​ชีวิตที่พอเพียง : 2861. เสวนากับประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน



นี่คือเรื่องการตรวจสอบนโยบาย และการที่นโยบายของบ้านเมืองต้องอยู่บนฐานของข้อมูลหลักฐาน


ช่วงบ่ายวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ผมไปเป็นวิทยากรหลักในการประชุมปฏิบัติการที่ สตง. “ร่วมใจพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการความรู้ สู่ สตง. ๔.๐” ในห้องใหญ่มีการฉายวีดิทัศน์เรื่องการจัดการความรู้โรงเรียนชาวนาท่านประธาน คตง. ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม นั่งอยู่ในห้องข้างบน ติดใจในเสียงเรื่องราวของการทำนาปลอดภัยจากสารพิษ หรือการผลิตข้าวอินทรีย์ จนทนไม่ไหว ลงมาดูเหตุการณ์ในห้อง ทางเจ้าหน้าที่ สตง. มาตามผมไปคุยกับท่าน


คุยแล้วเกิดความประทับใจ เพราะท่านเอ่ยว่า สตง. ควรทำ efficiency audit ต่อกระทรวงเกษตร ว่าแนวทางที่กระทรวงเกษตรส่งเสริมการเกษตรแบบปัจจุบัน ที่มีการใช้สารเคมีมากมายนั้น หากเทียบกับการหันมาส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์เป็นแนวทางหลัก ประเทศจะได้รับผลประโยชน์จากแนวทางใดมากกว่า ถือเป็นการใช้เงินแผ่นดินให้ก่อประโยชน์มากกว่า


ผมเสนอความเห็นว่า ที่ท่านกล่าวถึงนั้น ผมเรียกว่า policy audit ซึ่งสูงกว่า efficiency audit และผมสนับสนุนเต็มที่หาก คตง. จะจับเรื่อง policy audit และตามประสบการณ์ของผม หากจะตรวจสอบนโยบาย ต้องจัดให้มีการวิจัยนโยบาย หาข้อมูลหลักฐานว่านโยบายใดให้ผลดีกว่าในด้านใด เพราะแต่ละประเด็นเชิงนโยบายของบ้านเมืองนั้น มีความซับซ้อน อยู่ในสภาพที่เรียกว่า วูค่า มีบุคคลและหน่วยงาน เสวยประโยชน์จากนโยบายปัจจุบันมากมาย นโยบายที่ดีจึงต้องเป็น evidence-informed policy ซึ่งวงการนโยบายในประเทศไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคย ยกเว้นด้านสาธารณสุขหรือด้านสุขภาพ


ในเรื่องการเกษตรอินทรีย์ ท่านขอเชิญให้ผมไปพูดให้ คตง. ฟัง ผมเรียนท่านว่า ผมไม่มีความรู้ดีพอที่จะไปพูดได้ และแนะนำให้เชิญคุณเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ


ผมเรียนท่านว่า ผมดีใจมากที่ประธาน คตง. มีความคิดเรื่อง policy audit เพื่อขับเคลื่อนประเทศออกจากนโยบายผิดๆ ที่ก่อผลร้าย ใช้เงินสิ้นเปลือง และนำพาประเทศไปในทางเสื่อม ซึ่งมีมากมาย ที่รุนแรงที่สุดคือด้านการศึกษา ที่มีกฎเกณฑ์กติกาที่ผิด นำไปสู่ความทุจริตฉ้อฉลในวงการศึกษา (ซึ่งผลร้ายที่สุดคือสร้างบรรทัดฐานยอมรับการทุจริตหรือความชั่วในหมู่เยาวชน) ที่จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้แก้


ที่จริงเรื่องอื่นๆ ยังมีอีกมากมาย เช่น เมืองขวางน้ำ นโยบายการขนส่งที่เน้นถนน แทนที่จะเน้นราง เป็นต้น


ผมเรียนท่านว่า เรื่องที่ท่านคิดยิ่งใหญ่มาก และต้องการการคิดอ่านปรึกษาหารือกว้างขวาง จึงขอเสนอมายัง สกว. ว่าน่าจะติดต่อคุยกับท่านชัยสิทธิ์ โดยชวน ดร. สมเกียรติ แห่ง ทีดีอาร์ไอ, นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร, นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ ไปร่วมหารือด้วย เพื่อวางฐานสังคมแห่งข้อมูลหลักฐาน สู่การกำหนดนโยบายสาธารณะที่ใช้ข้อมูลหลักฐาน (evidence-informed policy-making)


วิจารณ์ พานิช

๒ ก.พ. ๖๐

ห้อง ๔๔๑๔ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ แอท เซนทรัลเวิร์ล


หมายเลขบันทึก: 624520เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2017 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2017 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท