กิจกรรมบนฐานปัญญา ๕ : ปรัชญาและจิตวิทยาการจัดกระบวนการ


ทิศทางการศึกษาในปัจจุบัน เน้นทักษะมากกว่าความรู้ เน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ ดังที่เรากำลังพัฒนาไปสู่การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ นั้น สิ่งที่เราเห็นเด่นชัดในกระบวนทัศน์ใหม่ คือ แนวการการศึกษาแบบปฏิรูปนิยม ปฏิบัตินิยม เเละพิพัฒนานิยมซึ่งต่างจากการศึกษาแบบเดิมที่เน้นสารัตถนิยมเเละปฏิฐานนิยม เพราะสังคมมนุษย์ต้องเคลื่อนไปข้างหน้าเสมอหรือมี ความเจริญงอกงามนั่นเอง

การจัดกิจกรรม เป็นการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ครูจัดให้กับเด็ก กิจกรรมที่วิทยากรพาเรียนรู้ หรือกิจกรรมฐานแบบลูกเสือ ก็เป็นการเรียนรู้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเเล้วเมื่อกิจกรรม คือ การเรียนรู้เเละการเรียนรู้ต้องเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ผมมองว่านักทำกิจกรรมทั้งหลายต้องเข้าใจถึงว่าจะทำให้กิจกรรมเคลื่อนไปสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างไร ทั้งนี้ก่อนที่จะไปเข้าใจถึงวิธีการ เราต้องเรียนรู้เรื่องปรัชญาเเละหลักจิตวิทยาการจัดกระบวนการก่อนเพื่อให้เข้าใจตรงกัน ว่ากิจกรรมเพื่อเด็กเเละเยาวชนหรือเพื่อผู้ใหญ่นั้นมีหลักการ มีคุณค่า เเละมีความหมาย

ก่อนจัดกิจกรรมเพื่อผู้อื่น จึงต้องเข้าใจปรัชญาเเละจิตวิทยาเสียก่อน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมุ่งสู่ความหมายที่เเท้แห่งปัญญา ทั้งนี้บทความนี้ อาจไม่จำเป็นเลยเมื่อได้ลงพื้นที่จริง เห็นบริบทชัดเเละจัดกระบวนการได้ เเต่อาจเป็นประโยชน์สำหรับเป็นหลักคิดว่าเรายึดหลักอะไรเเละใช้วิธีการแบบไหน อย่างไร โดยจะอธิบายรายละเอียดดังนี้

๑.ปรัชญาการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้
คำว่าปรัชญานั้น หมายถึง ความรักในความรู้ ความรู้อันปราดเปรื่อง ความรอบรู้ หรือความรู้อันประเสริฐ หรืออื่นๆ ซึ่งความหมายทั้งหมดนั้นพยายามอธิบายว่า "ปรัชญา คือ ความรู้ที่ดีงาม" ซึ่งปรัชญาในมิติของกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ จึงหมายถึง ความรู้ที่ดีงามหรือทำให้เจริญงอกงาม นั่นเอง ซึ่งมีอยู่ ๓ ประเภทได้แก่

  • คุณวิทยา สำหรับมมุมมองกิจกรรมว่าด้วยสังคม,ความถูกผิด เช่น กิจกรรมป้องกันยาเสพติด รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ รณรงค์ไม่ดิ่มเหล้าเข้าพรรษา รณรงค์ให้เก็บขยะ เเละรณรงค์เรื่องท้องไม่พร้อม เป็นต้น
  • ญาณวิทยา สำหรับมุมมองกิจกรรมว่าด้วยความรู้เเละความเข้าใจโดยผ่านกระบวนการทางปัญญา เช่น จิตตปัญญา การเรียนรู้แบบโครงงาน/โครงการเเละการให้เด็กทำกิจกรรมสะท้อนตนเองเเละสังคม เป้นต้น
  • อภิปรัชญา สำหรับมุมมองกิจกรรมว่าด้วยการเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง เข้าใจจิตเเละเข้าใจโลก เช่น การทำสมาธิ การภาวนาในแบบต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อมุ่งจากคุณวิทยาสู่อภิปรัชญานั่นเอง โดยเพื่อความเข้าใจปรัชญากับกิจกรรม จึงจะแบ่งปรัชญาออกเป็น ๓ ลักษณะ ได้แก่ ปรัชญาตะวันตกปรัชญาตะวันออก และปรัชญผสมผสาน ดังนี้

๑.๑ ปรัชญาตะวันตกกับกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ (ปรัชญาตะวันตกเน้นวัตถุเเละความเป็นรูปธรรม)
ปรัชญาตะวันตก(Western Philosophy) ในปัจจุบันชาวตะวันตกนำร่องเรื่องการศึกษาเเละการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ในทั่วโลก โดยเฉพาะฟินด์แลนด์เเละชาติอื่นๆที่พัฒนาเเล้ว ทั้งนี้ย่อมมีสิ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นของประเทศ ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งนั่น คือ ปรัชญาการเรียนรู้นั่นเอง โดยจะอธิบายปรัชญาตะวันกับการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ ดังนี้

  • แนวคิดปฏิบัตินิยม(Pragmatism) นำโดยจอห์น ดิวอี้ แนวคิดนี้จะถือว่าจะเป็นจรหรือจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อผ่านการปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งในมุมมองของกิจกรรมเเล้ว การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผ่านการลงมือทำ กิจกรรมควรเน้นไปที่การปฏิบัติมากกว่าการอธิบาย เพราะการลงมือทำ(Learning by doing) จะนำไปสู่ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพื่อจะสามารถถอดบทเรียนได้ สิ่งสำคัญ คือ ผู้นำกิจกรรมต้องให้ลงมือทำเเละพยายามใช้คำว่า "ลองทำดู"
  • แนวคิดเหตุผลนิยม(Logicalism) นำโดยอิมมานูเอล ค้านท์ แนวคิดนี้จะถือว่าการเข้าใจความจริงหรือคุณค่าทุกอย่างต้องใช้ตรรกะวิทยาหรือหลักเหตุผล ซึ่งในมุมมองของกิจกรรมเเล้ว การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้เมื่อผ่านกระบวนการทางปัญญา กิจกรรมต้องมีการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ เเละคิดวิพากษ์เพื่อจะเข้าใจเรื่องนั้นได้ เช่น กิจกรรมที่เน้นการระดมสมองให้คิดร่วมกัน(Brain storming) หรือ การฝึกพูดเเละแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือจัดการความรู้(Knowledge management) เป็นต้น
  • ประจักษ์นิยม(Experience) นำโดยจอห์น ล็อค เเนวคิดนี้ถือว่าประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเป็นแหล่งบ่อเกิดความรู้ ซึ่งในมุมมองของกิจกรรมเเล้ว การเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราได้ลงมือทำจริงเเละมีประสบการณ์กับสิ่งนั้นๆ ให้เกิดผัสสะ(อายตนะ) กิจกรรมจะต้องได้เกิดกรสัมผัสผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น เเละกาย เช่น กิจกรรมที่ให้ฝึกลงมือทำทุกประเภท เป็นต้น
  • แนวคิดจิตนิยม(Idealism) นำโดย เรเน เดสต์การ์ด เเนวคิดนี้ถือว่ามนุษย์มีอำนาจเเละสามารถคิดสิ่งที่ลึกซิ้งได้ ซึ่งในมุมมองของกิจกรรมเเล้ว การเรียนรู้เกิดได้โดยการคิด ซึ่งตามปรัชญานี้มีกระบวนการ คือ การรับผ่านผัสสะ สู่การรู้ผ่านความรู้สึก สู่การคิดผ่านเหตุผล เเละการจำโดยจิต หมายถึง ความเข้าใจนั้นมันมีกระบวนการภายในของมัน ซึงในการจัดกิจกรรมเราต้องพยายามสร้างบันไดกระบวนการให้เกิดการรับ การรู้ การคิด เเละการจำ นั่นเอง

กล่าวโดยสรุป คือ ปรัชญาตะวันตกกับกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ ต้องยึดหลักการเรียนผ่านการลงมือทำ เอาเหตุผลเป็นตัวตั้ง มีความประจักษ์เเละมีขั้นบันไดการเรียนรู้นั่นเอง

๑.๒ ปรัชญาตะวันออกกับกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ (ปรัชญาตะวันออกเน้นจิตวิญญาณเเละนามธรรม)
ปรัชญาตะวันออก(Eastern Philosophy) ตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบันปรัชญาตะวันออกยังคมความเป็นสารัตถนิยมอยู่เสมอๆ เพราะบริบทต่างจากตะวันตก ฉะนั้นมุมุมองการศึกษาเเละการพัฒนาของตะวันออกจะเเตกต่างจากตะวันตก คือ ตะวันออกหาทางออกผ่านจิตวิญญาณส่วนตะวันตกหาผ่านออกผ่านวัตถุ ฉะนั้นความเจริญทางปัญญาของตะวันออกมิได้หมายถึงเพียงสมองมนุษย์เท่านั้นเเต่ยังหมายถึงความเจริญทางจิตอีกด้วย โดยจะอธิบายดังนี้

  • แนวคิดญาณตรรกะวิทยา (การผสมระหว่างญาณวิทยา-อภิปรัชญากับกับตรรกะวิทยา เช่น พุทธศาสนา)แนวคิดนี้รวมหลายๆแนวคิดเข้าไว้ด้วยกัน เช่น ญาณวิทยา ปฏิบัตินิยม ปัญญานิยม เเละเหตุผบนิยมเป็นต้น โดยแนวคิดนี้ประกอบด้วย ๒ รูปแบบ ได้แก่ ทฤษฎีแห่งความรู้ ว่าด้วยมนุษย์เรียนรู้โดยประสาทสัมผัส การคิด เเละการหยั่งรู้ภายใน ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ อภิปรัชญา ว่าด้วยหลักอริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท กฎแห่งกรรม สามัญลักษณะ เเละจริยศาสตร์ ซึ่งในมุมมองของกิจกรรมเเล้ว การเรียนรู้ต้องนำไปสู่การเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้งโดยการปฏิบัติด้วยประสาทสัมผัส กระบวนการทางปัญญา โดยมีขั้นตอนการเข้าใจ เช่น หลักอริยสัจเเละกฏแห่งกรรมเป็นต้น เช่น กิจกรรมเรียนรู้ผ่านกลุ่นบนฐานของสภาพปัญหา(PBL) หรือ กิจกรรมปฏิบัติการกลุ่่มเชิงนวัตกรรม หรือ กิจกรรมแนวจิตตปัญญา หรือ กิจกรรมการภาวนาแนวเซน เป็นต้น
  • แนวคิดปัญญาจริยะตะวันออก แนวคิดนี้ว่าด้วยการเรียนรู้ตามหลักครรลอง หลักศีลธรรม เเละหลักจริยศาสตร์ เช่น พุทธ เต๋า ขงจื้อ เป็นต้น ซึ่งเน้นสอนให้เด็กเป็นคนดี ซึ่งในมุมมองของกิจกรรมนั้น เราปรารถนาให้เด็กเติบโตไปเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ เเละหวังอยากให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำสิ่งที่ได้รับไปสร้างความดีเหล่านี้ต่อไป โดยจัดกิจกรรมเน้นศีลธรรมเเละจริยธรรมหรือมนุษย์ธรรมเพื่อประโยชน์ของมวลชน เช่น กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เเละกิจกรรมฝึกวินัย เป็นต้น ทั้งนี้เเนวคิดนี้เป็นประโยชน์นการสอนเด็กให้เป็นคนดีเเละสร้างคนดี เเต่ทว่าก็ไม่อาจยึดจนลืมเเนวทางปฏิบัตินิยมผ่านกระบวนการทางปัญญาได้เพราะทั้ง ๒ อย่างต้องควบคู่กัน ที่จะเคลื่อนไปสู่ความเจริญงอกงามของปัญญาตามยุคสมัย

๑.๓ ปรัชญาผสมผสาน (ปรัชญาเน้นทั้งรูปธรรมเเละนามธรรม)
ปรัชญาผสมผสานนี้ เป็นมุมมองที่ว่า เป็นเเนวคิดที่เหมือนกัน สามารถนำไปปรับประยุกต์กับกิจกรรมได้ ดังนี้

  • ความดี ความจริง เเละความงาม เป็นกระบวนทัศน์ใหม่แบบองค์รวม ที่รวมทั้งปรัชญาตะวันตกเเละตะวันออกเข้าไว้ด้วยกันอย่างเป็นดั่งกันเเละกัน แนวคิดนี้ว่าด้วยจุดหมายสูงสุดของกิจกรรมหรือการเรียนรู้นั้น ต้องเคลื่อนไปสู่ความดี(จริยศาสตร์) ความจริง(ตรรกศาสตร์) เเละความงาม(สุนทรียศาสตร์) โดยในมุมมองของกิจกรรมนั้นเราต้องมีจุดหมายตาม ๓ ประการในข้างต้น ให้เด็กเป็นคนดี มีทักษะค้นพบความจริงด้วยตนเอง เเละมีความสร้างสรรค์ นั่นเอง
  • สุนทรียศาสตร์(Aesthetics) ว่าด้วยความงาม คุณค่า เเละความหมาย มี ๒ หลัก ได้แก่ อัตวิสัย(ความงามไม่ขึ้นอยู่กับวัตถุ) เเละวัตถุวิสัย(ความงามขึ้นอยู่กับวัตถุ) โดยในมุมมองของกิจกรรมนั้น เราปรารถนาทรรศนะที่ว่าความงามที่เเท้ต้องไม่ยึดที่วัตถุ เช่น ความเป็นธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งเราใช้สุนทรียศาสตร์นี้กับกิจกรรมการเรียนรู้ ในการมองโลกอย่างเข้าใจ ฟังอย่างลึกซึง(สุนทรียสนทนา/ปัญญาสนทนา) เเละคิดอย่างใคร่ครวญนั่นเอง เช่น กิจกรรมจิตตปัญญาเป็นต้น
  • การเข้าใจตนเอง(Self awareness ) ทั้งปรัชญาตะวันออกเเละตะวันตก พยายามบอกว่าจุดสูงสุด คือ การเข้าถึงเเละเข้าใจตนเองภายใน ในมุมมองของกิจกรรม คือ การจัดกิจกรรมที่เอื้อต่อการให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจตนเองเเละผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง เช่น กิจกรรมฟังเสียงตัวเอง กิจกรรมสะท้อนบทเรียน/ถอดบทเรียน การจัดการความรู้ตนเอง การสะท้อนตนเองหรืออื่นๆ

กล่าวโดยสรุป คือ ทั้งปรัชญาของตะวันออกเเละตะวันตกมีความคล้ายคลึงกันมากในเชิงวิธีการ คือ เน้นปฏิบัติ ผ่านกระบวนการทางปัญญา เเละนำไปสู่ผล คือ ความดี ความจริง เเละความงาม ซึ่งจะขาดหลักใดหลักหนึ่งไปมิได้ นอกจากนี้ยังมีปรัชญาอีกจำนวนมาก เเต่ในบทความนี้ ขออธิบายถึงหลักสำคัญในต่อการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ไว้ในระดับเบื้องต้น ทั้งนี้นอกจากปรัชญาเเล้วยังมีหลักจิตวิทยาการจัดกิจกรรมอีกหลายเเนวความคิด ซึ่งจะอธิบายต่อไป

ปรัชญาในการจัดกิจกรรมสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ทั้งฝั่งตะวันออกเเละตะวันตกมิทิศทางเดียวกัน นั่นคือ การเน้นลงมือปฏิบัติ ผ่านกระบวนการทางปัญญา เเละนำไปสู่คุณค่าที่เเท้ของความจริง ความดี เเละความงาม โดยสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การทำกิจกรรมในศตวรรษที่ ๒๑ ทั้งหมด ทั้งนี้หลักจิตวิทยาก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากผู้ดำเนินกิจกรรมไม่เข้าใจหลักการดังกล่าวในเบื้องต้น อาจนำไปสู่ทิศทางที่ไม่สร้างสรรค์ได้ เพราะกระบวนทัศน์แบบองค์รวมเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามผลักดันการศึกษาในทุกด้านเพื่อไปให้ถึง

ในบทความนี้จะอธิบายว่าหลักจิตวิทยากับกิจกรรมสำคัญอย่างไรเเละมีวิธีการปรับใช้กับกิจกรรมอย่างไร ซึ่งอาจมีประโยชน์น้อยสำหรับผู้ทำกิจกรรมมามาก มีประสบการณ์มาก เเต่อาจเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนรู้ที่สนใจในหลักวิชาการ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ว่าจะเข้าใจผู้เข้าร่วมได้อย่างไร จะทำให้สนุก มีความสุขเเละสร้างสรรค์ได้อย่างไร นั่นเอง ทั้งนี้เป็นการตีความหลักจิตวิทยาเพื่อนำมาใช้กับกิจกรรมอย่างมีแบบแผนมากขึ้น

จิตวิทยา(Psychology) หมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องวิญญาณ เรื่องจิต เเละเรื่องพฤติกรรม ซึ่งในปัจจุบันเราเน้นพฤติกรรมมากกว่าเรื่องวิญญาณเเละเรื่องจิต ฉะนั้นเเล้วจิตวิทยาการจัดกิจกรรมจึงหมายถึง การศึกษาพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมเพื่อพัฒนากระบวนการที่นำไปสู่สภาวะแห่งปัญญา

ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันกับเรื่องปัญญาในข้างต้นจึงจะขออธิบายว่า ปัญญาในทางตะวันตกเเละตะวันออกต่างกัน โดยปัญญาในทางตะวันตก หมายถึง กระบวนการคิดโดยสมอง ส่วนปัญญาในทางตะวันออก หมายถึง กระบวนการคิดโดยสมองเเละการเข้าใจจิต-เข้าใจโลกอย่างลึกซึ้งอีกด้วย เเละคำว่าจิตนั้น ทางตะวันตก หมายถึง ความคิด ส่วนทางตะวันออก หมายถึง สภาวะที่เป็นนามธรรม นั่นเอง

๒.จิตวิทยากับกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ มีรายระเอียดดังนี้

๒.๑ ความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์หรือผู้เข้าร่วมกิจกรรม
ความเข้าใจพื้นฐานความเป็นมนุษย์มีความสำคัญอย่างมากต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้(เข้าใจทั้งสภาวะภายในเเละภายนอก) เพราะจะทำให้ผู้จัดจัดอย่างถูกทาง ให้สนุก มีความสุข เเละสร้างสรรค์ โดยในพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ควรเข้าใจ มีดังนี้

  • มนุษย์ทุกคนมีพัฒนาการที่จะเคลื่อนไปข้างหน้าเสมอ โดยอาจแยกเป็น ๕ ด้าน ได้แก่ สติปัญญา ร่างกาย จิตใจ-อารมณ์ สังคม เเละด้านคุณธรรม ฉะนั้นเเล้วจุดมุ่งหมายของกิจกรรมต้องไปตอบโจทย์พัฒนาการเหล่านั้นเจริญงอกงาม โดยอยู่ในทิศทางทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ นั่นเอง
  • มนุษย์ทุกคนล้วนแตกต่างกัน เพราะทุกคนมีความชอบ ความสนใจ เเละความถนัดต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น ทฤษฎีพหุปัญญา(Multiple Intelligence) บางคนชอบภาษา ชอบดนตรี ชอบกีฬา หรือ อื่นๆ เพราะพื้นฐานของมนุษย์เเตกต่างกัน ไม่มีกิจกรรมใด ใช้ได้ทุกพื้นที่เเละกับทุกคน ผู้จัดต้องประเมินว่าผู้เข้าร่วมเป็นอย่างไรจึงจะจัดกิจกรรมได้ถูกทาง
  • มนุษย์มีความต้องการพื้นฐานเเละพยายามเคลื่อนไปสู่ระดับสูงเสมอ เช่น ทฤษฎีลำดับความต้องการของมาสโลว์ ที่กล่าวว่ามนุษย์มีความต้องการทางร่างกาย ความปลอดภัย สังคม การยอมรับ เเละการเข้าใจตนเอง ทั้งนี้เมื่อเราขาดแคลนในสิ่งไหน เราจะต้องการสิ่งนั้น เช่น เมื่อเราขาดแคลนความรัก เราจะต้องการความรัก เป็นต้น โดยในกิจกรรมโดยส่วนมากผู้จัดต้องพยายามจัดกระบวนการเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น เช่น มีปัจจัย ๔ ครบ มีบรรยากาศของความไว้วางใจ มีเพื่อน มีการชื่นชมเเละมีการสะท้อนผลตนเองให้เห็นคุณค่าภายในตน สิ่งเหล่านี้จะทำให้สมองอยู่ในโหมดปกติเเล้วสามารถเปิดใจรับรู้ได้มากที่สุด
  • ความเป็นมนุษย์มีทั้งภายในเเละภายนอก ภายในคือจิต(ความคิด,สภาวะนามธรรม) เเละภายนอก(พฤติกรรม) โดยในมุมมองของผู้จัดเราควร จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางจิตเเละพัฒนาการทางพฤติกรรม ในทางตะวันตกเรื่องพัฒนาการทางจิต ซิกมันต์ ฟรอยด์ อธิบายว่า ต้องยกระดับจากจิตไร้สำนึกมาสู่จิตสำนึกเเละจากอิ(Id) ไปยังซุปเปอร์อีโก้(Super ego) ส่วนการพัฒนาพฤติกรรมนั้น จอห์น บี วัตสัน อธิบายว่า ต้องพัฒนาขึ้นผ่านกลไกเงื่อนไข เป็นส่วน เเละในทางตะวันออกเรื่องพัฒนาการทางจิตนั้น พุทธเจ้าทรงตรัสมานานเเล้วว่า ต้องนำไปสู่ความรู้ ตื่น เเละเบิกบาน จากดำเปลี่ยนเป็นขาว ส่วนการพัฒนาพฤติกรรมนั้นเราพยายามสร้างคนดี ตามเเนวคิดปัญญาจริยะตะวันออก นั่นเอง
    โดยเมื่อมองผ่านกิจกรรมนั้น ภายในเราต้องยกระดับทางสติปัญญา(กระบวนการคิด)เเละจิตใจของเด็กให้สูงขึ้นพร้อมคุณธรรม เเละภายนอกเราต้องให้กิจกรรมเป็นเเรงจูงใจหรือแรงขับ ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาในเวลาต่อมา
  • การเรียนรู้ของมนุษย์ต้องเน้นปฏิบัติจริง จึงจะเกิดการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นไปในทางที่ดี ในทางพุทธ คือ การปฏิบัติ(ลงมือทำ) ปริยัติ(เรียนรู้เนื้อหา) จึงจะนำไปสู่ปฏิเวธ(ปัญญา) ได้นั่นเอง ซึ่งในกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้เชิงสังคมนั้น เราปรารถนาการเปลี่ยนแปลงตนเองเเละเปลี่ยนแปลงสังคมไปด้วยกันอย่างองค์รวม

๒.๒การออกแบบกิจกรรมหรือกระบวนการเรียนรู้ตามจิตวิทยาการเรียนรู้

  • ความเข้าใจถึงพื้นฐานของมนุษย์ว่ามนุษย์ว่าทุกคนพยายามทำให้ตนเองเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ พร้อมจะเคลื่อนไปข้างหน้า ทุกคนมีความเเตกต่างกัน มีความต้องการ มีทั้งภายในเเละภายนอกเเละพยายามเคลื่อนไปจากความไม่รู้ไปสู่ความรู้อยู่เสมอ เด็กเเละผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็เช่นเดียวกัน เมื่อมาเข้าร่วมกิจกรรมเขาย่อมปรารถนาต้องการความรู้หรือปรัสบการณ์อย่างบางอย่างกลับไปเสริมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของตนเอง โดยในกิจกรรมนั้น เราควรให้เขาเห็นความสำคัญ คุณค่าเเละจุดประสงค์ของกิจกรรมที่ชัดเจน เเล้วเมื่อจบกระบวนการผู้ดำเนินกิจกรรมควรสรุปหรือถอดบทเรียนให้ผู้เข้าร่วมได้รับในจุดประสงค์นั้นเชิงประจักษ์
  • ในการออกแบบกระบวนการในกิจกรรมควร มีเงื่อนไขที่สามารถดึงใจผู้เข้าร่วมให้สนุก สุข เเละสร้างสรรค์ได้ จอห์น บี วัตสัน อธิบายว่า สิ่งเร้าบางอย่างก่อให้เกิดเงื่อนไขการเรียนรู้ เเละบางอย่างไม่ก่อให้เกิดเงื่อนไขในการเรียนรู้ ในมุมมองกิจกรรม คือ เราต้องสร้างเงื่อนไขที่มันก่อให้เกิดความสนุก สุข เเละสร้างสรรค์ เช่น ใช้กติกาค่าย ใช้สันทนาการเพื่อเร่งเร้าความสนใจ ในเพลงในการจัดบรรยากาศให้ไม่เครียดจนเกินไป ใช้กติกาของเกมที่้ท้าทาย ไม่ยากเเละไม่ง่ายจนเกินไป ทั้งนี้ความยากง่ายของเงื่อนไขขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้เข้าร่วมเเละอายุด้วย
  • ในการออกแบบควรมีจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ หลักคุณธรรม หรือกระบวนทัศน์แบบองค์รวม เช่น การตั้งจุดประสงค์ของกิจกรรมว่าเอาทักษะเป็นตัวตั้งหรือคุณธรรมเป็นตัวตั้ง เป็นต้น ส่วนวิธีการวัดนั้นอาจวัดคุณภาพ คือ ให้สะท้อนผลตนเองเเละผลสะท้อนจากเพื่อน
  • กิจกรรมต่างๆควรออกแบบตามหลักสมอง๓ชั้นปัญญา๓ฐาน ซึ่งสำหรับเด็กควรออกแบบให้เอาฐานกายเป็นต้วตั้งเพราะเด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ลุย สำหรับวัยรุ่นให้เอาฐานกายเเละฐานคิดเป็นตัวตั้งเพราะวัยรุ่นต้องเสริมทักษะทางการคิดเเละการลุยจะทำให้สนุก ไม่น่าเบื่อ เเละสำหรับผู้ใหญ่ให้เอาฐานใจเเละฐานคิดเป็นตัวตั้งเพราะวัยผู้ใหญ่ต้องใช้หัวใจในการมองโลกเเละใช้ความคิดในการแยบคายเพื่อพัฒนาเด็กต่อไปนั่นเอง
  • เน้นผลลัพธ์ปลายเปิด กล่าวคือ ต้องพยายามสร้างบรรยากาศอิสรภาพให้เกิดขึ้นมากที่สุด นั่น คือ ไม่มีผิดเเละถูก เพื่อจะสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางจากลงมือทำจริง(Tacit knowledge) บรูเนอร์ อธิบายว่า การเรียนรู้ต้องสร้างการค้นพบ(Discovery learning) ผ่านการลงมือทำนั่นเอง ในมุมมองกิจกรรม คือ การพยายามจัดการความรู้เพื่อนำไปสู่การค้นพบใหม่นั่นเอง
  • ลำดับท้ายๆของกิจกรรมเมื่อมีการรับเข้า(Input) ในช่วงแรกๆ ต้องมีการจัดการออก(Output) นอกจากนี้ต้องสะท้อนผล(Reflection) อยู่เสมอ เพื่อฝึกให้เกิดทักษะทางการคิดเเละความเจริญงอกงามของปัญญาสังคมนั่นเอง เเละผู้ดำเนินกิจกรรมต้องเป็นครูฝึก(Coach) ใช้คำถามหรือให้โจทย์เพื่อกระตุ้นการคิด อาจใช้คำถามในเกมหรือในกิจกรรมกลุ่มสุดเเท้เเล้วเเต่จะออกแบบ
  • 5W1H คือ ออกแบบให้ใคร(ต้องดูหลักพัฒนาการในเเต่ละช่วงวัยหรือทฤษฎีสมอง๓ชั้น เป็นต้น) ให้กิจกรรมอะไร(ต้องดูหลักทฤษฎีการเรียนรู้) จัดอยู่ที่ไหน-จัดเวลาไหน(ต้องดูหลักการจัดบรรยากาศการเรียนรู้) เเละดำเนินกิจกรรมอย่างไรผ(ต้องใช้ทฤษฎีทั้งหมดและประสบการณ์ตรง) ซึ่งหากเรายึดหลักการไปหมด กิจกรรมคงไม่สนุกเลยทีเดียว เพราะพื้นที่จริงมันไม่ได้สำเร็จรูปเหมือนในความคิดที่เราออกเเบบ เเต่ทว่าเราควรรู้ในเเนวคิดสำคัญๆเพื่อนำไปสู่ ๓ส. ดังที่กล่าวมาในข้างต้น เท่านั้นก็ถือว่าสำเร็จเเล้ว

๒.๓การดำเนินกิจกรรมหรือดำเนินกระบวนการเรียนรู้ตามจิตวิทยาการเรียนรู้

  • ก่อนจะเข้าสู่กิจกรรมเนื้อหาควรเป็นกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียนก่อน เช่น กิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมกลุ่ม การร้องเพลง หรืออื่นๆ ให้สนุก บรรยากาศน่าเรียนรู้ ตามหลัก Law of Readiness อธิบายว่า ต้องให้เกิดความพร้อมก่อนถึงจะเรียนรู้ได้นั่นเอง หรือ รูดอฟ สไตส์เนอร์ อธิบายว่า ต้องปรับสมองให้อยู่ในโหมดปกติ นั่น คือ ความกล้า ความสบายใจเเละคิดบวก นั่นเอง
  • การเข้าสู่กระบวนการ วัตสัน อธิบายว่า ควรมีเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ในทางกิจกรรม เช่น กติกาที่น่าสนใจเเละเรื่องที่ท้าทายต่อความสามารถ เพียเจต์ อธิบายว่า ต้องผ่านประสาทสัมผัสเเละกระบวนการคิด ในทางกิจกรรม คือ การเน้นให้ลงมือทำเเละฝึกคิดไปด้วย ทำไปคิดไป จึงจะเกิดปัญญาจากการปฏิบัติ เช่น กิจกรรมลุยฐาน กิจกรรมกลุ่มทำโจทย์ร่วมกัน หรือ กิจกรรมชมรมเน้นปฏิบัติ เป็นต้น
  • บรรยากาศในการดำเนินกิจกรรมควรเป้นบรรยาการที่อิสระเเละไหล(Flow) มากกว่าบรรยากาศแบบปิด(Fit) เพราะบรรยากาศแบบโฟลว์ ความคิดความสนุก ความสุข เเละความสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ โดย Loucks-Horsley อธิบายว่า บรรยากาศการเรียนรู้ต้องสนับสนุนความต้องการส่วนบุคคล เรียนรู้ผ่านสังคมการเรียนรู้ กระตุ้นทักษะ ๒๑ ICT Team work เเละสื่ออนไลน์ ในมุมมองของกิจกรรม คือ บรรยกาศต้องเป็นบรรยากาศแห่งการเติมส่วนที่ขาดให้เต็มนั่นเอง โดยใช้เเง่บวกเป็นตัวตั้ง ให้เกิด ๓ส.
  • กิจกรรมหรือกระบวนการที่เป็นเนื้อหา ไม่ว่าจะจัดแบบเดี่ยว คู่ หรือกลุ่ม ควรนำมาซึ่งการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง(Constructivism) เน้นการฝึกคิดจากการลงมือทำ เพราะเราปรารถนาปัญญาให้งอกงาม กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ กิจกรรมการละคร กิจกรรมเล่านิทาน กิจกรรมทำโปรเจค เป็นต้น

๒.๔ กิจสรุปกิจกรรมหรือสรุปกระบวนการเรียนรู้ตามจิตวิทยาการเรียนรู้

  • การสรุปผลต้องนำมาซึ่งการสร้างองค์ความรู้ใหม่จากการลงมือทำ โดยในกิจกรรมเราใช้การถอดบทเรียน(AAR:After action review) เช่น การทำแบบประเมินตนเอง การเขียนเรื่องเล่าสะท้อนบทเรียน การทำละครสื่อสาร การตั้งวงคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้น
  • การสรุปผลต้องตอบโจทย์จุดประสงค์กิจกรรมเเละความคาดหวังของผู้เข้าร่วม เพราะต้องตั้งพัฒนาอยู่อยู่บนฐานของความต้องการ นั่นเอง
  • การสรุปผลต้องเชื่อมโยงไปสู่กระบวนทัศน์แบบองค์รวม กล่าวคือ ให้เห็นหลายๆมิติเเละเชื่อมโยงจากความถูก-ผิด มาเป็นความรู้ เเละเชื่อมโยงจากความรู้มาเป็นความจริง "จิตวิญญาณต้องพัฒนาไปที่สูงเสมอ"
  • ต้องสรุปแบบปลายเปิด ให้ผู้เข้าร่วมนำไปคิดต่อเเละสามารถนำไปพัฒนาตามแบบของตนเองได้ ตามโมเดล R and R : Review and Review นั่นเอง

กล่าวโดยสรุป คือ จิตวิทยาการเรียนรู้มีความสำคัญมากต่อการจัดกิจกรรม เพราะจะได้จัดสภาวะหรือรูปแบบตรงกับความต้องการของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ก่อนการจัดกิจกรรมใดๆต้องเข้าใจความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ว่ามนุษย์ทุกคนมีพัฒนาการที่จะเคลื่อนไปข้างหน้าเสมอ ทุกคนล้วนแตกต่างกัน มนุษย์มีความต้องการพื้นฐานเเละพยายามเคลื่อนไปสู่ระดับสูงเสมอ ความเป็นมนุษย์มีทั้งภายในเเละภายนอก และการเรียนรู้ของมนุษย์ต้องเน้นปฏิบัติจริง สิ่งเหล่านี้เป็นโลกทัศน์ที่สำคัญที่สุดของผู้นำกิจกรรม ที่จะจัดกิจกรรมสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ได้ เพราะเราปราถนากระบวนทัศน์แบบองค์รวม เเละเราปราถนาการพัฒนาของปัญญา "จากปัญญาธรรมดา(Thinks-Fact)ให้ข้ามพ้นสู่ปัญญาที่เเท้(Reality-Wisdom)"


ธีระวุฒิ ศรีมังคละ
๔ ธ.ค.๒๕๕๙



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท