เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ ๑๑. ช่วยเหลือเด็กออทิสติก


บันทึกชุดเลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ นี้ตีความมาจากหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Lifeซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่นจากนิตยสาร Scientific American Mind หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙

บันทึกที่ ๑๑ ช่วยเหลือเด็กออทิสติก ตีความจากบทความชื่อ Help for the Child with Autism โดย Nichola Lange & Christopher J. McDougle (http://www.nature.com/scientificamerican/journal/v309/n4/full/scientificamerican1013-72.html?WT.ec_id=SCIENTIFICAMERICAN-201310)สรุปได้ว่าช่วยได้ ๓ ทาง คือเยียวยาด้วย(๑) การฝึกเด็ก(๒) ยาหรือฮอร์โมน(๓) การวิจัยหาสาเหตุ

ผู้เขียนสรุปข้อเรียนรู้ ๓ ประเด็นคือ(๑) เด็กที่ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ พี่น้อง และเด็กอื่นๆ นำไปสู่การวินิจฉัยว่าเป็นออทิสซึ่มเมื่ออายุประมาณ ๒ ขวบ(๒) อาจช่วยเหลือได้โดยเริ่มต้นการบำบัดที่ช่วย พัฒนาการสื่อสารทางสังคม ให้เร็วที่สุดอาจนำไปสู่การเข้าโรงเรียนตามปกติ และสามารถสื่อสารกับเพื่อนๆ และคนในครอบครัวได้(๓) การวิจัยทำความเข้าใจทางชีววิทยาของออทิสซึ่ม อาจนำไปสู่การวินิจฉัยตอนเป็น เด็กเล็กการรักษาด้วยยาและการบำบัดเชิงพฤติกรรม เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารเชิงสังคม

ผู้เขียนเริ่มต้นบทความด้วยการเล่าเรื่องชีวิตของเด็กออทิสติกคนหนึ่งที่พ่อแม่สงสัยว่าลูกของตนไม่ปกติ เมื่ออายุ ๑๔ เดือน เมื่อเห็นว่าลูกไม่สนใจอย่างอื่นนอกจากรถเด็กเล่นและไปขอความช่วยเหลือจนในที่สุด ก็สรุปได้แน่นอน เมื่ออายุ ๒๒ เดือน ว่าลูกมีความผิดปกติในกลุ่มออทิสซึ่ม (autism spectrum disorder)เรื่องราวในชีวิตของพ่อแม่ในช่วงนี้ ตระหนกและเป็นทุกข์มากเนื่องจากพ่อแม่คู่นี้มีการศึกษาสูงและช่างสังเกต จึงได้รายละเอียดพฤติกรรมของเด็กมากแต่ผมจะไม่นำมาเล่า

อัตราการเกิดออทิสซึ่มเพิ่มขึ้น เช่นสถิติในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2012 เท่ากับหนึ่งใน ๘๘ และในปี 2014 เท่ากับหนึ่งใน ๖๖เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๐ในประเทศไทยก็มีหมอบอกผมว่าเพิ่มขึ้นอย่างน่ำตกใจแต่สาเหตุ ของการเพิ่ม ส่วนหนึ่งเพราะการวินิจฉัยโรคดีขึ้น แต่ก็ยังเชื่อได้ว่าอัตราการเกิดออมิสซึ่มเพิ่มขึ้นโดยยังไม่รู้ สาเหตุที่ชัดเจน

ผลการวิจัยบอกว่า ออทิสซึ่มเป็นกลุ่มโรค ไม่ใช่โรคเดียว หรือไม่ใช่สาเหตุเดียว ลักษณะของโรคคือ มีความผิดปกติด้านอารมณ์ ที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายขี้โมโหพัฒนาการด้านภาษาช้าหรือไม่ก้าวหน้ามีปัญหาด้านสังคมและแสดงท่าทางซ้ำๆ

ยิ่งแก้ไขเร็วโอกาสหายยิ่งสูง

การรักษาโรคออทิสซึ่มมี ๔ แนวทาง ได้แก่

  • พฤติกรรมบำบัด (behavioral therapy)เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันวิธีการมีหลายสำนักที่กล่าวถึงโดยละเอียดในบทความคือวิธี EDSM (Early Start Denver Model - https://www.autismspeaks.org/what-autism/treatment/early-start-denver-model-esdm)เพื่อฝึกทักษะด้านการรับรู้ภาษา ทักษะด้านสังคมและฝึกให้สามารถพุ่งความสนใจ ไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งยิ่งเริ่มเร็วยิ่งได้ผลดีหวังให้เด็กเข้าใจปัจจัยด้านสังคม ได้แก่การแสดงออกทางสีหน้าท่าทางและคำพูดผลการฝึกเปรียบเทียบกับวิธีการอื่น พบว่า EDSM ให้ผลเหนือกว่าและเมื่อถ่ายภาพการทำงานของสมอง ก็พบว่าสมอง มีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นตามที่ต้องการ และคลื่นไฟฟ้าสมองก็เปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้นผมไม่ได้นำเอารายละเอียดมาเล่าในที่นี้ เขาย้ำว่า ยิ่งใช้เวลาฝึกมาก ยิ่งได้ผลดี
  • รักษาด้วยยา ยาที่มีความหวังกันมากเป็นฮอร์โมน ชื่ออ็อกซี่โทซิน (oxytocin)ซึ่งรู้จักกันในฐานะฮอร์โมนของการตั้งครรภ์และการคลอดแต่ในผู้ชายก็มีฮอร์โมนนี้ และมีหลักฐานว่า เป็นสารเคมีที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างทารกกับแม่และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเพื่อนมีผู้เรียกว่าเป็นสารเคมีแห่งการกอดรัด หรือฮอร์โมนแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ
  • รักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเป็นวิธีการที่อยู่ระหว่างการวิจัยเป็นขั้นตอนสู่การรักษา มากกว่าใช้เซลล์ต้นกำเนิดเป็นตัวรักษาโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดของผู้ป่วยเอามาเพาะเลี้ยง และทดสอบยาหรือวิธีบำบัดกับเซลล์ที่เพาะเลี้ยงนั้นเพื่อดูว่าน่าจะได้ผลต่อผู้ป่วยรายนั้น หรือไม่
  • เปลี่ยนแปลงยีน ด้วยวิธีที่เรียกว่า genetic editing method ก็ยิ่งเป็นวิธีรักษาแห่งอนาคตกำลังมีการวิจัยโดยเอาเซลล์ของผู้ป่วยไปเลี้ยงให้กลายเป็นสเต็มเซลล์แล้วเปลี่ยนแปลงยีนที่ผิดปกติให้กลายเป็นยีนปกติแล้วแปลงให้เป็นเซลล์สมองใส่กลับเข้าไปในร่างกาย ให้เข้าไปเจริญเติบโตขยายจำนวนแทนที่เซลล์สมองเดิม หรือช่วยปล่อยสารเคมีที่ผู้ป่วยพร่องลดความผิดปกติทางเคมีในสมองของผู้ป่วย ช่วยให้การรักษาด้วยวิธีอื่นได้ผลดีขึ้นฟังคล้ายหนังไซไฟ

มีผลการวิจัยบอกว่าในสมองของเด็กเป็นออทิสซึ่มมี ตัวจับอ็อกซี่โทซิน (oxytocin receptor) น้อยกว่าปกติตอนนี้กำลังมีโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ทดลองผลของการพ่น อ็อกซี่โทซินเข้าจมูก ในเด็กเป็นออทิสซึ่ม

บทความถึงกับตั้งความหวังว่า ในอนาคตจะสามารถแก้ไขโรคออทิสซึ่มให้หายขาดได้

วิจารณ์ พานิช

๑๔ พ.ค. ๒๕๕๙

หมายเลขบันทึก: 612540เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2016 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2016 07:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท