงเทรา ประกอบกอบในช่วงที่ผ่านมาถนนสายหลักมีการขยายถนน ทำให้รถบางส่วนเลี่ยงมาใช้ถนน ทล.4016 กันมากขึ้น ช่วงทางแยกเข้าบ้านล่างจึงเกิดอุบัติเหตุบ่อย เพราะเป็นช่วงทางตรง ผู้ขับขี่อาจจะเผลอไม่ทันได้ระวังว่าว่ามีทางแยกเข้าหมู่บ้านมีรถเข้า-ออก จึงไม่ได้ชะลอความเร็ว

นอกจากนี้ถนนภายในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านก็เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง เพราะไม่มีป้ายเตือน หรือสัญญาณไฟระวัง อย่างเช่น สามแยกตัวที (T) ซึ่งด้านข้างเป็นทุ่งนา รถที่วิ่งไปทางตรงไม่ทันได้ระวังว่ามีทางแยก ขับรถพุ่งลงทุ่งนาก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ขณะที่ถนนส่วนใหญ่ก็จะแคบทำให้เกิดเฉี่ยวกันบ่อยด้วย

“ดังนั้นเราจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา แล้วแบ่งทีมออกสำรวจพื้นที่และทำแผนที่จุดเสี่ยงภายในชุมชน ซึ่งพบว่ามีจุดเสี่ยงอยู่จำนวน 7 จุด ซึ่งต่อไปเราจะช่วยกันทำป้ายและสัญญาณไฟเตือนตามจุดตั้งๆ เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นและระมัดระวังมากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกันทางกลุ่มสุขภาพชุชนคนบ้างล่าง ยังได้ช่วยกันแต่เพลงฉ่อย ซึ่งมีเนื้อหาในการช่วยป้องกันอุบัติเหตุ เพื่อใช้แสดงในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นการย้ำเตือนอย่างต่อเนื่อง” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านล่าง กล่าว


การจัดการจุดเสี่ยงเพื่อลดการสูญเสียของชาวบ้านหากดำเนินการโดยลำพังคงประสบความสำเร็จยาก นอกจาก สสส.จะให้การสนับสนุนงบประมาณแล้ว หน่วยงานในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุขอำเภอบางน้ำเปรี้ยว องค์การบริหารส่วนตำบลดอนฉิมพลี ได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้การจัดการจุดเสี่ยงของบ้านลุ่มในครั้งนี้ด้วย


สมศักดิ์ โต๊ะมิน หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต.ดอนฉิมพลี กล่าวว่า ในส่วนที่นอกเหนือหรือเกินกำลังของชุมชน ทาง อบต.ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน ทั้งนี้ประเด็นจุดเสี่ยงอุบัติเหตุก็ได้ถูกบรรจุเข้าในแผนนโยบายของ อบต.แล้ว เพื่อทำการติดตั้งไฟกระพริบ สัญญาณเตือนต่างๆ รวมถึงป้ายเตือน ตามทางโค้ง ทางแยก ให้ครอบคลุมจุดเสี่ยงทั้งตำบล

ขณะเดียวกันสำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางน้ำเปรี้ยว เป็นอีกหน่วยงานที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงการให้ข้อมูล สถิติ ตลอดจนองค์ความรู้การจัดการให้ชุมชนได้มองเห็นภาพ และตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น


สมบัติ ทั่งทอง สาธารณสุขอำเภอบางน้ำเปรี้ยว กล่าวว่า ในส่วนของสาธารณสุขเข้าไปมีส่วนร่วมการสร้างแรงจูงใจ ให้ชุมชนเกิดความตระหนัก เมื่อมีความตระหนักอย่างต่อเนื่อง เรื่องของการเคารพกฎจราจรก็จะตามมา แต่ถ้ายังไม่ตระหนัก อุบัติเหตุก็ไม่มีทางลดลง

“เราจึงมาฉายภาพเห็นว่าแต่ละเดือนเกิดอุบัติเหตุมากเพียงใน เพราะหากมองแค่ภาพตำบลอาจจะดูไม่เยอะ แต่ถ้าเป็นภาพรวมทั้งอำเภอมันเยอะมาก เขาก็จะกลัวและเกิดความตระหนัก” สสอ.บางน้ำเปรี้ยว กล่าวและว่า ในส่วนมาตรการช่วงเทศกาล ได้มีการกำหนดนโยบายร่วมกันในการตั้งจุดตรวจความปลอดภัย จำนวน 13 จุด เพื่อกวดขันเรื่องของการเมาแล้วขับ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับขี่ทั่วไป

สาธารณสุขอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ยังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะทำให้อุบัติเหตุลงลงได้อย่างเห็นนั้น คือ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม ภายใต้การขับเคลื่อนระบบสุขภาพระดับอำเภอ (รสอ.) หรือ District Health system (DHS) งานสุขภาพไม่ใช่เป็นหน้าที่ของภาคราชการ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมช่วยกันแก้ไข บูรณาการและขับเคลื่อนด้วยกัน

“การจัดการจุดเสี่ยงของชุมชนบ้านล่าง ถือเป็นโครงการที่ดีและสามารถนำไปขยายผลพื้นที่อื่นๆ ได้ เพราะชุมชนเขาได้รู้ถึงปัญหา วิเคราะห์และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่าวิธีการใดๆ” สมบัติ กล่าว


การจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุของชุมชนบ้านล่าง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา น่าจะเป็นแบบอย่างของชุมชนข้างเคียงได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ เพราะไม่มีใครมองเห็นปัญหาของชุมชนได้ดีเท่ากับ คนภายในชุมชนเองเท่านั้นที่มองเห็น

หมายเลขบันทึก: 627364เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2017 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2017 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท