ชีวิตที่พอเพียง : 2864. ข้อคิดเห็น เรื่อง นโยบายและแนวทางพัฒนาพืชกระท่อมและกัญชา



ในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ ในสังคมไทยและสังคมโลก


ผมเรียนฝาก ศ. แสวง บุญเฉลิมวิภาส ไว้นานแล้ว ว่าอยากให้มีการแก้กฎหมายยาเสพติด เปิดช่องให้มีการใช้กัญชาและกระท่อมเป็นยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมอยากให้อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อลดความทรมานในผู้ป่วยใกล้ตาย ซึ่งนอกจากช่วยให้เกิดการตายอย่างมีคุณภาพแล้ว ยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตอีกด้วย


ผมเขียนเรื่องกัญชาเป็นยาไว้หลายบันทึก อ่านได้ ที่นี่


วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง กระท่อม กัญชา คือพืชยา ไม่ควรเป็นยาเสพติด ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีชาวบ้านที่เป็นผู้ใช้กัญชาเป็นยา มาร่วมประชุมล้นหลาม มีคนเข็นรถนั่งของเด็กสาวที่เป็นโรคทางสมองและเป็นลมชัก ที่เมื่อให้กินน้ำมันกัญชา ๑ หยดวันละ ๓ ครั้ง อาการชักหมดสนิท เอามาเป็นประจักษ์พยานคุณค่าของกัญชาเป็นยาสมุนไพรด้วย


อีกท่านหนึ่งเป็นนักวิจัย ผมรู้จักตั้งแต่ผมทำงานที่ สกว. ท่านมาแนะนำตัว ว่าเป็นผู้ใช้กัญชา เพราะเป็นมะเร็ง ผมไม่ทันได้ถามว่าใช้เพื่อรักษามะเร็ง หรือเพื่อลดความทรมาน แต่ดูลักษณะท่าทางของท่านหากไม่บอกก็จะคิดว่าท่านเป็นคนสุขภาพปกติ

การอภิปรายนโยบายและแนวทางพัฒนาพืชกระท่อมและกัญชาในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพมีคนร่วมอภิปรายราวๆ ๑๐ คน เป้าหมายของการอภิปรายคือเพื่อแสวงหาแนวทางแก้กฎหมายยาเสพติด ที่ตราสมุนไพรสองชนิดนี้ให้เป็นผู้ร้าย เป็นยาเสพติด แม้จะใช้เพื่อประโยชน์ด้านยาก็ผิดกฎหมาย จะเอามาทำวิจัยเพื่อหาความรู้ก็ไม่ได้


ผมได้ความรู้เรื่องการใช้กัญชา ซึ่งตามที่อ่านจากเอกสารฝรั่ง ว่ามีการเสพเพื่อ ๒ เป้าหมาย คือเพื่อเป็นยา (medicinal use) กับเพื่อความผ่อนคลาย (recreational use) วันนี้ได้เพิ่มประโยชน์ประการที่สาม ว่าใช้ในทางวัฒนธรรม หรือใช้ตามวิถีชีวิตดั้งเดิม (cultural use)


ศ. แสวง บอกว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับบริจาคที่ดินสี่สิบกว่าไร่ที่รังสิต จะเอามาทำ hospice และอยากปลูกกระท่อมและกัญชาในพื้นที่ สำหรับเอามาเป็นสมุนไพรลดทุกข์ทรมานของผู้ที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต แต่ตามกฎหมายปัจจุบัน ทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย


ผมเป็นผู้อภิปรายคนแรก เพราะเป็นผู้สูงอายุที่สุด และอภิปรายเพียงสั้นๆ ว่าผมคิดว่ากฎหมายยาเสพติดไทย เกิดจากโดนฝรั่งหลอก เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทยาฝรั่ง กฎหมายยาเสพติดไทยเดินตามที่ฝรั่งกำหนดมากเกินไป ทั้งๆ ที่เราสามารถมีสิทธิ์มีเสียงในการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกว่าเดิมได้ เหมือนอย่างที่ผมไปเห็นในสมัชชาสุขภาพโลก ที่เล่าไว้ ที่นี่ องค์การสหประชาชาติมีไว้เจรจาต่อรองผลประโยชน์ของประเทศสมาชิก ที่ประเทศสมาชิกต้องมีความรู้และความฉลาดเฉลียวกล้าต่อรอง ไม่ใช่ยอมตามประเทศมหาอำนาจอย่างเชื่องๆ


ดังนั้น ผมจึงอยากเห็นการแก้ไขกฎหมาย ให้คนทั่วไปใช้สมุนไพรทั้งสองชนิดนี้เป็นยาได้ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้เพื่อความเมา และคิดว่าคนอายุน้อยๆ ไม่ควรใช้ เพราะหากใช้จนติด มีหลักฐานชัดเจนว่ากัญชาทำลายสมองของคนอายุน้อย

ผมไม่ได้อยู่ในที่ประชุมจนตลอดการประชุม แต่ฟังจากผู้อภิปราย ซึ่งอภิปรายดีมากทุกคน แล้ว ค่อนข้างเห็นไปทางเดียวกันว่า กฎหมายปัจจุบันตึงเกินไป ควรหาทางหย่อนให้ใช้ในทางยาและทางวัฒนธรรมได้ ผู้ร่วมอภิปรายที่ผมประทับใจที่สุดคือ คุณพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ รองเลขาธิการ ปปส. ที่พูดให้ข้อมูลทั้งที่เป็นทางการ และพูดให้ความเห็นส่วนตัว ว่าควรแก้กฎหมายให้มีการผ่อนปรน ส่วนที่ห้ามก็ยังต้องห้าม และหากมีการละเมิดกฎหมายทำเป็นการค้าใหญ่โต ก็สามารถตรวจสอบควบคุมและจับกุมได้ไม่ยาก โดยอาศัยเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม และพิกัด GPS


ภก. นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายสไลด์ให้ข้อมูลว่า สหรัฐอเมริการับจดสิทธิบัตร Cannabinoid (ในกัญชา) เป็นยารักษามะเร็ง และเป็นยาต้านอนุมูลอิสระ (ดูรูปที่ ๕)


มีการรายงานข่าวผลการประชุม ที่นี่



วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.พ. ๖๐


1 นั่งหน้าซ้ายมือ ศ. นพ. วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ขวามือท่านอดีตประธานศาลฏีกา โสภณ รัตนากร


2 อีกมุมหนึ่งของผู้ฟัง


3 ส่วนหนึ่งของวิทยากร


4 วิทยากรอีกส่วนหนึ่ง


5 สไลด์ของ ภย. นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี


หมายเลขบันทึก: 624842เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2017 00:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2017 12:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยค่ะอาจารย์ กัญชาและกระท่อมพืชสมุนไพรไทยค่ะ โซนชุมพรระนองนั้น บรรพบุรุษไทยกินกันมาแต่โบราณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท