การจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม
-------------------------
มีคำที่ว่า “รากฐานของตึกคืออิฐ รากฐานชีวิตคือการศึกษา” การศึกษาถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้คนเราได้รู้ดี รู้ชั่ว หรือรู้ถูก รู้ผิด รู้แยกแยะและทำให้รู้ว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและไม่ทำให้สังคมเดือดร้อนวุ่นวาย ถ้าเป็นการศึกษาที่ปลูกฝังให้เยาวชนได้มีความรู้คู่คุณธรรม
การศึกษาถือว่าเป็นการสร้างคน สร้างงาน และสร้างชาติ ทำให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัยหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีสอดคล้องกับสภาพของสังคมเพราะได้เรียนทั้งวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต การรู้จักทำตนให้อยู่รอดปลอดภัย สุนทรภู่ก็กล่าวไว้ว่า
“รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี”
ความคาดหวังของสังคมต่อการจัดการศึกษา
สังคมไทย และสังคมโลกเริ่มจะให้ความสำคัญกับการศึกษา “ความรู้ คู่คุณธรรม” มากขึ้นแล้ว ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของไทย ๒๕๕๙ และทิศทางการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา จะพิจารณาความดีและความเก่ง ควบคู่ไปกับการสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อ และมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งจะมีโครงการเด็กดีมีที่เรียน เป็นต้น
สำหรับความคาดหวังของสังคมต่อผลผลิตผู้จบการศึกษา น่าจะเป็นดังนี้
๑. ให้ความสำคัญกับคนดีมากกว่าคนเก่ง
ในการรับสมัครงาน จะพิจารณาประวัติผลงาน ความประพฤติ การมีจิตสาธารณะ เหตุผล เพราะคนเรียนหนังสือเก่งอย่างเดียว แต่ความประพฤติไม่ เรียบร้อย จะอยู่ในสังคมอย่างลำบาก เพราะผู้คนคงจะไม่ชอบและไม่อยากคบค้าสมาคมคนที่เห็นแก่ตัว และในการทำงานจริง ๆ คนดีมีคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต ขยันอดทนเท่านั้น จึงจะได้รับความไว้วางใจ และให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
๒. ให้ความสำคัญกับความประพฤติ/จรรยาบรรณวิชาชีพ
มากขึ้น
นั้นคือจะมีมาตรการให้คุณให้โทษสำหรับคนที่ทำอาชีพแต่ละด้านถ้าใครมีหน้าที่ที่จะต้องปกปักรักษาสิ่งนั้น แต่ทำผิดเสียเอง จะได้รับโทษหนักเป็นทวีคูณ เช่น ตำรวจมีหน้าที่พิทักษ์
สันติราษฎร์ และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ถ้าทำผิดเสียเองก็จะได้รับโทษเป็นทวีคูณสองเท่าสามเท่า หรือดารานักแสดง ซึ่งมีอิทธิผลต่อการเลียนแบบหรือการเป็นอย่างของเยาวชน ถ้าทำตนเป็นตัวอย่างไม่ดี ติดยาเสพติด ค้ายาเสพติด
ทำตัวไม่เหมาะสม ก็จะได้รับ การประจาน และมาตรการที่รุ่นแรงจนถึงกับตัดสิทธิ์อนาคตของคนนั้นๆ ทำให้หมดอนาคตไปได้ง่ายๆ หรือครู อาจารย์ ถ้าประพฤติผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ ก็จะถูกสังคมเพ่งเล็ง และเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพได้ง่ายและโอกาสที่จะไปสมัครงานที่อื่นก็ยากลำบากเพราะเหมือนมีชนักติดตัวแล้ว
๓. การประกอบอาชีพอิสระ และพอเพียงจะมีความยั่งยืน
เนื่องจากปัจจัยที่จะทำให้สามารถดำรงชีวิตได้ คือการมีอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่เป็นนายของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร หัตถกรรมอุตสาหกรรมครัวเรือน งานช่างฝีมือการทำอาหาร ตั้งร้านอาหาร การทำขนม การขายตรง เป็นต้น คนจะหันมาทำ ขอเพียงแต่สังคมให้การอุดหนุน และในขณะเดียวกันผู้ประกอบอาชีพอิสระจะต้องรักษามาตรฐานสินค้า และไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ขายได้กำไรพออยู่ได้ พอเพียง ราคาไม่แพง แต่จะได้ลูกค้ามาก ถ้าราคาแพง ลูกค้าก็ขาดกำลังทรัพย์ จะต้องหาสินค้าหลายมาตรฐานและเหมาะกับลูกค้าแต่ละคน และข้อสำคัญไม่เอาเปรียบกัน ไม่มีกลโกงในการซื้อขายในการประกอบอาชีพ ถ้าภาครัฐให้การส่งเสริมสนับสนุน ยิ่งจะทำให้ผู้คนหันมาสนใจและประกอบอาชีพนั้นๆ มากขึ้น เช่น ให้สินเชื่อ ทุนตั้งตัวด้วยดอกเบี้ยไม่แพง ถือว่าเป็นการทำให้ประชาชนมีอาชีพตั้งตัวได้ มีความสุข และสร้างงาน สร้างชาติ
๔. การรู้รักสามัคคี สมานฉันท์และปรองดองของคนในชาติ
สังคมจะให้ความสำคัญของการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการดำรงชีวิตและช่วยเหลือกันในยามคับขัน เช่น ประเพณีลงแขกของไทย เวลาเกิดภาวะวิกฤติน้ำท่วมข้าวในนาจมน้ำเสียหาย ร่วมด้วยช่วยกัน ผลผลิตด้านการเกษตรราคาไม่ค่อยดี จะมีการรับซื้อแทรกแซงตลาด ไม่ปล่อยให้พ่อค้าคนกลางแสวงหาประโยชน์หรือทำการขูดรีดชาวนาชาวไร่ กิจกรรมบ้าน วัด โรงเรียน จะให้ความสำคัญ ประเพณีชุมชนที่จะทำให้ผู้คนรู้รักสามัคคีจะถูกนำมาใช้และปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันมากขึ้น
๒. การนำพระบรมราโชวาทมาปฏิบัติมากขึ้น
เช่น หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ความรับผิดชอบ การรู้จักหน้าที่ การมีความสำนึกในหน้าที่ การมีระเบียบมีวินัย ปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา ผู้มีวินัยจะเป็นผู้ที่ “ตรงต่อเวลา” ผู้ที่มีความรับผิดชอบเมื่อดำเนินตรงตามเวลา ผลงานที่บังเกิดขึ้นก็จะเป็นไปตามความต้องการทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ และเวลา ขณะเดียวกันย่อมมีโอกาสทำให้เกิดความริเริ่มใหม่ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม (innovation) ในบุคคลผู้นั้น
ดังนั้นผู้ที่มีความรับผิดชอบจึงอยู่ในสภาพที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อภาระหน้าที่ ของตนเองไม่ดำเนินการอื่นใดที่จะผิดแผกแปลกไปจากแนวปฏิบัติที่กำหนด โดยจรรยาบรรณของอาชีพและการงาน ไม่หลอกลวงทั้งทางด้านการให้บริการ ผลผลิตที่มีเจตนาดำเนินการทุจริตให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ ก่อให้เกิดความเสียหาย ขาดคุณธรรมความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบกับการคำนึงถึงผู้อื่นในการดำเนินงานใดๆ ก็ตามจะต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่น การไม่สร้างภาระหรือปัญหาให้แก่ผู้อื่นโดยคำนึงถึงผู้อื่นเป็นคุณธรรมรับผิดชอบที่ตระหนักถึงบุคคล จะต้องมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และกระทบกับงานที่กระทำความรับผิดชอบเป็นคุณธรรมที่สำคัญครอบคลุมความหมายของคุณธรรมความรับผิดชอบ ที่กล่าวมาข้างต้น คือให้คนเรามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การทำงาน ในเรื่องเวลา หากจะพิจารณาจากทรรศนะของตัวบุคคล และบทบาท/หน้าที่ต่างๆ ของบุคคลในสังคมแล้วอาจจำแนกความรับผิดชอบ ของคนเราในเชิงกิจกรรมได้ ๓ ประการ คือ ความรับผิดชอบในการใช้ชีวิต ความรับผิดชอบในการทำงาน ความรับผิดชอบในบทบาท/หน้าที่อื่นๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีหลักปรัชญาส่วนพระองค์ที่กำกับการปฏิบัติของพระองค์ตลอดช่วงเวลาที่พระองค์ดำรงตำแหน่งประมุขของชาวไทย ทรงเป็น “ยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์” โดยทรงเลือกที่จะครองแผ่นดินโดยธรรม “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นที่ตั้ง
จะจัดการศึกษาอย่างไรจึงจะทำให้ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม
คงไม่ต้องสงสัยแล้วว่า ความรู้กับคุณธรรมอะไรสำคัญกว่าเพราะสังคมได้พบสัจธรรมแล้วว่า คนมีความรู้เพียงอย่างเดียวก็จะเอาตัวไม่รอด ทำให้สังคมเดือดร้อน เพราะคนที่มีความรู้ดีจะคิดหาวิธีโกงได้พิสดารกว่าคนอื่นถ้าเขาเป็นคนที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม ดังนั้น ความรู้ต้องคู่คุณธรรมเสมอการจัดการศึกษาจึงเพื่อให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม มีดังนี้
๑. สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในโรงเรียน
สร้างสโลแกนที่ว่า “แบบอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน” ผู้บริหาร และครูประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านคุณธรรม จริยธรรม ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่จะทำให้ผู้เรียนได้ตัวแบบที่ดีและประพฤติปฏิบัติตน
๒. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้แสดงออกทางด้านจริยธรรมที่ดี
เช่น คุณธรรมพื้นฐาน ๘ ประการ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคีมีน้ำใจ
๓. ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมในการเลนกีฬา
รู้แพ้ รู้ชนะ ให้อภัย เป็นกีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ
๔. กิจกรรมสร้างนิสัยใช้กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี
เป็นการปลูกฝังระเบียบวินัยให้กับนักเรียน และจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เข้าวัดปฏิบัติธรรมในวันศุกร์ของสัปดาห์
๕. จัดกิจกรรมคนดีของสัปดาห์
จัดประกวดมรรยาทดี วินัยดีเด่นแก่นักเรียนแต่ละสัปดาห์ และมีคะแนนบันทึกไว้เพื่อนำไปตัดสิน ผลการเรียนด้วย
๖. ยกย่องเชิดชูเกียรติครูที่มีจิตวิญญาณ
เมื่อพบว่าครูคนใด เป็นแบบอย่างที่ดี ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมแก่ศิษย์จนมีชื่อเสียง ก็ควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ
เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน
สรุป
การจัดการศึกษา สังคมจะให้ความสำคัญการเป็นคนดีมากกว่าคนเก่ง หรือให้มีความรู้คู่คุณธรรม ดังนั้น
การจัดการศึกษา ต้องปลูกฝังให้นักเรียนต้องเสงี่ยมเจียมตัวทำตนให้เพียบพร้อมไปด้วยความรู้และคุณธรรม จริยธรรม
มีทักษะชีวิตมีภูมิคุ้มกันด้านคุณธรรม จริยธรรมจึงจะสามารถเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมและสามารถดำรงตน
ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ฝากไว้คิด
ครูดี มีคุณธรรม ประจำจิต
ครูดี สร้างชีวิต ให้สดใส
สร้างความรู้ คู่คุณธรรม ในดวงใจ
ครูดีไซร้ เป็นผู้นำ ทางวิญญาณ
ไม่มีความเห็น