สสส. หนุนเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ใช้ “กีฬา” เป็นสื่อพัฒนาเยาวชน สร้าง “สิงห์นักเตะ” ประจำหมู่บ้าน สานฝันสร้างสุขภาวะให้ชุมชน


“กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ” และ “เยาวชนในวันนี้คือกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ” เป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นว่า ทั้ง “เยาวชน” และ “กีฬา” ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ หากเราสามารถปลูกฝังและพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ ควบคู่ไปกับการมีสุขภาวะที่ดี ประเทศชาติก็จะสามารถก้าวไปสู่อนาคตที่มั่นคง

ท่ามกลางสภาพสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบไปทุกพื้นที่ทั้งสังคมในเมืองและในชนบท สิ่งเร้าต่างๆ ถูกกระตุ้นผ่านสื่อยุคใหม่ที่เข้าถึงได้ไม่ยาก สำหรับเยาวชนแล้วนับเป็นความเปราะบางอย่างมาก หากขาดภูมิคุ้มกันที่ดีพอก็อาจถูกชักจูงไปในทางที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย

ที่ บ้านวังกุ่ม หมู่ที่ 4 ตำบลบางหิน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง แม้จะเป็นพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล แต่เด็กและเยาวชนก็สามารถเข้าถึงสื่อยุคใหม่ได้ทัดเทียมกับในเมืองใหญ่ แม้ร้านเกมส์จะมีน้อย แต่พฤติกรรมเยาวชนติดเกมส์ก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ย้ายจากร้านมาอยู่บนสมาร์ทโฟนแทน สร้างความกังวลให้ผู้ปกครองไม่น้อย ขณะที่เยาวชนบางส่วนใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนหรือช่วงวันหยุดขับขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเล่นอย่างไร้จุดหมาย มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงในด้านต่างๆ เนื่องจากขาดพื้นที่ให้เด็กได้มีกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ ความกังวลเหล่านี้จึงทำให้กลุ่มผู้ใหญ่ใจดีในพื้นที่คิดหาทางออกเพื่อแก้ปัญหา

“นายวสันต์ คงลา” ซึ่งมีพื้นฐานด้านพลศึกษาและรักในการเล่นกีฬาโดยเฉพาะการเล่นฟุตบอลจึงปรึกษาหารือกับผู้ที่ชื่นชอบในเกมส์กีฬาร่วมกันจัดทำ “โครงการลานกีฬาสร้างสรรค์ เยาวชนเสริมสร้างทักษะกีฬาฟุตบอล” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมีแรงหนุนเสริมจาก องค์การบริหารส่วนตำบลบางหิน โดยเฉพาะผู้ปกครองของเยาวชนที่ออกแรงมาเชียร์บุตรหลานทุกครั้ง ตั้งแต่การเข้าค่ายฝึกอบรมจนถึงการแข่งขันในสนาม

เพราะทุกๆ ต้นปีจะมีการแข่งขันกีฬาประจำตำบลบางหิน ทั้งฟุตบอล วอลเล่ย์บอล และตะกร้อ ทุกหมู่บ้านก็จะส่งนักกีฬาเข้ามาร่วมแข่งขัน แต่ผู้ที่มีส่วนร่วมในการแข่งขันมักเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน เด็กเล็กและเยาวชนขาดโอกาสในการเข้าร่วมทุกครั้ง อย่างมากเป็นได้แค่กองเชียร์ ทำให้เยาวชนเหล่านี้หันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่เป็นพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนจากเยาวชนบางส่วนที่ต้องการมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เพื่อแสดงศักยภาพของตนเอง

“ในหมู่บ้านวังกุ่มของเรามีเด็ก 40-50 คน อายุระหว่าง 6-16 ปี เวลาเลิกเรียนหรือวันหยุดเด็กที่เป็นวัยรุ่นก็มักจะขับมอเตอร์ไซค์เที่ยวเล่นไปเรื่อยๆ ที่จริงหมู่บ้านของเรามีพื้นที่เล่นกีฬา มีเครื่องออกกำลังกาย มีสนามฟุตบอล สนามวอลเลย์บอล จะเล่นตะกร้อก็ได้ แต่เด็กๆ ไม่สนใจมีแต่ผู้ใหญ่ที่ไปใช้ เรื่องเด็กติดเกมส์ก็เป็นปัญหาอยู่บ้าง ที่น่าห่วงก็คือปัญหายาเสพติด ทีมงานของเราก็เลยไปชักชวนผู้ปกครอง ขอความสมัครใจเด็กๆ ด้วยให้เข้ามาร่วมโครงการกับเรา” นายวสันต์เล่าถึงที่มาของโครงการ

หลังจากเปิดตัวโครงการและประกาศรับสมัครเยาวชนออกไปก็ได้รับความสนใจจากทั้งเด็กและผู้ปกครอง มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการถึง 40 คน และยังมีเด็กๆ จากหมู่บ้านใกล้เคียงขอสมัครร่วมกิจกรรมด้วย รวมทั้งสิ้น 55 คน แบ่งได้เป็น 3 รุ่น คือ รุ่น 6-11 ปี รุ่น 13 ปี และรุ่น 16 ปี และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนในการเข้าแข่งขันกีฬาประจำปีของตำบล จึงได้จัดให้มีการเข้าค่าย เรียนรู้ทักษะเรื่องการเล่นฟุตบอล โดยเชิญวิทยากรที่มีความรู้มาสอนตั้งแต่เรื่องกฎกติกา พื้นฐานการเล่นฟุตบอล โดยมี อบต.บางหิน ให้การสนับสนุนชุดกีฬา และมีผู้ร่วมบริจาคสมทบอีกด้วย

นอกจากจะอบรมเรื่องกีฬาแล้วผู้ฝึกสอนยังสอดแทรกความรู้ด้านสุขภาวะ ฝึกระเบียบวินัย ควบคู่ไปกับเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะไว้ในกิจกรรมต่างๆ ด้วย เช่น การเก็บขยะ เมื่อเสร็จสิ้นค่ายอบรมทักษะฟุตบอลแล้ว ก็จะมีการฝึกซ้อมในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน ตั้งแต่วันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ ยกเว้นวันที่มีฝนตกไม่สามารถใช้สนามฟุตบอลได้

“ช่วงที่เราทำค่ายฝึกอบรมผู้ปกครองก็มาเฝ้าลูกหลาน และก็อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้เรื่อยๆ เพราะผู้ปกครองไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะไปออกนอกลู่นอกทาง ในวันปกติเด็กๆ ก็จะไปเล่นฟุตบอลกันที่สนามของหมู่บ้าน ผู้ปกครองก็ไม่ต้องเป็นห่วง รู้ว่าอยู่ที่ไหน สามารถตามตัวได้ เพราะโดยปกติผู้ปกครองที่มีอาชีพทำไร่ทำสวนจะไม่ค่อยมีเวลาดูแลเด็กมากนัก การเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเล่นกีฬาจึงเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กเอง บางคนมีแววดี ขยันฝึกซ้อมเราก็สนับสนุนส่งไปคัดตัวนักเตะเยาวชนของจังหวัดก็เป็นโอกาสของเด็กที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอล” นายวสันต์ระบุ

ด้าน “นายสุรินทร์ สังข์สี” ผู้ใหญ่บ้านวังกุ่ม หมู่ 4 ที่ปรึกษาโครงการฯ เล่าว่าหลังจากมีประชาสัมพันธ์โครงการออกไปผู้ปกครองก็ให้ความสนใจพาลูกหลานมาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ในขณะที่ อบต.บางหิน ก็ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณสามารถทำให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างต่อเนื่อง สถานศึกษาใกล้เคียงที่เด็กศึกษาอยู่ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งในเบื้องต้นมีการฝึกทักษะฟุตบอลสำหรับเยาวชนชายไปก่อน ส่วนเยาวชนหญิงอยู่ระหว่างการปรึกษาเพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสม

“มีคำถามเหมือนกันว่าทำไมไม่มีกิจกรรมสำหรับเด็กผู้หญิงด้วย แต่ลานกีฬาของหมู่บ้านเรา มีสนามวอลเลย์บอล มีเครื่องออกกำลังกายอยู่แล้ว เป้าหมายต่อไปก็จะชักชวนเด็กผู้หญิงมาออกกำลังกัน สร้างแกนนำรุ่นพี่สอนรุ่นน้องต่อๆ กันไป” นายสุรินทร์กล่าว

ชาวบ้านรวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองต่างเห็นตรงกันว่าโครงการนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่เด็กๆ ในเรื่องการใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ และยังก่อให้เกิดการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างคนทุกช่วงวัยในชุมชน ลดปัญหาการทะเลาะวิวาทในกลุ่มเด็ก ครอบครัวก็อบอุ่น และชุมชนก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ความสำเร็จเบื้องต้นของโครงการคือการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีกิจกรรมสร้างสรรค์ ได้ออกกำลังกาย โดยใช้กีฬาฟุตบอลเป็นสื่อสร้างสรรค์ดังเยาวชนให้ห่างไกลอบายมุขต่างๆ ส่วนจะมีช้างเผือกได้รับการคัดเลือกไปเป็นนักฟุตบอลในระดับที่สูงขึ้นหรือไม่ เป็นเพียงผลพลอยได้ที่มาพร้อมกับความสุขของสมาชิกทุกคนในชุมชนแห่งนี้.

คำสำคัญ (Tags): #สสส.
หมายเลขบันทึก: 621100เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2017 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มกราคม 2017 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท