"งิ้วราย" ในวรรณคดี วรรณกรรม


ชุมชนงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี เป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ซึ่งจากการสืบค้นประวัติศาสตร์จากวรรณคดีไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๕

ชุมชนงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี เป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และเคยเป็นที่ประทับแรมของรัชกาลที่ ๔ ในคราวเสด็จมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ รวมถึงที่ประทับแรมรัชกาลที่ ๕ ในคราวเสด็จประพาสต้นอีกด้วย รวมทั้งยังเป็นชุมทางสำคัญในการต่อเรือไปสุพรรณบุรีและมหาชัย รวมถึงเส้นทางต่อรถไฟเข้ากรุงเทพหรือมุ่งสู่สายใต้ ซึ่งจากการสืบค้นประวัติศาสตร์จากวรรณคดีและวรรณกรรมไทย ที่กล่าวถึง "งิ้วราย" ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๓๗๕ ดังนี้

งิ้วรายในวรรณคดีไทย

๑.นิราศพระประธม ของสุนทรภู่ พ.ศ. ๒๓๗๕ (อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔)

๏ โอ้ฟังบุตรสุดสวาทฉลาดเปรียบ

ต้องทำเนียบนึกไปก็ใจหาย

ถึงแขวงแควแลลิ่วชื่องิ้วราย

สะอื้นอายออกความเหมือนนามงิ้ว

งามเสงี่ยมเอี่ยมอิ่มเมื่อพริ้มพักตร์

ดูน่ารักเรือนผมก็สมผิว

แสนสุภาพกราบก้มประนมนิ้ว

เหมือนโฉมงิ้วงามราวกับชาววัง

๒. โคลงนิราศพระประธม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์นิราศนี้ในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๗๗ เมื่อพระชนม์ ๒๖ พรรษา (http://www.reurnthai.com/wiki)

๏ งิ้วรายรายงิ้วเรียดเรียงริม เฉนียรฤๅ

ดอกดั่งศรีทับทิม แถบจ้า

คิดอรอ่าองค์ถนิม- ภรณ์ผ่อง ผิวเอย

ศรีจับศรีนวลหน้า เนตรหน้าจับศรี ฯ

ในโคลงบทนี้กวีพรรณนาถึงต้นงิ้วในบริเวณว่ามีดอกดั่งศรีทับทิม จึงน่าหมายถึงต้นงิ้วที่มีดอกสีแดงอมชมพูส้มหรือสีทับทิม

๓. นิราศพระปฐมของหลวงจักรปาณี (ฤกษ์) พ.ศ. ๒๔๑๗ (อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕) (http://www.reurnthai.com/wiki)

๏ พอออกจากปากคลองได้ล่องน้ำ

เห็นฟ้าคล้ำคลุ้มอับพยับฝน

สุดสังเกตเทศสถานบ้านตำบล

ให้มืดมนมุ่งมาในวารี

ถึงงิ้วรายหมายงิ้วที่งอกหนาม

ไม่ลือนามฟุ้งเฟื่องเหมือนเมืองผี

งิ้วนรกสิบหกองคุลี

คมเหมือนตรีกรดกริบระริบริ้ว

ใครสร้างกรรมทำชู้ด้วยคู่เขา

ให้ร้อนเร่าร้างโรยอยู่โหยหิว

ครั้นชีวันบรรลัยก็ไปล่ปลิว

ไปขึ้นงิ้วยมบาลประหารแทง

น่าพึงกลัวตัวฉันให้พรั่นจิต

แต่นั่งชิดเมียใครยังใจแสยง

ทุกวันนี้ดูใครเขาไม่ระแวง

กลับพลิกแพลงพูดเล่นเย็นเย็นใจ

ว่าเมียเขาเรารักทำควักค้อน

ขึ้นงิ้วอ่อนมือตีนปีนไม่ไหว

แม้สมัครรักเราไม่เป็นไร

จะปีนได้ทุกวันไม่ครั่นคร้าม

ด้วยหนามงิ้วเดี๋ยวนี้ไม่มีมาก

เขาคอยถากอยู่ทุกวันอย่าหวั่นหวาม

จะทำบุญเสียด้วยขวานตระหง่านงาม

ไปถากหนามงิ้วบาดให้ขาดระยำ

ยลบาลนั้นเหนอเกลอกับพี่

เธอปรานีว่าจะชุบอุปถัมภ์

ถ้าแม้นหญิงยินยอมให้คร่อมทำ

ที่บาปกรรมนั้นไม่มีดีสุดใจ

ยิ่งเมียเจ๊กแล้วยิ่งดียิ่งมีผล

ขึ้นแต่ต้นผักกาดไม่หวาดไหว

บาลีท่านเถนเท็จมีเม็ดไพร

ฉันไม่ใช้บาลีเช่นนี้เลย ฯ

ลักษณะต้นงิ้ว "ถึงงิ้วรายหมายงิ้วที่งอกหนาม" เป็นต้นงิ้วที่มีหนามนั่นเอง

๔. นิราศพระแท่นดงรัง ของหมื่นพรหมสมพัตสร (นายมี) หรือเสมียนมี เป็นกวีสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ร่วมสมัยกับสุนทรภู่ มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๓๕๘ จนถึงในราว พ.ศ.๒๔๑๔

ถึงงิ้วรายหมายคุ้งมุ่งเขม้น

พี่แลเห็นต้นงิ้วเป็นทิวแถว

แต่ตัวน้องพี่มองไม่เห็นแล้ว

เห็นแต่แนวแม่น้ำนั้นร่ำไปฯ

งิ้วรายในวรรณกรรมไทย

๑. หนังสือมังกรพลัดถิ่น ของ ช. ศรีงิ้วราย. 2546. สำนักพิมพ์เอดิสันเพรส โพรดักส์

มังกรพลัดถิ่น เป็นนวนิยายเชิงอัตชีวประวัติ อิงประวัติศาสตร์ที่นำเสนอเรื่องราวผ่าน "เชียร" หนุ่มลูกครึ่งพ่อจีน แม่ไทย "เชียร"ถือกำเนิดที่งิ้วราย แต่ชีวิตพลิกผันทำให้ต้องไปเรียนหนังสือและใช้ชีวิตวันผู้ใหญ๋อยุู่ในเมืองจีน ท่ามกลางภาวะผันผวนทางการเมือง ก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยเมื่ออายุเกือบหกสิบปีแล้ว

ช. ศรีงิ้วราย เริ่มเรียนหนังสือในโรงเรียนจีน ก่อนจะมาเรียนโรงเรียนวัดงิ้วราย(พินพิทยาคาร) จนจบชั้นประถมศึกษา ในเรื่องมังกรพลัดถิ่น แบ่งออกเป็นสามภาค คือ สยาม-เมืองมาตุภูมิ เมื่อลูกมังกรเหยียบถ้ำปิตุนาคินทร์ และยุคปฏิวัติวัฒนธรรม โดยภาคที่เกี่ยวข้องกับชุมชนงิ้วรายในอดีต คือ ภาคแรกนั่นเอง เนื้อหากล่างถึงโรงเรียนจินเต็ก โรงเรียนจีนที่เชียรเรียนเป็นแห่งแรก แต่ต่อมาถูกสั่งปิด บรรยากาสช่วงญี่ปุ่นยกทัพมาตั้งทัพแถวนครชัยสรีและงิ้วราย อุทกภัย พ.ศ.๒๔๘๕ สะพานเสาวภา สะพานข้ามทางรถไฟถูกฝ่ายสัมพันะมิตรทิ้งระเบิดทำลายสะพาน การงมกุ้งงมปลา จับปลาสร้อย การทำน สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน "วัดงิ้วราย-โรงเรียนที่หล่อหลอม" งานวัด และสะพานการโดยสารเือไกวยางไปสู่เมืองซัวเถา ในส่วนช่วงการใช้ชีวิตในเมืองจีน จะเป็นบรรยากาศของจีนช่วงมีการปฏิวัตินับว่าน่าอ่านน่าติดตาม และการกล่าวถึงเมืองซัวเถาที่คนจีนส่วนหนึ่งเดินทางมาประเทศไทยจะเป็นคนจีนจากเมืองซัวเถา (กล่าวถึงอำเภอโผวเล้ง ที่เป็นที่อำเภออหนึ่งที่มีคนเดินทางมาประเทศไทยจำนวนมาก)


หนังสือเรื่องมังกรพลัดถิ่น โดย ช. ศรีงิ้วราย

บุญเตือน ศรีวรพจน์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร (http://www.thaipoet.net) กล่าวถึงนิราศสู่ดินแดนพระปฐมเจดีย์ว่า วรรณคดีนิราศที่แต่งขึ้นในโอกาสที่กวีเดินทางไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ เท่าที่พบในปัจจุบันมีอยู่ ๓ เรื่อง คือ นิราศพระประธมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท แต่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๗ นิราศพระประธมของสุนทรภู่ แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ และนิราศพระปฐมของหลวงจักรปาณี (ฤกษ์) แต่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗ เส้นทางนิราศทั้ง ๓ ครั้งนี้ จุดเริ่มต้นในการเดินทางก็เช่นเดียวกับนิราศเรื่องอื่นๆ จะเริ่มต้นการเดินทางออกจากวัง ที่พำนัก หรือเรือนของกวี ไปลงเรือที่ท่าน้ำใกล้เคียง พระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิทและสุนทรภู่ ใช้เส้นทางการเดินทางเดียวกันโดยตลอด คือ เข้าคลองบางกอกน้อย คลองวัดชะลอ เข้าคลองแม่น้ำอ้อมจนถึงบางใหญ่ เข้าคลองบางใหญ่ ไปออกแม่น้ำนครชัยศรี ไปขึ้นบกที่วัดท่า ส่วนหลวงจักรปาณี (ฤกษ์) เริ่มต้นการเดินทางโดยใช้เส้นทางคลองบางกอกน้อย เข้าคลองวัดชะลอ แล้วไปใช้เส้นทางคลองมหาสวัสดิ์ออกแม่น้ำนครชัยศรีแทน และล่องเรือต่อไปได้จนถึงจังหวัดนครชัยศรี ในเส้นทางการเดินทางโดยรวมจะผ่าน วังหลัง บางว้าน้อย วัดอมรินทราราม โรงเรือ บ้านบุ วัดสุวรรณาราม วัดศรีสุดาราม บางขุนนนท์ บางผักหนาม บางบำหรุ เข้าคลองบางระมาด วัดไก่เตี้ย สวนแดน สวนหลวง วัดน้อยใน วัดชัยพฤกษมาลา วัดพิกุล บางขวาง บางสนาม วัดเกด วัดชะลอ (จุดนี้หลวงจักรปาณีเปลี่ยนไปใช้เส้นทางคลองมหาสวัสดิ์) บางกรวย บางศรีทอง วัดโพบางโอ วัดสักน้อย วัดสัก วัดเพลง บางอ้อยช้าง วัดแก้วฟ้า บางขนุน บางขุนกอง บ้านกระเบื้อง บางกร่าง วัดปราสาท บ้านจีน บางนายไกร วัดอุทยาน บางระนก บางคูเวียง โรงหีบ วัดโบสถ์ วัดปรางค์หลวง บางม่วง บางใหญ่ วัดพระอินทร์ โรงภาษี วัดส้มเกลี้ยง บางโสน บางเชือก ย่านซื่อ ลานตากฟ้า ด่านภาษี บางนางเกร็ง งิ้วราย บ้านลาว สำปะทวน ท่านา บางแก้ว วัดปากน้ำ โพเตี้ย วัดไทร บางแก้ว วัดสิงห์ ขึ้นบกที่วัดท่าหรือวัดท่าตำหนัก เดินทางต่อด้วยเกวียนหรือช้างผ่านวัดน้อย ท่าเพนียด ท่าข้าม ห้วยตะโก ธรรมศาลา สู่จุดหมายปลายทางที่วัดพระประธมหรือวัดพระปฐมเจดีย์

จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น พระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กล่าวถึงชุมชนบ้านงิ้วราย ซึ่งทรงเสด็จประพาสต้นผ่านและประทับแรมที่บ้านงิ้วรายในวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ไว้ในจดหมายฉบับที่ ๖ (เขียนที่บ้านผักไห่ วันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓)

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้าเสด็จกระบวนต้นจากเมืองสมุทรสาครไปจอดที่บ้านงิ้วราย แขวงเมืองนครไชยศรี เสด็จแวะทำครัวที่วัดตีนท่า กลางคืนได้ออกเรือแจวตามน้ำใกล้ บ้านท่านา พ่วงเรือไฟจนถึงพลับพลา ประทับแรม ๕ ทุ่ม

วันที่ ๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จรถไฟไปประพาสพระปฐมเจดีย์ ทำครัวเช้าที่ลานพระ แล้วลงเรือล่องมาที่ท่าพระประโทน แล้วประทับทำครัวที่บ้านพระยาเวียงไนยที่บ้านธรรมศาลา เสด็จกลับมาทางเรือถึงบ้านงิ้วราย ประทับแรมที่บ้านงิ้วราย เวลา ๒ ทุ่ม

วันที่ ๒ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ (จากที่ประทับแรมบ้านงิ้วราย) เสด็จประพาสคลองภาษี ประทับแรมที่บ้านสองพี่น้อง

ที่มา : http://valuablebook2.tkpark.or.th/2015/4/document4...

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/618774

สถานที่ประทับแรมที่งิ้วราย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบ้านขุนภักดี บริเวณศาลเจ้าโรงหวด

อีกสถานที่ที่น่าสนใจเพราะเกี่ยวข้องกัับตำนานพญากง พญาพาล คือ บ้านโพเตี้ย ตำบลท่าตำหนัก แต่ปัจจุบันไม่มีต้นโพเตี้ยให้เห้นแล้ว คงมีเนินดินอยู่ในบริเวณบ้านของนายบุก อินทพงศ์ เหนือรางอุทัยแยกคลองบางแก้ว หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าตำหนัก อำเภอนครชัยศรี

โคลงนิราศพระประธม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท

๏ โพเตี้ยเตี้ยแต่ครั้ง พญาพาล

มล้างบิดาวายปราณ ปลูกไว้

มหาโพธิ์ก็พิการ ติดต่ำ เตี้ยแฮ

เหตุจึ่งปรากฏให้ หากแจ้งผลกรรม ฯ

นิราศพระประธม ของสุนทรภู่

๏ ถึงโพเตี้ยโพต่ำเหมือนคำกล่าว

แต่โตราวสามอ้อมเท่าพ้อมสาน

เป็นเรื่องราวเจ้าฟ้าพระยาพาน

มาสังหารพระยากงองค์บิดา

แล้วปลูกพระมหาโพธิบนโขดใหญ่

เผอิญให้เตี้ยต่ำเพราะกรรมหนา

อันเท็จจริงสิ่งใดเป็นไกลตา

เขาเล่ามาพี่ก็เล่าให้เจ้าฟัง ฯ

แผนที่แสดงพื้นที่จากมหาสวัสดิ์ผ่านงิ้วราย และตลาดท่านานครชัยศรี ท่าตำหนัก แสดงเส้นทางนิราศในอดีต


แผนที่งิ้วราย มหาสวัสดิ์ พ.ศ.2457 โดยกรมแผนที่ทหาร (ภาพจาก หนังสือเล่าขานตำนานศาลายา เปิดบันทึกเรื่องเก่าๆ ไม่เล่าก็ลืม, อภิลักษณ์ เกษมผลกูล บรรณาธิการ, 2552)

หมายเลขบันทึก: 617752เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2016 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2017 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีประวัตินานมาก

ดีแล้วที่บันทึกเอาไว้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท