Student Engagement ในชั้นเรียนขนาดใหญ่


วารสาร Journal of College Science Teachingลงบทความวิจัยเรื่อง Calling on Students Using Notecards : Engagement and Countering Communication Anxiety in Large Lecture ซึ่งเมื่ออ่านแล้วผม เกิดความคิดว่า โจทย์วิจัยการเรียนการสอนมีมากมาย หากเราตั้งคำถามเป็น โดยอิงเป้าหมายหลักที่ การเรียนรู้ของผู้เรียน

บทความวิจัยนี้ มีเป้าหมายลดความวิตกกังวลของนักศึกษาที่ถูกครูถามในชั้นเรียนแบบบรรยาย ที่ห้องเรียนมีขนาดใหญ่การที่ครูถามเป็นระยะๆ ก็เพื่อเป็นกลไกดึงนักศึกษาให้จดจ่อ (engage) อยู่กับบทเรียน ผู้วิจัยต้องการหาวิธีให้บรรยากาศในห้องเรียนไม่เครียด นักศึกษาไม่กังวลว่าเมื่อไรตนจะโดนถาม

เขาใช้ เทคนิค notecards คือให้ นศ. แต่ละคนเขียนข้อมูลของตนลงใน index card เพื่อให้อาจารย์ผู้บรรยายทำความรู้จักนักศึกษาแต่ละคนและใช้ในการทำ notecard-facilitated cold-calling ในชั้นบรรยาย เพื่อให้อาจารย์ชี้คนตอบ (แบบไม่ให้ยกมือขอตอบ - cold-calling) อย่างมีระบบ แล้วทำวิจัยสอบถามความพึงพอใจของนักศึกษา

ผลคือ นศ. ส่วนใหญ่ (๒๕๐ คน) ชอบเพราะช่วยให้คนจดจ่อกับชั้นเรียนมากขึ้นสนใจเข้าชั้นเรียนมากขึ้นและได้เรียนรู้จากคำตอบของเพื่อน แต่ก็มี นศ. อีกจำนวนหนึ่ง (๑๔๒ คน)บอกว่าไม่ชอบการชี้ให้ตอบคำถามโดยไม่รู้ตัว (cold-calling) เพราะทำให้เครียดอยู่ตลอดเวลา ว่าเมื่อไรจะโดนชี้ให้เป็นผู้ตอบนศ. บางคนบอกว่าตนไม่อยาก เข้าชั้นเรียนในวันที่ไม่มีการสอบ

นั่นคือ นศ. อเมริกันนะครับไม่ทราบว่าเคยมีคนทำวิจัยใน นศ. ไทยบ้างหรือไม่ ในเรื่อง student engagement ในห้องบรรยายขนาดใหญ่

เขาบอกว่า เทคนิคการสร้าง student engagement ในห้องเรียนแบบบรรยายขนาดใหญ่ เป็นเรื่อง สำคัญมากแต่เป็นศาสตร์ที่ก้าวหน้าช้า (ในสายตาของผม สภาพอย่างนี้แหละคือโอกาสทองในการสร้างตัว เป็นนักวิจัยที่มีชื่อเสียง)

อ่านบทความคร่าวๆ แล้วผมบอกตนเองว่าคำถามที่หายไป และน่าจะสำคัญมาก คือลักษณะ ของคำถามที่ นศ. ชอบ/ไม่ชอบเพราะอะไร คำถามที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ที่ดี น่าจะเป็นคุณต่อ นศ. มากกว่าคำถามสะเปะสะปะ

เคยมีคนเล่าให้ผมฟังว่า ได้ไปเข้าหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ใน Business School ที่มีชื่อเสียงระดับโลกผู้บรรยายเก่งมากที่จะใช้คำถาม และ cold-calling ในการสร้างความมั่นใจให้ผู้เข้ารับการอบรม ที่ไม่เคยยกมือตอบคำถามเลยให้เข้าร่วมการอภิปรายในชั้นเรียนอย่างสนุกสนาน หลังจากได้ตอบคำถาม cold-calling คำถามแรกนั้นแล้ว

ผมเดาว่า ในกรณีเช่นนั้น อาจารย์ผู้สอนต้องศึกษาประวัติของผู้เข้ารับการอบรมมาอย่างดีและตั้งคำถามที่ตนรู้ว่า ผู้ถูกชี้สามารถตอบได้ดี จากประสบการณ์ของตน ที่จะทำให้เพื่อนๆ ในชั้นสนใจซึ่งจะสร้างความมั่นใจต่อการร่วมอภิปรายในชั้นเรียนให้แก่ผู้ถูกชี้ให้ตอบท่านนั้นซึ่งในชั้นเรียนระดับ ปริญญาตรี และห้องเรียนมีนักศึกษาหลายร้อยคนเป็นภาระหนักสำหรับอาจารย์และ notecard ของ นศ. แต่ละคนน่าจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง

ท่านที่สนใจจริงๆ ต้องอ่านบทความฉบับเต็มที่ลิ้งค์ไว้ให้แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนวิธีการ เกี่ยวกับ notecard ซึ่งน่าจะนำมาปรับใช้ในบริบทไทยได้

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.ค. ๕๙

ห้องรับรองการบินไทย สนามบินสุวรรณภูมิ

หมายเลขบันทึก: 612670เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2016 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2016 08:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท