​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๖๔ : จริยธรรมสัญจร (ตอน ๒)


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๖๔ : จริยธรรมสัญจร (ตอน ๒)

ถ้าจะเท้าความสักนิด อาจจะต้องทำความเข้าใจว่า "มีจริยธรรมไปเพื่ออะไร?"

๑) เป็นเครื่องมือปกปักรักษา (prevention, protection)
๒) เป็นเครื่องมือแยกแยะความดี ความเลว (traditional morality, distinguish right and wrong)
๓) เป็นเครื่องมือยึดเหนี่ยว เป็นหลัก เป็นราก ในการสร้างกฎ สร้างเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือกฎหมาย (morality as foundation of laws)

ขอไม่กล่าวถึงสองข้อหลัง แต่คิดว่าสำหรับวิชาชีพแพทย์นั้น เอาแค่ข้อแรกก็เหลือเฟือแล้ว

@ จริยธรรมเพื่อปกปักรักษา

ความดีในโลกนี้นั้นเกิดขึ้นเพราะเรามี awareness of others' existence การรับรู้ว่ามีคนอื่นอยู่ร่วมกับเราในนิเวศน์ และสุขทุกข์ของทุกคนในนิเวศน์นั้นๆ เชื่อมโยงกันหมด
รักษาสองส่วนคือ
๑) ปกปักรักษาคนอื่น
๒) ปกปักรักษาตนเอง

๑) การปกปักรักษาคนอื่นนั้น เป็นไปตามหลักจริยธรรมคือ Primum, non-nocere คือ First, Do No Harm จะทำอะไรก็ตาม อย่าทำให้เกิดความทุกข์เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ยังไม่ต้องไปพูดถึงสุข ถึงสบาย อันดับหนึ่งถ้าทำให้เกิดทุกข์แล้วก็พลาดแล้ว ความทุกข์นำมาซึ่งอะไรต่อมิอะไรอีกหลากหลายมากมาย ไม่เพียงเฉพาะทุกข์ทางกายเท่านั้น ทุกข์ทางใจยิ่งสำคัญ อีกส่งผลระยะยาวกว่า รุนแรงกว่า การปกป้องคนอื่นนั้นก็ยังมี priority degree ต่างๆกันอีก
@ ผู้อ่อนแอ ช่วยตนเองไม่ได้ อาทิ เด็ก คนชรา คนป่วย คนที่มีปัญหาด้านการคิดวิเคราะห์ (vulnerable population)
@ คนในชุมชน สังคม
@ คนในสังคม ในประเทศ ในโลก

๒) การปกปักรักษาตนเอง จริยธรรมนั้นเป็นธรรมคุ้มครองมงคลของชีวิตของเรา ความรับผิดชอบ หน้าที่ ความน่าไว้เนื้อเชื่อใจ ที่สำคัญคือ "ตนเอง" นั้นมี "มิติ"
@ ตนเองในฐานะบุคคล
@ ตนเองในฐานะเป็นหมอ เป็นแพทย์
@ ตนเองในฐานะเป็นตัวแทนองค์กร และวิชาชีพแพทย์

จากการที่ "ตนเอง" มีมิติเช่นนี้ ทำให้เราต้องฝึกฝนการรับรู้มากเป็นพิเศษ เพราะบางครั้ง เรา "ชัด" เจนว่าเรามีเจตนาดี ไม่มีเจตนาร้าย ไม่ได้ต้องการจะ do harm แก่ใคร แต่อาจจะมีคน "รับรู้" หรือ "คิดว่า" เรากำลังใช้ฐานะการเป็นหมอในเรื่องราวที่ไม่ถูกต้องอยู่ก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นหมอ แต่ที่บ้านมีธุรกิจขายเครื่องมือแพทย์ด้วย ในขณะที่เราก็มีความรู้เป็นอย่างดีในเครื่องมือเหล่านั้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ อาหารเสริม ยาบำรุงกำลัง ฯลฯ เราอาจจะคิดว่าแนะนำเครื่องมือเหล่านี้ หรือการใช้อาหารเหล่านี้แก่คนไข้ชองเราเองที่กำลังดูแลอยู่ เป็นเจตนาอันบริสุทธิ์ แต่ก็มีความเสี่ยงว่า คนอื่นจะเกิดความคิดว่าเรากำลัง abuse วิชาชีพ ทำไมหมอมาขายอาหารเสริม ยาบำรุง ยาหน้านวล ฯลฯ เราอาจจะไม่ผิดในฐานะบุคคล แต่เราอาจจะบั่นทอนภาพรวมของ "วิชาชีพ" ได้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

บางคนอาจจะบอกว่าการซื้อสินค้า เป็นการ "สมยอม" คือคนซื้อต้องรับผิดชอบว่าตนเองได้คิดแล้ว ใคร่ครวญแล้ว เป็นเรื่องของความ "ฉลาด" ที่ผู้บริโภคต้องรับผิดชอบตนเอง แต่ถ้าเรากลับไปดูเรื่องหน้าที่ "การปกป้องรักษาผู้อื่น" นั้น ถึงแม้ว่าคนฉลาดจะปกป้องตนเองได้ แต่เรามีหน้าที่ปกป้อง "vulnerable people" ได้แก่คนที่ไม่มีทางเลือกนอกจากจะเชื่อเรา บางทีเขาก็ไม่เข้าใจทั้งหมด แต่ต้องมาเชื่อเรา คิดว่าเราหวังดี คนกลุ่มนี้ที่เรามีหน้าที่ต้องปกป้องดูแลเป็นสำคัญ สำคัญมากกว่าคนฉลาดๆทั้งหลายแหล่เสียอีก

ทักษะในการคิดเผื่อผู้อื่น จึงสำคัญต่อวิชาชีพแพทย์ ดังจะเห็นได้จากพุทธภาษิตของมหาวิทยาลัยมหิดล และสงขลานครินทร์ นั้นคือ "อตฺตานํ อุปมํ กเร" การเอาใจเขามาใส่ใจเรา วิชาชีพแพทย์ไม่ได้คิดเอาตัวเองเป็นหลัก แต่ต้องทำเพื่อประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง เรื่องนี้เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนเป็นเวลายาวนาน เพราะมนุษย์มีแนวโน้มที่จะเอาตัวเองเป็นใหญ่ เป็นโจทย์ แต่ขาดทักษะคิดเผื่อความรู้สึกของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่กำลังทุกข์

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันอังคารที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๘ นาที
วันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 615095เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2016 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2016 11:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท