จับตากระแสท้องถิ่นภายหลังประกาศใช้ รธน.ปี 2560


จับตากระแสท้องถิ่นภายหลังประกาศใช้ รธน.ปี 2560

6 เมษายน 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 เว็บไชต์ราชกิจนุเษกษา ได้เผยแพร่หมายกำหนดการ พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ลงวันที่ 1 เมษายน 2560 ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในวันที่ 6 เมษายน 2560 [2]

รวดเร็วทันใจคนเฝ้ารอ

ในรอบเดือนที่ผ่านมาบรรดาสมาคม ชมรม สมาพันธ์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ระดมสรรพกำลังกันจัดสัมมนาเชิงวิชาการเกี่ยวกับ “การปฏิรูปท้องถิ่น” กันหลายองค์กร แม้ว่าประเด็นการสัมมนาในบางเรื่องจะยังไม่ยุติเพราะมีข้อโต้แย้งและข้อเสนอใหม่สอดแทรกมาเป็นระยะก็ตาม แต่ที่นับว่าประสบผลสำเร็จมากเวทีหนึ่งก็คือ การสัมมนาเชิงวิชาการโดย สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทยเรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” วันที่ 21– 24 มีนาคม 2560ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร ด้วยมีผู้ทรงคุณวุฒิตัวจริงเสียงจริงจากผู้ที่อยู่ในแวดวง “การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น” มาร่วมบรรยายปาฐกถากันครบทีม

แม้ว่าในห้วงระยะเวลานี้จะเป็นช่วงเตรียมการปฏิรูป หรือ “ช่วงของการเปลี่ยนผ่าน” (Transition Period) ก็ตาม เพราะในท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน กฎหมายการปฏิรูปต่าง ๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือ ชะงักงัน รอเวลากันไปอีกนานเท่าใด ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจน เพราะ “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” (สปท.) มีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการถึง27 เรื่อง [3] และแล้วหลายฝ่ายก็โล่งอกเมื่อมีกำหนดการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในวันที่ 6 เมษายน 2560

ตามไทม์ไลน์เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2561 (เบื้องต้น)สรุปดังนี้

6 เมษายน 2560 รัฐธรรมนูญบังคับใช้

พฤศจิกายน 2560 ร่างกฎหมายลูกภายใน 240 วัน

มกราคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาใน 60 วัน

เมษายน 2561 ทูลเกล้าฯ กฎหมายลูกภายใน 90 วัน

กันยายน 2561 จัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน

“ยุทธศาสตร์ชาติ” ถือเป็นเป้าหมาย

รัฐบาลนี้มี 3 ภารกิจสำคัญ คือ (1) การปฏิรูปทุกด้าน (2) ทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติ และ (3) การสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อการแก้วิกฤติที่เกิดขึ้น ให้การพัฒนาประเทศโดยเฉพาะท้องถิ่นได้มีส่วนสำคัญในการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมปราศจากการทุจริตคอรัปชันตามรัฐธรรมนูญ โดยมี“ร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นแม่บทหลักในการกำหนดนโยบาย ทิศทาง และแผนพัฒนาการขับเคลื่อนประเทศด้านต่าง ๆ เป็นกลไกใหม่ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 65 [4]โดยกำหนดให้จัดทำกฎหมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ ภายใน 120 วัน และจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้เสร็จภายใน 1 ปีนี่คือ “หัวใจ” ของการปฏิรูป เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกลไกช่วยแก้ปัญหาชาติได้

เรื่องปรองดองสำคัญมาก

หลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐบาลต้องเสนอร่างพ.ร.บ.ปฏิรูปอย่างน้อย 7 ด้าน อาทิ การเมือง ระเบียบราชการ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา อื่นๆ และ ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีงานเบื้องต้น 6 ด้าน คือ (1) ความมั่นคง (2) ศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ (3) การพัฒนากำลังคน (4) พัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (5) ลดความเหลื่อมล้ำ และ (6) กฎระเบียบราชการ โดยประกาศใช้ภายใน 4 เดือน และต้องออกกฎหมายลูก 10 ฉบับ ในจำนวนนี้ต้องออกมา 4 ฉบับก่อน เช่นกฎหมายเลือกตั้ง เป็นต้นจากนั้น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็จะสิ้นสุดการทำงาน

คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือคำย่อว่า “ป.ย.ป.” [5]ตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และแผนต่างๆ ตามนโยบายคณะรัฐมนตรีและ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ดำเนินต่อไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นกรรมการมี 4 คณะกรรมการคือ (1) คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (2) คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ (3) คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ (4) คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

แล้วเรื่องท้องถิ่นล่

ในภาพรวมของการปฏิรูปประเทศที่คนท้องถิ่นเฝ้ารอมายาวนานก็คือ “การปฏิรูปท้องถิ่น” ซึ่งปัจจุบันยังมีกฎหมายค้างคาอยู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่สำคัญคือ (1) ประมวลกฎหมายท้องถิ่น และ ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายท้องถิ่น และ (2) ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ....

นอกจากนี้มีกระแสข่าวว่า อาจให้มีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก่อน เพื่อให้ต่อไปนักการเมืองจะไม่สามารถไปครอบงำการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ [6] แต่อย่างไรก็ตาม การจะจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น (สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือ สถ.ผถ.) ได้นั้น กฎหมายท้องถิ่นคือ “ประมวลกฎหมายท้องถิ่น” จะต้องเสร็จเรียบร้อยเสียก่อน โดยเฉพาะรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มี 2 รูปแบบทั่วไป ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับบน (Upper tier) คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับปฏิบัติการ (Lower tier) คือ เทศบาล

ประเด็นปัญหาก็คือ เมื่อใดจะมีการเปลี่ยนรูปแบบ อปท. องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้เป็น รูปแบบ “เทศบาลตำบล” ตามนัยร่าง มาตรา 5 แห่ง [7] พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายท้องถิ่น พ.ศ.... หลังจากนั้นจึงจะมีการ “ควบรวม” หรือ “ไม่ควบรวม” อปท. ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข พร้อมมีการประชาคมท้องถิ่นยินยอม ประเด็นอื่นที่นอกเหนือจากนี้ที่สำคัญ 2 เรื่องได้แก่ (1) เรื่อง “หน่วยงานหรือองค์กรที่ควบคุมกำกับดูแล อปท.” ตามโครงสร้างเดิม คือ กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการกระจายอำนาจ ที่แยกส่วนกัน ไม่เป็นเอกภาพ มีผู้พยายามหยิบยกเรื่อง “คณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ” ขึ้นมาเสนอ ซึ่งอาจไม่ได้รับการตอบรับจากกระทรวงมหาดไทย (2) เรื่อง “การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” ที่ยืดเยื้อมีปัญหาในการบริหารจัดการ เนื่องจากโครงการเดิมตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 [8] ได้ผูกปมสร้างปัญหาเชิงบริหารงานไว้มาก

การควบรวม อปท.ที่หลายฝ่ายเฝ้ารอคอย

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ชูประเด็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและไม่กระทบการกระจายอำนาจแต่อย่างใดต้องการให้ท้องถิ่นมีประสิทธิภาพในการบริหารงาน แต่โครงสร้างไม่เอื้ออำนวยในการหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพเพราะข้อมูลปี 2557 อปท.ที่อยู่ในเกณฑ์ควบรวมประมาณ 4,500กว่าแห่ง จำนวนนี้เป็น อปท.ที่มีขนาดเล็กทั้งหมด มีรายได้น้อย ใน 4,500 แห่ง ทำให้มีโครงสร้างย่อมเหลื่อมล้ำเรื่องงบประมาณ แถมยังมีความเหลื่อมล้ำของประชากรอีกด้วย จึงเป็นสาเหตุแห่งการควบรวม อปท.[9]

นี่คือประเด็นไฮไลท์ของท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นสนับสนุนเห็นด้วย หรือ ฝ่ายที่คัดค้านไม่เห็นด้วย แต่จากการประเมินสถานการณ์ เชื่อว่า มีผู้เห็นด้วยในการควบรวม อปท. ที่มากกว่าผู้คัดค้าน เพราะ การควบรวม อาจไม่จำเป็น หากราษฎรในพื้นที่ หรือ ประชาคมไม่ให้มีการควบรวม

ในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีกระแสออกมาเป็นละลอก อาทิ รูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่ สมาพันธ์ปลัด อบต. และ สมาพันธ์ปลัดเทศบาลเสนอให้เป็นแบบ กรุงเทพมหานคร คือ หนึ่งอำเภอหนึ่ง อปท.[10] ผู้สนใจเกี่ยวข้องต้องติดตามอย่างไม่ลดละ



[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน 2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23355 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ &หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 30 วันศุกร์ที่ 7– วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน 2560, หน้า 66 & http://www.siamrath.co.th/n/12867

[2]สำนักพระราชวัง เผย 6 เม.ย. ในหลวงเสด็จฯพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560, 3 เมษายน 2560, http://www.matichon.co.th/news/517421

& รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 รวมแก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2560,สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, https://drive.google.com/file/d/0ByXtvclEr9I9d2xUT...

[3]คิกออฟ‘โรดแมปป.ย.ป.’ 27วาระปฏิรูปประเทศ, 6 กุมภาพันธ์ 2560, http://www.thansettakij.com/content/128460

จาก 134 วาระปฏิรูปประเทศของ สปท. ร่อนตะแกรงเหลือ 27 วาระปฏิรูปประเทศ

[4]“มาตรา 65 รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการ กันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

การจัดทำ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมี ในยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว ต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน อย่างทั่วถึงด้วย

ยุทธศาสตร์ชาติเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

ดู ร่างรัฐธรรมนูญ 2559, https://www.prachamati.org/tags/ร่างรัฐธรรมนูญ-255...

& ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ วันที่ 7 ส.ค.2559, https://drive.google.com/file/d/0BwQDBsOl_WyVSndDe...

“ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นกลไกใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใดของไทยมาก่อน ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย มาตรา 65 กำหนดให้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นเพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ โดยร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบว่ายุทธศาสตร์ชาติจะต้องมีเนื้อหาอะไรบ้าง กำหนดเพียงให้จัดทำกฎหมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติขึ้น

[5]คำสั่ง หน.คสช.ที่ 3/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ลงวันที่ 17 มกราคม 2560, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 19 ง วันที่ 17 มกราคม 2560 หน้า 37-41, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/...

& คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 18/2560 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2560 (ลงวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2560), ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 96 ง วันที่ 3 เมษายน 2560, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/...

ข้อ 5 “ให้จัดตั้งสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นหน่วยงานในสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ ประเมินผล กำหนดตัวชี้วัด และติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการตามมติ ป.ย.ป. และคณะกรรมการตามข้อ 4 หรือตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยมุ่งเน้นภารกิจเชิงยุทธศาสตร์ (Agenda) และเชิงบูรณาการตามพื้นที่หรือกลุ่มภารกิจ (Area) ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการและธุรการให้ ป.ย.ป. เลขานุการ ป.ย.ป. คณะกรรมการตามข้อ 4 และคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานต่าง ๆ

ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีและทำหน้าที่ประสานกับเลขานุการ ป.ย.ป. ในการขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ ในการนี้ ให้มีอำนาจขอยืมตัวข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐอื่นตลอดจนจ้างผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมมาบรรจุ แต่งตั้ง หรือปฏิบัติงานในสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งนี้ หน้าที่และอำนาจการบริหารงาน และการดำเนินงานของสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการนั้น

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคสอง ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจัดให้สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี มีเจ้าหน้าที่ งบประมาณ สถานที่ทำงาน อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงาน และสามารถเบิกจ่ายงบประมาณในการดำเนินการต่าง ๆ ได้ตามที่ ป.ย.ป. กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

ข้อ 5/1 “เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานด้านการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสนับสนุนการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งนี้ ตามความเหมาะสมหรือตามที่มีการร้องขอ โดยให้สามารถรับโอนทรัพย์สินของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง และสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มาดูแลใช้สอย รวมทั้งรับโอนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานดังกล่าวข้างต้นมาบรรจุ แต่งตั้ง หรือปฏิบัติงานในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

เพื่อให้ภารกิจในการสนับสนุนการดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่งเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ให้โอนอัตรากำลังข้าราชการและพนักงานราชการของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เฉพาะในส่วนที่ยังไม่มีคนครองในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ พร้อมทั้งงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตรากำลังดังกล่าวไปกำหนดตำแหน่งในสังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยให้เป็นไปตามบัญชีรายละเอียดการตัดโอนตำแหน่งว่างและอัตราเงินเดือน ตามที่ อ.ก.พ. กระทรวง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอนายกรัฐมนตรีเห็นชอบ ทั้งนี้ โดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์หรือขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีก และเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรายงานสำนักงาน ก.พ. ทราบด้วย”

[6]‘‘องอาจ’แนะรัฐ5ข้อปฏิรูปท้องถิ่นก่อน ลต.,2 เมษายน 2560, http://www.matichon.co.th/news/516262 & เผยข่าวดี!! ‘บิ๊กป้อม’แย้ม อยากคืนเลือกตั้งให้ท้องถิ่นก่อน, 27 มีนาคม 2560, http://www.matichon.co.th/news/510080

[7]มาตรา 5 ให้จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ใช้บังคับเป็นเทศบาลตำบล ตั้งแต่วันที่ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ใช้บังคับเป็นต้นไป

ให้เทศบาลที่ได้รับการจัดตั้งตามวรรคหนึ่ง มีชื่อและเขตตามชื่อและเขตองค์การบริหารส่วนตำบลเดิม หากกรณีเทศบาลตำบลที่มีชื่อซ้ำกับเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนครที่มีอยู่เดิม ให้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อเทศบาลตำบลนั้นตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

[8]พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542, www.dla.go.th/upload/ebook/column/2011/9/995_4171....

[9]เซฟเงินหลวง? ยุบรวม “อบต.”, 28 มีนาคม 2560, ดูใน ยุบรวม‘อบต.’ในมิติสปท. เพิ่มศักยภาพ-เซฟเงินหลวง-ลดเหลื่อมล้ำ, จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 - 29 มีนาคม 2560, http://www.springnews.co.th/th/2017/03/34251/

[10]ปลัด อปท.ชง สนช. ยึดตามแบบ กทม. เลือกตั้งท้องถิ่นระดับอำเภอโดยตรง, 29 มีนาคม 2560, http://www.matichon.co.th/news/511821

หมายเลขบันทึก: 627054เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2017 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2017 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท