​เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ ๑๒. แก้โรควิตกกังวล


บันทึกชุดเลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ นี้ ตีความมาจากหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Life ซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่นจากนิตยสาร Scientific American Mind หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙

บันทึกที่ ๑๒ แก้โรควิตกกังวล ตีความจากบทความชื่อ Fear Not, Child โดย Jerry Bubrick บอกว่าทฤษฎีด้านสาเหตุและวิธีรักษาโรคนี้มีหลายสำนัก ผู้เขียนอยู่ในสำนัก CBT (Cognitive Behavioral Therapy)

ทำให้ผมนึกถึงศาสตราจารย์ Aaron Beck ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จากผลงานการพัฒนาวิธีรักษาโรคซึมเศร้าด้วย CBT (https://www.youtube.com/watch?v=fb8Fear Not, Child PkSX5dH4)

ผู้เขียนสรุปประเด็นสำคัญ ๓ ประเด็นคือ

  • ในสหรัฐอเมริกา มีเด็ก ๑.๘ ล้านคนเป็นโรควิตกกังวลในระดับมีอาการ
  • CBT (Cognitive Behavioral Therapy) เป็นวิธีรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจความคิด หรือความรู้สึกที่ก่อผลลบ และเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความคิดลบดังกล่าว
  • CBT ใช้หลักการฝึกเผชิญ และฝึกสนองตอบสถานการณ์ โดยผู้บำบัดช่วยให้ผู้ป่วย เผชิญความกลัว แทนที่จะหลบเลี่ยง หรือหลีกหนี

เช่นเดียวกับบทความก่อนๆ ผู้เขียนเดินเรื่องด้วยกรณีตัวอย่าง เด็กหญิงอายุ ๑๒ปี สมมติว่าชื่อ จูเลีย ที่หลบหน้าหลบตาคน ไม่กล้าออกจากห้อง ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวลทางสังคม (social anxiety) ที่เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มอาการวิตกกังวล (anxiety syndrome) แล้วอธิบายรายละเอียดของสาเหตุ และวิธีบำบัด ลงท้ายด้วยความสำเร็จ จูเลียออกสังคมและไปโรงเรียนได้ ทำกิจกรรมได้ตามปกติ โดยผู้เขียนบำบัดอาการ หวาดกลัว วิตกกังวล ด้วย CBT

แต่กว่าพ่อแม่จะพาจูเลียไปหาผู้เขียนก็ได้ไปหานักบำบัดอื่นมาก่อน และผลคืออาการของจูเลีย ยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะผู้บำบัดรายนั้นใช้ทฤษฎีและวิธีการแบบเก่า คือให้หลีกเลี่ยงความกลัว หาทางเปลี่ยนความคิดของจูเลียเสียก่อน ซึ่งยิ่งใช้วิธีนั้น อาการหวาดกลัวปิดตัวเองของจูเลียก็ยิ่งรุนแรง

เปลี่ยนความคิดด้วยพฤติกรรม

CBT (Cognitive Behavioral Therapy) แตกต่างจากวิธีรักษาโรควิตกกังวลที่ใช้กันทั่วไป วิธีทั่วไป เน้นการส่งเสริมให้หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นความวิตกกังวล จนกว่าจะแก้ความเข้าใจผิดได้ แต่ CBT เน้นตรงกันข้าม คือ ใช้การเปลี่ยนพฤติกรรม ค่อยๆ ออกไปเผชิญสิ่งที่ผู้ป่วยกลัว เพื่อให้ผู้ป่วยค่อยๆ เปลี่ยน ความคิด

ตามประวัติการป่วยของจูเลีย ได้ไปรับการรักษาด้วยวิธีดั้งเดิม ผลคืออาการยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อรักษาด้วย CBT อาการจึงค่อยๆ ดีขึ้น และกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ในที่สุด

ผมตีความว่า หลักการของ CBT เป็นเสมือน “หนามยอกเอาหนามบ่ง” คือเอาความกลัวนั่นเอง แก้ความกลัวโดยผู้บำบัดให้ผู้ป่วยเผชิญความกลัวแบบไม่รุนแรง ให้เห็นว่าไม่ได้เกิดผลร้ายอย่างที่กลัว ทำซ้ำๆ และยกระดับสิ่งที่น่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งยืนยันว่าผลที่กังวลว่าจะเกิดไม่เกิดขึ้น จนผู้ป่วยมั่นใจในที่สุด ก็หายจากโรควิตกกังวล

ผมตีความเอง (ไม่ทราบว่าผิดหรือถูก) ว่า CBT ช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงสมองของตนเอง ด้วยพฤติกรรมใหม่ เป็นไปตามหลักการเรียนรู้สมัยใหม่ ว่าพฤติกรรมเปลี่ยนโครงสร้างของสมอง

วิตกกังวลแล้วก้าวร้าว

เด็กชายอายุ ๑๐ ขวบ สมมติว่าชื่อ เจมส์ โดนเพื่อนล้อแล้วรั้งอารมณ์ไม่อยู่ ทำร้ายเพื่อนและอาละวาด ขว้างปาข้าวของแม้จะโดนจับไปที่ห้องครูใหญ่ เป็นอาการของโรควิตกกังวลเชิงสังคม (social anxiety) ที่ไม่แสดงออกเป็นความกลัว แต่แสดงออกไปในทางตรงกันข้าม คืออาละวาด ควบคุมอารมณ์ไม่ได้

เมื่อพ่อแม่ถามเจมส์ว่าวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง เจมส์ยกมือสองข้างปิดหูตนเอง แล้วตอบว่า “ไม่รู้ ไม่ฟัง” คนเป็นโรคนี้จะมีความกลัวต่อคำพูดเชิงติชม แม้แต่คำแนะนำที่สร้างสรรค์ก็ทนไม่ได้

ผู้เขียนบอกว่าในกรณีของผู้ป่วยโรควิตกกังวลที่อาการรุนแรงอย่างจูเลียและเจมส์ ต้องเริ่มด้วย CBT แบบเข้มข้น (intensive CBT) ที่ผู้ป่วยได้รับการบำบัดทุกวัน หรือเกือบทุกวัน วันละหลายชั่วโมง เป็นเวลาหนึ่งหรือหลายสัปดาห์ ตามด้วย CBT แบบปกติ คือสัปดาห์ละครั้ง และกรณีของจูเลีย ได้รับ family-focused CBT ด้วย คือสอนพ่อแม่และคน ในครอบครัว ให้รู้วิธีพูดคุยกับผู้ป่วย ก็ยิ่งช่วยให้การบำบัดได้ผลดี

การบำบัดโรควิตกกังวล ต้องใช้วิธีฝึกให้เผชิญ (exposure therapy) ไม่ใช่วิธีหลบหลีก (avoidance therapy)

รักษาด้วยยา

บทความบอกว่า การใช้ยาก็ให้ผลดี ยาที่ใช้เป็นยาลดความซึมเศร้า (antidepressant) ซึ่งอาจใช้โดดๆ หรือร่วมกับ CBT ก็ได้ เหมาะกับรายที่อาการรุนแรงมาก ถึงรุนแรงปานกลาง

พ่อแม่อย่าแก้ปัญหาแบบซ้ำเติม

พ่อแม่เด็กที่เป็นโรคนี้มักแก้ปัญหาแบบปกป้องช่วยเหลือ ให้หลบหลีกจากสิ่งที่เด็กกลัว ซึ่งเท่ากับเป็นการเข้าไปช่วยให้วงจรของโรคยิ่งเข้มแข็งขึ้น ในบทความนี้ลงคำพูดของแม่ ที่พูดว่าตนไม่รู้เลยว่าวิธีที่ตนพยายามช่วยลูกนั้น ที่แท้เป็นการซ้ำเติม

วิจารณ์ พานิช

๑๔ พ.ค. ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 612886เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2016 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2016 07:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท