ตีมึน กรณี ธรรมกาย (๕)


หลายวันก่อนผมคิดถึงกรณีขายบุญจากมุมมองของสังคม สิ่งที่ผมคิดคือ ทำไม? บุญตัวเดียวกันแต่มีราคาต่างกัน เช่น เราจะสร้างพระพุทธรูปองค์เดียวกัน นาย ก. อาจซื้อพระพุทธรูปองค์นี้ด้วยราคา ๑๐๐ บาท ขณะที่นาย ข. อาจซื้อพระพุทธรูปองค์เดียวกันด้วยราคา ๑ ล้านบาท

เมื่อวาน ขณะนั่งฟังนักศึกษารายงานผลการศึกษาข้อมูล "ประเด็นทางสังคมจากมุมมองทางจริยศาสตร์" ทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวากับข้อมูลที่เด็กเหล่านี้นำเสนอ มีทั้งข้อมูลเชิงเนื้อหา และการวิเคราะห์ด้วยทักษะ รับรู้ถึงความเป็นตัวของตัวเองในการพิจารณาข้อมูล นึกย้อนหลังไปถึงตนเองในสมัยเรียนหนังสือวัยเดียวกัน "เราช่างด้อยอย่างกับฝุ่นและแผ่นฟ้า" นึกไปว่า เด็กเหล่านี้ที่น่าจะคือแบบอย่างของอนาคต

มีประเด็นหนึ่งที่นักศึกษากล่าวถึง คือประเด็น "การบริจาคมากได้บุญมาก" (จากกลุ่มศึกษากรณีธรรมกายที่เกิดขึ้นในเวลานี้) ระหว่างนั่งฟัง ผมคิดไปตามสิ่งที่นักศึกษารายงาน ความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้นว่า "มีความเป็นไปได้หรือไม่กับการบริจาคมากแล้วได้บุญมาก" และคิดไปถึงว่า "๑,๐๐๐,๐๐๐ = ๑๐๐" ผมได้บันทึกบางอย่างลงในหน้ากระดาษ (การบันทึกนี้ยังไม่มีการคัดกรองความคิด โปรดใช้วิจารณญาณ)

เหตุผลของ ๑๐๐ มีค่า เท่ากับ ๑,๐๐๐,๐๐๐

  • เงินคือเครื่องมือ/ตัวกลางแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง
  • สิ่งหนึ่งมีค่าต่างจากสิ่งหนึ่ง เพราะสิ่งนั้นถูกวัดด้วยประโยชน์ที่ได้มา และที่มาของสิ่งนั้น (ส้มมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด กว่าจะเป็นส้มผลนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร)
  • เราอาจตีราคาส้ม ๑ ผล เท่ากับ ๑๐๐ บาท และตีราคาลูกตะขบ ๑ ลูก เท่ากับ ๑๐ บาท เหตุผลเพราะส้มมีประโยชน์มากกว่าลูกตะขบ ถ้าเรานำเงิน ๑๐๐ บาทไปซื้อลูกตะขบ เราจะได้ ๑๐ ลูก ซึ่งมีจำนวนมากกว่าส้ม ๑ ผล โดยเนื้อส้ม ๑ ผล กับตะขบ ๑๐ ลูก อาจเท่าหรือไม่มากกว่ากันนัก แต่ก็มองได้ว่า ๑๐ บาท ไม่เก่ากับ ๑๐๐ บาท อย่างไรก็ตาม ตะขบ ๑ ลูก อาจมีราคามากกว่าส้ม ถ้าค้นพบว่า ตะขบรักษามะเร็งได้ แต่ส้มรักษาไม่ได้
  • มีแนวคิดที่เป็นไปได้ว่า ๑๐ บาท เท่ากับ ๑๐๐ บาท และ/หรือ ๑๐๐ เท่ากับ ๑,๐๐๐,๐๐๐

ทั้งหมดเป็นบันทึกความคิดระหว่างใคร่ครวญความเป็นไปได้กับ ๑๐๐ มีค่าเท่ากับ ๑,๐๐๐,๐๐๐ เงื่อนไขที่เป็นไปได้คือ การให้ค่าต่อสิ่งนั้น สิ่งที่น่าคิดต่อมาคือ "ทำไม? การบริจาคมากจึงมีบุญมาก" ถ้าบุญหมายถึงความอิ่มใจ (ไม่ใช่ความยากลำบาก) ผมมีรายได้วันละ ๑๐๐ บาท ขณะที่เพื่อนของผมมีรายได้วันละ ๑ แสนบาท แต่ทั้งเนื้อทั้งตัวในเวลานี้ผมมีเงินแค่ ๑๐๐ บาท ขณะที่เพื่อนก็เหลือเงินแค่ ๑ แสนบาท ผมบริจาคเงินให้กับองค์กรทางศาสนาหมดตัว เพื่อนบริจาคให้องค์กรศาสนาหมดตัวเหมือนกัน สิ่งที่เรามองเห็นคือ ผมและเพื่อนบริจาคไม่เท่ากัน โดยที่ผมบริจาคน้อยกว่าเพื่อนหลายเท่าตัว สิ่งที่น่าพิจารณาคือ เป็นไปได้ที่เราบริจาคไม่เท่ากันแต่สภาวะทางจิตใจอาจเท่าและเข้ากันได้ คือ (๑) มีความรู้สึกสุขที่ได้ร่วมบริจาคอย่างเต็มกำลังกับองค์กรที่เข้าใจว่าเป็นเส้นทางไปสู่ประโยชน์และความสุขโดยรวม (๒) เราสองคนได้สละความรู้สึก "ไม่อยากให้" ออกไปเหมือนกัน นี่อาจเป็นคำตอบสำหรับบุญตัวเดียวกันแต่มีราคาต่างกัน และความเป็นไปได้กับ ๑๐๐ เท่ากับ ๑ ล้าน

การบริจาคจนหมดตัวในคัมภีร์อาจพิจารณาดูจากกรณี "เศรษฐีชื่ออนาถปิณฑิก" ในมุมมองทางสังคมถือว่าเป็นความเขลากับการบริจาคไม่เหลือสำหรับการดำรงชีวิตในโลกที่ต้องใช้เงินเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนปัจจัยการดำรงชีวิต บางสำนักทางศาสนาจึงนำประเด็นนี้ไปสอนต่อผู้มีจิตอ่อนโยนและกำลังดื่มด่ำกับเนื้อหา จิตที่โดนกล่อมเกลาด้วยข้อความบางอย่างก็หลงไปตามข้อความนั้น เมื่อตื่นจากฝันจึงเดือดร้อนในภายหลัง เพราะไม่มีเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนปัจจัยการดำรงชีวิต ในพุทธกาลเราอาจหาผลไม้ประทังชีวิตได้ แต่ปัจจุบันผลไม้มีราคา ดังนั้นจึงอาจต้องใช้วิจารณญาณในการบริจาคต่อองค์กรศาสนา อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีเงินจำนวน ๑ ล้านบาท ซึ่งหมายถึงอนาคตทั้งหมดของชีวิตเราทางสังคม แล้วมีศรัทธาแรงกล้า บริจาคเงินทั้งหมดนี้ให้องค์กรศาสนาด้วยความปลื้มใจ แล้่วสละตัวเองจากเพศชาวบ้านเข้าสู่เพศนักบวช ใช้ชีวิตบำเพ็ญตนเฉกเช่นฤาษีชีไพร อาศัยก้อนข้าวจากชาวบ้านที่ยังไม่อาจสละบ้านเรือนของตนได้ การบริจาคเงินทั้งหมดนั้นอาจมีความหมายบางอย่างในมิติทางศาสนา ซึ่งเป็นไปได้กับการบริจาคมากแล้วได้มาก (๑) ได้สละสิ่งที่มีเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม (๒) ได้สละความ "ไม่อยากให้" ออกไปจนหมด

หมายเหตุ ที่กล่าวมานี้โปรดใช้วิจารณญาณให้ถี่ถ้วน



คำสำคัญ (Tags): #ทาน#ปรัชญา
หมายเลขบันทึก: 625046เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2017 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2017 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แสดงความคิดเห็นไม่ถูกเลย

เป็นนิกายที่แปลกมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท