Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ICCPR และ สิทธิในการจดทะเบียนคนเกิด


กรณีศึกษาเด็กหญิงสรินยา : สิทธิในการจดทะเบียนคนเกิดภายใต้อนุสัญญาสิทธิเด็ก

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๒

--------------

ข้อเท็จจริง

--------------

นางนาซือคาต้องการจะแจ้งการเกิดของเด็กหญิงสรินยาซึ่งเกิดที่อำเภอชัยปราการเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๒ จากตนและนายอาตู ซึ่งบุคคลทั้งสองเป็นชาวเขาเผ่ามูเซอ

อนึ่ง ข้อ ๒๔ แห่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖ (International Covenant on Civil and Political Rights on December 16, 1966) บัญญัติว่า

๑. เด็กทุกคนย่อมมิสิทธิในมาตรการต่างๆ เพื่อการคุ้มครองเท่าที่จำเป็นแก่สถานะแห่งผู้เยาว์ในส่วนของครอบครัวของตน สังคมและรัฐโดยปราศจากการเลือกประติบัติอันเนื่องจากเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน หรือกำเนิด (Every child shall have, without any discrimination as to race, colour sex, language, religion, national or social origin, property or birth, the right to such measures of protection as are required by his status as a minor, on the part of his family, society and the State.)

๒. เด็กทุกคนย่อมมีหลักฐานทางทะเบียนทันทีที่ถือกำหนดและย่อมได้รับการตั้งชื่อ (Every child shall be registered immediately after birth and shall have a name)

๓. เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ (Every child has the right to acquire a nationality)”

---------

คำถาม

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ถามว่า รัฐไทยจะปฏิเสธที่จะรับแจ้งการเกิดของเด็กหญิงสรินยาได้หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?[1]

---------

แนวคำตอบ

-----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ข้อสัญญาในสนธิสัญญาที่ได้รับการสัตยาบันแล้วย่อมผูกพันรัฐเจ้าของภาคี เว้นแต่รัฐภาคีจะตั้งข้อสงวนในเรื่องนั้น

จะเห็นว่า รัฐไทยย่อมถูกผูกพันที่จะจดทะเบียนคนเกิดของมนุษย์ในประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะไม่ปรากฏมีการตั้งข้อสงวนในเรื่องดังกล่าวที่ปรากฏในข้อ ๒๔ แห่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖ แม้รัฐไทยจะได้ตั้งข้อสงวน[2]ในข้อสัญญาที่มีลักษณะเดียวกันในอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๘๙ (Convention on the Rights of the Child on 20 November 1989) ก็ตาม

ดังนั้น โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐไทยจึงไม่อาจจะปฏิเสธที่จะรับแจ้งการเกิดของเด็กหญิง สรินยาได้



[1] ข้อสอบปลายภาคในวิชา น. ๔๖๕ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ภาคที่ ๑ ของปีการศึกษา ๒๕๔๒ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ

[2] นอกจากนั้น คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการถอนข้อสงวนดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ การถอนข้อสงวนดังกล่าวของประเทศไทยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันที่สำนักเลขาธิการสหประชาชาติได้รับตราสารถอนข้อสงวนจากประเทศไทย



หมายเลขบันทึก: 615071เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2016 02:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2016 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท