มักง่าย


เช้านี้ ๐๖.๑๕ น. ต้องการปาท่องโก๋สักสองสามชิ้น ปั่นจักรยานคันเล็กออกจากบ้าน มุ่งหน้าไปตลาดหาดใหญ่ใน ร้านแรกยังเตรียมของ และเป็นร้านเดียวที่รู้จักในเวลานี้ จึงปั่นจักรยานเวียนตลาด พบอีกร้านหนึ่งจึงเดินเข้าไปซื้อ ในกระเป๋ากางเกงสีดำ มีเงินใบละ ๑๐๐ อยู่เพียงใบเดียว เกรงว่า หากซื้อ ๑๐ บาท น่าจะโดนมองด้วยสายตาเย็นชา จึงซื้อ ๒๐ บาทแบบผสมจืดบ้างหวานบ้าง หวังว่าจะนำไปฝากคนที่บ้านด้วย ปรากกฎว่า ราคาดังกล่าวได้ปาท่องโก๋มาเกินความพอดี แต่ก็ดีกว่าโดนมองด้วยสายตาเย็นชา เสร็จจากนั้นปั่นจักรยานไปทางหน้าตลาด ในใจคิดว่า น่าจะซื้อข้าวห่อไปทำงานซะเลย จึงเวียนไปซื้อข้าวห่อที่ร้านปากทางเข้าตลาดหาดใหญ่ใน ระหว่างนั้นมีลุงคนหนึ่งพยายามจะถอยรถจักรยานยนต์ที่จอดดีแล้ว เพื่อออกไปที่อื่น เข้าใจว่าน่าจะทำภาระกิจที่ตลาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การถอยรถออกไปนั้นเป็นความลำบากมาก เพราะมีรถคันอื่นๆจอดซ้อนกันไปซ้อนกันมา ทั้งรถใหญ่รถเล็ก แม่ค้าพูดให้ได้ยินว่า นี่แหละบ้านเรา คนที่จอดถูกต้องจะออกไม่ได้ อยู่อย่างลำบาก ไม่เหมือนคนมักง่าย จอดแบบมักง่าย แล้วออกสบาย คราวหลังอย่าจอดให้ถูกต้อง ควรจอดข้างนอก (ทางรถวิ่ง/จอดซ้อนคัน) ไม่ใช่ริมฟุตบาท ผมได้ยินก็ยิ้มให้แบบ "หึๆ"

ระหว่างปั่นจักรยานกลับบ้าน มีความคิดว่า "มักง่ายคืออะไร" พิจารณาไป มักง่ายคือ การมักที่จะทำอะไรแบบง่ายๆ ในข้อความของแม่ค้าคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นลบทางความรู้สึก ทั้งที่การทำอะไรแบบง่ายๆ น่าจะดีที่สุด เพราะเป็นสิ่งไม่ยาก แต่ปัญหาคือ ความมักทำอะไรง่ายๆ สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น การทำอะไรแบบง่ายๆก็เลยกลายเป็นเรื่องที่ไม่ดี ผมพิจารณาว่า ความคิดแบบพุทธกล่าวถึงธาตุแท้ของคนฝ่ายลบมี ๓ คือ ความอยากได้ ความขัดเคืองฉุนเฉียวเพราะไม่พอใจ และการไม่ทราบที่ไปที่มาอย่างแท้จริง ความมักง่ายน่าจะอยู่ในกลุ่มใด พิจารณาต่อไป ความมักง่ายน่าจะคือความเห็นแก่ตัว อันหมายถึง การให้ตัวเองสะดวกไว้ก่อน โดยไม่ได้พิจารณาเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย คือมนุษย์ผู้เฉกเช่นกับเราจะเดือดร้อนเพราะความมักทำอะไรง่ายๆของตนหรือไม่ การไม่ได้พิจารณาบริบทของการกระทำในพื้นที่และเวลานั้น น่าจะคือความไม่รู้ หากพิจารณาว่า การจอดรถแบบง่ายๆ คือความฉุนเฉียวเพราะไม่พอใจหรือไม่ หรือว่าเป็นความอยากได้ ในบางกรณีอาจเป็นไปได้ที่จะอยู่ในกรอบแบบนั้น แต่กรณีที่เกิดน่าจะเกิดจากขาดปัญญาในการพิจารณาแบบรอบด้าน ดังนั้น จึงน่าจะเป็นการไม่ทราบที่ไปที่มาอย่างแท้จริง ความมักทำอะไรง่ายๆ จึงมีผลกระทบต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ยิ่งมักง่ายกันมาก ก็ยิ่งเดือดร้อนกันมาก ระเบียบที่มีก็ไร้ประโยชน์ สัญชาตญาณแห่งสิ่งมีชีวิตที่ความเป็นมนุษย์พยายามขัดเกลาให้ออกไปก็ยิ่งครุกรุ่นขึ้นมา เพราะการตามแต่ใจอยากจะทำอะไร ดังนั้น ความมักง่ายที่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับชีวิต เพราะชีวิตจะได้ไม่ยุ่งยาก จึงกลายเป็นภาพลบทางความรู้สึกเพียงเพราะไม่ได้พิจารณาว่า กรรมดังกล่าวจะส่งผลต่อความเดือดร้อนของบุคคลอื่นๆหรือไม่ เหตุนี้เอง ความมักง่ายจึงอาจไม่ใช่เรื่องที่ดี


หมายเลขบันทึก: 622464เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2017 07:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2017 07:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท