KM กับ วพส.


ใช้ KM หาข้อมูลการปฏิบัติจริง โดยใช้เครื่องมือ AAR
KM กับ วพส.
           วพส. คือ สถาบันวิจัยและพัฒนาสาธารณสุขภาคใต้   ในสังกัด ม. สงขลานครินทร์   โดยการสนับสนุนด้านการเงินของ สสส.   โดยมีวัตถุประสงค์คือ  “สร้างองค์ความรู้และระดมทรัพยากรนักวิชาการชั้นสูงของภาคใต้เพื่อการพัฒนาสุขภาพของภูมิภาคนี้”  และมียุทธศาสตร์ในการทำงาน ๓ ประการ
           ยุทธศาสตร์ที่ ๑  สนับสนุนและเสริมความเข้มแข็งด้านวิชาการของสาขาระบาดวิทยาและสาขาวิชาการอื่นๆ   รวมทั้งสร้างนักวิชาการรุ่นใหม่
           ยุทธศาสตร์ที่ ๒  พัฒนาระบบจัดการงานวิจัยและการจัดการความรู้ของชุดโครงการวิจัย     ทำงานร่วมกับหน่วยส่งเสริมวิจัยอื่นๆ ในภูมิภาคและเปิดช่องทางใหม่เพื่อการสื่อสารทางวิชาการกับชุมชนโดยตรง
           ยุทธศาสตร์ที่ ๓  วิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาสุขภาพภาคใต้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัยไปในทิศทางที่เหมาะสม
            โครงการ วพส. เป็นโครงการใหญ่มาก   จึงต้องมีคณะกรรมการอำนวยการของโครงการ    และผมก็ถูกเชิญเข้าร่วมเป็นกรรมการนี้ด้วย
           วันนี้ (๒๙ มิ.ย. ๔๘) มีการประชุมคณะกรรมการชุดนี้     ผมจึงมีแรงบันดาลใจ มาเล่าสู่กัน
           ในการประชุมมีวาระพิจารณายุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้  ว่าเหมาะสมต่อสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่   ควรมียุทธศาสตร์เพิ่มเติมอย่างไร   และมีข้อเสนอแนะอื่นๆ อย่างไร    ผมจึงเสนอให้สมาชิกของคณะผู้ดำเนินการโครงการแต่ละคนลองทำ AAR ผลการดำเนินการในช่วง ๑ ปีเศษที่ผ่านมา ว่า
1.         ที่ตนเข้ามาร่วมโครงการนี้ มองเป้าหมายของโครงการอย่างไร
2.         ส่วนใดของเป้าหมาย ที่บรรลุผลเกินคาด  เพราะเหตุใด
3.         ส่วนใด ที่ไม่ค่อยบรรลุผล  เพราะเหตุใด
4.         ควรปรับปรุงการดำเนินการโครงการอย่างไรบ้าง
การทำ AAR เช่นนี้ เป็นการหา “ข้อมูลดิบ” เกี่ยวกับการดำเนินการโครงการ     ทำให้กรรมการได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นจากข้อมูลในเอกสารประกอบการประชุม ซึ่งเป็น “ข้อมูลสุก”   และทำให้กรรมการอำนวยการสามารถให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะได้ตรงเป้ายิ่งขึ้น
นี่คือบทเรียนด้าน KM บทแรก : ใช้ KM หาข้อมูลการปฏิบัติจริง โดยใช้เครื่องมือ AAR
คณะกรรมการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะมากมาย   ข้อหนึ่งคือใช้หลักการ/แนวคิด (concept) ของ KM ในการสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาสุขภาพ     คือเชื่อว่าความรู้เพื่อการพัฒนาสุขภาพด้านต่างๆ มีอยู่แล้วในชาวบ้าน   (แต่อาจจะไม่ครบด้าน  และที่ว่ามีความรู้บางด้านนั้นก็อาจเป็นความรู้เพียงระดับ ๒ – ๓ ดาว  ไม่ใช่ ๕ ดาว)  คณะนักวิจัยจะต้องรู้วิธีเสาะหาความรู้นั้น (ซึ่งมีอยู่ในกลุ่มคน/ชุมชน ที่มีความสำเร็จในการพัฒนาสุขภาพด้านนั้นๆ) และเอามาต่อยอดด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์  ให้ชาวบ้านเอาไปทดลองปฏิบัติเพื่อพัฒนาสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นไปอีก    วนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป     ผมได้ปวารณาไว้ว่าหาก “หัวปลา” ชัด สคส. จะส่งวิทยากรไปช่วยจัด “ตลาดนัดความรู้” ให้
นี่คือบทเรียนด้าน KM บทที่ ๒ : ใช้ ตลาดนัดความรู้ เป็นเครื่องมือ สกัด ความรู้จากผลสำเร็จ (best practice) เอามาเชื่อมโยงกับความรู้จากภายนอก   ได้ชุดความรู้ใหม่  สำหรับเอาไปทดลองใช้  และหมุนเกลียวความรู้  เป็นวัฎจักไม่รู้จบ
วิจารณ์ พานิช
๒๙ มิ.ย. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 624เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2005 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท