​PMAC 2017 : 9. วาทะสามผู้แข่งขันชิงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก



ในงานเลี้ยงรับรองผู้เข้าร่วมประชุม ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ มีรายการเด็ด คือสัมภาษณ์ผู้สมัครชองตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก ที่จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐ นี้ โดยผู้สมัครที่อยู่ใน shortlist สามคนคือ


  • Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus จากประเทศเอธิโอเปีย เคยดำรงตำแหน่ง รมต. สาธารณสุข และ รมต. ต่างประเทศ เวลานี้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
  • Dr. David Nabarro จากสหราชอาณาจักร ถือว่าเป็นคนที่มีประสบการณ์สูงและหลากหลายที่สุดด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และด้านการพัฒนา
  • Dr. Sonia Nishtar จากปากีสถาน เคยเป็นรัฐมนตรี และมีประสบการณ์ด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศมากมาย

ทั้งสามคนถือว่าเป็น “รุ่นใหญ่” ของวงการสุขภาพโลก โดยที่คนที่ ๓ เป็นผู้หญิงและอายุน้อยที่สุดคือ ๕๓ ปี ข่าวภายในบอกว่าหมายเลข ๒ ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ใน shortlist อันดับท้ายสุด และเกือบจะมาพูดไม่ได้ เพราะลูกป่วย และตนเองก็เป็นหวัดเสียงแหบ แถมยังจะหาตั๋วเครื่องบินมาไม่ได้ ทางทีม PMAC ต้องช่วยแก้ปัญหาให้ตลอดทาง


ผู้เป็นผู้ดำเนินรายการคือศาสตราจารย์ Lincoln Chen, ประธาน China Medical Board คำถามแรก ให้พูดคนละ ๕ นาทีคือ ทำไมอยากเป็น WHO DG ซึ่งแน่นอน ผู้คร่ำหวอดทั้งสามคนพูดได้ดีเยี่ยม โดยไม่ตำหนิ WHO ไม่พาดพิง DG คนปัจจุบันและคนก่อนๆ พูดแต่ว่าองค์การอนามัยโลกมีคุณค่าอย่างไร และตนจะเข้าไปเสริมคุณค่านั้นอย่างไร


แน่นอนว่า มีคำถามเกี่ยวกับบทบาทขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมีทั้งงานเชิงพัฒนา และงานเชิงตั้งรับ อย่างในกรณีเกิดโรคระบาดใหญ่ ผมเพิ่งทราบว่า กรณีการระบาดของโรคอีโบลาใน ๓ ประเทศอัฟริกัน ถือเป็นความล้มเหลวในการทำงานขององค์การอนามัยโลก


ข้อจำกัดของการทำหน้าที่ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ประการใหญ่ๆ มี ๒ เรื่อง คือมีงบประมาณจำกัด (๒ พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) กับการมีผู้อำนวยการภูมิภาคต่างๆ ๖ ภูมิภาค ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคนั้น จึงค่อนข้างเป็นอิสระจากผู้อำนวยการใหญ่ จึงมีคำถามว่า หากตนได้เป็นผู้อำนวยการใหญ่ จะแก้กฎให้ตนเองเป็นผู้แต่งตั้งไหม ผมคิดว่าทั้งสามคนเชี่ยวพอที่จะตอบในแนวทางว่าไม่ เพื่อไม่ให้เสียคะแนนเลือกตั้งจากประเทศสมาชิก


มีคนถามว่า หาก ปธน. ทรัมป์ตัดเงินอุดหนุนจะทำอย่างไร ทุกคนตอบคล้ายกัน ไปในทางที่ตนมีวิธีทำความเข้าใจว่า เงินหนุนองค์การอนามัยโลก ก่อผลดีต่อประเทศร่ำรวยอย่างไร


ฟังแล้วผมตีความว่า หน้าที่ของผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกคือ ไปทำหน้าที่ซีอีโอ ให้องค์กรอนามัยโลกขับเคลื่อนระบบสุขภาพโลก (ภูมิภาค ประเทศ ท้องถิ่น และชุมชน) ในลักษณะที่เป็น evidence-based policy ฟันฝ่าสภาพ วูค่า ของสังคม เพื่อให้เป้าหมายสุขภาวะของผู้คน เป็นเป้าหมายสำคัญ หรือเป้าหมายหลัก ของนโยบายทุกด้าน (Health in all policy)


ผมสรุปว่า ผู้เข้าแข่งขันทั้งสาม พูดแบบสุขุม ไม่โฉ่งฉ่าง (แบบทรัมป์) เขาพูดเพื่อหาเสียงจากประเทศสมาชิก องค์การอนามัยโลกเป็นเป้าหมายหลัก



วิจารณ์ พานิช

๔ ก.พ. ๖๐

หมายเลขบันทึก: 625161เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2017 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2017 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท