ความเสี่ยงของผู้ประกอบอาชีพเก็บขยะ และประชาชน บริเวณสถานที่ฝังกลบมูลฝอยเทศบาลนครขอนแก่น


งานอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น


บทนำและวัตถุประสงค์

เทศบาลนครขอนแก่น เป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณมูลฝอย 205 ตัน/วัน อัตราการเกิดขยะมูลฝอย 0.62 กิโลกรัม/คน/วัน กำลังสูงสุดในการดำเนินงานขนถ่ายขยะ 158 ตัน/วัน ทำให้การดำเนินงานกำจัดมูลฝอยที่ผ่านมา ยังไม่เป็นตามหลักวิชาการ ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้บริเวณสถานที่ฝังกลบมูลฝอยเทศบาลนครขอนแก่น จำนวน 7 หมู่บ้าน ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ถึงแม้คนในชุมชนส่วนหนึ่งจะมีอาชีพและรายได้เลี้ยงครอบครัว จากการเก็บ คัดแยกและรีไซเคิลขยะก็ตาม (พัชรี ศรีกุตา และอุไรวรรณ อินทร์ม่วง, 2554) การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเสี่ยงของผู้ประกอบอาชีพเก็บ คัดแยกและรีไซเคิลขยะ และประชาชนบริเวณสถานที่ฝังกลบมูลฝอยเทศบาลนครขอนแก่น

วิธีการศึกษา

การวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive study) โดยการสำรวจแบบภาคตัดขวาง (A cross-sectional survey research) ประชากรที่ศึกษา ได้แก่ (1) ผู้ประกอบอาชีพเก็บ คัดแยกและรีไซเคิลขยะ จำนวน 1,301 คน และ (2) ประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จาก 7 หมู่บ้าน บริเวณสถานที่ฝังกลบมูลฝอยเทศบาลนครขอนแก่น ในตำบลโนนท่อน และตำบลบ้านค้อ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 7,052 คน กลุ่มตัวอย่างได้จากการคำนวณขนาดตัวอย่างจากสูตรการคำนวณขนาดตัวอย่าง เพื่อประมาณค่าเฉลี่ยของประชากรกรณีที่ทราบขนาดประชากร (อรุณ จิรวัฒน์กุล, 2549) สุ่มตัวอย่างตามสัดส่วน (Proportion to size) ได้ขนาดตัวอย่าง (1) ผู้ประกอบอาชีพเก็บ คัดแยกและรีไซเคิลขยะ จำนวน 108 คน (2) ประชาชน จำนวน 585 คน เครื่องมือที่ใช้ นำมาจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค (2559) เก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือน มกราคม-พฤษภาคม 2559 วิเคราะห์ข้อมูลด้วย จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการศึกษา

(1) กลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบอาชีพเก็บ คัดแยกและรีไซเคิลขยะ พบว่า ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี ร้อยละ 24.1 ได้รับการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยง ร้อยละ 22.2 ไม่เคยได้รับวัคซีนบาดทะยัก ร้อยละ 23.1 ไม่เคยได้รับวัคซีนตับอักเสบ ร้อยละ 85.2 ระยะเวลาที่ประกอบอาชีพนี้เฉลี่ย 18.9 ปี (Min=2.0 Max=54.0 SD=11.1) เก็บหรือคัดแยกขยะทั่วไปมากที่สุด รองลงมา ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะพิษ ร้อยละ 100.0, 90.7 และ 1.9 ตามลำดับ ลักษณะการปฏิบัติงานมากที่สุด ได้แก่ คัดแยก/รีไซเคิลขยะ รองลงมา ยก-ขน-เก็บ-รวมขยะ กำจัดขยะ(เผา) และขับรถขนขยะร้อยละ 100.0, 95.4, 5.6 และ 1.9 ตามลำดับ พักอาศัยอยู่บริเวณรอบบ่อขยะ ร้อยละ 2.8 และครอบครัวอาศัยอยู่บริเวณรอบบ่อขยะ ร้อยละ 1.9 ไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ร้อยละ 3.7 สวมรองเท้าบูทหรือรองเท้าหุ้มส้นมากที่สุด ร้อยละ 95.4 น้อยที่สุด สวมแว่นตา ร้อยละ 0.0

ข้อมูลความเสี่ยงและผลกระทบต่อสุขภาพจากการทำงาน จำนวน 10 ประเด็น พบว่า ด้านการได้รับความเสี่ยงและเริ่มมีอาการจากการได้รับความเสี่ยง 3 อันดับแรก ได้แก่ มีอาการผื่นคันที่ผิวหนัง /คัดจมูก จากบริเวณที่ทำงานมีฝุ่นละอองหรือควันมากที่สุด รองลงมา มีอาการจากความเครียดในการทำงานเล็กน้อย เช่น กังวลใจ และมีอาการปวดเมื่อย เจ็บตามกล้ามเนื้อเล็กน้อยหลังจากทำงาน ร้อยละ 99.1, 89.8 และ 87.0 ตามลำดับ ด้านการมีอาการรุนแรงจากการได้รับความเสี่ยง 3 อันดับแรก ได้แก่ บาดเจ็บรุนแรงจนต้องหยุดงานพักรักษาตัว/พบแพทย์จากการทำงาน เช่น ตกรถ โดนรถชน โดนกระแทก โดนของมีคม ทิ่ม แทง มากที่สุด รองลงมา มีอาการรุนแรงจากสัตว์และแมลง ถึงขั้นไปพบแพทย์ เช่น สุนัขที่คาดว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด งูมีพิษกัด และมีอาการปวดเมื่อย เจ็บตามกล้ามเนื้อหลังจากทำงาน ถึงขั้นหยุดงาน/ไปพบแพทย์ ร้อยละ 9.3, 4.6 และ 3.7 ตามลำดับ

(2) กลุ่มตัวอย่างประชาชน พบว่า ประเด็นความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรก ได้แก่ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รอบชุมชนมีจำนวนแมลง/สัตว์นำโรคชุกชุมมากขึ้นผิดปกติมากที่สุด ร้อยละ 94.7 รองลงมาได้แก่ ชุมชนเคยเกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะ หรือมีข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษจากบ่อขยะ และชุมชนของท่าน ได้รับฝุ่น/ควัน ที่มาจากการขนย้าย/การเผาขยะ ร้อยละ 94.7, 94.2 และ 79.1 ตามลำดับ ข้อมูลความเสี่ยงทางสุขภาพ พบว่า ระดับเสี่ยงต่ำมากที่สุด ร้อยละ 71.3 รองลงมา ระดับเสี่ยงสูง ร้อยละ 28.7 ซึ่งประเด็นความเสี่ยงทางสุขภาพมากที่สุด ได้แก่ ท่านมีความรู้สึกกังวลใจว่า อาจจะได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษรอบบ่อขยะ ร้อยละ 98.5 รองลงมา ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา มีอาการป่วยหลังจากสัมผัสขยะหรือได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการมีบ่อขยะ ร้อยละ 30.3 เมื่อวิเคราะห์จัดกลุ่มความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน พบว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมระดับสูงและสุขภาพระดับต่ำ มากที่สุด ร้อยละ 55.0

สรุป และข้อเสนอแนะ

จากผลการศึกษา พบว่า พบความเสี่ยงทั้งในส่วนผู้ประกอบอาชีพเก็บ คัดแยกและรีไซเคิลขยะ และประชาชนบริเวณสถานที่ฝังกลบมูลฝอย เพื่อให้ทุกฝ่ายส่งเสริมและคุ้มครองสุขภาพของกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการ ดังนี้ (1) กลุ่มที่ดำเนินเป็นอันดับแรก คือ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพเก็บ คัดแยกและรีไซเคิลขยะ ที่มีอาการรุนแรงจากการได้รับความเสี่ยง ควรได้รับการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงและรักษาโดยเร่งด่วน และส่งต่อเผื่อยืนยันผลความเสี่ยงต่อไป และ (2) กลุ่มประชาชนที่ จากผลการศึกษา พบว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมระดับสูงและสุขภาพระดับต่ำ มีจำนวนมากที่สุด ควรมีติดตามผลการตรวจสิ่งแวดล้อมทุกปี หามาตรการจัดการปัญหาขยะที่แหล่งกำเนิด และให้สุขศึกษาแก่ประชาชน / คำแนะนำในการป้องกันตนเองแก่ประชาชน



หมายเลขบันทึก: 616716เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2016 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2016 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ


https://goo.gl/Ggfa9L

ขยะ เป็นปัญหายิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเวลานี้...ปัญหานี้..จะแก้ได้..ก็ต่อเมื่อ..เราให้ความสำคัญ ต่อสิ่งมีชีวิต

ทุกสิ่ง..บนโลกนี้..มีความสำคัญเท่าๆกัน..ต่อการดำรงชีวิต..

หากเรา..ทิ้งขยะลงทะเล..นั้นหมายถึงแหล่งอาหาร..ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางลบและเป็นการกระทบโดยตรงต่อปากท้อง..(ต่อตนและ..คนทั้งโลก..)

หากเรา..เผา..ขยะ..มีมวลพิษ..อากาศ..เสีย..ผลเสียอยู่กับทุกๆชีวิต..ในโลกทุกวันนี้..

หากเรา..ใช้..สิ่งที่(เป็นขยะ)..สูญสิ้นสลายตัวเองไม่ได้...นั่นหมายความว่า..เราต้องใช้พลังงานที่มาจากธรรมชาติ..ด้วยความไม่จำเป็น...สิ่งที่เรียกว่าธาตุสี่..ดิน น้ำ ลม ไฟ..

หากเรา..ๆๆ ทั้งหลาย.พร้อมใจกัน."หยุดใช้..เลิกใช้ได้..ทันทีทันควัน"...แค่วันเดียวเอาแค่บ้านเราก่อน..ได้ละก็..คงจะสัมผัส..กันได้ทันทีทีเดียว...

ตัวอย่าง..หลังน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพเพียงเดือนเดียวที่.ท้องถนน..บางเบาจาก รถรา.."ท้องฟ้า..ในกรุงเทพปลอดโปร่งมากขึ้น..ที่เดียว..(พอดีได้สัมผัสจากตนเอง)เลยนำมาเกริ่นไว้ ณ ที่นี้..เจ้าค่ะ

วิจัยเขียนอ่าน..โดยเอาเงินเป็นตัวตั้ง...ก็มีผลอย่างที่ได้อ่าน...(ไม่มีอะไรที่ดีกว่านั้น..จะเกิดขึ้น)..

สิ่งที่เห็นและสิ่งที่เป็น...มีอยู่..เป็นอยู่..ตั้งอยู่..ดับไป....นะเจ้าคะ...ขอบคุณ..ข้อเขียน ที่ทำให้..ผุด..วิจารณะขึ้นมานะ..เจ้าค่ะ..

ยายธีค่ะ

ว้าว !!! ครบถ้วนกระบวนวิจัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท