การศึกษาฝรั่งเศสผ่าน Baccalauréat 2016 ข้อสอบจบม.6-เข้ามหาวิทยาลัย ตอนที่ 9 (2)


ในตอนย่อยที่สองนี้ เรามาดูข้อสอบ Bac ที่สอบวันที่ 22 มิถุนายน 2016 ในช่วงบ่ายกันครับ

Série L Littéraire (สายศิลป์) ยังมีการจัดสอบวิชาภาษาตายแล้ว อันได้แก่ภาษาละตินและภาษากรีกโบราณ และวิชาศิลปะต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นวิชา specialization ที่ แต่ละคนจะเลือกสอบ (เพราะสอบช่วงเวลาเดียวกัน)


(ผู้เขียนได้กล่าวถึงภาษาที่ตายแล้ว รวมไปถึงความสำคัญของวิชานี้ในตอนที่ 5)

วิชา Latin ภาษาละติน (เวลาสอบ 3 ชั่วโมง)

ข้อสอบแบ่งเป็นสองพาร์ท อนุญาตให้นำพจนานุกรมภาษาฝรั่งเศส-ละตินเข้าห้องสอบได้

พาร์ท 1 (60 คะแนน) ให้ text ภาษาละติน ส่วนหนึ่งของบทละครเรื่อง Phaedra (บทประพันธ์ของ Lucius Annaeus Seneca) พร้อมบทแปล แล้วให้ตอบคำถาม




    • จากเนื้อความที่ยกมา (บรรทัดที่ 21 ถึง 26) ให้วิเคราะห์คำหกคำที่พิมพ์ตัวทึบ โดยอธายประเภทคำ การใช้ เพศและจำนวน ความหมาย และอธิบายว่าหกคำดังกล่าวแสดงถึงวิธีชีวิตของ Hippolyte (EN: Hippolytus ตัวละคร) อย่างไร (15 คะแนน)
    • ให้เปรียบเทียบเนื้อความที่ยกมา (บรรทัดที่ 12 ถึง 14) และวิจารณ์คำแปล(ผู้เขียน:เป็นภาษาฝรั่งเศส)สามฉบับที่ยกมาให้ (จากสามผู้แปล) คำแปลฉบับใดใกล้เคียงกับต้นฉบับภาษาละตินมากที่สุด และฉบับใดใกล้เคียงน้อยที่สุด พร้อมให้เหตุผลโดยให้เนื้อความต้นฉบับ (15 คะแนน)
    • จากบทละครที่คัดมา ตัวละคร Hippolyte ให้เหตุผลกับวิถีชีวิตของเขาอย่างไร และให้ขยายความไปถึงภาษาที่ใช้ในการอธิบายวิถีชีวิตดังกล่าวในส่วนอื่นของบทละครที่คัดมา (15 คะแนน)

พาร์ท 2 (40 คะแนน) แปล text ภาษาละติน (ผู้เขียน: เป็นภาษาฝรั่งเศส) (text เป็นส่วนหนึ่งของบทละครเรื่อง Phaedra ของ Seneca)


วิชา Grec ancien ภาษากรีกโบราณ

รูปแบบเดียวกับวิชาภาษาละติน โดยพาร์ท 1 ใช้ text จากเรื่อง Daphnis and Chloe ของ Longus ซึ่งมีคำถามเกี่ยวกับไวยากรณ์ ให้เปรียบเทียบบทแปลสามฉบับ และเกี่ยวกับการตีความเนื้อความ และพาร์ทสองเป็นการแปลเนื้อความจากภาษากรีกโบราณเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งอนุญาตให้ใช้พจนานุกรมภาษากรีก-ฝรั่งเศสได้ (ซึ่งคำศัพท์บางคำก็มีคำแปลให้ในข้อสอบอยู่แล้วด้วย)


นอกจากนี้ยังมีกลุ่มวิชา Bacs artistiques คือกลุ่มวิชาเกี่ยวกับศิลปะ-ดนตรี อันได้แก่ Cinematography-Audiovisual, Theater, Plastic Arts and History of Arts, History of Arts, Musical and Artistic Culture, Dance และ Theater: Option Circus ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกสอบได้อิสระ (สาย Série L Littéraire สายศิลป์ ที่ไม่ได้สอบภาษาตายแล้ว ต้องเลือกสอบหนึ่งวิชาในตอนบ่าย)


วิชา Cinéma Audiovisuel (Cinematography-Audiovisual) (เวลาสอบ 3 ชั่วโมง 30 นาที)

ส่วนข้อเขียนให้เลือกทำหนึ่งหัวข้อ

หัวข้อที่ 1 (โดยสรุป)คือให้เขียน (ร่าง) บทสั้น ๆ จากพลอตเรื่อง/คำแนะนำที่ให้ ซึ่งในปีนี้คือ “จินตนาการสิ่งที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากตัวละครเหล่านั้นได้พบกัน” (3-5 หน้า) และให้เขียนอธิบายองค์ประกอบของบท (เช่นฉาก) องค์ประกอบอื่น ๆ ที่ต้องการให้มี จนไปถึงสถานที่ที่จะจัดทำ(ภาพยนตร์) พร้อมภาพประกอบ

หัวข้อที่ 2 ประเด็นศึกษาได้แก่ Surface & Depth, Testimony และ Light

ให้วิเคราะห์ cinematography ของหนังเรื่อง Nostalgie de la lumière (2010, Patricio Guzman) ด้วยประเด็นศึกษาหนึ่งประเด็น โดยเลือกใช้รูปภาพตามความเหมาะสมจากรูปภาพ 36 รูปที่ให้มา (ตัวอย่างภาพด้านบน) และสามารถขยายความไปถึงเนื้อหา ที่มา หรือบริบททางสังคมและทางประวัติศาสตร์ ทั้งของหนังและ/หรือของผู้กำกับ

จากสามประเด็นศึกษา ให้สร้าง mini situation จากธีมว่า “ขณะสำรวจอ่าว ทีมศึกษาวิทยาศาสตร์ได้พบจารึก” และอธิบายองค์ประกอบของเรื่อง (เช่นฉาก) พร้อมเหตุผลอธิบายความสมเหตุสมผลของเรื่อง โดยอาจมีภาพประกอบ


วิชา Culture musicale et artistique (Musical and Artistic Culture) (เวลาสอบ พาร์ทแรก 1 ชั่วโมง พาร์ทหลัง 2 ชั่วโมง 30 นาที)

พาร์ทที่ 1

บางส่วนจากเพลง L’indiscrète จากชุด Les Pièces de clavecin en concert ของ Jean-Philippe Rameau (1683-1764) และเพลง Menuet (EN: Minuet) จาก Concert Brandebourgeois (4e mouvement) ของ Johann Sebastian Bach (1685-1750) (ผู้เขียน: เปิดเพลงให้ฟังสี่รอบ ในข้อสอบระบุละดับขั้นตอนการเปิดเพลงและทำข้อสอบ)

โจทย์ ให้เปรียบเทียบเพลงทั้งสอง โดยแสดงให้เห็นถึงความเหมือนและความแตกต่าง ให้สังเกตุลักษณะเสียง (timbre) จังหวะ (rhythm) และฟอร์ม (form) (7 คะแนน)

พาร์ทที่ 2

เพลง Menuet (EN: Minuet) จาก Concert Brandebourgeois (4e mouvement) ของ Johann Sebastian Bach (1685-1750)

ภาพคลื่นเสียงเพลง Menuet แกน y แสดงความเข้มเสียง แกน x แสดงเวลา


คำถาม

    • Bach ประพันธ์เพลง Concert Brandebourgeois สำหรับ cors de chasse (ผู้เขียน: horn ชนิดหนึ่ง) 2 ชิ้น โอโบ 3 ชิ้น บาสซูน Violin Piccolo ไวโอลิน 1 และ 2 วิโอล่า เชลโล่ และ Basso Continuo (ผู้เขียน: มีเสียงเบสอยู่ตลอด โดยแต่ละเครื่องดนตรีผลัดกันเล่นพาร์ทเบส) จากภาพประกอบที่ให้มา ให้อธิบายวิธีที่คีตกวีใช้เครื่องดนตรีในวงในการผสมผสาน “การสนธนาระหว่างเครื่องดนตรี” และให้อธิบายลักษณะด้วยทั่วไปของเพลง Minuet จากตัวอย่างที่ได้ฟัง (3 คะแนน)
    • เราทราบว่า Bach ไม่ได้ระบุเครื่องหมายดัง-เบา (dynamics) ในโน๊ตไว้ ให้อธิบายว่านักดนตรีตีความความดังเบาของเพลงในตอน (section) ที่ 1 ได้อย่างไร และให้เหตุผลกับการตีความของนักดนตรีแบบที่ปรากฏในเทปเสียง (2 คะแนน)
    • ด้วยความก้าวหน้าของนักวิจัยทางดนตรี การตีความดนตรีโบราณ (ผู้เขียน: โดยทั่วไปหมายถึงเพลงยุคบาโรคและก่อนหน้า) ได้พัฒนาเป็นอย่างมากในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา คุณจะได้ฟังช่วงต้นของเพลง Minuet สองเวอร์ชั่น ซ้ำสองครั้ง
      • เวอร์ชั่นแรกที่เปิดให้ฟังซึ่งบันทึกโดยวง Café Zimmermann ในปี 2011 (และหลังจากนั้น...)
      • เวอร์ชั่นปี 1965 โดย Berlin Philharmonic Orchestra ภายใต้การกำกับของ Herbert von Karajan
    • การค้นคว้าทางดนตรีได้สร้างความก้าวหน้ากับการตีความดนตรียุคบาโรค เพื่อทราบว่าในสมัยนั้นบทเพลงแต่ละชิ้นถูกบรรเลงอย่างไร (ดังที่ได้เห็นในข้อก่อนหน้า) จากความเห็น คิดว่าวิธีและข้อจำกัดในการศึกษาประเด็นดังกล่าวมีอะไรบ้าง แสดงความคิดเห็นโดยใช้คำตอบข้อก่อนหน้าและใช้ตัวอย่างเพลงอื่น ๆ ที่มีความรู้
    • อธิบายการตีความเพลงของ Karajan แล้วเปรียบเทียบกับการตีความของ Café Zimmermann ระบุจุดเด่นและจุดด้อยของการตีความทั้งสองเวอร์ชั่น (4 คะแนน)


    ในส่วนนี้ การสอบไม่ได้วัดผลการแสดงดนตรี (perform) โดยตรง เนื่องจากเป็นข้อสอบส่วนกลางระดับชาติ ที่ต้องการวัดความเข้าใจทางดนตรีและความรู้ทางด้านดนตรีเท่านั้น


    ในส่วนนี้ เห็นได้ว่าระบบการศึกษา (ไม่เพียงแต่ของฝรั่งเศส) ยังปูพื้นฐานในทางศิลปะ (artistic) ให้แก่นักเรียนด้วย นั่นคือนอกจากด้านวิชาการแล้ว คน ๆ หนึ่งจะสมบูรณ์ได้จะต้องมีมิติด้านสุนทรีย์ (aesthetic) ที่จะเห็นความงามประกอบเข้าไปด้วย (นอกจากจะเป็นงานอดิเรกที่จะพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ในทางอ้อมแล้ว) ซึ่งการศึกษาภาษาในระดับวรรณกรรมและวรรณคดีแล้ว ก็ล้วนมีมิติทางด้านสุนทรีย์ที่ลึกซึ้งเช่นเดียวกัน

    การฝึกให้เห็นความงาม ถูกจัดเข้าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการศึกษา (ตามความเหมาะสมของวัย) นอกจากจะทำให้เราเห็นคุณค่าในสิ่งต่าง ๆ แล้ว (ซึ่งต้องยอมรับว่า โดยปัจจัยและสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้ปัจจุบัน คนเราหลายคนไม่เห็นคุณค่าของผู้อื่น ของความเห็นที่แตกต่าง ของปัญญาที่พัฒนาต่อกันมา หรือแม้แต่ความหวังดีของผู้อื่น) ยังจะทำให้เราพัฒนาตัวตนของเราในเชิงปัจเจกอย่างรอบด้าน ไม่ใช่พัฒนาสมองอย่างเดียว โดยละเลยทักษะด้านอื่น ๆ ซึ่งสำคัญแก่การดำเนินชีวิตเช่นเดียวกัน

    ดังแนวคิดของ Howard Gardner ใน The Theory of Multiple Intelligences ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า ทฤษฎีพหุปัญญา

    หรือดังประโยคละตินที่ว่า Mens sana in corpore sano (พอดีว่ามีข้อสอบละตินด้วย อิอิ) หรือที่เราอาจจะคุ้นเคยในภาษาอังกฤษว่า

    A sound mind in a sound body นั่นเอง


    มุนินทร ว.

    3/8/16

    ข้อสอบแปลจาก Le Monde Bac 22 juin 2016 L

หมายเลขบันทึก: 611747เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2016 20:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2016 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อสอบของฝรั่งเศสเขาบูรณาการสุดๆ เชื่อว่ากว่าจะผลิตออกมาได้ต้องระดมสมองปัญญาชนกันน่าดูทีเดียวนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท