การศึกษาฝรั่งเศสผ่าน Baccalauréat 2016 ข้อสอบจบม.6-เข้ามหาวิทยาลัย ตอนที่ 9 (1)


Baccalauréat เป็นการจัดสอบระดับชาติของประเทศฝรั่งเศส โดยคะแนนของข้อสอบจะนำไปใช้ในการจบมัธยมศึกษา รวมถึงนำไปใช้ในการพิจารณาการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย

ในปี 2016 ได้จัดสอบ Bac ระหว่างวันที่ 15 ถึง 22 มิถุนายน ซึ่งผู้เขียนพักแรงมากว่าหนึ่งเดือน(!!) เพื่อที่จะแปลข้อสอบที่นักเรียนฝรั่งเศสสอบกันไปในการสอบวันสุดท้าย (22 มิถุนายน) ทำนองว่า นักเรียนฝรั่งเศสเขาฉลองสอบเสร็จกัน ผู้เขียนเลยร่วมฉลองไปด้วย งานจึงได้ทิ้งค้างมาถึงวันนี้

ข้อสอบในวันสุดท้ายก็ยังให้ข้อคิดและมุมมองด้านการศึกษาที่น่าสนใจเช่นเดิมครับ

ด้วยจำนวนข้อสอบที่มีหลายชุด(มาก) ผู้เขียนจึงขอแบ่งบันทึกนี้เป็นตอนย่อยนะครับ โดยตอนย่อยที่หนึ่งนี้นำเสนอข้อสอบช่วงเช้าของการสอบวันสุดท้าย ซึ่งเป็นข้อสอบวิชาสายวิทยาศาสตร์ครับ

เรามาดูข้อสอบเหล่านั้นกันเลยครับ


Série S Scientifique (สายวิทยาศาสตร์)

วิชา Sciences de la vie et de la terre (SVT) (วิทยาศาสตร์ชีวิตและโลก = ชีววิทยา) (ผู้เขียนแปลหมดสมบูรณ์ครับ)

เวลาสอบ 3 ชั่วโมง 30 นาที

Part 1 (8 คะแนน)

การสังเคราะห์ (5 คะแนน): ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้าง-องค์ประกอบและการดำรงชีวิต อันเป็นผลของวิวัฒนาการ ดังตัวอย่างของพืชที่เคลื่อนที่ไม่ได้

จากงานเรื่อง L'éloge de la plante (2004) ของ Francis Hallé นักพฤษศาสตร์ ซึ่งกล่าวถึงพื้นที่ผิวสำหรับการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ ในพืชและสัตว์

"การวัดพื้นที่ผิวต้นไม้หนึ่งต้นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย...คิดว่าต้นไม้สูง 40 เมตร จะมีพื้นที่ผิวเหนือดินเท่าไหร่ คำตอบคือ 10,000 ตร.ม. ส่วนพื้นที่ผิวภายในที่แลกเปลี่ยนแก๊สจะมากกว่าการประเมิณดังกล่าวกว่า 30 เท่า...เมื่อกล่าวถึงพื้นที่ผิวราก การศึกษาก็จะยิ่งยาก และการวิจัยก็ยังคงมีจำนวนน้อย คาดว่าพื้นที่ผิวใต้ดินจะมากกว่าพื้นที่ผิวเหนือดินราว 130 เท่า..."

โจทย์: พืชมีโครงสร้างหรือองค์ประกอบใด ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน (แก๊ส สารอาหาร แร่ธาตุ) ทั้งภายในและภายนอก สำหรับรูปแบบการดำรงชีวิตของพืชที่ไม่เคลื่อนที่

(คำตอบควรมีโครงสร้างการนำเสนอที่ดี มีส่วนเกริ่นและส่วนสรุป และควรมีแผนภาพที่สังเคราะห์ขึ้นมาใหม่)

คำถามปรนัย (3 คะแนน)

1. ความร่วมมือกันระหว่างพืช-สัตว์ (ผู้เขียน: เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต):

a. เกิดขึ้นเฉพาะระหว่างการผสมเกสรเท่านั้น

b. เกิดขึ้นระหว่างการผสมเกสรและการปฏิสนธิ

c. เกิดขึ้นระหว่างการผสมเกสรและการกระจายเมล็ด

d. เกิดขึ้นเฉพาะระหว่างการกระจายเมล็ด

2. ลักษณะผสม:

a. ได้จาก transgenesis

b. รวมลักษณะทางพันธุกรรมของพ่อแม่

c. เกิดจากการผสมยีนข้ามกัน

d. เกิดจากการคัดลักษณะเท่านั้น

3. พืช GMO เป็นผลมาจาก:

a. การกลายพันธ์ุของพืชที่เก็บเกี่ยว

b. การผสม (hybrid) ของสายพันธ์ุที่เก็บเกี่ยว

c. การคัดเลือกสายพันธ์ุ

d. พันธุวิศวกรรม

Part 2

Exercise 1 (3 คะแนน) Magmatism แมกมาในบริเวณ Subduction (ผู้เขียน: บริเวณที่แผ่นเปลือกโลกมุดตัวเข้าใต้แผ่นเปลือกโลกอีกแผ่นหนึ่ง)

ซินาบุง (2460 ม.) เป็นหนึ่งในภูเขาไฟมีพลัง (active volcano) ของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่บนเกาะสุมาตรา

การปะทุครั้งล่าสุดของภูเขาไฟซินาบุงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2014 โดยเถ้าภูเขาไฟพุ่งขึ้นสูงถึง 17 กม.

นอกจากข้อมูลที่ให้มาแล้ว ให้อธิบายบริบททางภูมิศาสตร์ (geodynamic) ของบริเวณดังกล่าว และให้อธิบายลักษณะของหินที่เกิดขึ้นจากภูเขาไฟซินาบุง

เอกสารที่ 1 แผนที่ภูเขาไฟซินาบุง


เอกสารที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับหินที่เก็บได้บริเวณภูเขาไฟซินาบุง



Exercise 2 (5 คะแนน) การรักษาสมดุลทางชีวภาพ บางแง่มุมของการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน

นาง T มีอาการพองที่บริเวณคอ และมีอาการที่เกี่ยวเนื่องกับเมตาบอลิซึม อันได้แก่ ผมและเล็บเปราะ ผิวแห้ง อาการหนาวสั่น ความดันโลหิตต่ำ แพทย์ของเธอสั่งให้ตรวจสอบอาการเพิ่มเติม

จากข้อมูลที่ให้มา และความู้ที่ท่านมี ให้อธิบายสาเหตุของอาการของนาง T

เอกสารที่ 1 ผลตรวจเลือดนาง T

นาง T มีอาการต่อมไทรอยด์อักเสบ

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมฮอร์โมนบริเวณคอ ฮอร์โมนที่สร้างขึ้นที่ต่อมไทรอยด์ส่งผลต่อการทำงานของร่างการหลายอย่าง (การเจริญเติบโต เมตาบอลิซึม อุณหภูมิภายในร่างกาย อื่น ๆ)


(ผลปริมาณฮอร์โมนของคนปกติ-นาง T)

เอกสารที่ 2 ภาพต่อมไทรอยด์ของคนปกติ (A) เทียบกับของนาง T (B)

การตรวจสอบระดับจุลภาคแสดงให้เห็นเซลล์ผลิตสารคัดหลั่ง มีลักษณะเป็น vesicle ทรงกลม


เอกสารที่ 3 ผลการตรวจสอบเซลล์

จากการตรวจสอบต่อมไทรอยด์ของนาง T พบเซลล์หลากชนิด เราศึกษาการมีอยู่(ปริมาณ)ของ plasma cell (effector B cell) เซลล์ที่สร้าง immunoglobulin (ผู้เขียน: antibody)


เอกสารที่ 4 การสังเคราะห์ฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์


ขั้นที่ 1 thyrocyte ผลิตโปรตีน thyroglobulin (โมเลกุลตั้งต้น) ซึ่งจะถูก exocytosis ไปหาแสง ที่ซึ่งมันจะรวมตัว จากนั้น thyrocyte จะจับตัวกับไอโอดีน (I) ซึ่งมากับเลือด

ขั้นที่ 2 เกิด Iodination (ผู้เขียน: เติมไอโอดีนเข้าสารประกอบทางเคมี) ใน thyroglobulin โดยผสม thyroglobulin กับไอโอดีน เกิดเป็น thyroxin และ triiodothyronine

ขั้นที่ 3 เกิด endocytosis ฮอร์โมน thyroxine และ triidothyronine โดย thyrocyte

ขั้นที่ 4 ฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นโดยต่อมไทรอยด์ถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด


สังเกตุได้ว่า ข้อสอบให้ข้อมูลมาเยอะมาก เหมือนกับโลกความเป็นจริงที่เราสามารถค้นคว้าหาข้อมูลอันมีอยู่หลากหลายมาใช้ตอบคำถาม แต่ทักษะที่ข้อสอบวัดก็คือ ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของนักเรียนเอง (อย่างน้อยอ่านเอกสารทางวิชาการเหล่านี้รู้เรื่อง) และทักษะในการคิดวิเคราะห์ ใช้ข้อมูลที่มีอยู่เหล่านี้ให้ออกเป็นคำตอบให้ได้ ซึ่งก็เป็นทักษะที่สำคัญในการศึกษาต่อไปและการทำงานของนักเรียน

ที่น่าสนใจอีกประการนั่นคือ ข้อสอบต่างประเทศก็มีข้อสอบปรนัย หรือข้อสอบ choice ครับ

เพียงแต่เขาเลือกใช้เพียงบางวิชา (ลองดูตอนก่อนหน้านี้ วิชาทางสังคมศาสตร์ล้วนเป็นข้อสอบเขียนที่นักเรียนก็ต้องเรียบเรียงข้อมูลความคิด และนำเสนอออกมาให้รู้เรื่อง/มีประสิทธิภาพ)

และใช้เพียงบางส่วนของชุดข้อสอบ (ในข้อสอบชุดนี้ ส่วนปรนัยมีน้ำหนักคะแนน 15% เขาไม่ได้นำมาใช้มั่วไปหมดจนนักเรียนไม่ได้เน้นกระบวนการคิดเลย ยิ่งไม่นำว่าการสอนพิเศษส่วนหนึ่งก็พุ่งเป้าไปสู่กันเล่นข้อสอบ choice ให้ได้คะแนนเยอะ ๆ แต่อาจไม่ได้ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง ทั้งความรู้นั้นยังไม่มีความหมาย meaningful อันจะทำให้ความรู้เล่านั้นลืมหายไปได้ง่ายอีกด้วย)

นั้นคือข้อสอบปรนัยเป็นเพียงการวัด ซึ่งมีประสิทธิภาพกับเพียงข้อสอบบางประเภทและกับวิชาบางประเภท (เช่น พูดกันจริง ๆ ว่าคุณจะสามารถวัดทักษะทางดนตรีหรือกีฬาได้จากข้อสอบปรนัยหรือ ถ้าเช่นนั้นถ้าทุกคนอ่านกฎเล่นฟุตบอลเยอะ ๆ ก็จะทำให้เล่นฟุตบอลเก่งกันหมดในทันใดน่ะสิ)

ผู้เขียนยังสังเกตุว่าข้อสอบตัวเลือกที่ปรากฎในข้อสอบ SVT ยังจะเป็นการแจกคะแนนด้วยซ้ำ (ยิ่งพิจารณาน้ำหนักของคะแนน)


(จุดนี้พูดเพิ่มเติมได้อีกนะประเด็นนะครับ ด้วยมุมมองการศึกษาเป็น liberal education แบบนี้ ทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้จากสื่อ (material) ได้ทุกอย่าง เหมือนกับที่เรากำลังศึกษาการศึกษาจากข้อสอบวิชาชีววิทยา เพราะหากเราไม่ฝึกคิดแบบเชื่อมโยง ยังไงข้อสอบชีวะก็จะเป็นเพียงข้อสอบชีวะเฉย ๆ ครับ)


ซึ่งสิ่งที่เราได้เรียนรู้ข้างต้นนั้น เราก็ยังจะสามารถสังเกตุได้จากข้อสอบอีกวิชาที่สอบในวันที่ 22 มิถันายน 2016 ช่วงเช้าครับ...


Série ES Economique-sociale (สายสังคม-ธุรกิจและพาณิชย์) และ Série L Littéraire (สายศิลป์)

วิชาคณิตศาสตร์ แบบปกติ (สามารถนำเครื่องคิดเลขเข้าห้องสอบได้ แต่ต้องเป็นแบบที่กำหนดไว้เท่านั้น) ข้อสอบชุดนี้ผู้แปลไม่ได้แปลทั้งหมดครับ เนื่องจากเอกสารมีความขัดข้อง error ในส่วนของสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ (จริง ๆ ก็ผสมกับข้อจำกัดของผู้เขียนเองด้วยล่ะครับ)

คำสั่งเน้นว่า ให้แสดงวิธีทำให้ละเอียด แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์หรือไม่เสร็จก็ตาม (ผู้แปล: จะให้คะแนนตามการแสดงวิธีทำ) และเน้นว่า คุณภาพงานและวิธีการให้เหตุผลมีผลต่อคะแนน





ครับ! หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านนะครับ ข้อสอบวิชาสายวิทยาศาสตร์ที่เน้น Case หรือ Situation ก็น่าสนใจนะครับ หากเราจะนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน

ตอนย่อยหน้า เราจะไปดูข้อสอบภาษากรีกโบราณและภาษาละตินกันครับ (พูดจริง ๆ ครับ)

ขอบคุณผู้อ่าน(ถ้าจะมี 5555 ><)ที่ติดตามนะครับ


28/7/16

มุนินทร ว.


ข้อสอบแปลจาก Le Monde Bac 2016 Maths ES L และ Le Monde - Bac 2016 SVT

หมายเลขบันทึก: 611391เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2016 01:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2016 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้าเราฝึกผู้เรียนตั้งแต่ระดับประถมให้ได้ทักษะการคิดวิเคราะห์ด้วยการทำข้อสอบ ผู้เรียนจะได้ทักษะนี้ติดตัวไปจนโตค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท