การศึกษาตลอดชีวิต


การศึกษา (Education)ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นิยาม ความหมายของการศึกษา มีความหมายว่า "กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต" และมาตรา 15 ได้กำหนดระบบการศึกษา ในการจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 4 ได้บัญญัติความหมายของการศึกษาตลอดชีวิตไว้ว่า หมายถึงการศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
นอกจากนี้ใน พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 มาตรา 8 การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาตามอัธยาศัย ก็ได้ให้ความสำคัญต่อผู้เรียน โดยได้ระบุไว้ว่า "ผู้เรียนได้รับความรู้และทักษะพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต"
ในความหมายของการศึกษาตลอดชีวิตดังกล่าว สอดคล้องกับความหมายของการศึกษา ซึ่งมีสถานที่และระยะเวลาเช่นเดียวกัน คือเป็นการศึกษาที่เกิดในทุกสถานที่ และตลอดระยะเวลาในชีวิตของบุคคลบุคคลหนึ่ง
นอกจากนี้ การศึกษาตลอดชีวิตยังจะต้องเป็นการผสมผสานกันระหว่างการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอีกด้วย
ในการจัดการศึกษาของประเทศจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาตลอดชีวิตเป็นอย่างสูง โดยเห็นได้จากความหมายของการศึกษา และความหมายของการศึกษาตลอดชีวิตดังกล่าว พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเองก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 8 โดยในการจัดการศึกษาให้ยึดหลัก 3 ประการคือ เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน, ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ในหนังสือ คำภีร์ กศน ได้ให้ความหมายของ การศึกษาตลอดชีวิต ไว้ว่า
• การศึกษาที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
• การศึกษาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดจนตาย
• พัฒนาคนให้ได้เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆตามความสามารถของตนเอง เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันในสังคม
การเรียนรู้ตลอดชีวิต
หมายถึง การรับรู้ความรู้ ทักษะ และเจตคติ ตั้งแต่เกิดจนตายจากบุคคลหรือสถาบันใดๆ โดยสามารถ จะเรียนรู้ด้วยวิธีเรียนต่างๆ อย่างมีระบบหรือไม่มีระบบ โดยตั้งใจหรือโดยบังเอิญก็ได้ ทั้งนี้สามารถทำให้บุคคลนั้นเกิดการพัฒนาตนเอง
การศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education)
หมายถึง การจัดกระบวนการทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการจัด การศึกษาในรูปแบบของการศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non - Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) โดยมุ่งให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self - directed Learning) มุ่งพัฒนาบุคคลให้สามารถพัฒนาตนเอง และปรับตนเองให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองและเศรษฐกิจของโลก
การศึกษาตลอดชีวิต
หมายถึง การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญญาและความต้องการของกลุ่มแต่ละกลุ่ม

การศึกษาตลอดชีวิต Phillip H. Coombs (ผู้เขียนหนังสือ The World Crisis in Education : The View from the Eighties) พบว่ารูปแบบการศึกษาในระบบโรงเรียนของประเทศด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนา ไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชน ได้อย่างทั่วถึงทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการศึกษา (Educational Crisis) เพราะประชาชนที่มีฐานะดีเท่านั้นที่มีโอกาสได้รับการศึกษา ส่วนคนยากจนจะขาดโอกาสในการศึกษา แม้รัฐบาลต่างๆ ได้ทุ่มเทงบประมาณด้านการศึกษาสูงมากก็ตาม แต่การศึกษาไม่สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตการศึกษาของประชาชน โดยเฉพาะผู้อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล รัฐบาลยิ่งพัฒนาคนรวยกลับรวยยิ่งขึ้น คนจนกลับจนลง จึงทำให้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา หมายเหตุ : หนังสือที่กล่าวถึงในข้างบน แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ วิกฤตการณ์ของโลกในทางการศึกษา: ทัศนะในทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นหนังสือแปล อันดับที่ 87 ของ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพฯ ปี 2535 โดย ดร. ก่อ สวัสดิพาณิชย์

นักปฏิรูปการศึกษา อาทิ เปาโล แฟร์ (Paulo Freire) ชาวบราซิล เขียนเรื่อง “การศึกษาของผู้ที่ถูกกดขี่” (Pedagogy of the Oppressed) อีวาน อีลิช (Ivan Ilich) เขียนเรื่อง “โรงเรียนตายแล้ว” (Deschooling Society) และ Faure เขียนเรื่อง “Learning to be” ให้กับองค์กร Unesco เสนอว่าควรจะปฏิรูประบบการศึกษาในโรงเรียน มาเป็นการศึกษานอกโรงเรียน และส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้รูปแบบการดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมอุตสาหกรรม ที่ได้มีการนำเทคโนโลยี เครื่องจักร เครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้แทนแรงงาน ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤตการณ์ตลาดแรงงาน มนุษย์เราจึงต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อที่จะได้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ของคนเราจึงไม่หยุดเพียงที่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย แต่เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา มนุษย์เรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต นั้นคือการรวมเอาการศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) นอกระบบโรงเรียน (Informal Education)เข้าด้วยกัน คนเราสามารถเลือกศึกษาได้ในช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิตตามความเหมาะสม การศึกษา และการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกแห่งไม่ว่าจะ ในครอบครัว วัด ชุมชน สถาบันการศึกษา สถานประกอบการ และแหล่งวิชาต่างๆ การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตกลายเป็นความจำเป็นของมนุษย์ปัจจุบัน

แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิต
การศึกษาตลอดชีวิต เป็นแนวความคิด ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการศึกษาปัจจุบัน แท้จริงแล้วแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิตมิใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานแล้วในคัมภีร์กุรอานมีคำสอนว่า บุคคลพึงเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในเปลถึงหลุมฝังศพ (From cradle to grave) หรือจากครรภ์มารดาถึงสุสาน(From womb to tomb) คอมินิอุส (Comenius) นักศึกษาในสมัยนั้น ได้พูดถึงรายละเอียดของกระบวนการศึกษาตลอดชีวิตว่า ควรจัดให้มีโรงเรียน สำหรับทุกคน กล่าวคือ โรงเรียนสำหรับทารกแรกเกิด เด็กก่อนวัยเรียน เด็กเยาวชนวัยเรียน คนหนุ่มสาว และคนชรา ในช่วง 60 กว่าปีที่ผ่านมานี้ได้มีการเผยแพร่เรื่องเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ และเพิ่มความสนใจไปสู่ทั่วโลก ในการประชุมระหว่างชาติว่าด้วยการศึกษาผู้ใหญ่ (World Conference on Adult Education) ที่จัดโดย Unesco ที่กรุงมอนตรีอัล ประเทศแคนาดา ค.ศ.1960 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ค.ศ.1972 และที่กรุงไนโรบี ค.ศ.1986 ได้พัฒนาแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิต อันมีสาระสำคัญดังนี้

  1. มนุษย์แสวงหาความรู้ และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพราะมนุษย์เราเรียนรู้จากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคมทุกขณะ เช่น จากการ ทำมาหากิน การเล่น การพักผ่อน การเข้าร่วมพิธีกรรม และการสมาคม เป็นต้น
  2. การศึกษาที่แท้จริงไม่ได้จำกัดแต่เพียงในโรงเรียนแต่ครอบคลุมถึง การศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาเกิดได้ตามโอกาส จึงไม่มี วันสิ้นสุด 3. การศึกษาตลอดชีวิตเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้รับการศึกษา เพราะสามารถเลือกเรียนตามรูปแบบที่ตนต้องการ ยืดหยุ่นได้ตามโอกาส ทุกคน สามารถ เรียนรู้ได้จากทุกแห่งตามโอกาสจะอำนวย ฉะนั้น มนุษย์จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยการศึกษาอย่างไม่มีจุดจบไปตลอดชีวิต

นายปรัชศร เกตตะพันธ์ ม.4/3 เลขที่ 6

คำสำคัญ (Tags): #pprep
หมายเลขบันทึก: 624074เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2017 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2017 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท