บริษัทจังหวัด กับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี.......(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด


บริษัทจังหวัด

กระทรวงพาณิชย์ได้สนับสนุนให้มีการก่อตั้งและร่วมลงทุนถือหุ้นในบริษัทจังหวัดทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 โดยมีวัตถุประสงค์ในการควบคุมและรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าอุปโภคบริโภค แต่เนื่องจากสถานภาพทางการค้ามีการปรับตัวไปตามกลไกตลาด มีการแข่งขันกันมากขึ้น หลายบริษัทประสบการขาดทุนและเลิกกิจการไปแล้ว บริษัทที่ยังคงอยู่ก็ไม่เจริญก้าวหน้าและไม่อาจตอบสนองนโยบายของทางราชการในการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าได้อย่างเต็มที่ หากกระทรวงพาณิชย์ยังคงถือหุ้นต่อไปจะเป็นภาระโดยไม่จำเป็น คณะกรรมการพิจารณาสะสาง ถอน และจำหน่ายหุ้นของกระทรวงพาณิชย์ ในบริษัทจังหวัดที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งขึ้น จึงได้มีมติให้ถอนและจำหน่ายหุ้นของกระทรวงพาณิชย์ในบริษัทจังหวัดทั้งหมด

อ่านต่อได้ที่ : http://www.ryt9.com/s/cabt/119213

บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี........(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด

บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข ประชารัฐ คือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ช่วยกันแก้ปัญหา และคิดหาทางสร้างอนาคตให้ประเทศไทยผ่านโครงสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แนวคิดของการตั้งบริษัทในแนวประชารัฐมีเป้าหมายไปที่ประชาชนตัวเล็กตัวน้อย โดยมีส่วนกลางคือ บจก.ประชารัฐรักสามัคคึประเทศไทย มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ส่วนในแต่ละจังหวัดจะมีการจัดตั้ง บจก.ประชารัฐรักสามัคคี....(ตรงจุดๆคือชื่อของแต่ละจังหวัด) (วิสาหกิจเพื่อสังคม)(ตรงนี้มีพระราชกฤษฎีกาออกมาหากบริษัทไม่จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และผู้ลงเงินทุนในบริษัทเช่นว่านี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ร้อยละร้อย หากบริจาคเงินให้บริษัทเช่นว่านี้ก็ตัดค่าใช้จ่ายได้ร้อยละสองของกำไรสุทธิ) รูปแบบนิติบุคคลเช่นว่านี้เป็นของใหม่ในสังคมไทยจึงมีรูปแบบตุ๊กตาออกมาหลายรูปแบบ ปรับหลายครั้ง แต่หลักการใหญ่ทางไทยเบฟ(เบียร์ช้าง โดยคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี) จะส่งเงินร่วมก่อตั้งทุกจังหวัด ๆ ละ 1 ล้านบาท ทางธนาคารกรุงเทพ จำกัดขอถือสามแสนเก้าหมื่นบาท ทุกจังหวัดระดมทุนในจังหวัดสามล้านแปดแสนหกหมื่นหนึ่งพันบาท หากระดมไม่ถึงทั้งไทยเบฟกับ ธนาคารกรุงเทพ จะส่งเงินถือตามสัดส่วน (กฎหมายไทยเรียกเงินขั้นต่ำร้อยละยี่สิบห้าได้) พอเป็นนโยบายรัฐบาลกำหนดให้ทุกจังหวัดจัดตั้งนิติบุคคลเช่นว่านี้ โดยในภาคเอกชนให้หอการค้าจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมเป็นผู้ประสานดำเนินการ แต่มีข้อกำหนดไม่ให้ทางราชการเป็นกรรมการและถือหุ้น(คงกลัวจะต้องเป็นเหมือนบริษัทจังหวัดที่ผมยกมาข้างต้น) แต่ราชการมีหน้าที่สนับสนุนการทำงานของ บจก.ประชารัฐฯ บางจังหวัดเพื่อตั้งให้ได้ตามที่รัฐกำหนดผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกเงินจากหัวหน้าส่วนราชการคนละสามพันบาท เพื่อตั้งให้ได้ตามที่รัฐกำหนด บางจังหวัดหอการค้าจังหวัดที่ยังเลี้ยงตัวไม่ได้ก็ค่อนข้างลำบาก

ในส่วนของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสงขลา(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด มูลนิธิชุมชนสงขลา เคยดำริที่จะจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมในทำนองนี้ พอเป็นนโยบายรัฐ ทางกรรมการของมูลนิธิชุมชนสงขลาได้มีการพูดคุยถึงเงินของทุนใหญ่เช่นไทยเบฟและธนาคารกรุงเทพ ว่าจะทำให้มูลนิธิสูญเสียความเชื่อของประชาคมที่ทางมูลนิธิฯได้ร่วมทำงานหรือไม่ สุดท้ายประธานมูลนิธิชุมชนสงขลา ได้พูดคุยกับผู้บริหารของไทยเบฟที่ยืนยันเจตนาไม่มีการครอบงำการทำงานของ บจก.ประชารัฐรักสามัคคีสงขลาฯ และพูดคุยกับทางราชการว่าหากเดินตามตุ๊กตาที่ส่วนกลางกำหนด พวกเราไม่รับทำ หากจะทำต้องเป็นรูปแบบที่มูลนิธิชุมชนสงขลาทำตัวแบบ (มูลนิธิชุมชนสงขลาได้รวมภาคเอกชนทั้งหอการค้าจังหวัด(คุณสมพร สิริโปราณานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลาก็เป็นหนึ่งในกรรมการก่อตั้งมูลนิธิชุมชน และ NGO ใหญ่ไม่ว่าอาจารย์พิชัย ศรีใส พิชญา แก้วขาว) ผู้เขียนในฐานะจากภาควิชาการ (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของวิทยาลัยชุมชนสงขลา) โดยที่วิทยาลัยชุมชนมีจริตเดียวกับรูปแบบของ บริษัทประชารัฐฯ เพราะวิทยาลัยมีภารกิจ สร้างอาชีพสร้างงานให้ชุมชน สร้างชุมชนเข็มแข็ง และการสอนอนุปริญญา ทางวิทยาลัยชุมชนสงขลาในนามมูลนิธิวิทยาลัยลงเงินถือหุ้นกับ บจก.ประชารัฐรักสามัคคีสงขลาฯ ร้อยละห้า เป็นเงินห้าหมื่นบาท

บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสงขลา(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ โดยมีผู้ก่อการสามท่านคือ นายสมพร สิริโปราณานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา นายชิต สง่ากุลพงศ์ ประธานมูลนิธิชุมชนสงขลา และนายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา ร่วมกันเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยมีทุนจดทะเบียนที่ ๔,๐๐๐,๐๐๐.บาท(สี่ล้านบาทถ้วน) ในการระดมทุนใช้วิธีการบอกบุญผ่าน ๑๕ ภาคีเครือข่ายการบริหารจัดการ โดยทางบริษัท ไทยเบฟกรุ๊ปแสดงความจำนงถือหุ้นเริ่มแรกร้อยละยี่สิบห้าของทุนจดทะเบียน ทางธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)แสดงความจำนงถือหุ้นร้อยละสามจุดเก้าของทุนจดทะเบียน ส่วนที่เหลือระดมจาก ๑๕ ภาคีเครือข่ายการบริหารจัดการ โดยทางมูลนิธิเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติ หอการค้าจังหวัดสงขลา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา มูลนิธิชุมชนสงขลา ร่วมบริจาคเป็นทุนแห่งละหนึ่งแสนบาท มูลนิธิโรงพยาบาลหาดใหญ่ และมูลนิธิวิทยาลัยชุมชนสงขลา ร่วมบริจาคเป็นทุนแห่งละห้าหมื่นบาทเป็นต้น โดยบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสงขลา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันได้แก่ ความมีเหตุผล ความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอก โดยอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ การใช้วิชาการอย่างระมัดระวังและที่สำคัญจักตั้งมั่นอยู่ในเงื่อนไขคุณธรรมมาเป็นหลักคิดในการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง แต่ละนโยบาย เพื่อให้ยังประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นและส่วนรวมให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและนำไปสู่การพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนในที่สุด

ผู้ก่อตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีสงขลา(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด มีเจตนาแน่วแน่ที่จะประกอบธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข เกิดประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ในจังหวัดสงขลา โดยที่จะประกอบธุรกิจให้เกิดกำไร แต่จะไม่มีการนำผลกำไรจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในทุกกรณี ในกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าแปรรูป และการท่องเที่ยวชุมชน บริษัทฯจะเข้าไปสนับสนุนในด้านต่างๆได้แก่ การเข้าถึงปัจจัยการผลิต โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน การสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมความรู้เพื่อสร้างประโยชน์ต่อยอดการตลาด พัฒนาแบบบูรณาการ วิเคราะห์ตลาดไปจนถึงช่องทางการขายใหม่ๆ การสื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อความยั่งยืน ช่วยสร้างแบรนด์และหาช่องทางการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อท้องถิ่นและสื่อระดับประเทศ และบริหารจัดการทั้งด้านต้นทุน บัญชี เป็นรูปแบบธุรกิจที่รายได้หลักมาจากการให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจชุมชนและการค้าขาย โดยที่จังหวัดสงขลาประกอบด้วย ๑๖ อำเภอ แบ่งเป็นโซนได้สี่โซน คือ ๑. โซนคาบสมุทรประกอบด้วยวิถี โหนด นา เล ประกอบด้วยอำเภอระโนด อำเภอสทิ้งพระ อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอสิงหนคร ๒.โซนอำเภอความมั่นคง ประกอบด้วยอำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา อำเภอจะนะ และอำเภอนาทวี ๓.โซนธุรกิจ ประกอบด้วยอำเภอเมืองสงขลา อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะเดา และอำเภอนาหม่อม ๔. โซนเขตเกษตรกรรม ประกอบด้วยอำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอรัตภูมิ อำเภอบางกล่ำ และอำเภอควนเนียง ทั้งสี่โซนมีความสำคัญเชื่อมโยงผสมผสานกันภายใต้คำกล่าว “สงขลาหนึ่งเดียวสามเกลียวขวั่น” การเชื่อมร้อยและขับเคลื่อนจะเป็นลักษณะการเป็นหุ้นส่วนเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของจังหวัด โดยบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสงขลา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันได้แก่ ความมีเหตุผล ความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอก โดยอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ การใช้วิชาการอย่างระมัดระวังและที่สำคัญจักตั้งมั่นอยู่ในเงื่อนไขคุณธรรมมาเป็นหลักคิดในการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง แต่ละนโยบาย เพื่อให้ยังประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นและส่วนรวมให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและนำไปสู่การพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนในที่สุด มุ่งมั่นทำงานเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินตามแนวคิดของประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

บริษัทจะสร้างโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆในระดับนโยบาย ทำหน้าที่คนกลางประสานงาน เชื่อมร้อยศักยภาพของแต่ละภาคส่วน สร้างความเติบโตให้กับประชาชนตัวเล็กๆ

บริษัทประชารัฐรักสามัคคีสงขลา(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด มีผู้ถือหุ้นจำนวน ๘ คน ที่ปรึกษา ๕ คนกรรมการบริหาร ๖ คน มีคุณโสภณ จะยะสกูล เป็นกรรมการผู้จัดการ และจะมีผู้ช่วย ๑ คน และในระยะแรกจะบริหารงานภายใต้เงิน ๑ ล้านบาทเป็นหลัก ในส่วนการระดมเงินทุนในอนาคตจะรับเป็นเงินบริจาคเท่านั้น

ที่ตั้งของบริษัท ๗๓ อาคารชิตตยา แมนชั่น ถ.เพชรเกษม ๕ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ๙๐๑๑๐

แผนงานระยะสั้น

  • การบริหารจัดการภายในบริษัท จัดตั้งสำนักงาน วางระบบการบริหารจัดการ และจัดทำแผนธุรกิจของบริษัท
  • จัดกิจกรรม ได้แก่

๒.๑ “กระเช้าชุมชน” หรือ “กระเช้าประชารัฐ”ในเทศกาลปีใหม่เป้าหมาย ๕๐๐ กระเช้า เพื่อให้เงินตกถึงมือชาวบ้านในชุมชน โดยจะนำผลิตภัณฑ์ในชุมชนบรรจุในกระเช้าของขวัญที่จะขายให้หน่วยงานรัฐ เอกชน ตามแนวประชารัฐ และร่วมมือกับบริษัท เคแอนด์เคซุปเปอร์ค้าส่ง จำกัด วิทยาลัยชุมชนสงขลาและวิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการหาดใหญ่

๒.๒ สร้างการมีส่วนร่วม สื่อสารกับสาธารณะ ร่วมกับมูลนิธิชุมชนสงขลานำเสนอแนวทางการดำเนินงานเพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะกับภาคส่วนต่างๆ รวมถึงสรรหาสินค้าที่เหมาะสมด้านเกษตร สินค้าแปรรูป และการท่องเที่ยวชุมชนที่จะดำเนินการในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ ๑.ภาครัฐ ๒.ภาคเอกชน ๓.ภาควิชาการ ๔.ภาคเกษตรและองค์กรชุมชน ๕.ภาคองค์กรการเงิน/สหกรณ์

๒.๓ เรียนรู้จากกรณีศึกษา ค้นหาสินค้าที่เหมาะสม แล้วนำมาสู่กระบวนการพัฒนา ต่อยอด สร้างต้นแบบเพื่อเป็นการเรียนรู้ของบริษัทประชารัฐจังหวัด

๒.๔ ฝีกอบรมผู้ด้อยโอกาสในการขาย “ก๋วยเตี๋ยวประชารัฐ” พร้อมรถเข็นให้สามารถทำร้านก๋วยเตี๋ยวราคาประหยัด โดยมีแผนธุรกิจที่สามารถขอกู้เงินสถาบันการเงินเพื่อเป็นทุนดำเนินการ โดยมีซัพพลายจากเอกชนในจังหวัด วางแผนจะขายเฟรนส์ไชส์ทั้งประเทศและอาเซี่ยนในโอกาสต่อไป

๒.๕ ร่วมกับจังหวัดบูรณาการกับงานOTOP ในช่วงเดือนมิถุนายนจัดงานแมทชิ่งสงขลาแฟท Songkhla FAT F = Foods or Factory A = Agriculture T = Tourist โดยการเตรียมผู้ขายสินค้านำสินค้าเกษตร สินค้าแปรรูป และการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อพบผู้ซื้อหรือผู้จัดจำหน่ายจากส่วนกลางหรือบ.ประชารัฐทั่วประเทศ ในงานเปิดตัวบริษัท จำนวน ๑๐๐-๒๐๐ ร้าน โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนำนักศึกษามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ผลิตและร่วมกันพัฒนายกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน

๓.รวบรวมและกลั่นกรองข้อเสนอแนะอื่นๆที่สามารถนำไปพัฒนาต่อ ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกและแบรนด์ ตะตีรียะ(ตะเครียร่า)หรือ ตะ-เค-รี-ย่า(ท่านบัญญัติ จันทน์เสนะช่วยเสนอ) หรือตะเครียะ/กาแฟซะดะซะดะ(ภาษามลายูแปลว่าอร่อย) โดยนำตำนานกาแฟต้นแรกในประเทศไทยปลูกที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลาเป็นจุดขาย การสร้าง “ตลาดปลาเป็น” ที่บ่ออิฐ เป็นต้น

๒.๖ สนับสนุนการสร้างแบรนด์ไก่ทอดเทพา เพื่อขยายโอกาสการจัดจำหน่าย การเก็บรักษา(โดยกรรมการรายคุณมานะ ศรีพิทักษ์ รับจะให้ฝ่ายวิจัยของบริษัท แมนเอ จำกัด ช่วยวิจัยในการจัดเก็บลักษณะของการแช่แข็ง) หาช่องทางการทำเป็นเฟรนด์ไชส์ในโอกาสต่อไป


หมายเลขบันทึก: 625728เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2017 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2017 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท