ผีเสื้อเณร กับ แคขาว อีกบทบาทของความงามจากธรรมชาติ


ผีเสื้อเณร กับ แคขาว อีกบทบาทของความงามจากธรรมชาติ


ในช่วงเวลาที่ไม่ต้องเร่งรีบในการจัดการภาพถ่าย หรือไม่ต้องรีบตบแต่งภาพอะไร (พูดเหมือนประชดตัวเองนิดๆ) ลุงชาติมักจะใช้ชีวิตประจำวันอย่างง่ายๆ ออกกำลังกายด้วยการปลูกต้นไม้บ้าง รดน้ำพรวนดินบ้าง


ช่วงนี้ก็ได้เพาะต้นแคไว้ ต้นนึง ตอนนี้ต้นสูงประมาณ 1 ฟุต ออกดอกมาแล้ว กะว่าจะตัดยอด ให้แตกกิ่งก้านออกมาซะหน่อย ยกอุปกรณ์ทำสวนออกมา จัดแจงเอาคีมตัดกิ่งไม้ออกมา.....





ตั้งใจจะตัดยอดแค ปรากฏว่า มีไข่สีขาว รูปวงรีติดอยู่ที่ใบแคนับได้เป็นสิบฟอง นี่เป็นไข่สดๆของวันนี้เลย เพราะเมื่อวานตอนใกล้ค่ำมาดูต้นแคไว้แล้วยังไม่เจอไข่

ช่วงที่ไข่ยังไม่ฟัก ยังไม่มีอะไรตื่นเต้น จึงไปค้นหาสาระของแคขาว พบว่า แคขาวมีประโยชน์หลายอย่าง ยอดอ่อนและใบอ่อนสามารถนำมาปรุงอาหารได้ เป็นสมุนไพรช่วยดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ดอกใช้เป็นอาหาร แก้ไข้หัวลม และช่วยบำรุงอาหาร ฝักอ่อนใช้เป้นอาหารได้





ส่วนที่นำมารับประทานได้ของแค คือ ยอดอ่อน ฝักอ่อนออกในช่วงฤดูฝน ใบอ่อนมีรสหวาน ดอกอ่อนออกในช่วงฤดูหนาว ดอกแคมีเส้นใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก แคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง และวิตามินซี ก่อนนำไปทำอาหารต้องดึงเอาเกสรออกก่อนเพื่อลดความขม ส่วนที่รับประทานได้ของแคสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกงส้มดอกแค แกงเหลืองปลากระพงดอกแค ดอก ใบ ยอด ฝักอ่อน ของแคนำมาลวกจิ้มน้ำพริกได้ ล้วนเป็นอาหารที่มีคุณค่าให้ประโยชน์ทั้งสิ้น

ภาพนี้ไข่มีอายุสองวัน ไข่บางฟองถูกยึดแปะไว้ใต้ใบ บางฟองอยู่ด้านบนของใบ บางฟองก็ยึดติดอยู่กับยอดแค





เมื่อไข่มีอายุสามวัน หนอนตัวจิ๋วก็ออกมาจากไข่ เล็กมาก ลำตัวสีเหลืองอ่อนๆ ตัวยาวไม่เกิน 2 มิลลิเมตร และในวันนี้ ก็ได้เห็นเจ้าผีเสื้อมาวางไข่อีกชุดหนึ่ง ทำให้รู้ได้ทันที่ว่า ไข่ชุดแรก เป็นไข่ของตัวอะไร เพราะมีลักษณะและสีสันเหมือนกันทุกประการ





หนอนมีอายุได้สองวัน ตัวยาวขึ้นอีกนิด สีของลำตัวยังเป็นสีเหลือง แต่ก็มีสีเข้มขึ้นมาทางเขียวบ้างอีกเล็กน้อย ยังคงสังเกตุยากอยู่ ยิ่งเจ้าหนอนตัวที่อยู่ตรงยอดแค ยิ่งสังเกตยาก ลำตัวมันกลืนไปกับยอดอ่อนของใบแคเลย ที่ใกล้กับหนอน ก็ได้เห็นแมลงตัวเล็กกับลูกๆอีกสามสี่ตัวหากินอยู่ใกล้ๆกัน ถ้าไม่ได้ถ่ายแบบมาโคร ซึ่งใช้กำลังขยายสูงๆ คงไม่เห็นแมลงตัวเล็กๆเหล่านี้ ทำให้นึกถึงการกินผักสดตามร้านอาหาร ถ้าก่อนขาย แม่ค้าหรือลูกมือล้างผักไม่ดี เราอาจได้กินแมลงที่เล็กจิ๋วพวกนี้เป็นของแถมบ้างก็เป็นได้





หนอนมีอายุสามวัน เริ่มมีสีเขียวมากขึ้น ตัวยาวขึ้นอีก ตอนนี้ตัวหนอนยาวเกือบๆ1 เซ็นติเมตรแล้ว กินเก่ง กัดกินใบแคตลอดเวลา และเมื่อหนอนชุดนี้มีอายุได้ 4 วัน หนอนอีกชุดหนึ่งก็ได้ออกมาจากไข่อีกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พืชอาหารของหนอนผีเสื้อเณร มีหลายชนิดที่หนอนใช้เป็นอาหาร เช่นต้นชุมเห็ดเทศ ต้นแสมสาร (ขี้เหล็กป่า) ต้นคูน และต้นแคบ้าน





หนอนผีเสื้อกัดกินใบแคมาเรื่อยๆทุกวัน หนอนเจริญเติบโตขึ้นตามวัยตามปริมาณอาหารที่กินเข้าไปสะสม ตอนอายุสี่วัน ตัวยาวประมาณ 1.2 ซม. อายุห้าวัน ตัวมันก็ยาวขึ้นอีก เฉลี่ยตัวยาวประมาณ 1.5 ซม.ขึ้นไป วันนี้หนอนผีเสื้อมีอายุได้หกวัน ตัวมันยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กัดกินใบแค ก้านละสองตัวบ้าง สามตัวบ้าง ก้านนี้เจอไปสี่ตัว ใบแคเกือบหมดก้านแล้ว เมื่อกินใบหมด หนอนก็จะย้ายไปหาก้านใหม่





วันนี้หนอนผีเสื้อมีอายุ 7 วัน ใบแคเริ่มร่อยหรอ หมดลงไปเรื่อยๆ กิ่งก้านเริ่มเฉา แต่หนอนเติบโตขึ้น ตอนนี้ตัวยาว สองเซ็นต์กว่าแล้ว กิ่งนี้โดนรุมซะแปดตัว ในขณะที่หนอนชุดที่สองก็เริ่มกินเก่งขึ้นทุกวัน ต้นแคที่สูงแค่ฟุตเดียว มีใบไม่มากนัก อาจไม่พอให้หนอนกินซะแล้ว





แล้วในตอนดึกๆ เวลา 23.00 น.ห้าทุ่มนั่นแหละ หนอนผีเสื้อชุดแรก ก็เริ่มทยอยเข้าดักแด้ ตอนนี้บางตัวเริ่มคลานหาทำเลเหมาะที่จะเข้าดักแด้ บางตัวก็คายเส้นใยออกมายึดตัวเองแล้ว สังเกตดีๆ จะพบว่า ตอนเข้าดักแด้นี้ ลำตัวของหนอนหดสั้นลงอีกนิดหน่อย ในคืนนี้มีหนอนหลายตัวที่เข้าระยะดักแด้ ผมติดตามถ่ายต่อเนื่องได้ไม่ตลอด เพราะตอนเช้า ยังมีงานอื่นที่ต้องรับผิดชอบอีก ก็พยายามถ่ายมาเท่าที่จะทำได้





ในคืนต่อๆมา ก็ยังมีหนอนทยอยเข้าสู่ระยะดักแด้ตามกันมาอีก บางคืนก็มีเพียงตัวสองตัวเท่านั้น บางคืนก็มีสี่ – ห้าตัว ที่เข้าดักแด้ตามๆกันไป บางตัวก็ยังคลานหาทำเลที่ถูกใจ เพื่อเลือกที่จะชักใยเข้าดักแด้





ในช่วงเวลาที่หนอนเข้าระยะดักแด้นี้ หนอนจะใช้เวลาตั้งแต่เริ่มคายเส้นใยออกมายึดติดตัวมันเองกับต้นไม้ และใช้เวลาเปลี่ยนแปลงร่างกายตัวเองจากรูปร่างกลมๆยาวๆของหนอน จนกลายมาเป็นดักแด้ที่มีรูปร่างของโครงปีกห่อหุ้ม กินระยะเวลาถึงหนึ่งวันเต็มๆทีเดียว เรียกว่าคนที่จะถ่ายภาพพัฒนาการของมัน ต้องกิน นอน เฝ้า อยู่ตรงนั้นทั้งกลางวันและกลางคืน





หนอนชุดแรกต่างทยอยพากันเข้าระยะดักแด้จนร่างกายนิ่งสนิท ในขณะที่หนอนชุดที่สอง ยังคงหากินใบแคกันอยู่ ใบแคร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ หนอนชุดหลังนี้ก็ยังไตไม่สมบูรณ์เต็มที่ ยังต้องกินสะสมพลังงานต่อไป





จนในที่สุด หนอนชุดแรกก็พากันเป็นดักแด้ไปจนครบหมดทุกตัวแล้ว เหลือเพียงหนอนชุดหลัง ที่ยังคงต้องกินเพื่อสะสมพลังงานอยู่ ใบแคได้ถูกหนอนกินจนหมดต้นแล้ว ลุงชาติต้องไปเดินในตลาดสด หาซื้อใบแค ยอดแค แต่หาซื้อไม่ได้ ได้มาเพียงดอกแคเท่านั้น เอาดอกแคมาให้หนอนกินแทนใบ หนอนก็จำต้องเปลี่ยนไปกินดอกแคแทน แต่ดูท่าทางหนอนจะชอบกินใบแคมากกว่านะ และดูเหมือนหนอนบางตัวไม่กินดอกแคเลย มันยังเลือกที่จะคลานหาไปเรื่อยๆ





หนอนตัวที่ไม่ชอบกินดอกแค มันเลือกที่จะกัดกินก้านของใบแคแทน ส่วนพวกที่กินดอกแคได้ มันก็กินดอกแคแทนใบแคกันไป เนื่องจากอาหารหลักคือใบแคหมดต้น หนอนชุดหลังนี้จึงเข้าระยะดักแด้ช้ากว่าหนอนชุดแรก เพราะมันยังกินอาหารสะสมพลังงานยังไม่พอ ในขณะที่ ดักแด้ของหนอนผีเสื้อชุดแรกเริ่มมีอายุมากขึ้น สีของดักแด้เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว





หนอนผีเสื้อชุดที่สองกินดอกแคบ้าง กินก้านใบแคบ้าง เมื่อสะสมพลังงานได้มากพอ คืนนี้เหล่าหนอนผีเสื้อชุดนี้ก็เริ่มทะยอยเข้าสู่ระยะดักแด้กันแล้ว





หนอนผีเสื้อชุดแรก เข้าดักแด้มา 6 วัน ผีเสื้อตัวแรกก็ได้เวลาออกมาจากดักแด้ มันออกมาจากโครงดักแด้ในตอนดึกตอนตีสองกว่าๆ เตรียมตัวถ่ายไม่ทันเลย แต่ก็ยังโชคดีที่ได้ภาพตอนที่ออกมาแล้วยังเกาะอยู่ที่คราบดักแด้ ส่วนปีกนั้นขยายออกจนเรียบตรงแล้ว เป็นผีเสื้อเณรธรรมดา ลำตัวเล็กสีเหลืองประดำ ปีกบนมีพื้นปีกสีเหลือง ขอบปีกสีดำ บริเวณขอบปีกของปีกคู่หน้าหยักเว้า ปีกล่าง พื้นปีกสีเหลืองเช่นกัน แต่มีจุดน้ำตาลเข้มเล็กๆ เมื่อกางปีกจะกว้าง 4-5 เซนติเมตร เวลาเกาะนิ่งๆจะหุบปีกขึ้น ผมถ่ายต่ออีกสองสามภาพ ก็ปล่อยให้ผีเสื้อเกาะรอเวลาต่อไป ส่วนผมของีบสักพัก





แล้วผมตั้งนาฬิกาปลุก อีก 1 ชม. พอตื่นขึ้นมา ผีเสื้อเณรตัวที่สองก็ออกมาจากดักแด้ซะก่อนแล้ว ก็เลยถ่ายตอนเริ่มออกจากดักแด้ไม่ทัน





คืนนี้คงมีผีเสื้อที่จะออกจากดักแด้เพียงแค่สองตัวนี้เท่านั้น ผืเสื้อได้บินย้ายที่ไปเกาะอยู่นิ่งๆ เพื่อรอให้เช้า มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ส่องมา ผีเสื้อเณรเป็นผีเสื้อที่หากินตอนกลางวัน มีแสงสว่างแล้วมันก็คงจะได้เริ่มต้นชีวิตในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากตอนเป็นหนอน เราจะพบผีเสื้อชนิดนี้ได้บ่อยตามป่าโปร่ง สวนสาธารณะ ที่ราบ ชอบหากินตามพุ่มดอกไม้ เพศผู้ชอบลงกินน้ำและเกลือแร่ตามพื้นที่ชื้นแฉะ





ในคืนต่อๆมา บรรดาผีเสื้อเณรก็ค่อยๆทะยอยพากันออกมาจากดักแด้ ในบางครั้ง บางจังหวะ มีผีเสื้อออกจากดักแด้พร้อมๆกัน บางทีก็เกิดอาการรักพี่เสียดายน้องเลือกมุมลำบากเหมือนกัน





ในแต่ละคืนจะมีผีเสื้อทยอยออกมาจากดักแด้เรื่อยๆ ในบางจังหวะ ก็ออกมาทีละตัว ในบางจังหวะก็พากันออกมาพร้อมหรือเกือบจะพร้อมๆกันครั้งละหลายตัว





จังหวะในวินาทีแรกที่ผีเสื้อเริ่มออกมาจากดักแด้ ภาพทางด้านขวาล่าง เป็นภาพที่ถ่ายใกล้เข้าไปอีกนิดในมุมเฉียงด้านหน้า ขยายให้เห็นว่า ผีเสื้อจะเอาส่วนหัวออกมาจากคราบดักแด้ก่อน แล้วจึงค่อยๆเคลื่อนค่อยๆคลานให้ลำตัวพ้นออกมาจากคราบดักแด้ ตอนที่หลุดออกมาจากคราบดักแด้ใหม่ ปีกของผีเสื้อยังยับยู่ยี่อยู่ ต้องออกมาเกาะนิ่งๆอยู่สักพัก ให้ร่างกายสูบฉีด ปีกจึงค่อยๆขยายใหญ่และเหยียดตรง





เมื่อออกมาจากคราบดักแด้ ผีเสื้อจะเกาะอยู่นิ่งๆเพื่อให้ร่างกายได้สูบฉีด จนปีกได้ขยายใหญ่ขึ้น บางครั้งก็จะขับถ่ายของเสียออกมา เป็นของเหลว เพราะในขณะที่เข้าระยะดักแด้นั้น ผีเสื้อจะไม่ได้ขับถ่ายของเสียเลย ผืเสื้อจะเลือกไปเกาะอยู่นิ่งๆตามที่ที่มันเห็นว่าปลอดภัย เพื่อรอให้เช้า มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ส่องมา แล้วผีเสื้อเณรเหล่านี้ก็จะได้ใช้ชีวิตของมันในระบบนิเวศน์ที่แตกต่างจากตอนเป็นตัวหนอนต่อไป





ผีเสื้อเณรออกมาหากิน ใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติอยู่ในระบบนิเวศน์ได้สักระยะหนึ่ง ก็ถึงวัยเจริญพันธุ์ ผีเสื้อก็จะจับคู่ ผสมพันธุ์กัน หลังจากที่ผสมพันธุ์กันเสร็จแล้ว ตัวผู้ก็จะตายจากไป ส่วนตัวเมียยังมีชีวิตอยู่ เพื่อรอให้เชื้อเจริญเติบโต และเมื่อถึงเวลา ตัวเมียก็จะวางไข่ไว้ที่ใบไม้ที่จะให้ลูก(หนอน)กินเป็นอาหาร พืชอาหารของหนอนผีเสื้อเณร มีหลายชนิด เช่นต้นชุมเห็ดเทศ ต้นแสมสาร (ขี้เหล็กป่า) ต้นคูน และต้นแคบ้าน เมื่อวางไข่เสร็จผีเสื้อตัวเมียก็จะตายจากไป





เมื่อวางไข่เสร็จแล้ว ผีเสื้อตัวเมียจะตายจากไป วงจรชีวิตก็เริ่มต้นใหม่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอน หนอนกินอาหารสะสมพลังงานจนเข้าสู่ระยะดักแด้ จนเจริญเติบโตออกจากดักแด้เป็นผีเสื้อตัวเต็มวัย แล้วผสมพันธุ์กันเริ่มวงจรชีวิตใหม่





สรุปวงจรชีวิต ผีเสื้อเณร Common Grass Yellowที่เฝ้าติดตามถ่ายภาพชุดนี้ มีจำนวน 28 ตัว ทยอยออกมาจากดักแด้ที่ยึดติดอยู่กับต้นแค และมีชีวิตรอดทุกตัว


ระยะวางไข่ ใช้เวลา 3 วัน ไข่ก็ฟักออกมาเป็นตัวหนอน

หนอนกินอาหารสะสมพลังงาน 7 – 10 วันจึงเข้าระยะดักแด้

ปล. หนอนชุดแรกมีอาหารสมบูรณ์ใช้เวลา 7 วัน ส่วนหนอนชุดหลัง พืชอาหารคือใบแคหมด ใช้ดอกแทน จึงใช้เวลานานขึ้น ใช้เวลา 10 วัน จึงเข้าระยะดักแด้

หนอนเข้าเป็นดักแด้อยู่ 6 วัน จึงออกมาเป็น ผีเสื้อ



เชิญท่านที่สนใจชมคลิปวิดีโอ วงจรชีวิต ผีเสื้อเณร บนยูทูปได้นะครับ

วงจรชีวิตผีเสื้อเณร Common Grass Yellow HD720






ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจที่ดีเสมอมา

ขอบคุณ gotoknow

ที่ให้พื้นที่ในการแบ่งปันความสุข

ขอบคุณครับ


หมายเลขบันทึก: 618902เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2016 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2016 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ภาพสวยมากๆ

มีแคแล้วมีหนอน

หลังห้องทำงานเก่า

ที่นครปฐมมีแค

ไม่ได้กลับไปนาน

ต้นสูงมาก

ถ้ามีนกมาเกาะ

จะไม่มีหนอนครับ

ตอนแรกต้นนิดเดียว ไม่ได้กลับบ้านเป็นเดือน ต้นขนาดนี้เลยครับ

-สวัสดีครับอาจารย์

-ภาพสวยมาก ๆครับ

-ได้เรียนรู้จากบันทึกนี้ครับ


@ ขจิต ฝอยทอง

สวัสดีครับอ.ขจิต
ขอขอบคุณอาจารย์ที่แวะมาเยี่ยมเยียนลุงชาตินะครับ
ไม่ได้เจออาจารย์นานมากเลย
สบายดีนะครับอาจารย์ขจิต

ขอบคุณครับ

@ เพชรน้ำหนึ่ง

สวัสดีครับคุณ เพชรน้ำหนึ่ง

ขอขอบคุณสำหรับคำชมนะครับ

ขอบคุณมากนะคะสำหรับเนื้อหานี้ เพราะมีหนอนบุกต้นแค ทำให้เข้าใจธรรมชาติของเค้า จนตอนนี้เข้าเริ่มเข้าดักแด้มาได้ 2 วันแล้ว รออีกนิดก็จะเป็นผีเสื้อแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท