​ชีวิตที่พอเพียง : 2836. อาณาจักรปักษี



เช้าวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ ผมนั่งอ่านหนังสือที่ระเบียงหน้าบ้าน เสียงนกกางเขนร้องแบบเตือนภัย พร้อมกับมีนกบินพึ่บพั่บหลายตัว ส่วนใหญ่เป็นนกกางเขน แต่ก็มีตัวหนึ่งบินอย่างเร็วมาเกาะที่ลำต้นของต้นพญาสัตบรรณ สูงจากพื้นดินประมาณ ๑ วา ทำให้ผมสังเกตที่เกาะว่าน่าจะเป็นนกหัวขวาน ยังไม่ทันได้สังเกตเห็นว่าสีอะไร เขาก็บินหายไป บอกได้เพียงว่าตัวเล็กนิดเดียว อาจจะขนาดนกกางเขนหรือโตกว่าเล็กน้อย ลองค้นดูพบว่าน่าจะเป็นนกหัวขวานด่างแคระ ซึ่งเป็นนกประจำถิ่น


แต่แถวบ้านผมน่าจะเป็นเขตห้ามเข้า เพราะเป็นถิ่นของนกกางเขนฝูงหนึ่ง ที่เขาร้องเพลงให้ผมฟังทุกวัน ไพเราะมาก แต่เขาก็ยึดครองบริเวณบ้านผมเป็นอาณาจักรของเขา ไม่ยอมให้นกอื่นหลายชนิดล่วงล้ำ เผลอเข้ามาก็จะโดนไล่ แบบ “นกหมู่”


ทำให้ผมคิดว่า เพราะโดนครอบครองอาณาจักรโดยนกกางเขน ผมจึงอดเห็นนกหลากชนิดในบริเวณบ้านผม ยังดีที่นกกินปลียังมากินน้ำหวานจากดอกประทัดไต้หวันได้ทุกวัน แต่เมื่อ ๗ ปีที่แล้วผมก็ได้บันทึกเรื่องฝูงนกกางเขนทะเลาะกับฝูงนกกินปลี ที่นี่ และนกปรอดก็ยังแวะเวียนมาเป็นระยะๆ ส่วนนกขมิ้นเหลืองอ่อนหมู่นี้ไม่ได้ยินเสียง และยังได้ยินเสียงนกตีทองสม่ำเสมอ รศ. ดร. สมโภชน์ ศรีโกสามาตร บอกผมว่า นกตีทองปรับตัวอยู่กับเมืองได้ดี จึงมีมากขึ้นในกรุงเทพ



วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 621768เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2017 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2017 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท