CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๖: คณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ใน มมส.


วันนี้ (๑๕ มีนาคม ๒๕๖๐) เป็นวันแห่งความสุขอีกวันหนึ่งสำหรับผม มีการประชุมกันเป็นครั้งที่ ๒ ของคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในมหาวิทาลัยมหาสารคาม (คณะกรรมการดาวน์โหลดคำสั่งได้จากที่นี่) ครั้งแรกเราประชุมกันเพื่อระดมสมองกันว่า เราจะขับเคลื่อน ปศพพ. ในมหาวิทยาลัยอย่างไร? ประชุมครั้งนี้เราเอาแผนที่ร่างขึ้นมาพิจารณากัน บันทึกต่อไปจะเอาแผนมากางไว้เป็นหลักฐาน และเพื่อเป็นการประจานตนเองด้วยหากทำไม้ได้ตามแผน

ผมเสนอที่ประชุมว่า ในปัจจุบันความรู้ควมเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนิสิต บุคลากร หรือประชาชนบุคคลทั่วไปแตกต่างกันไปตามลักษณะของการับรู้หรือการน้อมนำไปใช้ในแต่ละวาระและโอกาสของแต่ละคนทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของแต่ละกลุ่ม ดังจะแยกเป็น ๕ ประเด็น ได้แก่

๑) เข้าใจว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของการเกษตรเท่านั้น เมื่อมีผู้ถามถึงความหมายของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะบอกว่าเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ แบ่งออกเป็นส่วน ๆ ตามหลักการ “เกษตรทฤษฎีใหม่” และเน้นเป้าหมายคือ การพออยู่พอกิน ประชาชนส่วนใหญ่ของไทยมักเข้าใจในลักษณะนี้ เนื่องจากการถ่ายทอดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของภาคเอกชน ผ่านสื่อโทรทัศน์ที่ผ่านมาในช่วง ๒๐ ปีนั้น เน้นไปทางด้านนี้เกือบทั้งหมด

๒) เข้าใจว่าเป็นเรื่องทางด้านวัตถุหรือเศรษฐกิจเท่านั้น เมื่อมีผู้ถามถึงความหมายของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะบอกว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายอย่างประหยัด มัธยัสถ์ การออม และการแบ่งปันทรัพย์สิน เน้นไปทางด้านการใช้วัสดุที่ท้องถิ่นที่มีอยู่ การพอเพียงในทรัพย์สินที่มีอยู่ คือเรียกว่า เข้าใจในระดับวัตถุ

๓) เข้าใจว่าเป็นเรื่องความศรัทธาต่อองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ ๙ ยกย่องในหลวงเป็นพ่อของแผ่นดิน ให้ความเคารพบูชาในคุณความดีและความเสียสละของพระองค์ท่านอย่างหาที่สุดมิได้ คนไทยทุกคนจึงควรศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติในฐานะที่เป็นลูกของพ่อ ความจงรักภักดีและศรัทธาอันสูงยิ่งนี้ ทำให้คนไทยอยู่รอดมาตราบจนปัจจุบัน ดังนั้น ความเข้าใจแบบนี้เป็นเรื่องที่ดียิ่ง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยเห็นความสำคัญ เริ่มศึกษาน้อมนำมาพัฒนาตนเอง จนเห็นผลประจักษ์เข้าใจแก่นแท้ด้วยตนเอง ทำให้ยิ่งทวีความรักในพระองค์ท่านมากขึ้น

๔) เข้าใจว่าเป็นเรื่องทฤษฎี ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ คือ ห่วงพอประมาณ ห่วงเหตุผล ห่วงภูมิคุ้มกัน เงื่อนไขความรู้ เงื่อนไขคุณธรรม มิติวัตถุ /เศรษฐกิจ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม และมิติวัฒนธรรม คือเข้าใจตามทฤษฎีที่เผยแพร่จากรัฐบาลที่หวังจะใหประชาชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงตีความรูปแบบดังกล่าวขึ้น ปัญหาที่พบมากสำหรับผู้ที่เข้าใจในลักษณะนี้คือ จำได้แต่มักไม่เข้าใจถึงควมเชื่อมโยงและวิธีการน้อมนำไปใช้จริง ๆ หลายคนรู้สึกว่าเป็นทฤษฎีที่ยุ่งยาก ไม่สามารถปฏิบัติได้ทั้งหมด จึงรู้สึกว่าตนเอง “ไม่พอเพียง” และสุดท้ายคือท้อแท้ไป ไม่ศึกษาและน้อมนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเอง

๕) เข้าใจได้อย่างถูกต้องว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นทั้งหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต โดยยึดเงื่อนไข ๒ ประการคือ เงื่อนไขคุณธรรม และเงื่อนไขคุณธรรม จะทำอะไรต้องไม่ผิดหลักคุณธรรมจริยธรรม สืบค้นและนำความรู้วิชาการมาใช้เสมอ ก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง คิดพิจารณาอย่างครบถ้วนทั้ง ๓ ห่วง ว่า พอประมาณหรือไม่ มีเหตุผลมีหรือไม่ มีภูมิคุ้มกันที่ดีหรือไม่ ระหว่างกระทำและหลังกระทำ ระลึกและกำกับให้อยู่ในเงื่อนไข ๒ และพิจารณาครอบคลุม ๔ มิติ ทั้งวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายให้เกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน

และเสนอเป้าหมายของการส่งเสริมการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ทำให้นิสิต บุคลากร และประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังที่ได้กล่าวในข้อ ๕) ซึ่งจะบรรลุผลสำเร็จได้จริงก็ต่อเมื่อมีกิจกรรม โครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาส เอื้ออำนวยให้นิสิต บุคลากร และประชาชนทั่วไป ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ด้วยตนเองเท่านั้น


คุณวินัย ตาเมือง ที่ปรึกษาชมรมตามรอยเท้าพ่อ กำลังขับเคลื่อนสำคัญ



ศราวุธ ประธานชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์ มมส.



ดูรูปทั้งหมดที่นี่

หมายเลขบันทึก: 625865เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2017 00:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2017 00:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-สวัสดีครับ

-ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่ส่งต่อมานะครับ

-กำลังร่วมสานต่อความพอเพียงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท