​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๖๓ : จริยธรรมสัญจร (ตอน​๑)


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๖๓ : จริยธรรมสัญจร (ตอน๑)

สองสามวันก่อน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดกิจกรรม "จริยธรรมสัญจร" ให้แก่แพทย์ใช้ทุนและแพทย์ประจำบ้าน รู้สึกมีประเด็นน่าสนใจมาเล่าขยาย

การเรียนจริยธรรมนั้น ไม่ได้ต้องการแค่ให้ "รู้จริยธรรม" แต่หวังจะให้เชื่อ และนำมาหลอมรวมกับชีวิตของผู้เรียนไปด้วย ดังนั้นอุบาย (หรือกุศโลบาย / อุบายอันเป็นกุศลธรรม) จึงต้องมากไปกว่าการบรรยาย แต่ต้องเชื่อมโยงความคิด อารมณ์ ความดี ความงาม เข้ากับความจริงให้เนียนสนิท ประดุจน้ำกับน้ำนมที่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน อันดับแรกการออกไปนอกสถานที่ (นอกจริงๆ ไม่มีสัญญานโทรศัพท์ ไม่มี wifi ในห้องประชุมเลย!!!) และเป็นสถานที่แห่งสัปปายะ (สวยงาม กลางธรรมชาติ มีโตรกธารไหลผ่านหน้าบันไดห้องประชุม) จึงเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่ง

หลังจากนั้นเราใช้ scenario หรือสถานการณ์จำลองเป็นตัวขับเคลื่อน เรียบเรียงโดยอาจารย์โอสรี (Osaree Akaraborworn) เป็น scenario ที่ผลักดันการเรียนรู้ได้ดีมาก เพราะทุกคนฟังปุ๊บก็เกิดความ "in" นึกภาพจริงออกได้อย่างชัดเจน มีห้าเรื่อง
@ ความลับผู้ป่วย (Patient's confidentiality)
@ หมอ และ extra income (Conflict of Interest)
@ เกม Pokemon Go
@ การโพสต์รูปขึ้น social media

ทุกเรื่องสามารถสอนหลักการจบได้ภายในสองสามนาที แต่ในภาคปฎิบัติหรือในชีวิตจริง (จริงๆ) กลับมีมิติ บริบท เพิ่มมากขึ้นมาอย่างมากมาย จากหัวข้อ ๔ เรื่อง และ ๕ สถานการณ์ สี่ในห้าสถานการณ์มีส่วนเกี่ยวกับสื่ออิเลกโทรนิกส์ สื่อสังคม (social media) อย่างมาก แสดงถึงความสำคัญในเรื่อง information technology กับวงการแพทย์ในยุคนี้ได้อย่างชัดเจน

@ความลับผู้ป่วย (Patient's confidentiality)

อาชีพแพทย์ทำให้เรามี "อภิสิทธิ์" ในการเข้าถึงข้อมูลที่คนส่วนใหญ่พิจารณาว่าเป็นความลับ เป็นเรื่องส่วนตัว ได้มากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็เพราะเรื่องราวที่เป็นเรื่องความลับ และเรื่องส่วนตัวนั้น มักจะมีประโยชน์ในการทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ วางแผนการรักษาได้ ไปจนถึงวางแผนการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอีก หรือบรรเทาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อๆไป เพราะสาเหตุเหล่านี้ (สรุปสั้นๆคือ "ทำให้คนหายทุกข์") คนถึงยอมบอกเล่าความลับเหล่านั้นให้แพทย์ฟัง แพทย์พึงดูแลข้อมูลเหล่านี้ให้ดี ไม่ใช่เอาไปเผยแพร่

ในยุคที่ "การเผือก" (ผมคิดว่ามันมาจากคำว่า "การเสือก") เป็นกิจกรรมที่แพร่หลาย นิยม ไปถึงขั้นมีคำประเภท "บุคคลสาธารณะ" อะไรเกิดขึ้นมา (ไม่เข้าใจที่มาคำๆนี้ อยากจะเชื่อว่าเป็นเพียงคำที่อ้างขึ้นเพื่อที่ตนเองจะได้เสือกอย่างที่สันดานมันอยากจะทำ) เดี๋ยวนี้แพทย์ก็จะอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องพิจารณาว่าเรื่องอะไรที่จะเปิดเผย เพื่อให้คนเผือกได้สมใจ

ในความเป็นจริง ข้อมูลที่จะเป็น "สาธารณะ" นั้น ต้องเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เท่านั้น เช่น มีคนติดเชื้อเป็นโรคระบาด สาธารณะควรจะทราบว่า "มีโรคระบาดในชุมชนเกิดขึ้น" แต่สาธารณะไม่ต้องทราบว่า "นาย ก ลูกนาง ข เป็นโรคระบาดนี้เพราะไปมีเพศสัมพันธ์กับเด็กชาย ค ฯลฯ" มันคนละส่วนกัน

@ อาชีพแพทย์ และ extra income

ใครๆก็ต้องการหรือหวังว่าในช่วงบั้นปลายชีวิต เราจะมีอะไรที่การันตีว่าเกิดอะไรขึ้นมา เราก็พอจะมีแหล่งที่มาทรัพยากรที่จะดูแลตัวเราและครอบครัวได้ อันนี้ไม่ผิดอะไร แต่จะเกิดปัญหาได้เหมือนกัน เพราะ "วิชาชีพแพทย์" นั้น มี "อภิสิทธิ์" ในด้านเอื้ออำนวยให้ชีวิตคนหายไข้ หายป่วย และเรามีชื่อเสียงว่า "เราทำเพื่อผู้อื่น เราไม่ได้ทำเพื่อตนเอง" หมอพูดอะไร ก็มีแนวโน้มที่คนจะเชื่อ (เพราะเราพูดไปตามเนื้อผ้า พูดไปตามหลักฐานเชิงประจักษ์)

มันจะเกิดปัญหาเพราะ บ่อยครั้งที่การ "ซื้อ / ขาย" นั้น แรงผลักที่สำคัญคือเรื่องความเชื่อใจ ลูกค้าซื้อเพราะ "เชื่อใจ" ในสินค้า ซึ่งข้อมูลว่าสินค้าน่าเชื่อถือ ก็อาจจะมาการค้นคว้าของลูกค้าเอง แต่ก็อาจจะมาจาก "saleman เป็นคนบอก" ดังนั้นอาชีพที่มี "ต้นทุนความน่าเชื่อถือ" มาก่อน ก็ดูจะเป็นคุณสมบัติที่ดีในการเป็น saleman

จนกระทั่งเกิดการ "ซื้อเพราะหมอขาย" ไม่ใช่ซื้อเพราะสินค้าดี เมื่อนั้นก็จะเกิด "ความเสี่ยง" ของการ abuse ชื่อเสียงของวิชาชีพขึ้นได้

"ผลประโยชน์ทับซ้อน" เป็นจริยธรรมที่ค่อนข้าง abstract เป็นนามธรรมสักนิดนึง แต่ก็ไมได้ยากมาก โดยนิยามก็คือ เมื่อไรก็ตามที่วัตถุประสงค์หลักถูกทดแทน หรืออาจจะถูกทดแทนด้วยวัตถุประสงค์รอง ก็จะเกิด conflict of interest เกิดขึ้น ในที่นี้ก็คือ การซื้อสินค้าที่ดี กลายเป็นการซื้อสินค้าจากหมอที่น่าเชื่อถือ แรงผลักที่ทำให้ซื้อคือ "ซือจากหมอ" ไม่ใช่ซื้อสินค้า ก็เกิดปัญหาขึ้นมาทันที

พอดีในที่ประชุมของเรา มีเจ้าหน้าที่ของภาคไปด้วย เราเลยชวนให้มีบทบาทสะท้อนในฐานะคน "นอกวงการ" ถามว่าเธอรู้สึกอย่างไรที่หมอขายของ เธอก็บอกเลยว่า "ไม่อยากให้ขาย" ถามว่าเพราะอะไรก็ตอบทันทีเหมือนกันว่า "บางทีก็ซื้อเพราะเกรงใจ ยิ่งถ้ามีความสัมพันธ์เป็นคนไข้ด้วยแล้ว กลัวว่าไม่ซื้อแล้วจะไม่ได้รับการดูแลเต็มที่"

ก็มีเหมือนกันที่เจ้าหน้าที่อีกคนบอกว่า "ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ดีเสียอีก เพราะหมออธิบายชัดเจนว่ามันดีอย่างไร มีหลักฐานทางวิชาการ ฯลฯ"

เรื่องชักยาว ขอแบ่งตอน

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันอังคารที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๕ นาที
วันแรม ๔ คำ่ เดือน ๑๐ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 615097เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2016 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2016 11:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท