บริการวิชาการแก่ชุมชนด้วยการให้คำแนะนำในการจัดตั้งห้องสมุดในชุมชน


วันนี้น้องในออฟฟิสที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลห้องสมุดทางสถานีวิทยุกระจายเสียง มาขอข้อมูลเพื่อไปจัดรายการวิทยุ โดยบอกว่าหนูอยากจะขอรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่ป้าทำ

ดีใจค่ะ ... ที่มีคนมองเห็นงานด้านบริการวิชาการ ที่ได้รับผิดชอบอยู่นี้มีความสำคัญ หลายๆองค์กร...งานบริการวิชาการไม่ใช่งานหลักขององค์กร แต่เป็นงานที่ไม่ทำไม่ได้ (ถ้าไม่แน่ใจกลับไปดูพันธกิจขององค์กรอีกครั้งนะคะ) พอได้เตรียมข้อมูลให้น้อง ก็ทำให้เราได้รู้ว่า อิป้าจับงานด้านนี้มาถึง 5 ปีแล้วนะ

งานบริการวิชาการมีหลายๆ ประเภท ขอยกตัวอย่างด้านการจัดตั้งห้องสมุดนะคะ

สิ่งที่ควรระวังก่อนทำการให้คำปรึกษาจัดตั้งห้องสมุด ต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้เป็นเบื้องต้น

1. อย่าเอาคำว่ามาตรฐานไปใช้จนเกินศักยภาพของหน่วยงานผู้ร้องขอ

2. ให้คำปรึกษาตามกำลัง ขอบเขตหรือ Scale ของแต่ละแห่ง เสื้อเบอร์เดียวใส่ไม่พอดีกันทุกๆ คนหรอก

3. พิจารณาถึงปัจจัยความยั่งยืนเป็นองค์ประกอบในการให้คำปรึกษา (ผู้ปฏิบัติงาน ระบบ สถานที่ งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ ความสามารถในการจัดการ)

ดังนั้นก่อนก่ารให้คำปรึกษาด้านการจัดตั้งห้องสมุดทุกครั้ง จึงควรให้หน่วยงานผู้ร้องขอ

-เสนอเหตุผลความจำเป็นในความต้องการให้มีแห่งเรียนรู้ในชุมชน

-มีการสำรวจและศึกษาพื้นที่ ตลอดจนข้อมูลความต้องการ ข้อมูลพื้นฐาน ร่วมกับเจ้าของพื้นที่



ความเป็นมา

การบริการวิชการแก่ชุมชนเป็นภารกิจหนึ่งของสำนักหอสมุด นอกจากการสนับสนุนการเรียนการสอน โดยใช้องค์ความรู้ที่เป็นสมรรถนะหลักขององค์กรในการพัฒนาชุมชนด้วยศาสตร์ของการจัดการห้องสมุด การจัดการสารสนเทศ เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการอ่าน และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

สอดคล้องกับปัญหของประเทศไทย ที่พบว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยและมีแรวโน้มเพิ่มมากขึ้น (ล่าสุดผลวิจัยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปรากฎว่า คนไทยใช้เวลาในการอ่าน“เฉลี่ย 66 นาที/วัน”) และตอบสนองต่อนโนบายของ กระทรวงศึกษาธิการในการลดเวลาเรียนและเพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge) ที่กำหนดขึ้นในปี 2558 ดังนั้นการมีห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ในชุมชน จึงเป็นโครงการที่สำนักหอวมุด ให้ความสำคัญ อย่างน้อยปีละ 1 แห่ง

วัตถุประสงค์

1. เพื่อพัฒนาสังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้ในจังหวัด

2. เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนในด้านความต้องการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้

ประโยชน์ที่ได้รับ

1. จังหวัดเป็นสังคมรักการอ่าน ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนและคนไทยเพิ่มอัตราการอ่านให้มากขึ้นกว่าเดิม

2. โรงเรียน/วัด/ชุมชน มีแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้บ้าน สะดวกในการเข้าถึง เป็นแหล่งที่สามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่มีค่าใช้จ่าย

3. บุคลากรสำนักหอสมุดได้ใช้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพให้เกิดประสงค์ต่อสังคม นับเป็นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ



รูปแบบการบริการวิชาการ ในด้านการจัดตั้งห้องสมุด

ดำเนินการหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการของชุมชน อาทิ

-เป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งห้องสมุด

-อบรมให้ความรู้ในการจัดการห้องสมุด และระบบห้องสมุดอัตโนมัติ

-ร่วมจัดตั้ง/พัฒนาห้องสมุด ทั้งในด้านกายภาพ ระบห้องสมุดอัตโนมัติ และการบริหาร

-จัดหาทรัพยากรสารสนเทศเข้าห้องสมุด เพื่อความทันสมัยของทรัพยากร

เป็นต้น

กลุ่มเป้าหมาย

  • โรงเรียนในเขตอ.เมือง จังหวัดขอนแก่น
  • วัดในเขตอ.เมือง จังหวัดขอนแก่น
  • ชุมชนต่างๆ ในเขตอ.เมือง จังหวัดขอนแก่่น

รูปแบบการดำเนินงาน เป็นการดำเนินงานโดยสำนักหอสมุดเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งศิษย์เก่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

  • ปี 2555 ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการจัดผ้าป่าหนังสือที่สร้างห้องสมุดชุมชนวัดสุคนธารามต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เป็นกรณีพิเศษ
  • ปี 2556 ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนบ้านหนองปอ
  • ปี 2557 ได้ดำเนินการจัดระบบห้องสมุดอัตโนมัติให้กับห้องสมุดประชาชนบ้านโนนเขวา โดยการร้องขอของชุมชน และอบรมให้ความรู้ผู้ปฏิบัติงานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
  • ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น ในปี 2558 ในด้านจัดหาทรัพยากรสารสนเทศเข้าห้องสมุดชุมชน
  • ปี 2558 ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนบ้านดงกลาง เนื่องในโอกาสมหาวิทยาลัยขอนแก่นครบรอบ 50 ปี
  • ปี 2559 ได้ห้องสมุดโรงเรียนบ้านโนนแต้ ตามคำร้องขอของโรงเรียน
  • ปี 2559 ร่วมกับบริษัทเอกชนในการเป็นผู้เชี่ยวชาญสำรวจความต้องการของโรงเรียนในการต้องการห้องสมุด เพื่อการให้ทุนสนับสนุนในการดำเนินการต่อไป


งานเห็นผล-คนเป็นสุข

กิจกรรมนี้สำเร็จได้ด้วยดีในทุกๆโครงการ ทุกๆ ปีที่ผ่านมา เนื่องจาก เป็นกิจกรรมที่ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมได้และนับเป็นการพัฒนาเยาวชนในด้านการอ่าน ตอบโจทย์รัฐบาลในด้านการศึกษาที่ว่า-ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้



Tips สำหรับการบริจาคหนังสือ/วารสาร

กิจกรรมการบริจาคเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้โครงการจัดตั้งห้องสมุดในชุมชนได้รับความสำเร็จ หากคุณเป็นผู้ที่มีแนวคิดในการ “แบ่งปันหนังสือสู่มือน้อง” “หนังสือนี้-พี่ให้น้อง” หรือ “หนังสือนี้ดี...มีค่าแก่การอ่านแล้ว” หากท่านจะบริจาคเข้าร่วมโครงการใดๆ มี Tips เล็กๆ สำหรับการบริจาคหนังสือแล้วทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้

1. หนังสือควรมีสภาพดี เนื้อหามีความทันสมัย มีเนื้อหาตรงกับปัจจุบัน ไม่เก่าเก็บ เพราะหากเป็นหนังสือที่เก่ามาก เนื้อหาจะล้าสมัย เป็นปัญหาในด้านการขนย้าย การจัดเก็บของห้องสมุด เป็นภาระมากกว่าเกิดประโยชน์

2. หาเป็นวารสาร ควรพิจารณาความต่อเนื่องของวารสาร (มีจำนวนฉบับมากพอ) ปีไม่เก่าจนเกินไป อายุวารสารไม่ควรเกิน 3 ปี

3. สอบถามเจ้าของโครงการว่าต้องการหนังสือ/วารสารประเภทใด จะได้เลือกบริจาคให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย หากหนังสือที่บริจาคมาไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของห้องสมุดหรือกลุ่มอายุผู้อ่าน จะไม่เกิดประโยชน์

4. แบบฝึกหัดที่ลูกๆ ทำแล้วนั้น หนังสือที่มีการขีดเขียน อาจไม่เหมาะสำหรับการบริจาค เนื่องจากยุคปัจจุบันองค์ความรู้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และหนังสือที่มีการเขีดเขียนแล้วจะเป็นภาพจำ ที่อาจจะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในการขีดเขียนลงบนหนังสือของห้องสมุดได้


แผนงานในอนาคตที่น่าสนใจ

1. ร่วมกับเครือข่ายในการทำงานให้มีความกว้างขวางมากขึ้นในเชิงสิ่งของสนับสนุน นที่พื้นที่บริการ ความหลากหลายของกิจกรรม และความยั่งยืน

2. ขยายพื้นที่ในการให้บริการไปยังพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดขอนแก่น ให้มากขึ้นกว่า เขตอำเภอเมือง

3. ให้คำปรึกษาในด้านการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น


หมายเลขบันทึก: 613101เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2016 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2017 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท