​“คาถาหัวใจเศรษฐี”


“คาถาหัวใจเศรษฐี”

ดร.ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

คาถา หมายถึง คำสำหรับบริกรรมหรือสวด ซึ่งคาถานี้มีเนื้อหาสั้น ๆ จำได้ง่าย ๆ ว่า “อุ อา กะ สะ” ว่ากันว่า ผู้ใดภาวนาคาถาบทนี้เป็นประจำจะทำให้มั่งมีเงินทอง มีฐานะความเป็นอยู่ดี แต่มีข้อแม้ว่า จะต้อง ภาวนา เป็นประจำสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจก็คือคำ ๆ นี้แหละ คำว่า “ภาวนา” และบทคาถาที่ว่า “อุ อา กะ สะ” อันนี้จะต้องทำความเข้าใจให้ดีด้วย

ความหมายของคำว่า “ภาวนา” ก็คือ “เจริญ” หรือ “ทำให้เจริญ” นั่นก็หมายความว่า เราจะต้องทำถาคาที่ว่า “อุ อา กะ สะ” นั้นให้เจริญเป็นนิตย์ ส่วนคาถา “อุ อา กะ สะ” นั้น เป็นคำย่อของคำ ๔ คำ คือ “อุ” ย่อมาจาก“อุฏฐานสัมปทา” คำว่า “อา” ย่อมาจาก “อารักขสัมปทา” คำว่า “กะ” ย่อมาจาก “กัลยาณมิตตตา” และคำว่า “สะ” ย่อมาจาก “สมชีวิตา”

อุฏฐานสัมปทา บาลีเป็น “อุฏฺฐานสมฺปทา” อ่านว่า “อุด-ถา-นะ-สำ-ปะ-ทา” แปลว่า “ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น” เป็นธรรมะที่มุ่งสอนให้คนมีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพการงานที่ สุจริต แสวงหาทรัพย์สมบัติในทางที่ชอบประกอบด้วยธรรม ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เกียจคร้าน หนักก็เอาเบาก็สู้ ตลอดถึงการหมั่นศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการงานของตนเองอยู่สม่ำ เสมอ เพื่อให้มีความชำนิชำนาญในกิจการงานที่ทำมากขึ้น อันจะเป็นผลให้ได้รับความเจริญก้าวหน้าในงานนั้น ๆ เช่น ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เป็นต้น

อารักขสัมปทา บาลีเป็น “อารกฺขสมฺปทา” อ่านว่า “อา-รัก-ขะ-สำ-ปะ-ทา” แปลว่า “ความถึงพร้อมด้วยการรักษา” คือเมื่อมีความขยันหมั่นเพียรแสวงหาทรัพย์มาได้โดยทางที่สุจริตแล้ว ก็ต้องรู้จักรักษาทรัพย์สินที่หามาได้นั้นให้คงอยู่ ไม่ให้สูญหาย ไม่ให้เสียหาย เช่น การนำเงินไปฝากธนาคาร เป็นต้น แต่คำว่า “รักษา” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่การเก็บรักษาทรัพย์สินเท่านั้น ยังมุ่งหมายถึงการหลีกเว้นจาก อบายมุข ทั้ง หลายอันจะเป็นทางให้เสื่อมทรัพย์ เช่น เว้นจากสุรายาเมายาเสพติดทั้งหลาย เว้นจากการพนันทุกชนิด เป็นต้น อันจะเป็นทางให้เสียทรัพย์ ลองคิดดูดี ๆ ว่า เราทำงานหาเงินมาด้วยความเหนื่อยยากลำบาก สมควรหรือไม่ที่จะผลาญทรัพย์ให้หมดไปกับอบายมุขทั้งหลาย

กัลยาณมิตตตา บาลีเป็น “กลฺยาณมิตฺตตา” อ่านว่า “กัน-ละ-ยา-นะ-มิต-ตะ-ตา” แปลว่า “ความเป็นผู้มีมิตรที่ดี” หมายถึงการเลือกคบคน ให้รู้รักเลือกคบแต่คนที่ดีมีศีลธรรม เพราะคนที่ดีมีศีลธรรมนั้นย่อมจะสามารถแนะนำเราในทางที่ดีที่ถูกที่ควร ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ ช่วยเหลือเราได้เมื่อถึงคราคับขัน ส่วน ปาปมิตรหรือมิตรที่ไม่ดีนั้นย่อมจะชักนำเราไปในทางที่ไม่ดี ชักชวนให้ทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรมผิดกฎหมายบ้านเมือง เช่น ชักชวนให้เป็นคนลักเล็กขโมยน้อย ชักชวนให้กินเหล้าเมาสุรา ชักชวนให้ไปเที่ยวสถานบันเทิงต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอบายมุขทั้งนั้น เรื่องการเลือกคบคนนี่สำคัญมาก ทุกวันนี้คนเราไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เสียคนเพราะเพื่อนหรือเสียคนเพราะคนรักนี่เยอะแยะมากมาย เช่น บางคนไม่เคยกินเหล้าเลย แต่คบเพื่อนไม่ดี เพื่อนชวนกินก็ต้องกิน เพราะถ้าไม่กินเดี๋ยวเพื่อนจะล้อว่าเชย หรือเพื่อนจะไม่คบ หรือยิ่งไปกว่านั้นก็อาจจะถูกเพื่อนชวนเสพยาเสพติดบ้าง ไปทำอะไรอย่างอื่นที่ผิดศีลผิดธรรมผิดกฎหมายบ้านเมืองบ้าง ซึ่งเป็นเหตุให้เสียทรัพย์ในเบื้องต้น หนักเข้าก็เสียคน หรืออาจจะเสียถึงชีวิตไปเลยก็ได้ เพราะเหตุดังว่ามานั้น ท่านจึงสอนให้เลือกคบแต่คนดี ให้เลือกคบแต่มิตรที่ดี

สมชีวิตา บาลีก็เขียนเหมือนกัน อ่านว่า “สะ-มะ-ชี-วิ-ตา” แปลว่า “ความเป็นผู้ดำรงชีพดี” หรือ “ความเป็นผู้ดำรงชีพสมควร” ข้อนี้สอนให้รู้จักใช้ชีวิตตามความเหมาะสม คือสมควรแก่ฐานะ ไม่ว่าจะมีทรัพย์สินเงินทองมากหรือน้อย ไม่ว่าจะมีฐานะยากจนหรือร่ำรวย การจับจ่ายใช้สอยก็ให้เป็นไปตามสมควร การใช้จ่ายทรัพย์เพื่อดำรงชีวิตก็ให้เป็นไปตามความเหมาะสม ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่ก่อหนี้สิน โดยสรุปก็คือให้รู้จักประมาณในการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อดำรงชีพตามสมควรแก่ฐานะ ของตนเอง

ที่ว่ามาทั้งหมดนั้น ตรงกับหัวข้อธรรมะที่ชื่อว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” ซึ่งแปลว่า “ประโยชน์ในโลกนี้” หรือ “ประโยชน์ที่เห็นได้ในปัจจุบัน” ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมะข้อนี้อย่างถูกต้อง เคร่งครัด และสม่ำเสมอ ถึงไม่รวยฟู่ฟ่าก็รับรองได้ว่า “ไม่จน”




คำสำคัญ (Tags): #คาถา#เศรษฐี
หมายเลขบันทึก: 627243เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2017 01:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2017 01:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท