จุดตายของผู้บริหาร




จุดตายของผู้บริหาร

ดร. ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

คำว่า บริหาร มาจากคำว่า บริ และ หาร บริ หมายถึง รอบ ๆ หาร หมายถึง แบ่งกัน กระจายกัน ทั่วหน้ากัน ดังนั้น ผู้บริหาร จึงหมายถึงผู้แบ่งงานกันทำ โดยแบ่งให้ทั่วถึงกัน ผู้คอยติดตามดูแล เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี หรือผู้ทำงานให้ประสบผลสำเร็จโดยอาศัยเพื่อนร่วมงานช่วยกันทำ อีกนัยหนึ่ง ผู้บริหาร คือผู้ที่แบ่งงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตามความรู้ความสามารถ แล้วนิเทศงานอย่างเป็นระบบ พร้อมให้คำ แนะนำอย่างเหมาะสม เพื่อให้งานบรรลุผลอย่างมีคุณภาพ

ด้วยเหตุนี้ผู้บริหาร จึงควรมีความรู้ มีศาสตร์ มีหลักการ มีทฤษฎี มีการวิจัยค้นคว้า จนรู้ชัดและรู้จริง และมีการพัฒนาทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ต้องนำศาสตร์ไปใช้ในการบริหาร มีการฝึกฝนอย่างจริงจังในอาชีพนั้น ๆ จริง ๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ที่มากพอ ต้องมีการรับรองมาตรฐานแห่งวิชาชีพ โดยมีการออกใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และต้องมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ สำหรับยึดถือและปฏิบัติโดยเคร่งครัด

ผู้บริหาร แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ผู้บริหารระดับสูง เช่น ผู้ริเริ่มก่อตั้งองค์กร หรือประธานกรรมการไปจนถึงกรรมการผู้จัดการ ซึ่งมีหน้าที่กำหนดวัตถุประสงค์ นโยบายและกลยุทธ์ เป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงานโดยรวมขององค์การ ผู้บริหารระดับกลาง หมายถึง ผู้อำนวยการ หัวหน้าศูนย์ ผู้จัดการแผนก หรือหัวหน้าสายงาน มีหน้าที่ดำเนินงานตามนโยบายและแผนงานที่ได้กำหนดไว้ รวมถึงการประสานงานระหว่างผู้บริหารระดับสูง เพื่อกำหนดนโยบายให้ผู้จัดการระดับล่าง ได้นำแผนงานไปปฏิบัติ ผู้บริหารระดับล่าง หมายถึงหัวหน้าแผนกหรือหัวหน้าคนงาน มีหน้าที่ทำตามนโยบายที่ผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารระดับกลางกำหนดไว้ รวมทั้งการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับทีม สร้างแรงจูงใจและสามารถรับผิดชอบแทนผู้ที่อยู่ในแผนกของตนได้บทบาทของนักบริหารที่สำคัญประการหนึ่ง คือการนำพาพี่น้องในองค์การหรือหน่วยงานไปสู่การทำงานที่ดีกว่าเดิม โดยอาศัยวิสัยทัศน์ ภาวะผู้นำ การเป็นนักวิชาการ และนักตัดสินใจที่ดีของผู้นำ หรือนักบริหารการเปลี่ยนแปลง

จุดตายของผู้บริหาร

จุดตาย หรือจุดจบของผู้บริหาร หรือจุดอวสานของผู้บริหาร ทำให้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา ตลอดทั้งผู้มีหน้าที่บริหารก็ย่อมมี จึงเป็นเรื่องที่พึงระมัดระวัง เพราะผู้บริหาร มักจะถูกตรวจสอบ ถูกจับตาอยู่เสมอ การทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จะถูกตรวจสอบติดตามตลอดเวลา จะต้องระมัดระวัง รอบคอบ ไม่ให้เข้าตำรา “ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเลน”

จากกรณีตัวอย่างผลการลงโทษวินัยข้าราชการครู ข้าราชการชาย มักจะหนีไม่พ้นสัญลักษณ์สัตว์สามจำพวก คือ ช้าง (ชู้สาว) เสือ (สุรา) งู (การเงิน) หรืออาจจะมีมากกว่านี้ แล้วแต่จะ ข่มใจได้ไม่ให้อกุศลมูลหรือรากเหง้าแห่งความชั่วร้าย ได้แก่ราคะ โทสะ และโมหะเข้าครอบงำจิตได้ ข้าราชการหญิงก็เช่นกัน เพียงแต่ว่าข้าราชการหญิงในตำแหน่งผู้บริหาร ยังมีไม่มากนัก แต่ในอนาคตคงจะมากกว่าผู้ชาย เพราะสถิติการสอบเข้ารับราชการ ผู้หญิงจะสอบได้มากกว่าผู้ชาย และตำแหน่งผู้บริหารแนวโน้มผู้หญิงจะสอบได้มากขึ้น

จุดตายของนักบริหาร สรุปได้ดังนี้

1. ไม่ยึดระเบียบกฎหมายเป็นหลัก

ผู้บริหารที่ไม่ยึดระเบียบกฎหมาย ถือว่าขาดหลักนิติธรรม ทำนอง“ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเลน” อาจจะคิดว่า “คงไม่เป็นไรหมัง” เพราะไม่ได้ทุจริต มีคำที่เขาพูดกันในหมู่กฎหมายว่า "แม้จะสุจริต แต่ผิดระเบียบ ก็มีโทษทางวินัยเช่นกัน อย่างน้อยก็ตัดเงินเดือน" เช่น ผู้บริหารโรงเรียน บางคนหวังดีต่อราชการ นำเงินอาหารกลางวันไปใช้ในการทำรั้วกำแพงโรงเรียน อย่างนี้ ถือว่าเป็นการใช้เงินผิดประเภท แม้จะไม่มีเจตนาทุจริต แต่ผิดระเบียบของการใช้เงินอุดหนุน ถือว่าทำผิดวินัยเช่นกัน

2. การไม่เข้าชุมชน ไม่สร้างมนุษยสัมพันธ์กับชาวบ้าน และ ผู้ปกครองนักเรียน

การที่ผู้บริหารใช้เวลาไปเยี่ยมบ้าน ทักทายผู้ปกครอง หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนอย่างสม่ำเสมอถือว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้บริหารได้เป็นอย่างดี เพราะมีบางแห่ง ครูผู้สอนจะเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานประเพณีสำคัญทาง ศาสนา งานแต่งงาน ฯลฯ ตรงข้ามกับผู้บริหาร ซึ่งจะห่างเหิน นั่งทำงานแต่ในห้อง เวลามีเรื่องมีราว หรือจะลงโทษครูคนนั้นซึ่งทำงานย่อหย่อน ผู้บริหารอาจจะถูกชาวบ้านประท้วง ทั้ง ๆ ที่ผู้บริหารก็ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย แต่ด้วยความไม่เข้าใจ อาจจะถูกใส่ร้ายหาว่าผู้บริหารรังแกครูลูกน้องก็มี ข้อนี้ก็พึงระมัดระวังไว้เช่นกัน

3. หลงอำนาจ

ผู้บริหารทางคน มักจะใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ พูดจาข่มขู่ลูกน้องแทนที่จะใช้ภาวะผู้นำ กลับไปใช้การวาจาหรือกิริยาคุกคาม ข่มขู่ก็มี เช่น ถ้าคุณไม่ทำผมเอาตายแน่ คุณต้องถูกออกจากราชการแน่ เป็นต้น

4. ฉ้อราษฎร์บังหลวง

การที่ผู้บริหารคิดจะฉ้อราษฎร์บังหลวง คงจะเกิดขึ้นยาก ยกเว้น มีเรื่องที่จะต้องใช้เงินทองมาก ๆ เข้าตาจน แต่อย่างไรก็ตาม ถึงจะจนขนาดไหน ผู้บริหารก็ไม่มีสิทธิ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือนำเอาเงินราชการไปใช้ส่วนตัว เช่น เสียการพนัน มีเมียหรือมีผัว มีกิ๊กหลายคน เพราะความโลภ หรือทำตามความอยากของตนเอง

5. หลอกลวงลูกน้อง

ผู้บริหารบางคน อาจจะให้สัญญากับเพื่อนร่วมงานว่า ถ้างานเข้าเป้าปีนี้ ผมจะพาพวกคุณไปดูงานต่างประเทศหรือให้ทองคนละเส้น เป็นต้น แต่เวลางานเข้าเป้าจริง ๆ กลับไม่ทำตาม นี้ก็ควรระมัดระวังไม่ควรไปให้คำมั่นสัญญาในเรื่องที่เกินกำลัง หรือนำไปปฏิบัติได้ยาก จะทำให้ผู้บริหารต้องเสียคน มัดคอตนเอง พึงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งข้อนี้

6. ยกย่องคนประสบสอพลอ

นักบริหารชอบคนที่ยกยอพูดเยินยอเป็น คนไหนพูดเยินยอไม่เป็น ก็คงได้เกิดยาก ผู้บริหารพึงละเว้น เพราะคำสรรเสริญเหมือนยาพิษ คำนินทา เหมือนยารักษาโรค พึงระมัดระวังในจุดนี้

7. ล่อไข่แดง

ผู้บริหารบางคน ชนะอะไรก็ชนะหมด แต่เสียอย่างเดียว คือเป็นโรคภูมิแพ้คนสวยงาม ยิ่งให้ท่า ก็ยิ่งจะนำความเสื่อมเสียมาสู่ตัวเรา ประดุจมัจจุราชมองไม่เห็นตัว พึงระวัง เพราะภาษิตกล่าวไว้ว่า คนเรา ไม่มีใคร จะโชคดีตลอดไป อาจจะมีเคราะห์ภัยตามมาก็ได้ พึงระมัดระวังคนให้ดี จะไม่เสียทีเขา

8. แสวงหาหรือหลงในอามิสสินบน

อามิสสินบนมีพลังอำนาจ ผู้บริหารพึงระมัดระวัง ตัดใจเสียได้ก็ดี ยกเว้นเป็นธรรมเนียมประเพณี แต่ทางราชการก็ห้ามไว้ว่า ไม่ควรรับสินบนที่มีราคาเกินสามพันบาท เพราะไม่เช่นนั้น จะเป็นเหมือนเรารับสินบนเพื่อต่างตอบแทน เป็นการผิดกฎหมาย

9. ไม่อดทนต่องานหนัก

การที่ผู้บริหาร ไม่สู้งาน หนักไม่เอา เบาไม่สู้ อันตรายมาก ผู้บริหารต้องหนักเอา เบาสู้ เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกน้อง

10. ไม่รู้จักให้ขวัญกำลังใจ

บทบาทของนักบริหารอีกประการหนึ่งคือ การให้ขวัญกำลังใจ ซึ่งอาจจะเป็นการให้ความดีความชอบตามผลการปฏิบัติงาน โล่ รางวัล เกียรติบัตร คำยกย่องชมเชย เป็นต้น ผู้บริหารจะขาดเสียมิได้แม้อวยพรวันเกิดจะทำโดยวิธีใดก็ได้ยิ่งทุกวันนี้ สื่อสังคมออนไลน์มีประโยชน์เราสามารถอวยพรทางสื่อออนไลน์ได้ เช่นอวยพรทางไลน์อวยพรทางเฟชบุ๊ก ทางโทรศัพท์หรือข้อความโทรศัพท์ เป็นต้น

11. ตัดสินใจโดยอาศัยความข้างเดียว

บ่อยครั้งที่ผู้บริหารบางคน อาจจะฟังความข้างเดียว โดยไม่ใส่ใจรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ทำให้ขาดข้อมูลที่ดีพอ พึงระวังไว้เช่นกัน

12. ท่องเที่ยวแหล่งอโคจรเนืองนิตย์

นักบริหารก็เป็นคนธรรมดา ย่อมจะมีความอยาก หรือมีความโลภอยากได้หรือสนใจในสิ่งต่าง ๆ ตามที่ตนคิด แต่การเป็นนักบริหาร จะถูกจับตามากกว่าคนอื่น ๆ พึงระมัดระวัง คนธรรมดา ครูน้อย เขาอาจจะไม่สนใจ ไม่มีเรื่องมีราว แต่พอผู้บริหารปฏิบัติบ้าง มักจะถูกยกเป็นเรื่องใหญ่เสมอ ทั้งนี้ เพราะผู้บริหาร จะต้องทำตนเป็นแบบอย่างในทางที่ดี ที่สังคมคาดหวังนั้นเอง

13. มีจิตไม่ยึดมั่นในความยุติธรรม

การที่ผู้บริหารมีอคติ คือลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะโกรธกัน ลำเอียง เพราะความลุ่มหลง และลำเอียงเพราะกลัวภัยมืด ไม่ยึดมั่นในความยุติธรรม นับว่าจะพบแต่ภยันตรายอย่างใหญ่หลวงจะตามมา พึงระมัดระวังไว้จะเป็นการดี เพราะความยุติธรรม เป็นความคาดหวังที่สำคัญของผู้เป็นลูกน้อง

สรุป

จุดตายของผู้บริหาร ก็คือ การบริหารงานโดยไม่ยึด หลักธรรมาภิบาล คือหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า และประการสำคัญคือ ขาดการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน มุ่งแต่งาน แต่ขาดการประสานงานกับชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำตามใจตนเอง ไม่ยึดระเบียบกฎหมาย มองข้ามในเรื่องเล็ก ๆ นอกจากนี้แล้ว ผู้บริหารที่เป็นสุภาพบุรุษ มักจะเสียทีหรือพลาดท่าให้กับสัญลักษณ์สัตว์ 3 ชนิด คือ ช้าง(ชู้สาว ผิดศีลข้อ 3) เสือ (ดื่มสุราจนครองสติไม่ได้) งู (ทำผิดเกี่ยวกับการเงิน) เมื่อเสียทีกับสัญลักษณ์สัตว์ 3 ประเภทนี้แล้ว ทำให้ผู้บริหารต้องเสียคน ถูกประณาม และถูกถอดถอน ถูกขับไล่ให้พ้นหน่วงาน เพราะสังคมยอมรับไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่ผู้บริหารจะแคล้วคลาดจากจุดตายดังกล่าวได้ ก็พึงหลีกเลี่ยงการกระทำดังกล่าว คำโบราณพูดไว้เสมอว่า “การรู้จักรักษาตัวรอด เป็นยอดดี” ดังนั้น การไม่ยุ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงหมิ่นเหม่ผิดต่อระเบียบกฎหมาย จะทำให้พ้นจากจุดตายได้ สุดท้าย “ปลาหมอตายเพราะปาก” เป็นสิ่งที่ผู้บริหารพึงระมัดระวังไว้เช่นกันครับ เพราะถ้าพลั้งเผลอ คงพบจุดจบแน่นอนครับ

----------------------


หมายเลขบันทึก: 626082เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2017 01:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2017 01:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท