"การเป็นครูที่ดี มันเป็นจิตใต้สำนึกของตนเอง โดยไม่มีใครมาบอกว่า ต้องทำอย่างไร" ... (แบบบันทึกการศึกษาสังเกตฯ จากนักศึกษาครูคนหนึ่ง)


รายวิชา "การศึกษาสังเกตและการมีส่วนร่วมในสถานศึกษา" กลายเป็นวิชาที่สอนประจำในระยะหลัง
เป็นวิชาปฏิบัติการวิชาชีพครูที่ต้องส่งนักศึกษาครูออกไปโรงเรียน จำนวน ๑ สัปดาห์
นักศึกษาครูที่เรียนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๓ ของทุกเอก

งานหนึ่งที่ผมเพิ่มให้เขาไปจาก Course Syllabus ของคณะฯ ก็คือ "การเขียนบันทึก ๕ วัน"

นักศึกษาวิชาเอกเคมีคนหนึ่งบันทึกเอาไว้ในวันสุดท้าย (๑๘ พ.ย.๕๙) ของการศึกษาสังเกตได้น่าสนใจ


"๔ วันที่ผ่านมาช่างเป็นเวลาที่รวดเร็ว วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการสังเกตการสอน ดิฉันรู้สึกใจหายมาก
อยากจะอยู่ที่โรงเรียนแม่แตงต่อ เพราะที่นี่มีแต่ความทรงจำที่ดี คุณครูทุกท่านใจดีและให้คำปรึกษาเสมอ
เด็กนักเรียนก็น่ารัก

ในวันนี้ดิฉันก็มายืนเป็นครูเวรหน้าโรงเรียนเป็นวันสุดท้ายแล้ว มีความสุขมากที่ได้เห็นรอยยิ้มของเด็ก ๆ
พวกเขายังมีความน่ารักและสดใสเสมอ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้

ตลอดเวลาที่ผ่านมา โรงเรียนแห่งนี้ได้มอบอะไรให้หลายอย่างตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนอยู่จนถึงปัจจุบัน
ที่ได้อยู่ในสถานะในการเป็นนักศึกษาวิชาชีพครู

ดิฉันก็ยังรักโรงเรียนแห่งนี้เหมือนบ้านหลังที่สอง คิดไม่ผิดเลยที่ได้เลือกเรียนครูเพราะอยากจะกลับมาเป็นครู
ที่โรงเรียนเดิม ถึงแม้จะเป็นโรงเรียนที่อยู่ชนบทแต่ก็อบอุ่น

ตอนที่ยังไม่ได้มาสังเกตการสอนไม่คิดว่า ตัวเองอยากเป็นครูมากขนาดนี้ ยังไม่แน่ใจว่าจะทำหน้าที่นี้ได้ดีหรือไม่
แต่เมื่อมีโอกาสได้ลองทำ ก็ทำให้รู้ว่าตนเองก็ทำได้และทำได้ค่อนข้างดี และมีความสุขกับงานที่ทำ

ขอบคุณ อาจารย์ (... ผมเอง ...) มากนะคะ ที่คอยแนะนำ คอยตรวจเครื่องแต่งกาย การวางตัว การเป็นครูที่ดี
เพราะสิ่งที่อาจารย์สอนในห้องเรียนนั้นเป็นความจริง

เราไม่รู้เลยว่า การมาโรงเรียนจะต้องเจออะไรบ้าง การได้มาทดลองเป็นครูแตกต่างจากการเป้นผู้เรียนโดยสิ้นเชิง
เพราะสมัยดิฉันเป็นเด็กเป็นนักเรียน ก็แค่เอาตัวเองให้รอด ไม่ต้องรับผิดชอบคนอื่น ต่างคนต่างเรียน
แต่งกายไม่ถูกระเบียบบ้าง ทำอะไรตามใจตนเอง หรือมีการมาเรียนสายบ้าง

แต่พอได้มาลองเป็นครู ความรับผิดชอบมันเปลี่ยนไป เราจะเป็นครูนะ เราไม่ใช่แค่มาสอน ๆ หน้าห้อง
แล้วเดินออกไปก็จบกัน แต่เราต้องรับผิดชอบชีวิตลูกคนอื่นด้วย ทำให้รู้ว่าเลยว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ
เพราะอะไร มันเป็นจิตใต้สำนึกของตนเองโดยไม่มีใครมาบอกว่า ต้องทำอย่างไร

ขอบคุณอาจารย์มากนะคะ ดิฉันคิดว่า การจะเป็นครูได้นั้นว่ายากแล้ว แต่การจะเป็นครูที่ดีได้นั้นยากยิ่งกว่า
เพราะครูไม่ใช่มีหน้าที่แค่สอนเนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของพวกเขาในทุก ๆ ด้า่น
ทั้งคำพูด การกระทำ การแต่งกาย เพราะเด็กก็คือเด็ก แน่นอนว่าหากเขามีตัวอย่างที่ไม่ดี เขาก็จะทำตามแบบที่ได้เห็น

ตลอดระยะเวลา ๑ สัปดาห์นี้อาจจะเหนื่อยบ้าง แต่เป็นความเหนื่อยที่มีความสุขจริง ๆ คุ้มกับการได้เรียนครูมา
เพราะประสบการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้เรารู้จุดเด่น จุดบกพร่องของตนเอง

ภาพวันแรกที่ได้สอนนักเรียนรุ่นแรกในชีวิตของดิฉันจะจำไปตลอด"



เป็นบันทึกทีน่าจดจำ
เป็นการสอนที่ประสบความสำเร็จ
เป็นความรู้สึกที่น่าภาคภูมิใจ


แล้วเขาหรือเธอ ก็ได้มีลูกศิษย์รุ่นแรกในชีวิตแล้ว
ไม่ว่าอนาคตเขาหรือเธอผู้นั้นจะได้มีโอกาสเป็นครูหรือไม่

ทุกอย่างบรรลุวัตถุประสงค์ลึก ๆ ของตัวเอง
ถึงแม้จะมีวิธีการสอนแตกต่างจากฐานคิดในคณะ
แต่ผมก็รู้สึกพอใจแล้ว จะสามารถสร้างครูที่ดีมาได้อีกคนหนึ่ง

ขอบันทึกเอาไว้ ณ ที่นี้

บุญรักษา ทุกท่าน ;)...


หมายเลขบันทึก: 619613เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2016 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ธันวาคม 2016 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นบันทึกความทรงจำที่งดงามมากค่ะอาจารย์

ขอบคุณมากครับ คุณครู tuknarak ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท