เวทีถอดบทเรียนงานเบาหวานของ สพช. (๒)


วิธีการต่างๆ ที่ผู้เข้าประชุมกลุ่มนี้ใช้พัฒนาผู้ป่วยและครอบครัวตามที่เล่ามา ไม่มีเขียนไว้ในตำรา และมองเห็นได้ว่าเขาทำหน้าที่เป็น facilitator ให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองและประสบการณ์ของเพื่อน

ตอนที่ (๑)

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ เป็นวันที่สองของการประชุม เริ่มด้วยกิจกรรมสนุกๆ ประมาณ ๓๐ นาที ก่อนแยกย้ายกันเข้ากลุ่มย่อย เดิมผู้จัดจะแบ่งกลุ่มย่อยเป็นกลุ่ม CUP เล็กและกลุ่ม CUP ใหญ่ แต่ผู้เข้าประชุมได้เขียนเสนอแนะไว้ตั้งแต่เมื่อวานว่าอยากแลกเปลี่ยนเรื่องอื่นเพิ่มเติมอีก จึงได้แบ่งกลุ่มย่อยเป็น ๔ กลุ่มคือกลุ่ม CUP เล็ก กลุ่ม CUP ใหญ่  กลุ่มการพัฒนาผู้ป่วยและผู้ดูแล กลุ่มการพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการทุกระดับ

ดิฉันทำหน้าที่เป็น group facilitator ในกลุ่มการพัฒนาผู้ป่วยและผู้ดูแล มีคุณทัศนีย ญาณะหรือคุณโน่ ช่วยบันทึกข้อมูลต่างๆ ลงคอมพิวเตอร์ คุณปราณี จุลกศิลป์ พยาบาลจาก รพ.สุไหงโก-ลก ทำหน้าที่เขียนลง flipchart ให้ทั้งกลุ่มได้เห็น ผู้เข้ากลุ่มมีทั้งแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพบำบัด โภชนาการ จนท.บริหารงานสาธารณสุข จพ.สาธารณสุขชุมชน จำนวน ๑๔ คน ทุกคนมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจเกี่ยวกับการให้ความรู้ การสนับสนุนให้ผู้ป่วยดูแลตนเอง บางเรื่องเจ้าหน้าที่ก็อาจจะนึกไม่ถึง

ในกลุ่มมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาได้อย่างถูกต้องหลายเรื่อง ทั้งยารับประทานและอินซูลิน หลายอย่างเราได้เรียนรู้จากผู้ป่วย คุณบรรพต โชติกุล จนท.บริหารงานสาธารณสุข ๖ PCU ประอาว อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่าผู้ป่วยบางรายที่บ้านไม่มีนาฬิกา บางรายก็ดูนาฬิกาไม่เป็น เขาก็หาวิธีการที่จะรับประทานยาและอาหารให้สัมพันธ์กัน ยาที่เราบอกว่ากินก่อนอาหารครึ่ง ชม. เขาจะกะเวลาจากการฟังหมอลำ ฟังข่าว คนเฒ่าคนแก่ที่ไปวัดบางรายกินยาไปก่อนกว่าจะได้กินข้าวก็นาน ทำท่าจะน้ำตาลต่ำ คุณบรรพตก็เลยแนะนำว่าเอายาติดตัวไปวัดด้วย พอพระเริ่มเทศน์จึงค่อยกินยา ผู้ป่วยเอายาใส่กระป๋อง (คงเป็นกล่อง) ทีละ ๗ เม็ด ทำให้ไม่ลืมกินยา และตรวจสอบได้ว่าวันนี้กินยาแล้วหรือยัง เป็นต้น

ทั้งกลุ่มฟังเรื่องที่เพื่อนเล่าอย่างตั้งใจ ซักถามเมื่อต้องการรายละเอียดเพิ่ม บางช่วงก็ให้กำลังใจกันเองด้วย ภก.วลีรัตน์ เอี่ยมคง จาก รพ.ตาคลี ปรับทุกข์ว่าผู้ป่วยบางรายมีความรู้แต่ก็ไม่ยอมกินยาหรือกินไม่สม่ำเสมอ ภก.ยูลัยละห์ หะยีเบาะหะ จาก รพ.สุไหงโก-ลก ก็เสนอแนะการใช้ระบบคืนยา และบอกว่าปัญหาอาจแก้ไม่ได้ทั้งหมด คนไข้ของเธอก็มีปัญหาเหมือนกัน ต้องมีการบันทึกปัญหา สื่อสารให้รู้ทั่วกันในทีม และส่งต่อด้วย

ข้อคิดดีๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนกัน เช่น การเอาผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนมาเป็นตัวอย่างของการควบคุมน้ำตาลไม่ได้ ไม่ควรใช้บ่อย และต้องให้ผู้ป่วยพร้อมด้วย แต่ผู้ป่วยที่คุมได้ดีเอามาเป็นตัวอย่างบ่อยๆ ได้ การใช้โมเดลอาหาร ต้องดูด้วย เพราะบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่เคยกิน ฯลฯ

กลุ่มย่อย - การพัฒนาผู้ป่วยและผู้ดูแล

วิธีการต่างๆ ที่ผู้เข้าประชุมกลุ่มนี้ใช้พัฒนาผู้ป่วยและครอบครัวตามที่เล่ามา ไม่มีเขียนไว้ในตำรา และมองเห็นได้ว่าเขาทำหน้าที่เป็น facilitator ให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองและประสบการณ์ของเพื่อน

หลังกิจกรรมกลุ่มย่อย ก็มีการนำเสนอต่อที่ประชุม เสร็จแล้วเราพักเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน ช่วงบ่ายคุณป้อมนำทำกิจกรรมสนุกสนานอีกเล็กน้อย ก่อนเข้าสู่ช่วงของ AAR

 

กิจกรรมก่อนเริ่มภาคบ่าย

ผู้เข้าประชุมเขียน AAR ในกระดาษที่ทีมงานเตรียมให้ และตัวแทนแต่ละ CUP ได้พูดให้เรารู้ด้วย ในภาพรวมทุกคนพอใจกับการประชุมแบบนี้ มีเรื่องเดียวที่อยากให้ปรับปรุงคือสถานที่ประชุม อยากได้ที่ที่มีธรรมชาติรื่นรมย์และมีสิ่งน่าสนใจมากกว่านี้ หลายคนบอกว่ายังไม่มีโอกาสใช้เงินเลย

จบการประชุมเกือบ ๑๕ น. ทีมงานร่วมกันทบทวนการทำงานอีกครั้งว่าอะไรที่ดี อะไรที่ควรปรับปรุง ก่อนแยกย้ายกันไป ทีมจากสุไหงโก-ลกต้องรอกลับในวันรุ่งขึ้น ดิฉันสอนทีมจากสุไหงโก-ลกถึงวิธีเอารูปลงในบล็อกที่คุณปราณีถามตั้งแต่วันแรก หลังจากนั้นเราไปช็อปปิ้งและรับประทานอาหารเย็นที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว กว่าจะกลับมาโรงแรมก็ ๒๑ น.กว่าไปแล้ว

งานนี้ดิฉันถือโอกาสเก็บภาพกล่องใส่ยาและซองยาที่ ภก.วลีรัตน์ เคยเล่าในตลาดนัดความรู้ของเรา ว่ายาก่อนอาหาร-หลังอาหารใช้สีต่างกัน คนที่อ่านหนังสือไม่ออกก็มีภาพที่สื่อบอกเวลาที่ซองยาด้วย

 

 

ซองยาที่มีรูปสื่อเวลา

กล่องยา สีฟ้าก่อนอาหาร ถ้าเป็นสีชมพูก็หลังอาหาร

ภาพรองเท้าที่คุณหมอสกาวเดือน นำแสงกุลหรือคุณหมอฝน รพ.ครบุรี มาหาซื้อไปให้ผู้ป่วยเบาหวานได้ใช้ในโครงการ “กองทุนรองเท้า” ยี่ห้อนี้พื้นนุ่มกว่าของ ADDA

 

 

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ 

หมายเลขบันทึก: 61112เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2006 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

          ขอบพระคุณมากครับ  เห็นรอยยิ้มของทุกๆ คนแล้วก็พลอยมีความสุขตามไปด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท