เก็บตกวิทยากร (37) : ว่าด้วยเรื่อง BAR - AAR - แบบสอบถามในเวทีเยี่ยมค่าย-มอบค่าย


การประเมินเช่นนี้ไม่ได้ติดยึดอิงแอบอยู่กับตัวชี้วัดเสียทั้งหมดหรอกนะครับ หากแต่ต้องการสอนให้นิสิตได้รู้ว่า เมื่อต้องทำอะไรสักอย่าง หรือต้องเรียนรู้อะไรสักอย่าง สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการประเมินวัตถุประสงค์นั่นเอง เช่นเดียวกับกรณีไปค่ายอาสาพัฒนาในแต่ละครั้งทีมงานก็ต้องมีกระบวนการในการประเมินวัตถุประสงค์ของโครงการ มิใช่เอะอะก็ประเมินกระบวนการอื่นๆ ที่ปักธงไปแต่เฉพาะเรื่องความพึงพอใจ




ในเวทีการเรียนรู้ว่าด้วยเรื่อง “เยี่ยมค่าย-มอบค่าย” เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ทั้งผมและทีมงานไม่ลืมที่จะนำเอากระบวนการ “ประเมินความคาดหวัง” เข้ามาขับเคลื่อนกับนิสิตที่เข้าร่วมเวที โดยสร้างกระบวนการผ่านบัตรคำเป็นหัวใจหลัก เน้นให้นิสิตได้ทบทวนตัวเองว่า “มุ่งหวังอะไรจากการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้”





BAR (Before Action Review)


กระบวนการประเมินความคาดหวัง หรือเรียกเป็นภาษาการจัดการความรู้ (KM) ว่า BAR (Before Action Review) ผมและทีมงานตัดสินใจใช้หลังจากพิธีกล่าวรายงานและการกล่าวเปิดงานได้เสร็จสิ้นลง เพื่อให้นิสิตได้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ พร้อมๆ กับการผนวกเข้ากับความคาดหวังของตนเอง ซึ่งในการให้นิสิตทำการ BAR ตัวเองนั้น ก็มิวายที่จะสื่อสารว่ากระบวนการเช่นนี้นิสิตสามารถนำไปใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการจัดค่ายอาสาพัฒนา หรือการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้กับกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นแกนนำค่าย และสมาชิกค่าย


กรณีดังกล่าวนี้ ผมไม่ได้ให้นิสิตได้พูด หรือสะท้อนผ่านไมโครโฟนเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็ด้วยเงื่อนไขด้านเวลาที่จำกัด แต่ที่สำคัญก็คือต้องการเน้นการสะท้อนผ่านบัตรคำ เสมือนการมุ่งให้นิสิตได้ฝึกที่จะ “เช็คอิน” หรือ “ทำสมาธิ” ไปในตัวเองไปอย่างเสร็จสรรพนั่นเอง









AAR (After Action Review )


ต่อเมื่อกระบวนการเรียนรู้เสร็จสิ้นลง ผมและทีมงานก็ไม่ลืมที่จะขับเคลื่อนการประเมินผลโครงการผ่านการ AAR (After Action Review ) โดยแจกบัตรคำให้กับนิสิตอีกครั้ง พร้อมทั้งอธิบายให้นิสิตทบทวนกลับไปยังสิ่งที่เขียนไว้ใน BAR (Before Action Review) รวมถึงการ “เช็คอิน” ตัวเองว่าจริงๆ แล้วได้เรียนรู้อะไรบ้าง มีอะไรที่ได้ตามเป้า หรือน้อยกว่าเป้าหมาย-หมุดหมาย หรือกระทั่งมีอะไรที่ได้เหนือความคาดหมายบ้างหรือเปล่า

ซึ่งก็เหมือนเดิมคือการผูกโยงให้นิสิตได้นำแนวคิดการประเมินโครงการในแบบ AAR ไปใช้ในค่ายอาสาพัฒนา หรือการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ หากแต่ครั้งนี้ผมเน้นย้ำว่า AAR ใช้ได้ทั้งแกนนำค่าย สมาชิกค่าย หรือแม้แต่ชุมชน หรือเครือข่ายที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมที่จัดขึ้น

หากแต่ในที่นี้ผมจะไม่สะท้อนสิ่งที่นิสิตได้บอกเล่ากลับมายังผมและทีมงานหรอกนะครับ แต่จะขออนุญาตนำเสนอผ่านเส้นสายลายมือของพวกเขาเอง ซึ่งมีทั้งที่เป็นวลี –ประโยค หรือกระทั่งภาพวาดในแบบฉบับที่นิสิตสุขใจที่จะสื่อสาร ---









ประเมินซ้ำผ่านแบบสอบถามและข้อเสนอแนะ


นอกจากการประเมินผลการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ AAR แล้ว ผมและทีมงานยังจัดให้มีการประเมินผลผ่านการเรียนรู้ผ่าน “แบบสอบถาม” ด้วยเหมือนกัน โดยกำหนดประเด็นหลักๆ คือประเมินตามวัตถุประสงค์ที่ปรากฏในโครงการ

การประเมินเช่นนี้ไม่ได้ติดยึดอิงแอบอยู่กับตัวชี้วัดเสียทั้งหมดหรอกนะครับ หากแต่ต้องการสอนให้นิสิตได้รู้ว่า เมื่อต้องทำอะไรสักอย่าง หรือต้องเรียนรู้อะไรสักอย่าง สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการประเมินวัตถุประสงค์นั่นเอง เช่นเดียวกับกรณีไปค่ายอาสาพัฒนาในแต่ละครั้งทีมงานก็ต้องมีกระบวนการในการประเมินวัตถุประสงค์ของโครงการ มิใช่เอะอะก็ประเมินกระบวนการอื่นๆ ที่ปักธงไปแต่เฉพาะเรื่องความพึงพอใจ เช่น วันเวลาเหมาะสมบ้างไหม อาหารอร่อยหรือเปล่า สถานที่เหมาะสมไหม ฯลฯ

ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีว่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 มีความพึงพอใจหรือบรรลุการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ทั้งหมดที่ตั้งไว้ –






ไม่แต่เฉพาะการประเมินผ่านแบบสอบถามเท่านั้น ผมและทีมงานยังระบุประเด็นข้อเสนอแนะให้นิสิตได้เขียนสะท้อนกลับมา เพื่อเป็นชุดความรู้ หรือแนวทางในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในครั้งถัดไปด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเอาให้คุ้ม ประเมินให้หลากหลาย เพื่อให้เกิดมรรคผลที่เป็นรูปธรรมของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของวันนี้


รวมถึงการพยายามสื่อให้นิสิตได้เข้าใจถึงความสำคัญของการประเมินผลการเรียนรู้และการแนวทางอันหลากหลายของการประเมินผลการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร โดยก่อนหน้านี้ผมและทีมงานได้สอดแทรกเครื่องมือการเรียนรู้และการประเมินผลการเรียนรู้ผ่านกระบวนการต่างๆ ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพเป็นระยะๆ เป็นต้นว่า การสังเกตการณ์ การตั้งคำถาม การสนทนา การจดบันทึก เป็นต้น




ภาพ : อติรุจ อัคมูล / พนัส ปรีวาสนา
เขียน : วันที่ 4 เมษายน 2560

หมายเลขบันทึก: 626973เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2017 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2017 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากค่ะที่สรุปให้เห็นชัดเจน BAR AAR

ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนนะครับ krutoom

จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เน้นการฝึกทักษะหลายๆ เรื่องไปพร้อมกันครับ - รวมถึงการพยายามเชื่อมให้นิสิต ได้นำกระบวนการ BAR - AAR ไปประยุกต์ใช้กับการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ รวมถึงค่ายอาสาพัฒนา

เดิมก็ตั้งใจจะให้ล้อมวงโสเหล่ BAR กัน ฝึกการพูด การฟังการจับประเด็น และสรุปความไปในตัว แค่เวลาจำกัดจริงๆ ครับเลยปรับกระบวนยุทธ์เช่นนี้


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท