พระไตรปิฎกก็เชื่อไม่ได้หรอก


ผมเห็นหัวข้อนี้ ผมถามในใจว่า หัวข้อดังกล่าวเป็นแรงจูงใจให้ผมได้เข้าไปอ่านได้อย่างไร อันหนึ่งก็คือ "เออนะ ทำไมนะ..." ซึ่งก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน บันทึกนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากหัวข้อดังกล่าวตรึงใจผมตั้งแต่เมื่อคืนจนถึงเที่ยงของวันนี้

ช่วงหลังมานี้ ผมมักเข้าไปอ่านข้อคิดเห็นของสังคมออนไลน์ที่มีต่อประเด็นทางสังคม มีประเด็นหนึ่งที่เถียงกันว่า "ใช่พุทธหรือไม่ใช่พุุทธ" คำตอบอันหนึ่งที่บอกว่า "ใช่" คือคำตอบที่เชื่อว่า "ชีวิตตามพระไตรปิฎกคือชีวิตที่ตรงตามพุทธศาสนา" ผมประมวลความคิดว่า ถ้าชีวิตตามคัมภีร์คือชีวิตที่ถูกต้องเฉกเช่นเดียวกับการอ้างอิงของบุคคลผู้มีศาสนาต่างกัน ก็ในเมื่อคัมภีร์มีหลากหลายไม่ใช่หนึ่ง คำถามคือ อะไรถูกต้องกันแน่

หัวข้อ "พระไตรปิฎกก็เชื่อไม่ได้หรอก" หัวข้อนี้ผุดขึ้นระหว่างข้อความที่บอกว่า ชีวิตที่ไม่สอดคล้องกับพระไตรปิฎกเป็นชีวิตที่ผิด ผมตระหนักได้ว่า หากผมเสนอหัวข้อนี้ไปปุ๊ป ผมโดนด่าแหลกแน่ อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังหัวข้อนั้น ผมมีฐานความคิด ๒ อย่างคือ ๑) ตามแนวที่พุทธองค์ตรัสแก่ชาวกาลามะ มีอยุ่ข้อหนึ่งที่ระบุว่า "อย่าเข้าใจว่าถูกต้องเพียงเพราะตรวจสอบได้จากคัมภีร์" (แปลเอาความแบบบ้านๆ/บางแห่งแปลว่า อย่าเชื่อคัมภีร์) ๒) แนวคิดที่ระบุว่าข้อความในคัมภีร์ไม่ใช่ศาสนา จะเป็นศาสนาได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าถึงภาวะบางอย่าง เทียบได้กับ "นิ้วที่ชี้ไปดวงจันทร์ นิ้วคือคัมภีร์ ดวงจันทร์คือศาสนา"

คำว่า "พระไตรปิฎกก็เชื่อไม่ได้หรอก" จะหมายถึง ตราบใดที่ยังไม่เข้าถึงภาวะที่ศาสนาระบุก็อย่างเพิ่งเชื่อว่าสิ่งนั้นถูกต้อง เพราะถ้าเชื่อว่าสิ่งนั้นถูกต้องโดยที่เรายังไม่พบความถูกต้อง จะเป็นความเชื่อแบบยังไม่รู้ น่าจะเป็นหัวข้อวิจัยอันหนึ่งสำหรับผู้สนใจเชิงลึกนั้นคือ "ความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธากับปัญญาตามแนวคิดทางศาสนาแบบพุทธ"

ขอให้ทุกชีวิตมีทางรอดเพื่อความพ้นจากทุกข์ทั้งปวง



คำสำคัญ (Tags): #พุทธปรัชญา
หมายเลขบันทึก: 624873เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2017 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2017 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท