Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

อนุสัญญาประมวลกฎหมายทะเลมีสถานะเป็นบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับประเทศไทยหรือไม่ ?


กรณีศึกษาสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันประเทศไทยในฐานะบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙

---------

คำถาม[1]

---------

สนธิสัญญาดังต่อไปนี้ กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศภายใต้สนธิสัญญาฉบับใดที่มีผลผูกพันประเทศไทยในฐานะบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ ? เพราะเหตุใด ?

  • อนุสัญญาแห่งกรุงเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวงลงวันที่ ๒๙ เมษายน ค.ศ.๑๙๕๘ (Geneva Convention on the High Seas on 29 April 1958)
  • อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๘๒ (United Nations Convention on the Law of the Sea. on 10 December 1982)

-------------

แนวคำตอบ

--------------

เมื่อกล่าวถึงบ่อเกิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ เราจะต้องคำนึงถึงมาตรา ๓๘ แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพราะมาตรานี้เป็นตัวกำหนดสิ่งที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอาจนำมาใช้ในการพิจารณาข้อพิพาทระหว่างประเทศ

มาตรา ๓๘ แห่ง ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำหนดว่า

"(๑.) ศาลนี้ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาพิพากษากรณีพิพาทที่มาสู่ศาลตามกฎหมายระหว่างประเทศจะต้องใช้

(ก) อนุสัญญาระหว่างประเทศ ไม่ว่าทั่วไปหรือโดยเฉพาะ ซึ่งตั้งกฎเกณฑ์อันเป็นที่รับรองโดยรัฐที่เกี่ยวข้องโดยแจ้ง

(ข) จารีตประเพณีระหว่างประเทศในฐานะเป็นหลักฐานแห่งการปฏิบัติโดยทั่วไป ซึ่งได้รับการรับรองว่าเป็นกฎหมาย

(ค) หลักทั่วไปของกฎหมายซึ่งอารยประเทศรับรอง

(ง) ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๕๙ คำตัดสินขององค์กรตุลาการและคำสอนของผู้เผยแพร่ที่มีคุณวุฒิสูงสุดแห่งประเทศต่างๆ ในฐานะเป็นเครื่องช่วยให้ศาลวินิจฉัยหลักกฎหมาย

(๒.) บทบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนอำนาจของศาลในการวินิฉัยชี้ขาดคดี โดยอาศัยหลักความยุติธรรมและความรู้สึกผิดชอบอันดี หากคู่ความตกลงให้ปฏิบัติเช่นนั้น”

จากการพิจารณาข้อกำหนดของมาตรา ๓๘ จะเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดถึงบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ ๓ ระดับ กล่าวคือ บ่อเกิดอันดับแรก บ่อเกิดอันดับรอง และบ่อเกิดตามเจตนาของรัฐ

บ่อเกิดอันดับแรก ก็คือ ตัวกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอาจนำ มาตัดสินคดี กล่าวคือ สิ่งที่ศาลยอมรับในฐานะของกฎหมายที่เป็นอยู่(Positive Law) มาตรา ๓๘ ระบุถึง บ่อเกิดอันดับแรกว่า มีอยู่ ๓ ประเภท อันได้แก่ สนธิสัญญา กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และ หลักกฎหมายทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ

โดยมาตรา ๓๘ (๑.) (ก.) รัฐจะต้องยอมรับกฎเกณฑ์ภายใต้อนุสัญญาในสถานะของบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศก็ต่อเมื่อรัฐนั้นได้ยอมรับที่จะผูกพันกับอนุสัญญาดังกล่าว กล่าวโดยหลักทั่วไป ก็คือ ได้มีการลงนามและให้สัตยาบัน หรือในกรณีที่รัฐยังไม่ยอมรับผูกพันตามอนุสัญญาจนเป็นที่สุดแล้ว กฎเกณฑ์ตามอนุสัญญาก็อาจมีผลผูกพันรัฐได้หากกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้รับการยอมรับจากนานารัฐในสถานะของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศหรือหลักกฎหมายทั่วไปตามมาตรา ๓๘ (๑.) (ข.)

ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ประเทศไทยได้ลงนามในวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๑ (ค.ศ.๑๙๕๘) และให้สัตยาบันในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๑ (ค.ศ.๑๙๖๘) ต่ออนุสัญญาแห่งกรุงเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวง ค.ศ.๑๙๕๘ แล้ว กฎเกณฑ์ภายใต้อนุสัญญานี้จึงมีผลผูกพันประเทศไทยในฐานะบ่อเกิดอันแรกของกฎหมายระหว่างประเทศประเภทอนุสัญญาระหว่างประเทศตามมาตรา ๓๘ (๑) (ก)

แต่ในส่วนกฎเกณฑ์ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.๑๙๘๒ นั้น เนื่องจากประเทศไทยลงนามในอนุสัญญานี้แล้วในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๕ (ค.ศ.๑๙๘๒) แต่ยังมิได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว ดังนั้น กฎเกณฑ์ภายใต้อนุสัญญานั้นจึงไม่อาจมีผลผูกพันประเทศไทยในฐานะอนุสัญญาระหว่างประเทศซึ่งเป็นบ่อเกิดอันดับแรกของกฎหมายระหว่างประเทศตามมาตรา ๓๘ (๑) (ก) แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎเกณฑ์ภายใต้อนุสัญญานี้ซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะ การปฏิบัติโดยทั่วไป ซึ่งได้รับการรับรองเป็นกฎหมาย กฎเกณฑ์ดังกล่าวจึงย่อมผูกพันประเทศไทยได้ในฐานะกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นบ่อเกิดอันดับแรกของกฎหมายระหว่างประเทศเช่นกัน แต่เป็นไปตามมาตรา ๓๘ (๑) (ข)



[1] ข้อสอบปลายภาคในวิชา น. ๔๖๕ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ภาคที่ ๑ ของปีการศึกษา ๒๕๔๑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ


หมายเลขบันทึก: 615070เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2016 01:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2016 01:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท