เก็บตกวิทยากร (29) : ปรับกระบวนการเติมเต็มการเรียนรู้ในเวทีสัมมนาผู้นำองค์กรนิสิต


ผมอธิบายให้นิสิตเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมนอกหลักสูตร/กิจกรรมเสริมหลักสูตรกับกระแสธารทางสังคม (ฮีต 12 คองสังคม) เพื่อก่อให้เกิดการตื่นตัวรับรู้และเรียนรู้กับปรากฏการณ์จริงของสังคม หรือในอีกมุมก็คือการบ่มเพาะให้นิสิตได้มีทักษะในการเรียนรู้สังคม เรียนรู้เพื่อให้รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม



ช่วงบ่ายของเวทีการสัมมนาผู้นำองค์กรนิสิต เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2559 ณ อาคารพัฒนานิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผมและทีมงานจำต้องปรับเปลี่ยนกำหนดการในแบบมิได้คาดหมายไว้ล่วงหน้า

เดิมผมในฐานะวิทยากรต้องบรรยายกึ่งกระบวนการในเรื่อง“องค์ความคิดเพื่อการพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร” และการสร้างเวทีเพื่อระดมความคิดในหัวข้อ “แนวทางการยกระดับคุณภาพชีวิตนิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร” แต่จำต้องปรับแต่งกำหนดการใหม่ เพราะแทรกประเด็นการเรียนรู้สำคัญๆ เพิ่มเติมเข้ามา 4 ประเด็น นั่นก็คือ

  • ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี (ไอที) อย่างสร้างสรรค์
  • ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประชุม และการสรุปบันทึกการประชุม
  • ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการเขียนโครงการและการประเมินโครงการ
  • โครงการเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9




นี่คือกระบวนการทำงานที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอันท้าทายของการจัดการเรียนรู้ ซึ่งประเด็นที่เพิ่มเข้ามาผมก็มิได้แบกรับทำคนเดียว ตรงกันข้ามก็คือผ่องถ่ายไปยังคนอื่นๆ ให้ตกลงกันเองว่าใครจะทำหน้าที่เป็นวิทยากร โดยเฉพาะในประเด็นที่ 2 นั้นผมปูพรมความคิด หรือความรู้ด้วยการบรรยายกึ่งกระบวนการให้ทีมด้วยได้รับรู้รับฟังและนำไปประยุกต์กับต้นทุนทางปัญญาของตนเอง ก่อนนำไปสู่การสื่อสารกับนิสิต ---

เช่นเดียวกับประเด็นแรกเราประสานงานกับสำนักคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยมหาสารคามมาร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ ซึ่งถือว่าเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่ "เรา" เคยประสบพบเจอมาแล้ว

ขณะที่ประเด็นที่ 2 ว่าด้วยการประชุมนั้นก็วิเคราะห์มาจากสถานการณ์ที่เป็นปัญหาจริงที่นิสิตกำลังประสบ ทั้งโดยความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ซึ่งต้องมีการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์และเร่งด่วน เพราะเรื่องของการประชุมคือส่วนสำคัญในการพัฒนาตัวผู้นำสู่การเป็นผู้มีภาวะผู้นำและองค์กรนิสิตไม่แพ้การลงมือจัดกิจกรรมภาคสนาม






บรรยายกึ่งกระบวนการเน้นการมีส่วนร่วมทางความคิด

ในส่วนที่ผมยังต้องขับเคลื่อนนั้น ผมหยิบจับประเด็นการจัดการเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรมมาเป็นประเด็นเรียนรู้กับผู้นำองค์กรนิสิต โดยมองว่าองค์กรที่เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้เป็นองค์กรบริหาร แผนงานส่วนใหญ่ยึดโยงกับปะเพณีวัฒนธรรมในวิถีกิจกรรมของนิสิตและชุมชนอย่างไม่ผิดเพี้ยน ยกตัวอย่างเช่น ลอยกระทง สงกรานต์ รับน้อง กีฬา ฯลฯ มีไม่มากนักที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมที่ใช้ชุมชนภายนอกมหาวิทยาลัยเป็นฐานการเรียนรู้ (Community-based Learning) หรือการขยับออกไปจัดกิจกรรมในทำนองเรียนรู้คู่บริการ (Service learning) เพราะกิจกรรมทำนองนี้จะปรากฏในกลุ่มชมรม และกลุ่มนิสิตเสียมากกว่า




กรณีดังกล่าวผมใช้วิธีการแบบบรรยายกึ่งกระบวนการที่หมายถึงบรรยาย –เล่าเรื่อง ตั้งคำถาม เชื้อเชิญ-เล้าโลมให้นิสิตได้ร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกัน หรือการกระตุ้นให้นิสิตได้แสดงความคิดเห็นทั้งโดยความสมัครใจและการโยนไมค์ไปพร้อมๆ กัน

กระบวนการดังกล่าว ผมคิดเอง (เออเอง) ว่านี่คือการสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เป็นการเรียนรู้ในแบบเชิงรุก (Active learning) ไม่ใช่การจ่อมจมกับการอยู่กับการสื่อสารทางเดียว แถมยังนำวีดีทัศน์ หรือคลิปต่างๆ มาหนุนเสริมให้นิสิตได้ดูชมรมร่วมกัน และทุกครั้งที่นิสิตได้สะท้อนความคิดออกมาก็จะหลักเลี่ยงการบ่งชี้ว่า “ผิด” หรือ “ถูก” หากแต่เพียรพยายามที่จะหยิบประเด็นที่นิสิตสะท้อนหรือสื่อสารออกมาต่อยอดชวนเสวนาร่วมกันไปเรื่อยๆ





ความรู้ : กิจกรรมการเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรม

อันที่จริงเรื่องที่ผมพูด หรือกระบวนการที่ผมออกแบบเป็นการเรียนรู้นั้น จะว่าไปแล้วก็มิได้ซับซ้อน หรือลึกซึ้งอะไรมากมาย ผมแค่ต้องการชวนให้นิสิตได้ทบทวนความรู้ตนเองอย่างเงียบๆ เนียนๆ ทบทวนว่านิสิตมีความรู้ในเรื่องกิจกรรมที่จัดมากน้อยแค่ไหน เป็นความรู้ในระดับ “แก่น” ไม่ใช่ความรู้ระดับ “เปลือก” และทั้งปงนั้นก็คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรม (ฮีต 12 คองกิจกรรม : ฮีต 12 คองนิสิต)

  • ยกตัวอย่างเช่น การหยิบยกประเด็นโครงการลอยกระทงที่ต้องจัดขึ้นในทุกปีและเป็นกิจกรรมที่กำลังจะมีขึ้นในไม่กี่วัน แถมเป็นกิจกรรมที่จัดโดยนิสิตล้วนๆ ที่ซึ่งทุกคณะและทุกๆ ชมรมต้องมาร่วมกันจัด ทั้งยังมีชุมชนเข้ามาเกี่ยวโยง มิหนำซ้ำจัดในมหาวิทยาลัยเสร็จสิ้นแล้ว ยังต้องไปร่วมกับชุมชนและจังหวัดด้วยอีกต่างหาก

    ระเด็นดังกล่าวนี้ ผมชวนให้นิสิตบอกเล่าถึงความรู้และมุมมองของนิสิตที่มีต่อกิจกรรมลอยกระทงผ่านมิติต่างๆ โดยเฉพาะมิติทางวัฒนธรรมและประเพณี ยึดโยงไปยังแก่นสารในทางประวัติศาสตร์การก่อเกิด แก่นรากอันเป็นปรัชญาของประเพณี เชื่อมโยงไปยังพื้นถิ่นของการก่อเกิดประเพณี เชื่อมกลับมายังสังคมไทยและชุมชนรายรอบ รวมถึงคติความเชื่อที่เกี่ยวโยงกับพุทธและพราหมณ์ หรืออื่นๆ ...





แน่นอนครับ ประเด็นที่ผมกล่าวถึงเป็นเรื่องความรู้ที่นักกิจกรรม หรือผู้นำนิสิต/ผู้นำองค์กรนิสิตต้องมี มิใช่จัดกิจกรรมโดยปราศจากความรู้และความเข้าใจที่บิดเบี้ยว หรือกระทั่งตีความแก่นสารของกิจกรรมนั้นๆ ไปเสียจนเกินเหตุ วิ่งตามกระแสหลักเชิงพาณิชย์จนเกินงาม หรือ “บันเทิงแต่ไม่เริงปัญญา” คล้ายๆ ลามเลียเปลือกแต่ไม่ได้สกัดลึกไปจนถึงแก่น สร้างวาทกรรมยืดยาวเป็นหางว่าวแต่ตอบแก่นสารใดไม่ชัดเจน !

และผมก็ย้ำอย่างจริงๆ จังๆ ว่า นี่คือความเปราะบางของผู้นำนิสิตในยุคนี้ เป็นยุคที่ควรว่าด้วยข้อมูลความรู้ และกลับละเลยต่อสิ่งเหล่านี้ แทนที่จะอนุรักษ์ก็พาลเป็นทำลายไปในแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์





ใช่ครับ – หากนิสิตมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ มากเท่าไหร่ นิสิตย่อมชัดเจนที่จะกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ ซึ่งก็ง่ายต่อการออกแบบกิจกรรมที่จะจัดขึ้นเพื่อให้มีสถานะเป็นกระบวนการ หรือเครื่องมือในการนำพาไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องดังกล่าว

หรือกระทั่งการพยายามอธิบายว่า วัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมในแต่ละโครงการมีลักษณะอย่างไร และเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ของการบ่มเพาะตนเองให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยหรือสังคมอย่างไร มิใช่ตอบโจทย์รายโครงการได้ แต่พอเอามารวมเป็นหนึ่งในระดับองค์รวมกลับตอบไม่ได้

สิ่งเหล่านี้ผมก็กำลังบอกนิสิตในประเด็นของการทักษะการคิดหลากมิติ เช่น วิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดแบบเชิงระบบ คิดแบบบูรณาการ หรือการคิดแบบเชื่อมโยง หรือกระทั่งการเรียนรู้แบบไม่แยกส่วนนั่นเอง






เปิดและปิดเวทีในประเด็น “พ่อของแผ่นดิน”

ท้ายที่สุดแล้ว ผมก็นำเข้าสู่ประเด็นการระดมความคิดเรื่องการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9

ประเด็นดังกล่าวนี้ ผมอธิบายให้นิสิตเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมนอกหลักสูตร/กิจกรรมเสริมหลักสูตรกับกระแสธารทางสังคม (ฮีต 12 คองสังคม) เพื่อก่อให้เกิดการตื่นตัวรับรู้และเรียนรู้กับปรากฏการณ์จริงของสังคม หรือในอีกมุมก็คือการบ่มเพาะให้นิสิตได้มีทักษะในการเรียนรู้สังคม เรียนรู้เพื่อให้รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมนั่นเอง

ยิ่งในประเด็นในหลวงรัชการที่ 9 พระผู้ซึ่งเป็นพลังแห่งแผ่นดินและศูนย์รวมดวงใจของชาวไทยนั้น ยิ่งเป็นประเด็นควรค่าต่อการหยิบจับมาบูรณาการสู่การเรียนรู้ในวิถีกิจกรรมของนิสิตเป็นที่สุด ทั้งในมิติของการแสดงความอาลัย และการถอดบทเรียน “คำสอนของพ่อ” เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองและสังคม




แน่นอนครับ การเปิดประเด็นดังกล่าว มิได้มีเจตนาให้สรุป หรือจบในเวทีเลยแม้แต่น้อย ทว่าหมายถึงการเปิดเวทีเพื่อกระตุ้นให้นิสิตได้นำไปคิดต่อยอดว่าควรทำอะไรบ้างในเรื่องเหล่านี้ ---

ใช่ครับ... เป็นการชวนคิดชวนคุย ไม่ได้บังคับกะเกณฑ์ว่าต้องทำ แต่ให้นิสิตโสเหล่กันเท่าที่ใจอยากจะโสเหล่ และที่เหลือก็สามารถนำกลับไปหารือกันอย่างจริงจังในเวทีการประชุมของพวกเขาอีกครั้ง ซึ่งจะสัมพันธ์กับการจัดสรรงบประมาณและการสร้างแผนงานประจำปีการศึกษา 2559 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้า

ซึ่งก็เป็นที่น่าชื่นใจอยู่บ้าง เพราะนิสิตจำนวนหนึ่งก็สะท้อนถึงแนวคิดที่อยากจะทำกิจกรรมอันง่ายงามเพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ยกตัวอย่างเช่น

  • แต่งกายด้วยชุดนิสิตเพื่อแสดงความอาลัยอย่างน้อย 100 วัน หรือ 1 ปี
  • สวดมนต์เย็น และจัดกิจกรรมตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล อย่าน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • ยืนสงบนิ่งแสดงความอาลัยก่อนการเรียนการสอน พร้อมเปิดคลิปพระราชกรณียกิจก่อนการเรียนการสอนในชั้นเรียน
  • จัดกิจกรรมบริจาคโลหิตถวายเป็นพระราชกุศล
  • จัดค่ายบริการสังคมถวายเป็นพระราชกุศลด้วยแนวคิด “ตามรอยเท้าพ่อ”
  • จัดกิจกรรมเผยแพร่เพื่อการเรียนรู้และการสืบสานโครงการพระราชดำริฯ หรือพระราชกรณียกิจ
  • ฯลฯ

ครับ – นี่คือส่วนหนึ่งที่ปรากฏขึ้นเวทีสัมมนาดังกล่าว และเป็นส่วนหนึ่งของการปรับแต่งกระบวนการเรียนรู้บนสถานการณ์เฉพาะกิจที่ผมได้พบเจอมาสดๆ ร้อนๆ




เขียน : 27 ตุลาคม 2559
เก็บตกวิทยากร : อาคารพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ภาพ : นิสิตจิตอาสา / อติรุจ อัคมูล / จันเพ็ญ ศรีดาว

หมายเลขบันทึก: 617513เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2016 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2016 12:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาให้กำลังใจ ค่ะ ....




อารมณ์นี้ลยใช่ไหมครับ - พี่อาจารย์ Dr. Ple


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท