พุทธปรัชญากับความไม่เสมอภาคทางเพศ :โดย. ศ.ดร.สมภาร พรมทา.


พุทธปรัชญากับความไม่เสมอภาคทางเพศ
โดย. ศ.ดร.สมภาร พรมทา.

................

<p “=”“>กราบนมัสการท่านคณบดี แล้วก็กราบนมัสการท่านอาจารย์ พระมหากฤษณะ ผมต้องแยกชื่อท่านเป็นพิเศษหน่อยเพราะว่าท่านกับผมนี้มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน แล้วก็กราบนมัสการท่านอื่นๆ ขอสวัสดีพวกเรานะทางคฤหัสถ์ญาติโยมคฤหัสถ์ญาติโยมผมขอใช้คำรวมๆ ว่าพวกเราก็แล้วกันนะ ผมมีความสุขมากนะครับวันนี้ คือรู้สึกอยู่ในแวดวงคนบ้านเดียวกันครอบครัวเดียวกัน ภาษาอีสานเรียกว่ามันม่วน ไม่รู้จะแปลเป็นภาษากลางว่าอย่างไร ขออภัยนะที่ท่านอยู่ภาษากลาง ท่านที่ใช้ภาษากลาง

</p>

ผมเตรียมเรื่องที่จะมานำคุยสามเรื่อง เวลาเรามีประมาณ ๒ ชั่วโมง ผมคิดว่าผมไม่ควรจะพูดเกินหนึ่งชั่วโมง ที่เหลือจะเป็นการแลกเปลี่ยน พูดคุยกันคือเวลาไปพูดผมชอบฟังด้วย แล้วก็ที่ผ่านมาความคิดดีๆ หลายอย่างเกิดขึ้นเพราะว่าช่วงฟังผู้อื่นนี้แหละ นะครับเพราะฉะนั้นขออนุญาต พูดนำส่วนที่ผมเตรียมมาสามเรื่องหลักๆ คือหัวข้อที่ทางเจ้าภาพท่านตั้งเอาไว้ คืออยากจะให้ผมมาให้ความเห็นว่าพุทธปรัชญาจะมอง หรือมีความคิด ความอ่านข้อเสนอแนะในเรื่องความไม่เสมอภาคทางเพศอย่างไร

คือวันนี้เราจะพูดสองเรื่องโยงหากัน เรื่องที่หนึ่งก็คือพุทธปรัชญาเรื่องที่สองคือปัญหาความไม่เสมอภาคทางเพศ
คราวนี้ผมขอเริ่มต้นด้วยแนวคิดเรื่องความไม่เสมอภาคกว้างๆ ก่อน นี้คือเรื่องแรกที่ผมเตรียมมา เมื่อพูดถึงความไม่เสมอภาคกว้างๆ แล้วก็ตอนท้ายก็จะเจาะเฉพาะเจาะจงไปที่เรื่องความไม่เสมอภาคทางเพศ

พอจบหัวข้อนี้แล้วก็อยากจะพูดถึงแนวคิดของฝรั่งที่จำเป็นสักหน่อยว่าฝรั่ง นักปรัชญาฝรั่งเขามองปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาคทางเพศอย่างไร เมื่อจบส่วนที่สองนี้แล้วส่วนที่สามจะไปดูว่าพุทธปรัชญาจะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร
ความเห็นของพุทธปรัชญาเราอาจจะพิจารณาในฐานะที่เป็นความเห็นหนึ่งในวงการปรัชญาก็ได้ ซึ่งในความเห็นของผม เป็นความเห็นที่สำคัญทีเดียว นี้คือสามประเด็นหลักๆ

คราวนี้ขอไล่เป็นเรื่องๆ เลย

เรื่องที่ ๑ เรื่องความไม่เสมอภาคนี้ ความไม่เสมอภาคถ้าใช้คำไทยคำหนึ่งแทนอาจจะใช้คำว่า ความไม่เท่าเทียมกันก็ได้ ทั้งหมดความไม่เสมอภาคก็ดีความไม่เท่าเทียมก็ดี เป็นคำไทยที่เราแปลมาจากคำฝรั่งว่า inequality เพราะฉะนั้นความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า equality เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ คือ อะไรก็แล้วแต่ ที่เราถกกันในยุคปัจจุบันบางทีมันไม่เป็นปัญหาในอดีตโดยเฉพาะในอดีตมากๆ

เช่นอดีตเมื่อสองสามพันปีที่แล้ว สมัยนี้เราตั้งคำถามว่า ผู้หญิงผู้ชายควรจะเท่าเทียมกันไหม คนบ้านนอกกับคนในเมืองควรจะเท่าเทียมกันไหมในเรื่องการกำหนดอนาคตของประเทศอย่างนี้เป็นต้นใช่ไหม คำถามนี้มันเป็นคำถามที่ เราถามกันสมัยนี้ แต่ว่าย้อนกลับไปในสังคมสมัยโบราณจะเป็นที่ประเทศกรีซ จีนหรือว่าอินเดียก็ได้นะ คำถามว่าคนเท่ากันหรือเปล่า มันไม่เป็นคำถาม มันเหมือนกับว่า ในยุคอดีตผมยกตัวอย่าง ในสังคมชาวกรีกก่อน ยุคนั้นประมาณสามพันปีที่แล้วมีนักปรัชญาที่สำคัญเช่น โสกราตีส เพลโต อริสโตเติล เป็นต้น คนเหล่านี้ เขาก็พูดหรือว่าเขียนหนังสือซึ่งภายหลังงานเขียน งานพูดของเขาตกทอดมาถึงเราในฐานะ ที่เป็นงานสำคัญ หลายเรื่องคนเหล่านี้คิดได้ลึกซึ้งเกินยุคเกินสมัย

แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกคือว่า นักปราชญ์ชาวกรีก เหล่านี้ที่ผมเอ๋ยชื่อมานี้ ไม่มีใครมองเห็น เรื่องความไม่เท่าเทียมกันเลย เวลาที่โสกราตีสแกไปที่ตลาด แกไปชวนใครต่อใครคุยกันเรื่องปรัชญา แก่เห็นว่าสังคมชาวกรีกเขามีคนบางคนได้รับการปฏิบัติ เสมือนไม่ใช่คน คนเหล่านี้ก็คือ ทาส ทาสในสังคมกรีกมีมาก แล้วทาสถือเป็นทรัพย์สิน พูดง่ายๆ คือ ไม่ต่างจากวัวจากควาย เจ้านายตีได้ ถ้าทำงานไม่ถูกใจเจ้านาย ถ้าเจ้านายเบื่อเจ้านายก็ขายได้ โสกราตีส เพลโต อริสโตเติล อยู่ในสังคมแบบนี้ แต่นักปราชญ์เหล่านี้ไม่เคย ตั้งคำถามว่า เราทำอย่างนั้นกับทาสได้หรือไม่ เพราะอะไรไม่ถาม

เพราะฉะนั้นผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน มันเป็นปัญหาของคนสมัยเรา มันไม่ใช่เป็นปัญหาของคนสมัยก่อน คราวนี้ที่เมืองจีนก็บรรยากาศก็คล้ายๆ กัน เราอ่านงานเขียนของขงจื้อหรือว่างานเขียนของเล่าจื้อ ในสังคมจีน จะมีคนบางพวกได้รับการปฏิบัติไม่เท่ากับคนอื่นคือต่ำกว่าคนอื่น สังคมจีนเขาอาจจะไม่เรียกคนเหล่านี้ว่าทาสนะ แต่สถานะไม่ต่างกัน คราวนี้ในสังคมอินเดียในสมัยพุทธกาล เวลาเราอ่านพระไตรปิฎก เราจะเห็นว่าทาสก็เป็นคนที่ ได้รับการปฏิบัติ เสมือนไม่ใช่คน สรุปก็คือว่า ผมต้องการชี้ให้เห็นว่า คำถามที่เราถามกันว่า คนเท่ากันหรือไม่ มันไม่เป็นคำถามในสมัยสองสามพันปีที่แล้ว ผมขยักไว้นิดนึงนะว่า เฉพาะอินเดีย มีบางคนถาม คนๆนี้พิเศษมากๆ เลยนะ คือพระพุทธเจ้า

นึกภาพนะครับ เมื่อสามพันปีที่แล้ว มีนักปราชญ์ที่เราถือว่า ฉลาดมากๆ นักประวัติศาสตร์ ทางชนะด้านสติปัญญาของมนุษยชาติจำนวนมาก ได้ยกคนเหล่านี้ว่าเท่าเทียมกับพระพุทธเจ้าเลย เช่น โสกราตีส เพลโต อริสโตเติล เล่าจื้อ ขงจื้อ เป็นต้นนะ ทางอินเดียก็มีพระพุทธเจ้า คนเหล่านี้อยู่ในช่วงยุคสมัยใกล้เคียงกัน แล้วยุคสมัยนั้นมีการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ของเราบางคนเสมือนเขาไม่ใช่คน

ในบรรดานักปราชญ์ที่นักประวัติศาสตร์ในโลกเขาจัดว่าอยู่ในสถานะเสมอเหมือนกัน ดูเหมือนจะมีพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่สงสัยในเรื่องนี้ที่ถาม

เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่า สำหรับผมนะ ถ้าจะให้ความสำคัญพิเศษกับพระพุทธเจ้า ในเรื่องหนึ่งในจำนวนหลายๆ เรื่อง ผมค่อนข้างจะให้ความสำคัญเรื่องที่ท่านทรงคิด เกี่ยวกับเรื่องทาส แปลว่ามันเป็นไปได้นะที่โสกราตีสอาจจะคิดเหมือนกันแต่ไม่พูด เล่าจื้ออาจจะคิดเหมือนกันแต่ไม่พูด ก็แปลว่า ในแง่ความกล้าหาญทางด้านจริยธรรม คนที่พูด ต้องกล้าหาญกว่าใช่ไหม เพราะพูดแล้วมันเสีย คือนักปราชญ์ในอดีต เหล่านี้นะไม่ว่าจะเป็นนักปราชญ์ชาวกรีกหรือว่าชาวจีนหรือว่าแม้แต่ทางอินเดียก็อยู่ในสังคมที่นักปราชญ์ได้รับการอุปถัมภ์สนับสนุนโดยคนชั้นสูง แล้วคนชั้นสูงก็ใช้ประโยชน์จากการปฏิบัติต่อคนประเภทหนึ่งไม่เท่ากับคนโดยทั่วไปๆ คือถ้ามีทาสแล้วใช้งานทาส ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ใช่ไหมนะ เพราะฉะนั้นทำให้คนเหล่านี้ได้ประโยชน์ คนกรีกที่ฟังโสกราตีสพูด ฟังเพลโตพูดหรือว่าคนจีน ที่ฟังเล่าจื้อ ขงจื้อพูดเสนอความเห็นคนเหล่านี้เป็นคนชั้นสูงในสังคม ซึ่งได้ประโยชน์จากการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์บางประเภทไม่เท่ากับตน พระพุทธเจ้าท่านก็อยู่ในอยู่ในสถานะนั้น แต่ท่านพูด ผมคิดว่าต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

คราวนี้ที่ผมเกริ่นนำ เรื่องนี้ไม่ประสงค์ที่จะเข้าเรื่องพุทธปรัชญาเสียเลยทีเดียว แต่ว่าต้องการจะเรียนให้ทราบว่า ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน มันเพิ่งเป็นปัญหา ที่คนสมัยใหม่ เขาตั้งคำถามมา น่าสักสองสามร้อยปีนี้เอง เมื่อพันสองพันหรือว่าสามพันปีทีแล้วเขาไม่ถามกัน

คราวนี้ผมขอพูดถึงตัวที่มันเป็นหัวใจของเรื่องนิดนึง เวลาเราพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมกัน ความเสมอภาคกัน มันมีสองเรื่อง ซ้อนกันอยู่แล้วสองเรื่องบางที คนที่ร่วมกันพูดเรื่องนี้ ถกกันหรือว่าคิดกันเรื่องความไม่เสมอภาคถ้าไม่แยกสองเรื่องนี้ออกจากกันจะคุยกันไม่รู้เรือง

ผมขอ เริ่มต้นด้วยการแยกสองเรื่องนี้ออกจากกันก่อน เรื่องอันที่หนึ่งก็คือ ความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดปรากฏเป็นข้อเท็จจริงในธรรมชาติ ยกตัวอย่างง่ายอย่างผมก็มีลักษณะบางอย่าง ท่านอาจารย์กฤษณะก็จะมีลักษณะบางอย่างไม่เท่ากัน ไม่เท่ากัน ตั้งแต่เรื่องกายภาพ เอาตาชั่งมา ให้ผมไปยืนก่อนแล้วลงแล้ว ให้ท่านอ.กฤษณะ ขึ้นไปยืนบนตราชั่ง แล้วลงน้ำหนักไม่เท่ากัน นอกจากน้ำหนักจะไม่เท่ากัน หลายสิ่งหลายอย่างในตัวเรา ก็ไม่เท่ากัน

เพราะฉะนั้น ถ้าจะถามว่า มีไหมคนในโลกที่เท่ากันเปะเลยทุกอย่าง เราคิดว่าไม่มีนะ แม้แต่ของซึ่งไม่ใช่คน แต่เป็นของที่เราผลิตมาจากโรงงาน สมมุตินาฬิกายี่ห้อที่ผมใช้ รุ่นนี้เขาผลิตมาจากโรงงาน พันเรือนสมมุตินะ ขนาดก็เท่ากันในแง่ที่ว่า ลักษณะชิ้นส่วนอะไรต่อมิอะไรเขาออกแบบมาเหมือนกันหมด แต่คิดจริงๆ ไม่เท่ากัน สมมุติ ผมเอาเรือนหนึ่งวางไว้ขวามือผมอีกเรือนหนึ่งวางไว้ซ้ายมือผม

แล้วทั้งสองเรือนนี้ สมมุติแม้แต่ Serial numberเขาก็ให้เบอร์เดียวกันเลย เบอร์หนึ่งร้อยเหมือนกันเลยจะไม่ได้ต่างกัน ในทางปรัชญาเราถือกันว่า มันไม่เท่ากันหรอกเพราะอีกเรือนหนึ่งอยู่ขวามือผมอีกเรือนอยู่ซ้ายมือ มันกินที่คนละที่ ไม่มีทางที่นาฬิกาสองเรือนนี้จะใช้ Space ร่วมกันได้ มันต้องวางกันคนละที่อยู่แล้วไง เพราะฉะนั้น

ปัญหาว่ามีอะไรบ้างหรือเปล่าในโลกที่เท่ากันเปะเลย ในทางปรัชญาเราถือว่าไม่มีหรอก ข้อสรุปก็คือข้อสังเกตที่ว่า โลกธรรมชาติของเราเป็นโลกของความไม่เท่าเทียมกัน ไม่เท่าเทียมกันคือต่างกัน เรามีเอกลักษณ์ มีลักษณะเฉพาะต่างกัน ไม่เหมือนกัน มีความสามารถไม่เท่ากัน บางคนเขียนหนังสือเก่ง บางคนเขียนหนังสือไม่เก่ง บางคนร้องเพลงเพราะ บางคนร้องเพลงไม่เพราะ บางคนเล่นฟุตบอลเก่ง บางคนเล่นไม่เก่ง เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่าในแง่ ข้อเท็จจริง โลกนี้เป็นโลกของความเท่าเทียมกันหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะฉะนั้นคนที่ชอบพูดว่า ใครก็แล้วแต่ ที่มาเรียกร้องหาความเท่าเทียมกัน น่าจะเข้าใจผิดมั้งขนาดนิ้วมือ ยังไม่เท่ากันเลย

เขาจะยกตัวอย่างนิ้วมือ อันนี้เป็นความจริงเลย แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เรื่อง ว่าโลกนี้ ข้อเท็จจริงคือเป็นโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ ที่ไม่เท่ากัน ประเด็นข้อเท็จจริงไม่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเวลาที่เราพูดถึงความเท่าเทียมกัน ไม่เท่าเทียมกันเราอย่าไปพูดประเด็นเรื่องที่มันเป็นข้อเท็จจริง เพราะว่าประเด็นเรื่องข้อเท็จจริงมันจบแล้ว ไม่มีทางครับที่โลกนี้ จะทำให้ทุกอย่างมันเท่ากัน ถ้ามองในแง่เรื่องเพศ การที่ธรรมชาติสร้าง เพศชายมาแบบหนึ่ง เพศหญิงมาแบบหนึ่ง มันก็เป็นความไม่เท่ากันอยู่แล้วไง เพราะฉะนั้น อะไรก็แล้วแต่ถ้ามันเป็นเรื่องข้อเท็จจริง ผมคิดว่าเราไม่ต้องถก กันแล้วมันจบ

คราวนี้เรื่องที่สอง ที่มันซ้อนอยู่ในเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน มันเป็นเรื่องทางความคิด คือเรื่องมันเป็นอย่างนี้ ผมขอใช้วิธียกตัวอย่าง เรื่องนี้มันก็เป็นปัญหาในทางปรัชญา เมื่อประมาณสัก ศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ นี้เอง ก่อนหน้านั้น ปัญหาที่ผมจะพูด ต่อไปนี้ โสกราตีส เพลโต อริสโตเติล ไม่พูดถึง ขงจื้อ เล่าจื้อ ก็ไม่พูดถึง

คนที่เอาเรื่องเหล่านี้มาพูดถึง ชื่อแรกๆ เลย พวกจอห์น ล็อค ใครต่อใครเหล่านี้ จอห์น สจ็วต มิลล์ เป็นต้น คนเหล่านี้เขาตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ครับ เอาสมมุติเรามีเพื่อนบ้านสองคนก็แล้วกัน คนหนึ่งเป็นคนทำกับข้าวเก่ง ทำอะไรอร่อยหมด อีกคนหนึ่งไม่ค่อยมีฝีมือเรื่องการทำกับข้าว เรารู้เพราะว่า เวลาที่สองบ้านนี้ ทำอาหารแล้วแบ่งมาให้เรากิน บ้านหนึ่งเราจะกินหมดอย่างรวดเร็ว อีกบ้านหนึ่งเราจะค่อยๆ กิน แล้วกินไม่ค่อยหมด

คราวนี้เมื่อสองคนนี้ไปตั้งร้านอาหารอยู่ใกล้ๆ กัน เราก็พอจะเดาได้ใช่ไหมครับว่า บ้านที่ทำอาหารเก่ง คนก็จะต้องเข้ามากกว่า ในขณะที่บ้านซึ่งทำอาหารไม่เก่งคนก็จะไม่ค่อยเข้า ท้ายที่สุดแล้วเป็นไปได้ที่ ร้านที่ดำเนินการโดยคนที่ทำอาหารไม่เก่งก็จะเจ๊งไป มันเริ่มต้นจากการที่คนสองคนนี้เกิดมาไม่เท่ากัน ไม่เท่ากันในแง่อีกเกิดมาพร้อมพรสวรรค์ และการทำกับข้าว ส่วนอีกคนหนึ่งไม่ได้เกิดมาพร้อมด้วยพรสวรรค์นั้น

<p “=””>คราวนี้คนอย่าง จอหน์ สจ็วต มิลล์ หรือว่า จอห์น ล็อค หรือแม้แต่มาร์ก เขาตั้งคำถามอย่างนี้ครับ สองคนเป็นพลเมืองไทย เขาอยู่ในประเทศไทย สองคนนี้ในฐานะที่เป็นพลเมือง เขาก็ต้องจ่ายภาษี ตามสถานะของตน ซึ่งอาจจะจ่ายไม่เท่ากัน แต่ในฐานะที่เป็นพลเมืองสองคนต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐ รัฐเมื่อถือว่าคนสองคน เป็นพลเมืองและจ่ายภาษี ในฐานะที่เป็นพลเมืองเหมือนกันรัฐก็ต้องดูแลเขา ที่นี้คำถามที่ จอห์น ล็อค และมาร์กตั้งคำถามก็คือว่า มันคงไม่ถูกมั้งที่รัฐจะปล่อยให้สองคนนี้ทำม้าค้าขาย
คนหนึ่งเจ๊งไปเสียเฉยๆ อีกคนหนึ่งทำม้าค้าขายรวยเพราะว่ามีฝีมือ คือใช่ จอห์น ล็อค เขาบอกว่าคนสองคน ข้อเท็จจริงคือ เกิดมาต่างกัน แต่การที่ ข้อเท็จจริง คือเกิดมาต่างกันไม่ได้แปลว่า เขาจะต้องได้รับการปฏิบัติหรือไม่ได้รับการปฏิบัติ จากรัฐ เพื่อช่วยเขาแก้ปัญหา ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน ที่มันเพิ่งเกิด ในศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ประเด็นอยู่ตรงนี้ นักปราชญ์ทั้งหลายรับว่าคนเกิดมาไม่เท่ากัน แต่ประเด็นที่คน เหล่านี้ชวนคิดก็คือว่า การที่คนเกิดมาไม่เท่ากันมันแปลว่า รัฐจะอยู่เฉยๆ ไม่บริหารจัดการอะไรเพื่อให้คนที่เกิดมาต่างกันได้มี ชีวิตที่ดี ใกล้เคียงกันหรือยังไง นี่เป็นคำถาม คำว่าเท่ากัน มันไม่ได้แปลว่า คนเกิดมาเท่ากัน แต่มันแปลว่า เกิดมาต่างกันนั่นแหละ แต่รัฐ มีหน้าที่ในการที่จะทำให้คนซึ่งเป็นพลเมือง มีความเป็นอยู่ที่มีความสุข ใกล้เคียงกัน ถ้าเราคิดว่านั่น คือภาระหน้าที่ของรัฐ เราก็ต้องพยายาม ดึงให้คนที่ด้อยมาเท่าคนอื่นบ้างใช่ไหมครับ ประเด็นมันอยู่ที่ตรงนี้
</p> <p “=””>เพราะฉะนั้นคำว่า ความเสมอภาค ความเท่าเทียม ที่เป็นปัญหาจริงๆ ที่ผมอยากชวนคุยในวันนี้ มันเป็นหลักคิดหรือแนวคิดในทางจริยศาสตร์ ปรัชญาการเมืองและสังคม ไม่ใช่แนวคิดทาง เมตาฟิสิกส์ ในทางข้อเท็จจริงไม่ใช่นะ แต่ว่าในขณะเดียวกันแนวคิดทางด้าน เมตาฟิสิกส์ก็มีผลนะครับว่า เราจะพึงปฏิบัติ ต่อคนที่ต่างกันอย่างไรดีที่สุด ซึ่งการใช้หลักข้อเท็จจริง หรือว่าหลักเมตาฟิสิกส์ก็ได้ถ้าเราคิดว่ามีบางอย่างซึ่งมันไม่เชิงเป็นข้อเท็จจริงสำหรับเป็นฐานในการคิดทางด้านจริยศาสตร์ และปรัชญาสังคมการเมืองที่ต่างกัน ทำให้เกิดการปฏิบัติที่ต่างกัน ผมคิดว่าการย้อนไปดูหลัก เมตาฟิสิกส์ มันก็สำคัญ ผมจะขอใช้ตัวอย่าง จอห์น ล็อค กับมาร์ก เป็นตัวอย่างนะครับ

</p>

ผมเริ่มเข้าสู่ข้อที่สอง ข้อที่ว่าแนวคิดทางตะวันตกเขามองเรื่องความเท่าเทียมและไม่เท่าเทียมกันอย่างไร คือ จอห์น ล็อค แกเขียนหนังสือเอาไว้หลายเล่ม หนังสือเหล่านี้ถ้าจะประมวลเนื้อหา ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะคุยกันในวันนี้เป็นประเด็นหลักๆ คงจะได้อย่างนี้ ล็อคคิดว่า ประเทศเหมือนกับบริษัท บริษัทก็คือคนทั้งหลายก็เอาเงินส่วนตัวมาลงทุน มาซื้อหุ้น แต่คนที่ซื้อหุ้น คนที่ลงทุน เป็นคนจำนวนมาก ไม่สามารถที่จะเข้ามาบริหารบริษัทด้วยตนเอง คนที่ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของหุ้นก็เลยตกลงเลือก คนจำนวนหนึ่งมาเป็นคนบริหารบริษัทแทนตน ถ้าเทียบกันแล้วนะ คนถือหุ้นก็เหมือนกับประชาชนในประเทศเช่น ประเทศไทย ส่วนรัฐบาลก็คือ คนที่คนไทยเลือกมาให้ ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการ บริษัทประเทศไทยแทนตน

แนวคิดของจอห์น ล็อค เป็นที่มาของปรัชญาการเมืองการปกครอง แบบประชาธิปไตยก็คือ เจ้าของประเทศ ก็เลือกตัวแทนที่ตนเองไว้เนื้อเชื้อใจมาเป็นรัฐบาล มาเป็นคนออกกฎหมาย มาเป็นตุลาการ ที่นี้ในทัศนะของจอห์น ล็อค ประเทศเป็นของประชาชน ประเทศไม่ใช่ของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ รัฐบาลจะต้องทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย จากประชาชน ที่เป็นเจ้าของประเทศ คราวนี้ล็อคเขาคิดว่า คนที่เขาถือหุ้นทุกคนนะครับ มีจุดประสงค์คล้ายๆ กันก็คือ ต้องการปกป้องประโยชน์ของตน ดังนั้นคนที่เป็นคนบริหารบริษัท ก็จะต้องทำอะไรก็ได้ ที่จะทำให้คนที่ถือหุ้น มีกำไรสูงสุด คราวนี้เมื่อคิดอย่างนี้ จอห์น ล็อค ก็เลยเสนอ ทฤษฎี ต่อไปนี้

หนึ่ง ล็อค บอกว่า รัฐบาลเปรียบเสมือนกรรมการมวย นึกถึงอย่างนี้ก็ได้ ผมที่เป็นประชาชน ขึ้นชกบนเวที แล้วก็มีคู่ต่อสู้ของผมอีกคนหนึ่งเป็นประชาชนเหมือนกันนะครับ ก็ขึ้นชกบนเวที คราวนี้คนสองคนมีความสามารถต่างกัน มีความมุมานะต่างกัน ดังนั้นโดยหลัก ใครฝึกมามาก ใครแข็งแรงมาก ใครมุ่งมั่นมาก ใครฝีมือมากคนนั้นก็ควรได้ชนะบนเวทีใช่ไหมนะ หน้าที่ของกรรมการ ก็คือดูกติกาครับว่าจะกำหนดกติกาอย่างไร จึงจะทำให้การชกบนเวทีขาวสะอาดที่สุด เสร็จแล้วก็มีหน้าที่กำกับ ให้คู่ชกบนเวทีคือผมกับคู่ต่อสู้ของผม ทำตามกติกา ถ้าใครละเมิดกติกา กรรมการก็เตือน ถ้าเตือนแล้วไม่ฟังก็อาจจะจับแพ้ ก็ได้ใช่ไหมละ เพราะฉะนั้นรัฐบาลในทัศนะของจอห์น ล็อค มีหน้าที่เปรียบเสมือนกรรมการมวย กรรมการไม่มีหน้าที่ช่วยใคร เหมือนกันครับ รัฐบาลไม่มีหน้าที่ช่วยใคร ดังนั้นที่ผมยกตัวอย่างว่า แม้ค้าสองคนไปตั้งร้านอาหารไปอยู่ใกล้ๆ กัน คนหนึ่งทำอาหารอร่อย คนก็เข้ามาก อีกคนหนึ่งทำอาหารไม่ได้เรื่อง ร้านก็เจ๊ง

ในทัศนะของจอห์น ล็อค รัฐบาลต้องอยู่เฉยๆ เพราะถือว่านั่นถูกแล้ว คนมีฝีมือก็ต้องรวย คนไร้ฝีมือก็ต้องเจ๊ง ถ้าสมมุตจะมีการช่วยเหลืออะไรบางอย่าง ก็ช่วยได้แต่เป็นการช่วยในระดับ ที่จะทำให้คนที่เจ๊งยังพอที่พอมีชีวิตอยู่ได้ แต่รัฐบาลจะมาออกกฎว่า สองร้าน จะต้องมีที่นั่งจำกัด ถ้าที่นั่งเต็มแล้ว ร้านที่ขายได้มากอย่างไรก็จะรับคนในช่วงเวลานั้นไม่ได้ จะต้องกระจายคนมาอีกร้านหนึ่ง ไม่ได้นะครับ ถือว่านี้เป็นการเข้าไปแทรกแล้ว ถึงความประสงค์ของรัฐจะแทรกแซงเพื่อที่จะให้ร้านคนที่ไม่เข้าได้มี คนที่เข้าเท่าเทียมกัน จะได้ไม่เจ๊ง ในทัศนะของจอห์น ล็อค บอกทำไม่ได้ รัฐบาลทำแบบนี้ ก็เหมือนกรรมการซึ่งชกๆ กันอยู่ แล้วเห็นว่าอีกข้างมันจะสู้อีกข้างหนึ่งไม่ได้ เลยไปช่วยข้างที่เสียเปรียบ อ่อนแอกว่าชกอีกข้าง ทำไม่ได้เกินหน้าที่รัฐบาล

คราวนี้ถ้าถามจอห์น ล็อค ว่าความเท่าเทียมกันคือ อะไร สังเกตนะครับเมื่อกี้ผมตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดทางเมตาฟิสิกส์ แบบไหนมันมักจะมีผลต่อการกำหนดหลักปฏิบัติในทางปรัชญาสังคมและการเมืองแบบนั้นนะ จอห์น ล็อค เขาเชื่อว่าคนเราเกิดมาต่างกัน แปลกนะครับ เจ้าของทฤษฎีประชาธิปไตย คือ จอห์น ล็อค เขาพูดเลยนะลึกๆ คนเราเกิดมาต่างกัน ไม่เท่ากันหรอก ดูอย่างไรครับ ก็ดูว่า คนหนึ่งทำอาหารอร่อย คนหนึ่งทำอาหารไม่อร่อย คนหนึ่งเรียนปรัชญาเก่ง แต่เล่นดนตรีอาจจะไม่เก่ง แต่บางคนเล่นดนตรีเก่งแต่เรียนปรัชญาไม่เก่ง มันต่างกันไงครับ คราวนี้ล็อค เขาบอกว่า เมื่อคนเหล่านี้มารวมกันเป็นพลเมืองในประเทศ เรามอบความเป็นเจ้าของประเทศให้ทุกคนเท่ากันได้

เพราะฉะนั้น ความเท่าเทียมของจอห์น ล็อค มันเป็นความเท่าเทียมในบางแง่บางด้านเท่านั้น ด้านที่ว่านี้ด้านกว้างๆ หลักๆ ก็คือความเป็นพลเมืองประเทศ เมื่อทุกคนมีความเสมอภาคในการเป็นพลเมืองประเทศ ทุกคนก็จะมีหนึ่งเสียงเท่ากันในการโหวตว่าจะเอาใครมาเป็นผู้ปกครองประเทศ ชาวนาก็หนึ่งเสียง นายธนาคารก็หนึ่งเสียง นักบวชก็หนึ่งเสียงถ้าสมมุติสังคมนั้นอนุญาตให้นักบวชโหวตได้ แต่คราวนี้เมื่อโหวตแล้วได้ รัฐบาลมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรรมการมวย จอห์น ล็อค บอกว่า หน้าที่ของกรรมการมวย ที่จะต้องดูแลความเท่าเทียมกัน มันจะเป็นคนละเรื่องกับความเท่าเทียมในแง่ที่ ต่างคนก็ต่างก็ มีหนึ่งเสียงในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่นะครับ คนที่ค้าขายเก่งก็ต้องรวย จอห์น ล็อคบอกอย่างนั้นนะ เมื่อเขารวยเขาก็ตอนแรกเขาอาจจะค้าขาย เป็นลูกจ้างเป็นอะไรเอง แต่เมื่อรวยแล้วเขาก็เป็นนายทุน เขาก็สร้าง กิจการเองเขาก็ไม่ต้องทำงานเอง คนที่อื่นซึ่งเก่งไม่เท่าเขา ก็มาเป็นคนงาน ทำงานให้เขาใช่ไหมละ คนที่เป็นคนงานก็ต้องรายได้น้อยกว่า เจ้าของกิจการ ถามว่านี้คือ ความไม่เท่าเทียมกันไหม จอห์น ล็อค บอกใช่ แต่ความไม่เท่าเทียม อันนี้ จอห์น ล็อค บอกว่ามันเป็นไปความไม่เท่าเทียมตามธรรมชาติไงละ ซึ่งมันไม่ใช่ความไม่เท่าเทียมกันในทางการเมือง ลูกจ้างที่ได้เงินต่อปีแสนหนึ่งกับนายจ้างที่ได้เงินต่อปีพันล้าน แน่นอนรายได้มันไม่เท่ากันมันต่างกันใช่ไหม แต่สองคนนี้เวลาที่มีการเลือกตั้งเข้าคูหาก็หนึ่งเสียงเท่ากัน ล็อค บอกว่าก็หนึ่งเสียงเท่ากันไง เท่ากันแล้ว แต่มันเท่ากันแค่นั้นนะครับ ออกจากคูหามาแล้ว ได้รัฐบาลมาบริหารประเทศจอห์น ล็อค เขาบอกว่า รัฐบาลไม่มีหน้าที่ ที่จะไปช่วยให้คน ที่ได้ปีละแสนมี รายได้เขยิบใกล้เคียงกับคนที่ มีรายได้ต่อปีปีละพันล้าน คนละเรื่องไม่เกี่ยว ปรัชญาของจอห์น ล็อค มีอิทธิพลอยู่กับประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกเวลานี้ อเมริกาเป็นต้น ที่ผมเล่าเรื่องนี้เพราะว่า ต้องการจะให้เราแยก เวลาเราพูดถึงแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมกันตามหลักประชาธิปไตย ให้เจาะดูดีๆ ว่าเขาพูดถึงความเท่าเทียมกันตรงไหน คนอเมริกัน เขาบอกเขาเกิดมาในดินแดนเสรี ทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเวลาโหวต อันนี้จริงเป็นไปตามปรัชญาของจอห์น ล็อค ท่าน

ทราบไม่ครับคนอเมริกันที่เท่ากันตอนโหวต เมื่อออกจากคูหาเลือกตั้งแล้วกลับมาหากินที่บ้านเวลานี้ แรงงานทางด้านเศรษฐศาสตร์ของอเมริกาเวลานี้ซึ่งมีผล เขาดูย้อนหลัง สิบปีแล้ว ความมั่งคั่ง โดยรวมของประเทศอเมริกาทั้งหมดแบ่งเป็นสามกองนะครับ สองกองคนหนึ่งเปอร์เซ็นต์ครอบครองอยู่เวลานี้นะครับ อีกหนึ่งกองคนเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ครอบครอง ถามว่านี่คือความไม่เท่าเทียมใช่ไหมครับ มหาศาลเลย สองกองจากสามกองของรายได้รวมของทั้งชาติ คนหนึ่งเปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่กุมอยู่เวลานี้ ในขณะที่อีกกองเดียวในสามกองคนเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยเจือจานกันอยู่ มันจะเท่าเทียมกันได้อย่างไรครับ แต่ความไม่เท่าเทียมอันนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลประชาธิปไตยอเมริกาบอกเป็นเรื่องปกติธรรมดา จริงๆก็อยากจะบอกว่านี้คือความเท่าเทียมนะ คุณเก่งคุณก็ต้องได้มาก คุณไม่เก่งคุณก็ได้น้อย เห็นไหมครับ เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงความเท่าเทียมกันอยากจะพิจารณา ชวนให้แยกแยะพิจารณาให้ดีดีว่าเรากำลังพูดถึงความเท่าเทียมกันในแง่เป็นข้อเท็จจริง หรือว่าเป็นอุดมคติทางจริยศาสตร์หรือว่าปรัชญาสังคมและการเมือง

ก็สรุปคือแนวคิด ของจอห์น ล็อค เสนอว่า โลกนี้เป็นโลกของความไม่เท่าเทียมกัน ไม่เป็นไรหรอก คนที่เกิดมาไม่เท่าเทียมกัน ก็จะได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองที่เท่ากันในแง่ที่มีหนึ่งเสียงเท่ากัน แต่หลังจากโหวตเลือกรัฐบาลมานี่ อีกเรื่องหนึ่งนะ หน้าที่ของรัฐบาลไม่มีหน้าที่ในการที่จะไปดึงให้คนที่ไม่เท่า เท่ากันทำไม่ได้ในปรัชญาการเมืองแบบประชาธิปไตย

คราวนี้นักปรัชญาเยอรมันอีกคนหนึ่งซึ่งเกิดไล่เลี่ยกันก็คือ มาร์ก มาร์กก็บอกว่าแนวคิดแบบ จอห์น ล็อค น่าเกลียด คือ มาร์กเขาบอกว่า สมมุติฐานที่บอกว่า ประเทศเหมือนกับบริษัทผิดละ มาร์กบอกว่าอุปมาที่ดีที่สุดของประเทศมันควรจะเหมือน ครอบครัว ไม่ใช่บริษัท คราวนี้มาร์กเขาบอกอย่างนี้ครับ สมมุติ ครอบครัวผมก็ได้ ผมมีภรรยาและมีลูกสี่คน คราวนี้ภรรยาหักไว้ก่อน จะดูเฉพาะลูก ลูกสี่คนเกิดมาไม่เท่ากัน คนหนึ่งเรียนหนังสือเก่งมาก คนหนึ่งเล่นกีฬาเก่งมาก อีกคนหนึ่งคนที่สามเล่นกีฬาก็ปานกลาง เรียนหนังสือก็ปานกลาง แต่คนสุดท้ายเกิดมาเป็นเด็กดาวซินโดรม ปัญญาอ่อน คราวนี้ก่อนที่ผมจะตาย ผมคิดว่าผมจะทำพินัยกรรมแบ่งมรดกให้กับลูก ผมคิดว่าลูกคนที่หนึ่งกับคนที่สองมันเก่งคนละอย่าง คนหนึ่งเรียนหนังสือเก่ง คนหนึ่งเล่นกีฬาเก่งมันเอาตัวรอดได้ ผมก็เลยคิดว่าจากสมบัติทั้งหมด ผมจะให้เบอร์หนึ่งกับเบอร์สองคนละสิบเปอร์เซ็นต์ คราวนี้คนที่สามปานกลาง แต่ถ้าจะเทียบกับคนที่สี่ ซึ่งช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เหลืออยู่แปดสิบเปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าผมจะให้คนที่สามประมาณสักสามสิบเปอร์เซ็นต์ ส่วนคนสุดท้ายซึ่งดูแลตนไม่ได้ผมจะให้ห้าสิบเปอร์เซ็นต์เลยนะครับ

มาร์กถามว่า พ่อที่ตัดสินใจแบ่งมรดกให้กับลูกไม่เท่ากันคนนี้ เป็นพ่อที่ใช้ได้ไหม มาร์กก็บอกใช้ได้สิครับ ถ้าแบ่งให้ลูกสี่คนนี้ที่เกิดมาไม่เท่ากันเท่ากัน การให้สิ่งที่เท่ากันกับคนที่ไม่เท่ากันนั่นคือความไม่เท่ากันนะครับ ฟังดีดีนะครับ

มาร์กบอกว่า การให้สิ่งที่เท่ากันกับคนที่ไม่เท่ากันคือความไม่เท่ากัน ถ้าผมให้ลูกสี่คนจากร้อยหารสี่เลย ยี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์เท่ากันหมด มันก็จะเป็นผลเสียกับลูกคนสุดท้ายซึ่งเขาดูแลตนไม่ได้ใช่ไหมครับ เฉพาะฉะนั้นพ่อที่ฉลาดจะต้องแบ่งทรัพย์สินให้กับลูกที่ต่างกันไม่เท่ากัน คราวนี้ความไม่เท่ากัน ในทัศนะของมาร์กเขาบอกว่า มันเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐเลย ที่จะต้องเข้าไปจัดการ ดังนั้น อุปมาของจอห์น ล็อค ที่บอกว่ารัฐบาลเหมือนกรรมการมวย อุปมานี้ในทัศนะของมาร์กเขาบอกว่าเป็นอุปมาที่น่าเกลียดที่สุดเลย และอุปมานี้แหละครับ ที่ทำให้เวลานี้ ในโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยคนหนึ่งเปอร์เซ็นต์คุมความมั่งคั่งของโลกอยู่เวลานี้ เพราะ

ฉะนั้นปรัชญาการเมือง การปกครองแบบมาร์ก ก็คือใช่เขารับว่า คนเกิดมาไม่เท่ากันแบบ จอห์น ล็อค นี่แหละ แต่ในความไม่เท่ากัน มาร์กในแง่หนึ่งผมคิดว่า เขาเรียนปรัชญา คือมาร์ก อย่าลืมนะจบปริญญาเอก ทางด้านปรัชญาแบบพวกเราที่อยู่ในห้องนี้หลายๆคนนี้แหละ แล้วมาร์กทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับปรัชญากรีก ซึ่งปรัชญากรีก เชี่ยวชาญเรื่องการดูธรรมชาติลึกๆ ของมนุษย์ คราวนี้ผมคิดว่าการวิเคราะห์ธรรมชาติของมนุษย์บางอย่างของมาร์ก มันละเอียดกว่าของจอห์น ล็อค คือมาร์กบอกว่า คนที่ทำอาหารเก่ง คนที่ทำอาหารไม่เก่ง ความต่างอันนี้มันต่างในระดับที่ยังไม่ลึกนะ ลึกกว่านั้นก็คือ ทั้งสองคนมีความประสงค์ ที่จะมีชีวิตที่ดีมีความสุขเหมือนกัน

ย้อนกลับมา การวิเคราะห์ของมาร์กที่พูดถึง คนทำอาหารเก่ง ไม่เก่งเมื่อสักครู่ นึกภาพนะครับสองคน มีลูกสี่คน คนที่ทำอาหารเก่ง เนื่องจากรวยก็มีเงินพอที่จะ ส่งลูกเข้ามหาวิทยาลัยได้ใช่ไหม คราวคนที่ทำอาหารไม่เก่งเนื่องจากไม่รวย ก็เลยไม่มีเงิน พอที่จะส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยได้ แต่ถ้าเจาะไปดูที่ใจสองคนนี้ ถามว่าในฐานะที่เป็นพ่อแม่นี่ทั้งคู่ รักลูกเท่ากันไหมอยากจะให้ลูกได้เรียนมหาวิทยาลัยเท่ากันหรือไม่ มันต้องเท่ากันอยู่แล้วไง คราวนี้มาร์กเขาบอกว่าเขาเคารพความรู้สึกอัน ของสองคน คราวนี้เมื่อถือว่า เคารพเราต้องถือว่านี่คือแก่นของความเป็นมนุษย์เลยนะ เพราะฉะนั้นคนเก่ง คนไม่เก่ง คนฉลาดไม่ฉลาด ในทัศนะของมาร์กไม่ใช่ประเด็น ทุกคนหวังที่จะมีชีวิตที่ดีเท่ากัน เมื่อความหวังนี้เป็นแก่นเป็นสาระสำคัญของมนุษย์ รัฐต้องปกป้อง ดังนั้น ปรัชญาการเมืองของมาร์ก ก็คือว่า คนเกิดมาไม่เท่ากัน ทำมาหากินไม่เท่ากัน ถ้าปล่อยให้เขาทำมาหากินตามยถากรรม จะมีบางคนรวย บางคนจน ไม่เป็นไรครับ เขาเก่งไม่เท่ากันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งรัฐต้องรับ แต่มันเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องหาบางส่วนไปชดเชยคนที่ทำมาหากินไม่เก่ง ให้เขาได้ใกล้เคียงกันบ้าง สรุปก็คือว่า แนวคิดของมาร์ก ก็เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์เรื่องความไม่เท่าเทียมกันแบบเดียวกันของจอห์น ล็อค แต่พอมาเป็นหลักจริยศาสตร์หลักปรัชญาสังคมและการเมืองแล้วต่างกันเยอะ
คราวนี้ผมขอเลื่อนมาที่ พุทธปรัชญาเป็นประเด็นที่สามนะครับ

คือที่ผมปูพื้นเรื่อง จอห์น ล็อค กับมาร์ก ส่วนหนึ่งผมอยากจะเอามาใช้ในการวิเคราะห์ความคิดของพระพุทธเจ้าท่านด้วย คือจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านเกิดก่อนสองคนนี้นานทีเดียว แต่ผมคิดว่า แนวคิดของท่าน เราอาจตีความว่าคล้อยไปในทางหนึ่ง ซึ่งเวลาเราบอกว่าแนวคิดของสองคน คนใดคนหนึ่งคล้อยไปทางนั้น เราจะได้เข้าใจได้มากขึ้น

คราวนี้ผมอยากจะ เริ่มต้นด้วย ตัวอย่างที่คิดว่า ถ้าพิจารณาจากตัวอย่างนี้จะทำให้เข้าใจ หลักความคิดของพุทธองค์ได้มากขึ้น คือ พระพุทธองค์โดยประวัติศาสตร์ท่านเกิดทางแคว้นทางภาคเหนือ แล้วในพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเรา รวมทั้งพระไตรปิฎกของฝ่ายมหายาน รวมทั้งเอกสารอื่นๆที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนของปรัชญาร่วมสมัย ของพระพุทธเจ้าเช่นฮินดู และเชน ค่อนข้างจะเป็นที่แน่นอนว่ารัฐ ที่พระพุทธเจ้าท่าน มีชีวิตอยู่ ปกครองด้วยระบอบหลายคนช่วยกันคิด ช่วยกันปกครอง ซึ่งต่างจากระบอบการปกครองแบบมีพระราชา พระองค์เดียวเป็นผู้ดูแลทุกอย่างของภาคกลาง คราวนี้การที่รัฐของพระพุทธองค์ มีระบอบการปกครองแบบนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องชาติพันธุ์ ทางอะไร เราตีความอย่างนั้นก็ได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่า พระพุทธองค์ ท่านทรงมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ใช้ระบอบการที่หลายคนช่วยกันคิดช่วยกันปกครองบ้านเมือง คือมันอาจจะเป็นความจริงว่าคนที่ช่วยกันคิดไม่ใช่ทุกคนหรอกแต่เป็นคนชั้นสูง เป็นนักรบ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำหรับผม ประเด็นมันอยู่ที่ว่า พื้นฐานแนวคิดของพระพุทธองค์มันเริ่มต้นด้วยการที่พระองค์อยู่ในสังคมซึ่ง ถ้าเราคิดว่า เรื่องนี้ต้องช่วยกันคิดมันแปลว่า เราคิดว่า มนุษย์มีความสามารถใกล้เคียงกันในหลายๆ เรื่องใช่ไหมครับ คราวนี้เมื่อ เจ้าชายสิทธัตถะท่านออกบวช ภายหลังท่านก็มาเป็นพระศาสดาของพระพุทธศาสนาแล้วก็มีคนที่มาร่วม ชุมชนเดียวกับท่าน ที่เรียกว่าคณะสงฆ์ แล้วภายหลังกลายเป็นพุทธบริษัทสี่ มีความจำเป็นที่ต้องมีการบริหารจัดการหมู่คณะ สังเกตนะครับว่าการบริหารจัดการหมู่คณะของพระพุทธองค์ มีลักษณะบางอย่างซึ่ง ผมคิดว่ามันสะท้อน ความคิดลึกๆ ของพระองค์ว่าพระองค์ ทรงมองว่าจริงๆ มนุษย์ต่างกันหรือไม่ เอาตัวอย่างก็ได้นะ ในพระสาวกชุดแรกๆ ที่เข้ามาบวช บางชุดก็มาจากชนชั้นสูงเป็นราชาเป็นพราหมณ์ และในหมู่ราชา และพราหมณ์ ก็มีคนรับใช้พ่วงมาด้วย


คนหนึ่งที่เรารู้จักกันดีก็คือท่านพระอุบาลี ท่านพระอุบาลี ท่านเป็นนายช่างกัลบกทำงานอยู่ในราชสำนัก ท่านเป็นคนดูแลเรื่องทางกายภาพ เรื่องเครื่องทรง เรื่องเผ้าเรื่องผมเรื่องอะไรของราชา ตอนที่ท่านออกบวชท่านก็มาบวชพร้อมกับเจ้านาย คราวนี้โดยสถานะ ท่านอุบาลีท่านต่ำกว่าเจ้านายแต่เวลาที่มาบวชแล้วเนี่ย พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสเองชัดเจนนะครับว่า คณะสงฆ์เหมือนทะเล ส่วนพวกเธอที่มาบวชก็เหมือนแม่น้ำหลายสาย บางสายก็ได้รับสมมุติว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ บางสายก็ได้รับการไม่สมมุติอย่างนั้น เป็นแม่น้ำธรรมดาๆ แต่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ไม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่สำคัญ พอไหลมารวมลงที่ทะเลแล้ว ไม่มีความเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ คราวนี้พอ มาบวชแล้วความเป็นกษัตริย์ ความเป็นพราหมณ์ ความเป็นไวศยะ ความเป็นศูทร ไม่มีความหมาย ความหมายจะอยู่ที่ความสามารถ เช่น ท่านพระอุบาลีท่านมีความสามารถบางเรื่อง ท่านก็ได้รับการยกย่องโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทำงาน ซึ่งผมคิดว่างานที่ท่านรับพุทธานุญาตให้ทำ เป็นงานซึ่งสูง แล้วงานเหล่านี้ ถ้าพูดในแง่ทำไมเอาคน ระดับล่างๆ ท่านมาทำ ทำไมไม่ให้พวกที่ท่านบวชมาจากตระกูลสูง ได้ทำก็จะเห็นชัด พอมาเป็นสงฆ์แล้ว วรรณะไม่มีความหมายไง ใช่ไหมครับ


คราวนี้เรื่องนี้ใน ความคิดเห็นของผม ผมวิเคราะห์อย่างว่านี้ ผมวิเคราะห์ว่า พระพุทธเจ้า ทรงมองปัญหาธรรมชาติของมนุษย์ เหมือนกับที่จอห์น ล็อค หรือว่ามาร์กมอง แต่ว่าละดับความลึก ในทางอภิปรัชญา ผมคิดว่า พระพุทธเจ้าท่านลึกกว่านักคิดเหล่านี้เยอะ อันนี้ผมไม่ได้พูดจากอคติเพราะว่าเคารพนับถือพระองค์เป็นพิเศษ อันนี้ผม วิเคราะห์ตามการอ่านเนื้องานจริงๆ คือในขณะที่ จอห์น ล็อค พูดถึง ความต่างๆในแง่ความสามารถด้านนอก ทำกับข้าวเก่งไม่เก่ง เป็นต้น ส่วนมาร์กลงลึกหน่อยเพราะพูดถึง เรื่องว่าเก่งไม่สำคัญแต่ทุกคนมีสภาวะทางจิตที่มุ่งหมายให้ชีวิตของตนดี ผมคิดว่า ลึกกว่าล็อคนะ แต่พระพุทธเจ้าท่านลงลึกกว่านั้นอีก ลึกในแง่ที่ว่าคนเรา อะไรคือสิ่งที่อยู่ข้างในจริงๆ คราวนี้ท่านโยงไปถึงความสามารถ ที่จะดับทุกข์ ปฏิบัติตนเพื่อที่ดับทุกข์ใช่ไหม คราวนี้ ผมถือว่า เป็นการวิเคราะห์ที่ลึกสุด แล้วการที่วิเคราะห์ที่ลึกสุดนี้เองที่เป็นสาเหตุที่ทำให้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชได้ แล้วการที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชได้ในสังคมอินเดียยุคนั้น ผมถือว่าเป็นความกล้าหาญทางด้านจริยธรรมมากๆ จริงๆ เลย ณ เวลานี้เรายังไม่เห็นศาสนาใดที่มาสายเดียวกับสายพุทธเถรวาท คือสายที่เน้นว่านักบวชที่ต้องเป็นชายเท่านั้น อนุญาตให้ผู้หญิงบวชได้ ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกก็ยังไม่มีบาทหลวงที่เป็นผู้หญิง มีในบางประเทศ แต่ทางวาติกันก็ประกาศว่านั่นเป็นพวกนอกรีตเห็นไหมนะ ขณะที่พระพุทธศาสนาเราคล้ายๆ กับศาสนาคริสต์ คาทอลิคก็ถือว่านักบวชก็ต้องถือเพศพรหมจรรย์แต่ว่าในขณะเดียวกันพระพุทธองค์ก็อนุญาตให้สตรีเข้ามาครองเพศพรหมจรรย์ในฐานะที่เป็นนักบวชได้เท่าเทียมเพศชาย แล้วก็เข้ามาแล้ว หลายคนที่เป็นภิกษุณี ก่อนบวชชีวิตระหกระเหิน แบบยับเยินมามาก เช่นพระปฏาจาราเถรีใช่ไหม คือได้อ่านประวัติของพระปฏาจา จะรู้ว่าโอ้ตอนเป็นเด็กวัยรุ่นท่านก็เสียผู้เสียคนตามผู้ชายไปใช่ไหม ภายหลังก็ชีวิตก็ทุกข์มาก ระหกระเหินจนกระทั่งได้มาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้เข้ามาบวช พอบวชแล้ว คือการบวช พระพุทธองค์ ทรงวางหลักนะว่า แม่น้ำทุกสาย พอไหลมามหาสมุทรคือพระพุทธศาสนาแล้ว แบล็คกราวของชีวิตลบทิ้ง ไปหมด ทุกอย่างเริ่มต้นใหม่ ตามความสามารถ ตามอะไรต่อมิอะไร คราวนี้แม่น้ำนี้ทุกคน มีความสามารถเท่ากันก็คือมีความสามารถที่จะดับทุกข์ได้จึงทรงอนุญาตให้บวช แต่ว่าความสามารถชั้นที่มันตื้นกว่านั้น เช่นความสามารถในทางการวินิจฉัย พระธรรมวินัย ท่านอุบาลี ท่านพระปฎาจาราเถรี ท่านมีความสามารถใช่ไหม คราวนี้เมื่อมีความสามารถ พระพุทธเจ้าท่านจะไม่ดู แบล็คกราวชีวิตว่าเป็นใคร ความสามารถทำให้ได้รับการยกย่อง ให้มีเอตทัคคะ ที่เหมาะกับความสามารถของตน นี่คือ หลักปฏิบัติและแนวคิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คราวนี้ผมขอสรุปอย่างนี้ก็แล้วกัน ผมคิดว่าประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่คนสมัยนี้พูดส่วนหนึ่งเกิดจากสังคมตะวันตก เขามีหลักปฏิบัติบางอย่าง ซึ่งเดิมมันเป็นหลักปฏิบัติที่พ่วงมากับความเชื่อทางศาสนาเขา ทำให้คนที่แตกต่างไปในทางเพศ ได้รับการปฏิบัติ ที่ไม่เท่ากัน เอาตัวอย่างจะได้เห็นภาพ ประเทศอังกฤษเมื่อไม่นาน ถึงสี่ร้อยปีหรือยังผมไม่แน่ใจ มีนักเขียนที่มีชื่อเสียงมากๆ คนหนึ่ง ชื่อออสกา ไวด์(Oscar Wilde) ถูกตัดสินจำคุก เจ็ดปีด้วยข้อหาว่าหลับนอนกับผู้ชายด้วยกัน แม้แต่นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคือ อลัน ทัวริ่ง(Alan Turing) ก็ถูกศาลจำคุกด้วยข้อหาเดียวกับออสกา ไวด์ ถ้าท่านใดได้ดูหนัง ที่เกี่ยวกับอลัน ทัวริ่ง จะเห็นว่าคนๆ นี้เป็นอัจฉริยะ รัฐบาลอังกฤษ เพิ่งทำพิธี ขอโทษ อลัน ทัวริ่ง ไม่นานนี้เองว่า ประวัติศาสตร์อังกฤษ ทำร้าย คนๆนี้ เพียงเพราะว่าเขาเป็นคนที่ชอบคนเพศเดียวกัน ที่มันเป็นอย่างนั้นเพราะว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ประณามว่าผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกัน ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกัน เป็นพวกบาป คราวนี้เมื่อสังคมตะวันตกใช้แนวคิดของศาสนาคริสต์เป็นฐานของกฎหมาย

คนอย่างออสกา ไวด์หรือคนอย่างอลัน ทัวริ่ง ก็เลยถูกจับเข้าคุก และนับเวลานี้ประเทศมุสลิม กฎหมายของประเทศมุสลิมทั่วโลกก็ยังลงโทษผู้ชายที่นอนกับผู้ชายด้วยกันผู้หญิงที่นอนกับผู้หญิงด้วยกัน ในฐานะที่เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรงประหารชีวิตนะ กฎหมายนี้ยังใช้อยู่ในประเทศมุสลิมทุกประเทศอยู่ มันก็เลยเกิดปรากฎการณ์ที่คนจำนวนหนึ่งที่เป็นคนสมัยใหม่ในโลกตะวันตกรวมทั้งในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามก็คิดว่า การที่เราปฏิบัติต่อคนบางคนที่เขามีรสนิยมทางเพศต่างจากเราแบบนี้มันชอบธรรมหรือไม่

คราวนี้พอมีการคิดอย่างนั้น เขาก็เลยใช้แนวความคิดนักปรัชญาสมัยใหม่เข้ามาช่วยซึ่งแน่นอนนักปรัชญาสมัยใหม่ เขามีความคิดตัดขาดหรือลอยออกมาไม่เกี่ยวกับศาสนาเลย คราวนี้พอมาคิดว่าคนเราเรื่องเพศไม่น่าจะเป็นประเด็นเพราะว่าเราไม่ได้เลือกการเกิดเป็นชายเป็นหญิง การเกิดมาเป็นเกย์เป็นเลสเบียน มันอยู่พ้นการเลือกของเรา เมื่อเราไม่ได้เลือก เราไม่ควรจะรับผิดชอบ เมื่อเราไม่ควรจะรับผิดชอบ รัฐต้องออกกฎระเบียบต่างๆ ใช้กับพวกเราเท่าเทียมกับคนซึ่งเขาเกิดมาแล้วเป็นอย่างอื่น และถือโชคดี เช่น เกิดมาเป็นหญิงเป็นชายเต็มตัวอย่าง พอคิดอย่างนี้ก็เลยทำให้หลายประเทศในยุโรป อนุญาตให้ผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกันแต่งงานกันได้ จดทะเบียนสมรสได้ ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกันแต่งงานแล้วจดทะเบียนสมรสได้ คราวนี้บ้านเราแนวคิดเรื่องความไม่เสมอภาคทางเพศ มันก็ปรากฏขึ้น ในหมู่คนที่ได้ไปเรียนหนังสือมาจากเมืองนอก แล้วบังเอิญประเทศไทยเรา ในแง่หนึ่งผมถือว่าประวัติศาสตร์ของเรา เดินมาในอีกทางหนึ่ง คือสังคมไทยเราไม่ได้ใช้ศาสนาคริสต์ หรือว่าศาสนาอิสลาม เป็นพื้นฐาน ทางด้านวัฒนธรรมแต่ว่าเราใช้พระพุทธศาสนา คราวนี้พระพุทธศาสนา เมื่อย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ก็จะพบว่าเป็นศาสนาซึ่งในทัศนะผมเด่นมากๆ แล้วก็กล้าหาญมากๆด้วย ไม่ใช่เด่นอย่างเดียว ในการแสดงให้เห็นว่าถ้ารับว่าชายหญิงเท่ากัน คือสามารถบรรลุธรรม เท่ากัน ต้องเปิดโอกาสให้ มาเป็นนักบวชได้เท่าเทียมกัน แล้วถ้าใครเก่งจะได้รับเอตทัคคะเท่าเทียมกัน เราเคยทำ แล้วก็เคยเจริญรุ่งเรือง อยู่ในยุคพุทธกาล


คราวนี้พอหลังยุคพุทธกาลมาพระพุทธศาสนาเราก็แยกเป็น เถรวาทกับมหายาน เวลานี้ในทางมหายาน ยังเชื่อกันอยู่ว่า วงศ์ของภิกษุณียังสืบทอดอยู่ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในโลกมหายานภิกษุณีสงฆ์ยังอยู่ คราวนี้ในสายเถรวาท เราถือว่าภิกษุณีสงฆ์ขาดแล้ว คราวนี้พอขาดแล้ว เราก็จนใจว่าไม่สามารถ จะรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ขึ้นมาใหม่ได้เพราะตามพระวินัยแบบที่นิกายเถรวาทเรายึดถือ ภิกษุณีสงฆ์จะต้อง ถ้าจะเกิดใหม่ภิกษุณีสงฆ์จะต้องไม่ขาดวงศ์ใช่ไหม จะต้องมีสงฆ์สองฝ่าย

คราวนี้ประเด็นที่ผมคิดว่า ผมอยากจะวิเคราะห์สักหน่อยก็คือประเด็นเรื่อง ความพยายามของชาวพุทธเถรวาทบางส่วนที่อยากจะให้มีการรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ ขึ้นมาใหม่ในวงศ์ของเถรวาท คือสิ่งแรกเลยผมคิดว่า เราอาจจะต้องเข้าใจนิดนึงครับว่าอะไร วิธีคิดแบบนิกายเถรวาท คราวนี้การดูวิธีคิด โดยไม่ดูตัวอย่างจริง ผมคิดว่าอาจจะทำให้เราไม่เข้าใจ ผมคิดว่าวิธีคิดไม่ค่อยสำคัญเท่ากับตัวอย่างจริง ผมขอใช้ประเทศไทยก็แล้วกันเพราะว่าประเทศไทยเรา มีคนไทย ด้วยกันจำนวนมาก วิจารณ์ว่าเป็นเถรวาท แบบ Conservative น่าเกลียดมาก ซึ่งผมไม่ได้มองอย่างนั้น เอา มจร เราก็ได้แคบเข้ามานะครับ มจร เรามีอาจารย์ที่เป็นแม่ชีอยู่จำนวนหนึ่ง ถามว่าสถานะของอาจารย์ที่เป็นแม่ชีใน มจร เราต่ำกว่าพระอาจารย์ที่เป็นพระภิกษุเช่นพระอาจารย์กฤษณะ หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ อาจารย์แม่ชีกฤษณา ได้รับการปฏิบัติ นับถือ ซึ่งภาษาอังกฤษเขาใช้ว่า Respect ไม่ต่างจากพระอาจารย์ที่เป็นนักบวช แต่เราทราบว่า แม่ชีเราถือเป็นอุบาสิกาที่ถือศีลเคร่งครัด ในแง่หนึ่งเวลาที่มีการ ทำศาสนกรรม ทำกิจทางศาสนา ถ้ากิจทางศาสนาบอกว่า ต้องจัดลำดับพระภิกษุ อุบาสกอุบาสิกาอย่างไรเราก็จัดอย่างนั้นมันเป็นเรืองพิธีกรรม ประเด็นผมคิดว่ามันอยู่ที่ว่าถ้ามีแม่ชีในคณะสงฆ์ไทย ได้รับการปฏิบัติ Respect ไม่ต่างจากพระภิกษุ ผมคิดว่าสำหรับผมคือ ประจักษ์หลักฐานชัดๆว่าเถรวาท คิดอย่างไร เพราะฉะนั้นจริงๆ มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเรา ไม่อยากจะให้มีผู้หญิงมาบวช ประเด็นอยู่ที่ว่า จารีตเรา คือกฎระเบียบเขียนไว้อย่างไร เราอยากจะเอา กฎระเบียบไว้อย่างนั้นก่อน คราวนี้อาจจะมีบางคนเถียงว่าทำไมกฎระเบียบเรื่องภิกษุณีเคร่งเหลือเกิน ทำไมกฎระเบียบ เรื่องอื่นเช่น จับเงินจับทอง ไม่ค่อยเคร่งเลยซึ่งก็อธิบายได้ครับว่ากฎระเบียบเรื่องจับเงินจับทองมันต่างกฎระเบียบเรื่องภิกษุณี ก็คือว่า ถ้าจะคงกฎระเบียบเอาไว้ในเรื่องเงินทองมันยุ่งไปหมดเลย ทำอะไรไม่ได้เลยใช่ไหมละ แต่กฎระเบียบของภิกษุณี เราคิดว่าคงไว้เพื่อรักษามาตรฐานบางอย่างดีกว่า แล้วค่อยไปปรับ เนื้อข้างในเช่น พอบวชภิกษุณีไม่ได้ ก็มาบวชชี และจริงๆ ผม คิดว่าการบวชชี ยังทำให้ผู้หญิงทำงานทุกอย่างได้เท่าเทียมกับนักบวชชายและคล่องตัวกว่าด้วย บางทีผมไปที่โต๊ะทำงานของอาจารย์แม่ชีกฤษณา ผมยังพูดแหย่ท่านเล่นได้ เพราะผมถือว่าท่านเป็นอุบาสิกา ยังกระเซ้าเหย้าแหย่กันได้ ถ้าเขาแหย่ผมคืนก็ได้ เพราะท่านเป็นอุบาสิกาไงก็คล่องตัวกว่าแต่โดยรวมเราก็ถือว่าในแง่หนึ่งท่านก็ไม่ใช่อุบาสิกาเต็มที่ ท่านก็ยังมีความเป็นนักบวชอยู่สูงและเคารพท่านส่วนนั้นไง เพราะฉะนั้นเป็นแม่ชีคล่องตัวกว่าเยอะ แล้วก็ทำทุกอย่างได้ ผมคิดว่าไม่ต่างจากภิกษุณี และถ้าไปดูวัดบางวัด เช่นวัดพระธรรมกาย อันนี้เป็นตัวอย่าง อันหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นตัวอย่างสมทบ ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงก็ได้รับการยกย่องมากทีเดียว ในคณะสงฆ์นิกายเถรวาท เช่นวัดพระธรรมกาย เป็นต้น แต่ถ้าจะมีชาวพุทธเถรวาทท่านใดไปบวชภิกษุณีวงศ์ของมหายานแล้วเข้ามาอยู่เมืองไทย ผมคิดว่าฝ่ายเถรวาทเรา Respect เหมือนกัน คือต้องเคารพ ต้องให้เกียรติ ว่าท่านไปบวชมาจากสายโน้นทางเราเนี่ยเราอาจติดใจว่าเรามีกฎระเบียบเราทำไม่ได้ แต่ไมเป็นไรครับไปบวชมาทางนั้นก็อนุโมทนา สาธุ คราวนี้เมื่อมีกิจทางด้านศาสนาจะต้องมาทำอะไรด้วยกันผมว่าไม่ยากหรอกใช่ไหมครับ แล้วก็หาวิธีในทางวัฒนธรรมที่จะจัดสรรให้สองสายนี้มาอยู่ในที่เดียวกันได้อย่างงดงามเข้ากันได้พอดิบพอดี ส่วนในอนาคต ถ้าจะมีปัญหาเรื่องว่ากฎหมายควรจะรับรองสถานะของภิกษุณีที่มาจากวงศ์มหายานอย่างไร ผมคิดว่าไม่ยาก แต่ทั้งหมดจะต้องเกิดจากการที่เราทุกฝ่ายเคารพนับถือกันและกัน

คราวนี้ผมจะขอสรุปความเห็นของผมนิดหน่อยในฐานะที่เป็นชาวพุทธเถรวาทด้วย คือผมคิดว่า คนเราเกิดมาไม่เท่ากันหรอกแล้วการไม่เท่ากัน หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แตกต่างกัน มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จักรวาลนี้ถ้ามีของเหมือนกันจักรวาลจะไม่มั่นคงนะ การเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ตมันเกิดจากกระทรวงกลาโหมอเมริกา สามสิบสี่สิบปีที่แล้วเขาคิดว่าเวลาที่ทำคอมพิวเตอร์ที่เป็นศูนย์บัญชาการการรบเอาไว้ที่เดียว มันอันตรายถูกระเบิดถล่มก็เจ๊งเลย เขาก็เลยทำเอาคอมพิวเตอร์ไปกระจายไว้หลายๆที่ แล้วโยงหากัน เผื่อว่าที่หนึ่งถูกระเบิดที่อื่นก็ยังเหลือ เวลาผมส่งหนังสือให้ท่านที่สั่งซื้อหนังสือผมสิบเล่มผมส่งซองละเล่ม เพราะถือว่าถ้าส่ง สิบเล่มหาย หายทั้งสิบ ถ้าสิบซองก็หายที่ละเล่มๆ เพราะฉะนั้น หลากหลายนี้ดี ดีกว่ารวมห่ออยู่ห่อเดียว เพราะฉะนั้นที่คนเราเกิดมาต่างกัน มันเป็นระบบที่ทำให้จักรวาลนี่มันมั่นคง คราวนี้เมื่อต่างกัน จะมีคนมีความสามารถไม่เหมือนกัน ความต่างทางเพศ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของธรรมชาติ แล้วเมื่อธรรมชาติสร้างมาให้ชายและหญิงมาไม่เหมือนกัน เราก็ต้องรับว่าความไม่เหมือนกันมันเป็นของดีนะครับไม่เป็นปัญหาหรอก เสร็จแล้วเมื่อชายและหญิงต้องมาอยู่ในสมาคมเดียวกันเช่นมาทำงานในกระทรวงเดียวกัน ในมหาวิทยาลัยเดียวกันหรือมาอยู่ในคณะสงฆ์เดียวกัน เราค่อยจัดสรรหาวิธีที่จะออกกฎออกระเบียบที่ทำให้เกิดการเคารพความเป็นชายและความเป็นหญิงที่ต่างกันในระดับที่งดงาม

เพราะฉะนั้นความเสมอภาค ผมขอใช้แนวคิดของนักปรัชญาอังกฤษคนหนึ่งที่ชื่อ เบอร์นาร์ด วิลเลียมส์ (Bernard Williams) เบอร์นาร์ด วิลเลียมส์ บอกว่า ความไม่เสมอภาคจริงๆ มันเกี่ยวกับสองเรื่องคือเรื่องการเคารพกันและกัน เบอร์นาร์ด วิลเลียมส์ ใช้คำว่า Its quality as respect ตะกี้ที่ผมเล่าว่า อาจารย์แม่ชีใน มจร ก็ได้รับการ respect ไม่ต่างจากพระอาจารย์ นี่คือความเท่าเทียมกัน แต่ท่านไม่เท่ากันแต่ท่านเป็นอุบาสิกาส่วนพระอาจารย์จะเป็นพระภิกษุ เวลาทำกิจกรรมทางศาสนา ต้องไม่เหมือนกันแต่นั่นไม่เป็นประเด็น เบอร์นาร์ด วิลเลียมส์ บอกว่า ถ้าสองท่านนี้อยู่ในองค์กรเดียวกัน ได้รับการ respect เท่ากันองค์กรนั้น ถือว่าเป็นองค์กรที่ปฏิบัติต่อคนในองค์กรของตนอย่างเท่าเทียมกัน

คราวนี้อันที่สองที่ เบอร์นาร์ด วิลเลียมส์ เขาพูดถึงในฐานะที่เป็นแง่สำคัญของความเท่าเทียมกันก็คือ Its quality as opportunity คือโอกาส ถ้าอาจารย์ที่เป็นแม่ชี มีโอกาสที่จะได้รับการโปรโมท ตามความสามารถจนถึงระดับสูงสุดได้ ไม่ต่างจากพระอาจารย์ที่ได้รับโอกาสนั้น ก็ถือองค์กรเหล่านี้ มีความเท่าเทียมกัน ผมคิดว่าชายหญิงในสังคมพุทธเป็นแบบนี้ ส่วนจะมีองค์กรใดอะไรก็แล้วแต่ ในประเทศไทยที่ปฏิบัติต่อผู้หญิงไม่เท่ากันอันนี้ ผมคิดว่าไม่ใช่อิทธิพลของพระพุทธศาสนาแน่นอน และจริงๆ พระพุทธศาสนาเรามีคำถามด้วยว่าถ้าคนๆ นี้เขาควรจะได้เป็นปลัดอำเภอกระทรวงแล้วเพราะฝีมือเขาถึง แล้วคุณไม่ตั้งเพราะเขาเป็นผู้หญิง คุณไม่ใช่ชาวพุทธที่ดีหรอก เราต้องพร้อมที่จะพูดอย่างนั้น
ผมคิดว่าผมขอบรรยายนำเท่านี้ก่อนนะครับ –ขอบพระคุณครับ

.

...............
บรรยายในงานเกษียณอายุราชการของตนเอง โดย ศ.ดร. สมภาร พรมทา ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๙ จัดโดย หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัยและชมรมปรัชญา มจร มจร: ถอดเทป โดย พระจาตุรงค์ อาจารสุโภ (ชูศรี) ดร.

จาก: https://www.youtube.com/watch?v=gUSErCD-4Bc

หมายเลขบันทึก: 625727เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2017 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2017 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท