​PMAC 2017 : 8. ปฏิบัติการคุ้มครองทางสังคม



นี่คือสาระในช่วงที่ ๓ ของการประชุม Intervention to promote social inclusion ที่ชื่อหัวข้อพาให้คณะผู้นำเสนอเผลอลืมหลักการใหญ่ ว่าการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพที่ดีที่สุดคือ UHC ต้องยึดหลักการนี้ก่อน แล้วจึงดำเนินการโดยมาตรการที่โฟกัสไปที่กลุ่มคน หรือพื้นที่ ที่มีคนเปราะบาง หรือถูกกีดกันทางสังคม ดำรงชีวิตอยู่ เป็นพิเศษ


การนำเสนอจึงกระโจนลงไปที่การดำเนินการคุ้มครองคนบางกลุ่ม ซึ่งผมคิดว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด หรืออาจเป็นยุทธศาสตร์เพื่อหาเสียง มากกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ


อีกประเด็นหนึ่งที่ผมไม่ได้ยินพูดกัน คือการ empower คนกลุ่มเปราะบาง ให้เข้มแข็ง ช่วยตัวเอง หรือช่วยเหลือกันเองได้ แต่เขาใช้คำว่า demand-side intervention ซึ่งเครื่องมือที่พูดถึงมากที่สุดคือ CCT – Conditional Cash Transfer ซึ่งผมคิดว่าในสถานการณ์ปกติของชุมชน มาตรการการสาธารณสุขพื้นฐาน (primary health care) น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด


แต่มาตรการต้องว่ากันตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่แต่ละชุมชน ผู้นำเสนอจากบังคลาเทศ ที่เป็นผู้อำนวยการองค์กร WaterAid นำเสนอให้เห็นว่า การส่งเสริมให้เงินช่วยเหลือให้ชาวบ้านสร้างส้วม ไม่ถ่ายอุจจาระแบบไม่เป็นที่เป็นทาง ก่อผลดีด้านสุขอนามัย และผลดีอื่นๆ ตามมาอีกหลายด้าน


ในเรื่องการเคลื่อนย้ายประชากร IOM บอกว่าในประชากรโลก ๗ พันล้านคน มีการเคลื่อนย้ายถึง ๑ พันล้านคน ในจำนวนนี้หนึ่งในสี่เป็นการเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศ อีกสามในสี่เคลื่อนย้ายภายในประเทศ


แต่ในโลกนี้ก็มีคนที่บ้านแตกสาแหรกขาด เป็นผู้ลี้ภัย หรือพลัดถิ่น ถึง ๖๕ ล้านคน ที่ชีวิตต้องการการช่วยเหลือคุ้มครองอย่างสุดๆ คนที่พูดเรื่องนี้ดีมากคือประธานของ IOM ที่บอกว่าโลกยุคปัจจุบัน เป็นโลกที่โหดร้ายต่อกัน และเป็นยุคที่ผู้คนมีการเดินทางเคลื่อนย้าย (mobility) สูงมาก ในเรื่องการโยกย้ายประชากร มีความท้าทาย ๔ ด้านคือ (๑) ความไม่สมดุลด้านประชากรระหว่างประเทศรวยกับประเทศยากจน ประเทศรวยขาดคน อัตราเจริญพันธุ์ต่ำ ประเทศยากจนมีคนล้น (๒) มีจุดของความขัดแย้ง/สงคราม ในโลก ๙ แห่ง (๓) มีคนย้ายถิ่นมากขึ้น (๔) การจัดการเพื่อการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย


ในที่ประชุม ผมไม่ได้ยินคนพูดกล่าวหาหรือตำหนิอุตสาหกรรมและการค้าอาวุธ ที่เป็นต้นเหตุของการสู้รบ ทำให้มีคนลี้ภัยหรือพลัดถิ่นถึง ๖๕ ล้านคน


ในตอนสรุปวันสุดท้าย ผมตกใจมาก ที่ได้ฟังว่า แรงงานย้ายถิ่นถูกเอาเปรียบ คิดค่าโอนเงินกลับบ้านแพงมาก คือถึงร้อยละ ๗.๕ ของเงินที่ส่ง และในเป้าหมาย SDG 10.c ระบุให้ต่ำกว่าร้อยละ ๓


ปฏิบัติการคุ้มครองทางสังคม ต่อคนที่เปราะบาง อย่างครบถ้วนรอบด้าน อยู่ในข้อสรุปในวันสุดท้าย ซึ่งมี ๗ ด้าน และต้องทำอย่างบูรณาการกัน



วิจารณ์ พานิช

ก.พ. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 625230เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2017 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2017 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณค่ะที่มัข้อมูลดีๆนำเสรอต่อสังคม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท