ชีวิตที่พอเพียง : 2737. Transformation ในระดับจิตวิญญาณ


หนังสือ How Enlightenment Changes Your Brain : The New Science of Transformation เล่าเรื่องราว ของ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ในหลากหลายมิติ หลายมิติเป็นเรื่องลี้ลับ เชื่อมโยงกับพิธีกรรม ที่สืบทอด กันมาหลายร้อยปี หลายมิติเชื่อมโยงกับสมุนไพรกระตุ้นสมอง และมีมิติที่เชื่อมโยงกับการทำสมาธิแนวพุทธด้วย

ผู้เขียนเป็นหมอด้านสมองและสนใจการตรวจวัดการทำหน้าที่ของสมองส่วนต่างๆ ในสภาพจิต หรือการทำงานของสมองที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมองในสภาวะ Transformation หรือที่เขาเรียกว่า Enlightenment

วิธีออกแบบการทดลอง เพื่อทำความเข้าใจการทำหน้าที่ของส่วนต่างๆ ของสมอง ในสภาพจิตที่เขาเรียกว่า “enlightened” น่าสนใจมาก มีรายละเอียดต่างๆ มากมาย ข้อค้นพบที่สำคัญคือ ในสภาพดังกล่าว สมองส่วนควบคุมสติรู้คิดลดการทำหน้าที่ลง และสมองส่วนที่บอกความต่างระหว่าง “ตน” กับ “ผู้อื่น” ก็ลดการทำหน้าที่ลง ทำให้ความรู้สึก “เป็นหนึ่งเดียว” หรือ “เชื่อมโยงกับพระเจ้า” “เชื่อมโยงกับจักรวาล” เกิดขึ้นหรือเด่นชัดขึ้น

แต่จะให้สมองส่วนดังกล่าวลดการทำหน้าที่ลง และเกิดความรู้สึก “เปลี่ยนแปลง” อย่างมาก ต้องมีกระบวนการกระตุ้นสมองส่วนทั้งสองส่วนนั้นก่อน เมื่อถึงขั้นตอนลดบทบาทของสมองส่วนนั้น ก็จะเกิดความรู้สึกโปร่งโล่งสบาย พร้อมกับการ “เปลี่ยนใจ”

เหตุที่สมองส่วนสติรู้คิดลดลงในช่วงของการ “เปลี่ยนใจ” นั้น ก็เพราะเราจะต้องหลุดจากความยึดมั่น ถือมั่นเดิม จึงจะเปลี่ยนใจได้

ผมตีความ (ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด) ว่ามนุษย์เราต้องพัฒนาความมี “ตัวตน” เพื่อให้สมารถดำรงชีวิตรอดได้ แต่หากจะพัฒนายกระดับจิตวิญญาณของตนขึ้นไป ก็ต้องฝึกฝนลดตัวตน เพื่อเคลื่อนสู่ ความเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งหรือพลังที่อยู่นอกตัว ความเชื่อมโยงนั้นจะเกิดขึ้นได้ แรงต้านจากภายในตัวตนต้อง น้อยหรือสลายไป เมื่อเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติหรือสรรพสิ่งนอกตัว ก็ย่อมเกิดตัวตนใหม่ หรือ Transformation ที่หนังสือเล่มนี้เรียกว่า Enlightenment ที่มีทั้ง enlightenment (e เล็ก) และ Enlightenment (E ใหญ่) โดยความแตกต่างอยู่ที่แบบแรกเกิดชั่วคราว แบบหลังเกิดถาวร ความเห็นแก่ตัวหมดไปอย่างถาวร


เขาบอกว่าเส้นทางสู่ “พุทธะ” (Enlightenment) นี้มี ๕ ขั้นตอนคือ


  • มีแรงปรารถนา (desire) มุ่งมั่น และความเพียร
  • เตรียมตัว (prepare) เตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม
  • ร่วมพิธีกรรมอย่างเข้มข้น (engage) เพื่อให้หลุดออกจากสติรู้คิดแบบเดิมๆ ให้เข้าสู่จินตนาการ ที่หลุดจากสภาพจิตเดิม
  • ปล่อยวางตัวตน (surrender) ให้ล่องลอยไปกับพิธีกรรม หรือสภาพแวดล้อมในขณะนั้น หรือให้อยู่ในสภาพที่ Mihaly Csikszentmihalyi เรียกว่า flow
  • ไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflect) สิ่งที่ได้เกิดขึ้น เพื่อตีความและบูรณาการสิ่งที่เกิดขึ้นเข้ากับ ชีวิตประจำวัน

หนังสือตอนที่ ๓ ซึ่งประกอบด้วยบทที่ ๑๐, ๑๑, ๑๒ แนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนสภาพสมองสู่สภาพ “พุทธะ” โดยที่ในบทสุดท้าย คือบทที่ ๑๒ เขาบอกว่ามนุษย์ทุกคนบรรลุภาวะนี้ได้

ผมทั้งเชื่อและไม่เชื่อหนังสือเล่มนี้ ที่จริงผมเชื่อหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด แต่เชื่อว่ายังมีเส้นทางอื่นสู่ “พุทธะ” ได้อีก โดยไม่ต้องผ่านพิธีกรรมตามที่ระบุในหนังสือเล่มนี้ ผมคิดว่ากิจกรรมตามในหนังสือ Transformative Learning in Practice ที่ผมตีความเป็นหนังสือ เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง เป็นอีกเส้นทางหนึ่งสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งเนื้อทั้งตัว ที่อาจเรียกว่าเป็นสภาพ “พุทธะ” ได้เช่นเดียวกัน

วิจารณ์ พานิช

๑ ส.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 613054เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2016 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2016 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท