เสียงจากนิสิตวิชาภาวะผู้นำ : รวมพลจิตอาสาพัฒนาวัด (อภิเษก แพไธสง)


ตอนแรกเราเสนอไม้ประเภทยางนา พยุง แต่ชุมชนยืนยันว่าอยากได้ไม้ยืนต้นที่กินได้ เพราะจะได้ใช้ประโยชน์ในเวลาจัดงานบุญ โดยเฉพาะ ‘ต้นแคนา’ ซึ่งชุมชนบอกว่าก็ไม่ต้องการเยอะ เพราะพื้นที่มีจำกัด จากนั้นก็เสนอแนะงานอื่นๆ ให้เราพิจารณา เช่น ทาสีผนังภายนอกของศาลาวัด แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าต้องทำ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำหรือเปล่า มีเวลาและมีงบพอหรือเปล่า

โครงการ ‘จิตอาสาพัฒนาวัด’ เป็นกิจกรรมในรายวิชาภาวะผู้นำที่ผมและเพื่อนๆ ได้จัดขึ้นที่วัดศรีสุข (บ้านดอนหน่อง) ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โดยจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน 2559

ก่อนหน้านี้ผมและเพื่อนในกลุ่มลงไปเรียนรู้บริบทชุมชนมา 5 ครั้ง เพื่อสำรวจปัญหาและความต้องการของชุมชนผ่านเจ้าอาวาส คณะกรรมการวัด ผู้ใหญ่บ้าน จากนั้นก็มาประชุมภายในกลุ่มว่าจะทำอะไรกันได้บ้าง ถัดจากนั้นก็เตรียมเอกสารและสื่อในรูปของ ‘แผนผังความคิด’ นำเสนอต่อผู้สอน ผู้ช่วยสอนและเพื่อนๆ ที่เรียนร่วมกันทุกคน พอผ่านความเห็นชอบก็เตรียมการลงทำงานจริง



อภิเษก แพไธสง : ประธานกลุ่มโครงการ ‘จิตอาสาพัฒนาวัด’


ความต้องการของชุมชนจริงๆ คืออยากให้มาช่วย ‘ปลูกต้นไม้’ เน้นต้นไม้ประเภทที่ 'กินได้' ...

ตอนแรกเราเสนอไม้ประเภทยางนา พยุง แต่ชุมชนยืนยันว่าอยากได้ไม้ยืนต้นที่กินได้ เพราะจะได้ใช้ประโยชน์ในเวลาจัดงานบุญ โดยเฉพาะ ‘ต้นแคนา’ ซึ่งชุมชนบอกว่าก็ไม่ต้องการเยอะ เพราะพื้นที่มีจำกัด จากนั้นก็เสนอแนะงานอื่นๆ ให้เราพิจารณา เช่น ทาสีผนังภายนอกของศาลาวัด แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าต้องทำ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำหรือเปล่า มีเวลาและมีงบพอหรือเปล่า

สรุปกลุ่มของเราก็เลือกที่จะปลูกต้นไม้ตามความต้องการของชุมชน จำนวน 10 ต้น ไม่มากไม่น้อย แต่ก็เป็นจำนวนที่ชุมชนต้องการ เป็นการปลูกในพื้นที่ที่ชุมชนกำหนดให้ คือปลูกไว้ในวัดใกล้ๆ สระน้ำ เป็นที่ชุ่มชื้นและจะได้รดน้ำได้สะดวก ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้รอดตาย โตวันโตคืน

ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่เราตัดสินใจทำเพิ่มเติมก็คือ ทาสีผนังรอบนอกศาลาวัด เก็บกวาดขยะภายในวัด ขนดินเข้าปรับพื้นศาลาอาคารหลังใหม่ที่กำลังก่อสร้าง ทำให้เราได้ทำงานตามความต้องการของชุมชนและได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำไปพร้อมๆ กัน เพราะถ้าจะปลูกแค่ต้นไม้ก็ดูจะไม่เหมาะกับจำนวนคนที่มี 19 คน






เกี่ยวกับเรื่องการแบ่งงานกันภายในกลุ่ม ผมในฐานะหัวหน้ากลุ่มจะถามถึงความสมัครใจก่อนว่าใครมีความรู้ความสามารถทางด้านไหนบ้าง เป็นการสำรวจศักยภาพของกลุ่มและมอบหมายงานไปตามที่มีความรู้ แต่ก็จะถามความสมัครใจด้วย ไม่ใช่มอบหมายไปโดยไม่ถามความสมัครใจ เช่น การถ่ายภาพ/VDO ก็ให้คนที่มีกล้องถ่ายภาพเป็นคนรับหน้าที่ตรงนี้ไป คนที่มีรถยนต์ก็จะรับผิดชอบการจัดซื้ออุปกรณ์ในการทำกิจกรรม ชมรมสานฝันคนสร้างป่ามีกล้าไม้ที่เพาะไว้อยู่แล้วก็รับผิดชอบเรื่องนี้ไป

นอกจากนั้นก็มีฝ่ายอื่นๆ เช่น ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายอุปกรณ์ ฝ่ายเอกสาร โดยแต่ละฝ่ายก็จะมีหัวหน้ากำกับดูแลอีกทีหนึ่ง ครั้นพอจะเริ่มงานเราก็จะให้สมาชิกในกลุ่มชักชวนเพื่อนต่างกลุ่มหรือนิสิตทั่วๆ ไปมาร่วมกิจกรรมกับพวกเรา และมีเพื่อนจากชมรมสานฝันคนสร้างป่าเข้ามาช่วยอีกแรงครับ





ระยะแรกของการทำงานกลุ่มเรามีปัญหาเรื่องการนัดหมายมาคุยงานกันมาก ประชุมไม่ค่อยครบเพราะมาจากหลายคณะ ว่างไม่ค่อยตรงกัน มอบงานกันก็ลำบาก เช่น มาจากคณะวิทยาศาสตร์ คณะการบัญชีและการจัดการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง พอจะทำงานอุปกรณ์ก็ไม่เพียงพอ เช่น แปรงทาสีและจอบขุดดินมีจำนวนน้อย แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ และงานก็ออกมาดี เพราะต่างคนต่างช่วยกัน

ถ้าเป็นปัญหาจากชุมชนก็จะเป็นช่วงที่ชาวบ้านติดงานเร่งเกี่ยวข้าวของตนเอง การเข้ามาช่วยงานนิสิตจึงมีไม่มากนัก แต่ก็ให้การสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ คำแนะนำที่เกี่ยวกับงาน และการบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ในชุมชนและส่วนตัวให้นิสิตได้ฟัง






การทำกิจกรรมครั้งนี้เรายึดแนวคิดหลักในการทำงานคือ ‘การพอประมาณ การมีเหตุผล’ ทำงานให้ตรงตามความต้องการของชุมชน บริหารคนและงบประมาณให้พอเหมาะกับกิจกรรม รวมถึงการพยายามสร้างการมีส่วนร่วมให้ทั่วถึง ดังจะเห็นได้จากการกระจายคนไปยังงานต่างๆ ให้มากที่สุด จะได้มีงานทำกันทุกคน

โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่รู้ชัดหรอกนะครับว่าทำไมเพื่อนจึงเลือกให้ผมเป็น ‘หัวหน้ากลุ่ม’ แต่จากที่ผมได้ยินเพื่อนพูดกันนะครับ คือ เวลาทำงานกลุ่มที่เรียนในคาบเรียน ผมเป็นคนที่ช่วยงานเพื่อนตลอดเวลา ช่วยออกความคิด อาสาทำนั่นนี่ และเข้ากับคนอื่นได้ง่าย ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นบุคลิกส่วนตัวของผมอยู่แล้ว พอได้จัดกิจกรรมในวิชานี้ผมก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง เช่น

  • การทำงานเป็นทีม
  • การแก้ปัญหาล่วงหน้าและปัญหาเฉพาะหน้า
  • การกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ทางการคิด การกระทำ ทั้งในเวลาประชุมในกลุ่มและการทำกิจกรรมในชุมชน






นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์บ้านดอนหน่องจากคำบอกเล่าของผู้นำชุมชน รวมถึงเอกสารที่บันทึกไว้ในชุมชน และการได้สัมผัสจริงกับวัฒนธรรมในการ ‘ตากข้าว’ ของชาวบ้านที่ใช้ ‘ลานวัด’ เป็นศูนย์กลางว่ามีการแบ่งเวลาตากกันแบบไหน ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ต่อที่สาธารณะร่วมกัน เป็นความสัมพันธ์ในแบบ ‘พึ่งพาอาศัยกัน’ ระหว่างวัดกับชุมชนและคนในชุมชนด้วยกันเอง ซึ่งในวันที่ทำกิจกรรมกับชุมชนเราทุกคนก็ร่วมกันถวายสังฆทาน เป็นงบประมาณส่วนตัวของแต่ละคน ไม่ได้เอามาจากงบประมาณของกลุ่ม เป็นการทำกิจกรรมแบบสมัครใจ และถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของการใช้เป็นเครื่องมือเรียนรู้ชุมชน






ในตอนท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่าวิชาภาวะผู้นำ ได้ช่วยให้ผมมีความเป็นภาวะผู้นำเพิ่มขึ้นมากเลยครับ เช่น ทำให้กล้าคิด กล้าตัดสินใจ – ทำให้ผมรับรู้ถึงปัญหาว่าการทำงานเป็นทีมเราเจอปัญหาอะไรบ้างและจะแก้ไขปัญหาโดยวิธีใดบ้าง และวิชานี้ก็ช่วยให้ผู้เรียนมีจิตอาสาให้สามารถช่วยเหลือชุมชนร่วมกันอย่างเป็นทีม อีกทั้งยังมีการดูแลอย่างใกล้ชิดจากอาจารย์ประจำกลุ่ม คือ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ และพี่เจี๊ยบเยาวภา ปรีวาสนา




หมายเหตุ

เรื่อง : อภิเษก แพไธสง ชั้นปี 2 คณะการบัญชีและการจัดการ สาขาการบริหารการเงิน
ภาพ : เยาวภา ปรีวาสนา / นิสิตวิชาภาวะผู้นำ

วันที่ 7 พ.ย.2559

หมายเลขบันทึก: 618144เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2016 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2016 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีใจที่พบการทำงานเป็นทีม

นิสิตทำงานเองออกแบบเอง

ได้เรียนรู้เอง

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท