Global Talent Competitiveness Index



Global Talent Competitiveness Index (GTCI) เป็นดัชนีบอกความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เมื่อมองจากมุมของปัญญาแบบที่นำมาใช้ทำประโยชน์ หรือทำมาหากินได้ โปรดอ่านรายละเอียดในเว็บไซต์ของเขา จะเห็นว่าเป็นการริเริ่มทางธุรกิจเชื่อมโยงกับวิทยาลัยบริหารธุรกิจ คือ INSEAD (ที่โฆษณาตัวเองว่า เป็น business school for the world) มีการทำงานวิจัย ใช้ข้อมูลและมีการสร้างกระแสในการประชุมต่างๆ

อ่าน GTCI 2015 – 2016 ได้ ที่นี่ จะเห็นว่า รายงานนี้เชื่อมโยงกับ “นโยบายระบบปัญญา” (talent policy) ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าในบ้านเรามีหรือไม่ เดาว่าไม่มี เพราะมัวทะเลาะกันอยู่ภายในบ้าน

อ่านรายงานนี้แล้ว เตือนใจผมว่าประเทศไทยต้องการยกระดับการพัฒนาประเทศออกจากระดับ รายได้ปานกลาง ไปอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง หรือประเทศพัฒนาแล้วคือออกจากกับดักรายได้ปานกลางหากไม่สนใจสาระและยุทธศาสตร์ talent management ในระดับประเทศเราจะไม่มีวันบรรลุเป้าหมายออกจาก กับดักรายได้ปานกลางได้

รายงานนี้ เน้นที่ “การเคลื่อนย้ายปัญญา” (talent mobility)ซึ่งยิ่งนับวันก็จะเคลื่อนย้ายมากขึ้นประเทศที่ต้องการมีความสามารถในการแข่งขัน จึงต้องมีมาตรการ “ดึงดูดปัญญา” (talent attraction) โปรดสังเกตว่า ประเทศสิงคโปร์มีการจัดตั้ง Human Capital leadership institute ขึ้นเป็นศูนย์กลางของโลก ในการสร้างแนวคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการจัดการปัญญา

โลกสมัยใหม่ แข่งขันกันด้วยปัญญาแต่ละประเทศต้องมีการจัดการปัญญาอย่างมียุทธศาสตร์ เป็นระบบ และมีวิชาการ

ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ ๖๙ จาก ๑๐๙ ประเทศ คะแนน GTCI ๔๐.๙๙ รายละเอียดอยู่ที่รายงานหน้า ๒๓๐ ผมจ้องดูด้านดีหรือจุดแข็งของไทย (ตามแนวคิดของ GTCI)ตกใจที่เราได้อันดับ ๑ ที่ตัวชี้วัด (variable) ชื่อ Ease of redundancy ในหมวด Business-labor landscape ได้คะแนนเต็ม ๑๐๐ ไปค้นหาเกณฑ์ที่หมวด Appendix พบว่าหมายถึงการคุ้มครองแรงงาน ไม่ให้นายจ้างปลดออกจากงานง่ายๆอ่านตรงนี้แล้วผมนึกถึงอาจารย์นิคม จันทรวิทุร ผู้ล่วงลับว่า หากท่านได้รับรู้ด้วยญาณวิถีใดท่านคงมีความสุขมากจากคะแนนนี้แต่ผมก็ยังตั้งคำถามต่อว่า ในทางปฏิบัติแรงงานไทยได้รับการคุ้มครองดีในระดับคะแนนเต็มร้อยจริงหรือ

GTCI มี ๖๑ ตัวชี้วัด๖ หมวด ได้แก่ (1) Enable(2) Attract(3) Grow(4) Retain(5) Labor and Vocational Skills(6) Global Knowledge Skillsหมวดที่ไทยมีคะแนนต่ำมากคือหมวด 5

ตัวชี้วัดที่เราได้อันดับ ๒ ของโลกคือ Prevalence of training in firmsได้คะแนน ๙๔.๘๕ จาก ๑๐๐ อยู่ในหมวด 3 หมวดย่อย Lifelong learning

ตัวชี้วัดที่เราอยู่อันดับท้ายๆ ของโลกคือ Tolerance to immigrants (104), Political stability (103), Tolerance to minority (101), Employable Skills (101)

เราอาจตั้งคำถามเรื่องความแม่นยำของข้อมูล แต่วิธีคิดอย่างเป็นระบบของเขาน่าสนใจมากและนำมาใช้ปรับนุงประเทศของเราได้เป็นอย่างดี

สถาบันอุดมศึกษาจะมีส่วนยกระดับเรื่องนี้อย่างไร

วิจารณ์ พานิช

๑๔ มิ.ย. ๕๙

หมายเลขบันทึก: 610924เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2016 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2016 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท