​โรงเรียนแพทย์กับการเตรียมบัณฑิตไปทำงานในชนบท



ศ. พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว และคณะ ตีพิมพ์รายงานผลการวิจัย Attitude towards working in rural area and self-assessment of competencies in last year medical students: A survey of five countries in Asia

Authors: Chuenkongkaew Wanicha, Negandhi Himanshu, Lumbiganon Pisake, Wang Weimin, Mahmud Kawkab, Cuong Pham. Journal: BMC Medical Education


ซึ่งอ่านได้ ที่นี่บอกว่าใน ๕ ประเทศในเอเซีย คือ บังคลาเทศ จีน อินเดีย ไทย และเวียดนามนักศึกษาแพทย์ปีสุดท้าย ของบังคลาเทศและไทย มีทัศนคติเชิงบวกต่อโรงเรียนแพทย์ของตน ต่อการเตรียมนักศึกษาให้ออกไปทำงานในชนบทหลังจบการศึกษา ไปจนถึง ๕ ปีข้างหน้า สูงสุด (ร้อยละ ๖๐) ตามมาด้วยจีนและอินเดีย (ร้อยละ ๕๐) ต่ำสุดที่เวียดนาม (ร้อยละ ๓๓)


ตัวเลขไม่ใช่สิ่งสำคัญ จุดสำคัญอยู่ที่นักวิจัยขุดคุ้ยหาวิธีเตรียมนักศึกษาแพทย์ให้พร้อมต่อการออกไปทำงานในชนบทอย่างไร ในแต่ละประเทศที่ศึกษา


คนทั่วไปมักเข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพของแพทย์ และบุคลากรสุขภาพทุกวิชาชีพ ว่าคุณภาพหมายถึงการจัดการศึกษาตามมาตรฐานสากล และต้องยึดประเทศตะวันตกเป็นมาตรฐาน

วงการอุดมศึกษาเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเริ่มเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ก็มีมิจฉาทิฐิเช่นนี้

โชคดีที่วงการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรสุขภาพของไทยก้าวข้ามมิจฉาทิฐินี้ไปเรียบร้อยแล้ว เวลานี้เรามั่นใจว่ากลไกภายในประเทศของเราเองดูแลคุณภาพการศึกษาของบุคลากรสุขภาพได้ โดยจะได้ทั้งมาตรฐานสากล (standard) และได้ความเหมาะสมต่อระบบสุขภาพของประเทศ (relevance)


สัมมาทิฐิของระบบการผลิตบุคลากรสุขภาพก็คือ ต้องผลิตเพื่อระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อสุขภาวะของคนไทย ไม่ใช่ผลิตเพื่อมาตรฐานสากล ดังเสนอไว้ในเอกสาร Health professional edcation for a new century : transforming education to strengthen health systems in an interdependent world ซึ่งอ่านได้ ที่นี่ ซึ่งสรุปได้ว่า คณะกรรมาธิการที่เสนอเอกสารนี้ เสนอให้เปลี่ยนโฉมการศึกษาของบุคลากรสุขภาพ จากการศึกษาที่ยึดวิทยาศาสตร์ (หรือวิชาความรู้) เป็นฐาน (science-based health professional education) เปลี่ยนไปเป็น ยึดระบบสุขภาพของประเทศนั้นๆ เป็นฐาน (systems-based health professional education)


ความท้าทายสูงสุดของการผลิตบุคลากรสุขภาพ เพื่อออกไปทำงานและสร้างสรรค์ระบบสุขภาพของประเทศ ก็คือการเตรียมความพร้อมและความรัก (แรงบันดาลใจ) ต่อการออกไปทำงานใช้ชีวิตอยู่ในชนบท คำหลักที่สำคัญที่สุดในการผลิตบุคลากรสุขภาพ คือ คุณภาพ (quality) กับการกระจาย (distribution) คือเราต้องผลิตบุคลากร สุขภาพให้กระจายออกไปทำงานทั่วประเทศ ไม่ใช่กระจุกอยู่แต่ในเมือง


ผมทำงานอยู่ในโรงเรียนแพทย์ในชนบทเกือบยี่สิบปี และเป็นคณบดีอยู่ ๖ ปี ก็ด้วยอุดมคตินี้ บัดนี้ เมื่อมีการวิจัยชิ้นนี้บอกว่าประเทศไทยเราอยู่ในแนวหน้าของ ๕ ประเทศ ในเรื่องการเตรียมความพร้อมให้บัณฑิตแพทย์ ไปทำงานในชนบท ผมก็ชื่นใจ


อ่านรายงานผลการวิจัยดังกล่าว แค่ส่วนแรก ลักษณะของประชากรของนักศึกษาแพทย์ที่ตอบแบบสอบถาม ใน ๕ ประเทศ ก็น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว นักศึกษาแพทย์ของไทยแตกต่างจากอีก ๔ ประเทศโดยสิ้นเชิง ในเรื่องวิธีรับ นักศึกษาแพทย์ คือเรารับจากการสอบแข่งขันทั้งประเทศเพียงร้อยละ ๓๖ ในขณะที่อีก ๔ ประเทศ รับจากการแข่งขันทั่วประเทศร้อยละ๖๐ ขึ้นไป สูงสุดที่จีน ร้อยละ ๙๕.๖ วิธีนี้เน้นที่ใครเก่งใครได้ สรุปง่ายๆ ว่าไทยเน้นรับนักศึกษาแพทย์แบบโควต้าพื้นที่ เพื่อหนุนการกระจายแพทย์ ในขณะที่อีก ๔ ประเทศยังไม่ชัดในเรื่องการปรับวิธีรับนักศึกษาแพทย์เพื่อหนุนการกระจายแพทย์ไปทำงานในชนบท ประเทศไทยเราน่าจะภูมิใจในความก้าวหน้าด้านนี้นะครับ


แต่อย่าเพิ่งหลงภูมิใจมากไป ตัวเลขในตารางที่ ๑ บอกว่า ร้อยละ ๖๓ ของนักศึกษาแพทย์ของเรา เติบโตมาในสังคมเมือง ในขณะที่ร้อยละ ๕๒ ของนักศึกษาแพทย์เวียดนามมาจากสังคมชนบท มาจากสังคมเมืองจริงๆ เพียงร้อยละ ๒๗


ตามตารางที่ ๓ จะเห็นว่าเจตคติต่อการออกไปทำงานในชนบท (ใน ๕ ปีแรกหลังจบการศึกษา) ของไทยสูงเป็นที่ ๒ ใน ๕ ประเทศ คือร้อยละ ๖๙.๑ แพ้บังคลาเทศเพียงนิดเดียว (ร้อยละ ๖๙.๒)


ประเทศที่น่าภูมิใจในระบบแพทยศาสตร์ศึกษาของตนคือบังคลาเทศ ที่แม้จะรับนักศึกษาส่วนใหญ่ จากเด็กเมือง (ร้อยละ ๗๑ - ตารางที่ ๑) แต่กระบวนการจัดการศึกษา ได้สร้างการเห็นคุณค่าต่อการออกไป ทำงานรับใช้สังคมชนบทได้อย่างน่าชื่นชม คำถามคือเขาทำอย่างไร


ที่ใจหายคือ เพียงร้อยละ ๒๖.๔ ของนักศึกษาแพทย์ปีสุดท้ายของไทย บอกว่าตนมีความมั่นใจ ว่ามีสมรรถนะ พร้อมที่จะออกไปทำงานในชนบท โดยตัวเลขต่ำสุดใน ๕ ประเทศคืออินเดีย ๒๕.๕ และสูงสุดที่บังคลาเทศ ๔๒.๗ ตัวนี้น่าจะปลุกให้โรงเรียนแพทย์ของแต่ละประเทศลุกขึ้นมาหาสาเหตุที่ทำให้คะแนนส่วนนี้ต่ำอย่างน่าตกใจนะครับ ประเทศไทยเราอยากให้บัณฑิตแพทย์ออกไปทำงานในชนบท แต่สามในสี่ของคนที่ใกล้จะเป็นบัณฑิตบอกว่าตนยัง ไม่มีสมรรถนะเพื่อการนั้น น่าตกใจนะครับ


จากการคำนวณสถิติในตารางที่ ๕ - ๗ และข้อสรุปในรายงาน พอจะบอกได้ขัดเจนนะครับว่า วิธีคัดเลือกนักศึกษาแพทย์แบบไหน ที่จะเอื้อต่กการกระจายแพทย์ไปยังพื้นที่ชนบท


เนื่องจากงานวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีส่งแบบสอบถามให้นักศึกษาแพทย์ปีสุดท้ายตอบ ปัจจัยที่ไม่อยู่ในแบบสอบถามอาจถูกมองข้ามไปก็ได้ เช่นประสบการณ์การเรียนรู้ในระบบบริการสุขภาพในชนบท และการบูรณาการคุณค่าของทักษะทางคลินิกนั้นๆ กับการทำงานในชนบท


สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าผลการวิจัยในรายงานนี้ ส่วนที่มีคุณค่าที่สุดต่อการพัฒนาหลักสูตร แพทยศาสตร์ศึกษาของประเทศคือ เรื่องความมั่นใจของนักศึกษาแพทย์ปีสุดท้าย ว่าตนมีสมรรถนะพร้อมออกไปทำงานในชนบท นำไปสู่คำถามว่า ทำอย่างไรโรงเรียนแพทย์ไทยจึงจะพัฒนาส่วนนี้ให้ตัวเลขกลับทาง คือสามในสี่มั่นใจ เปลี่ยนจากเพียงหนึ่งในสี่มั่นใจ ซึ่งน่าจะเป็นโจทย์วิจัยชิ้นต่อไป


งานวิจัยที่ตีพิมพ์ จับที่ Input และ Output ของการผลิตแพทย์ ยังขาดการศึกษาส่วนสำคัญคือ Process ของการผลิตแพทย์ ทำอย่างไรจึงจะมีทั้งสมรรถนะ และฉันทะต่อการทำงานในชนบท เรามีคำตอบอยู่ไม่น้อย แต่ยังขาดการตรวจสอบในเชิงวิจัย



วิจารณ์ พานิช

๘ ก.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 616896เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2016 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2016 07:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท