การพัฒนาคุณภาพวารสาร...งานหินที่ฉันแบก


ความรู้สึกเหมือนแบกหิน...แต่โดยวิชาชีพ...ฉันคิดว่าถ้าฉันสู้...ฉันจะแข็งแกร่งและเป็นงาน​

ฉันได้จับพัดจับผลูได้เข้าร่วมวงการบรรณาธิการวารสารมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ได้มีส่วนร่วมทำงานกับวารสาร "อินฟอร์เมชั่น" ซึ่งเป็นวารสารในวิชาชีพทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ งานที่ฉันรับผิดชอบเหมือนคนนิสัยไม่ดี...ที่ต้อง..."จับผิดผู้อื่น"....

วันนี้วารสารอินฟอร์เมชั่นเดินทางมายาวนานเหลือเกิน...23 ปีแล้ว เกือบเบญจเพศ...ดูแล้วอายุวารสารเท่าๆ กับอายุงานของฉันเลยทีเดียว

วันนี้จากเด็กน้อยในกองบรรณาธิการ ฉบับขยับฐานะมาเป็นบรรณาธิการประจำวารสาร...ด้วยบรรณาธิการคนล่าสุดนั้นเกษียณอายุราชการ แล้วท่านเห็นว่าฉันพอมีประสบการณ์จากกการสอนสั่งของท่านมา น่าจะประคับประคองวารสารให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้

ฉันอยู่ในรุ่นผลักดันให้วารสารมีการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ (peer review) และสามารถผลักดันให้วารสารเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูล-ศูนย์การอ้างอิงดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index Center) ในปี 2555 ซึ่งเป็นการประเมินคุณภาพวารสารครั้งที่ 1 วารสารอินฟอร์เมชั่นได้มีรายชื่อในกลุ่มคุณภาพกลุ่มที่ 1 ภายใต้การนำของอดีตบรรณาธิการ พี่นายิกา เดิดขุนทด...พอฉันมารับงานต่อ และทำการรับรองคุณภาพวารสารครั้งที่ 2 ในปี 2559 วารสารของฉันหล่นตุ๊บมาเป็นกลุ่ม 2....เปิดเว็บเชคข่าว พอเห็นรายชื่อปรากฏ เล่นเอาฉันปวดหัวไปทั้งวัน...ตรวจสอบข้อมูลพบว่า เราตกค่าคะแนนในส่วนของจำนวนสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกสถาบันไม่ถึงร้อยละ 50


การเป็นบรรณาธิการวารสารเริ่มเป็นยาขมสำหรับฉัน ด้วยการขึ้นหลังเสือนี่แหล่ะ...เราเคยอยู่กลุ่ม 1 นี่นะ...ความพลาดพลั้งที่ผ่านมาเราแก้ไขได้ และปัจจุบัน TCI ก็กำหนดเกณฑ์มาให้ใช้อย่างจริงจังและเข้มข้นขึ้น ทำอย่างไรฉันจะนำพาวารสารจากกลุ่มที่ 2 ขยับมายืนบนแท่นกลุ่ม 1 แห่งความคุณภาพ...ฉันเคยประกาศก้องว่า ถ้าฉันพาวารสารขึ้นกลุ่ม 1 ได้ ฉันจะลาออกแล้วให้น้องๆ มาเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ดู...มีคำถามแว่วมา ถ้ายังอยู่กลุ่ม 2 เหมือนเดิมหล่ะ...ฉันตอบ...ฉันคงลาออก เพราะการพิจารณาตนเองว่าตนเองมีความสามารถไม่พอ คงต้องขอให้คนอื่นที่มีความสามารถมาช่วยดำเนินการพาวารสารให้ไปถึงจุดหมายที่ตั้งเป้าไว้

ปัญหาที่ฉันพบในการดำเนินงานในหน้าที่นี้มีหลากหลาย ปัญหายุบๆยิบ ไม่ใหญ่ แต่ต้องแก้ไข บางอย่างก็หาทางแก้ไขได้ บางอย่างก็ไม่ได้ คือ

ด้านระบบ

1. เมื่อ TCI กำหนดให้ใช้ระบบ OJS -Online Journal System มาใช้ในการควบคุมการดำเนินงานของวารสารให้เห็นเชิงประจักษ์ตั้งแต่การรับบทความ ผ่านกระบวนการพิจารณาเพื่อการตีพิมพ์เผยแพร่ จนถึงการตีพิมพ์ และยังเป็นการประยุกต์การทำงานด้วยเทคโนโลยีที่คาดว่าการทำงานจะสะดวกขึ้น มันทำให้

-กองบรรณาธิการวารสารจะต้องพัฒนาความรู้ ความสามารถในการใช้งานโปรแกรมให้ได้ ได้ถึงขั้นไหน ก็ถึงขึ้นสามารถให้คำแนะนำผู้เขียน ผู้ทรงคุณวุฒิที่ต้องทำงานผ่านระบบนี้ได้

-ผู้เขียนยังไม่เคยชินการการทำงานผ่านระบบ มักจะติดต่อผ่านมาทาง E-mail ของกองบรรณาธิการ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความนั้นตรงกับวัตถุประสงค์ของวารสาร และบรรณาธิการรับไว้พิจารณาเป็นเบื้องต้น เมื่อให้ส่งบทความอีกครั้งผ่านระบบ อาจจะเกิดความไม่พึงพอใจ

-ผู้ทรงคุณวุฒิบางคนไม่คุ้นชินกับการพิจารณาบทความผ่านระบบ ทำให้มีการแสดงความคิดเห็นน้อย ปฏิเสธการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพราะเห็นว่าการทำงานมีความยุ่งยาก ทำให้กองบรรณาธิการต้องทำงาน 2 ระบบควบคู่กันไป ทั้งระบบสิ่งพิมพ์ และระบบออนไลน์ ทำให้ต้องจูงใจผู้ปฏิบัติงานอย่างมากในการสร้างทัศนคติว่า เป็นการทำงานในรุ่นบุกเบิกซึ่งจะมีความยากเป็นธรรมดา

ด้านเนื้อหา

1.วารสารมีความเป็นบูรณาการมากขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ นวัตกรรมการศึกษา สื่อการเรียนรู้ ทำให้หาผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer review) ในสาขาที่เกี่ยวข้องได้ยากมาก

2.วารสารมีความเฉพาะเจาะจงทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ เป็นกลุ่มวิชาชีพที่มีความเฉพาะจึงทำให้มีบทความที่จะนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ค่อนข้างน้อย ต้องลุ้นเป้นประจำเกี่ยวกับจำนวนบทความที่ต้องได้ตามเกณฑ์ก่อนปิดฉบับแต่ละฉบับ

3.การอ้างอิงบรรณานุกรมท้ายบทความและการอ้างอิงในเนื้อหาที่ต้องแปลงภาษาไทยเป้นภาษาโรมัน โดยการ Romanized (จะออกมาเป็นภาษาคาราโอเกะ เช่น Ja-Ook-Ma-Pen-Pasa-Karaoke) ทำให้ไม่แจ่ใจการในการตรวจสอบการอ้้างอิง (Citation) ของTCI ว่าจะส่งผลต่อค่า Impact Factor ของวารสาร ที่มีค่าคะแนนในการพิจารณาจัดกลุ่มคุณภาพวารสารด้วย (ตรูจะตกไปกลุ่ม 3 ไหมนี่) นำมาซึ่งความหนักใจของผู้เป็นบรรณาธิการอย่างยิ่ง

....เหตุผลในการต้องแปลงภาษา เพราะ ถ้าได้รับการพิจารณาคุณภาพจาก TCI ต่อเนื่อง วารสารนี้จะถูกบรรจุใน ACI -(Asian Journal Citation Index) และอาจจะถูกคัดเลือกบรรจุในฐานข้อมูล SCOPUS ในที่สุด...หากไม่แปลงภาษา Ref. จะต้องขอเลข DOI ในการกำกับวารสาร ประเด็นนี้ ทาง TCI ว่า ถ้ามีการอ้างอิง...ตรวจเจอแน่ๆ ไม่ว่าจะเขียนเป็นภาษาอะไร เพราะช่วงนี้ใช้การตรวจโดยคน (Human Checker) ในอนาคคตจะใช้เครื่องจักรตรวจ (Robot Checker) แล้วกรณีที่ไม่แน่ใจจะใช้คนตรวจซ้ำอีครั้ง

4. ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลด้านการละเมิดการใช้สารสนเทศ เพราะข้อมูลที่จะนำไปเข้าฐานข้อมูล TCI นั้นจะถูกเผยแพร่ Fulltext ในโลกดิจิทัล ดังนั้นการผิดจรรยาบรรณในด้านการใช้สารสนเทศ (Plagiarism) จึงเป็นขั้นตอนที่จำเป็นในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง

5. วารสารที่ฉันรับผิดชอบเป็นบรรณาธิการนั้น มีวัตถุประสงค์ในการเป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้จากการปฏิบัติงาน ประสบการณ์ในวิชาชีพ สมัยก่อนแต่งตั้งกองบรรณาธิการจากบรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษในการทำหน้าที่ด้านวิชาการ บุคคลเหล่านั้นสามารถเขียนบทความได้ดี ซึ่งช่วยได้ในกรณีที่วารสารมีบทความไม่ครบจำนวนกับการปิดฉบับได้ ทำให้ออกวารสารด้ทันตามกำหนด แต่ปัจจุบันการที่คนในกงบรรณาธิการเขียนเองนั้นอาจจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของวารสาร

....จากการสอบถาม จนท. ของ TCI คุณชาตรี วงษ์แก้ว (2559) สรุปว่า คนในกองบรรณาธิการสามารถทำหน้าที่เป็นผู้เขียนได้ โดยอาจจะเป็นผู้แต่งหลัก หรือผู้แต่งร่วม แต่ไม่ควรมีลักษณะนี้จำนวนมากในวารสาร 1 ฉบับ และต้องไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาบทความ เช่น บรรณาธิการวารสาร จะส่งบทความตีพิมพ์ในวารสารที่ตนเองรับผิดชอบ กรณีนี้ต้องให้ผู้ช่วยบรรณาธิการเป็นผู้พิจารณาโดยไม่เข้าไปก้าวก่าย

6. เงื่อนไขของวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI นั้นต้องจัดทำบทคัดย่อเป็นภาษาอังกฤษ (Abstract) บางครั้งผู้ทรงคุณวุฒิไม่ได้ให้ความสำคัญในส่วนนี้มากนัก กองบรรณาธิการต้องรับผิดชอบดูแลให้เป็นไปตามหลักไวยากรณ์ 555+ นับเป็นงานหินมาก แม้จะเป็นบรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ และมี Google Translation อยู่ แต่ตอนเป็นนักศึกษานั้นเกรดภาษาอังกฤษได้ C กับ D มา

ด้านอื่นๆ

1. ผลกระทบจากการใช้ OJS ที่ให้บริการ Digital Fulltext มีผลต่อการบอกรับเป็นสมาชิก ในการพัฒนาระบบหลายๆ วารสารใช้ OJS ได้สะดวกไม่ต้องพัฒนาเพิ่ม แต่วารสารนี้ต้องพัฒนา Function การให้ดู Fulltext เฉพาะผู้เป็นสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่บอกรับเป็นสมาชิกในรูปแบบของสถาบันการศึกษา ดังนั้นการดู Fulltext ฉบับปัจจุบันต้องตรวจสอบจาก IP Address ของแต่ละสถาบัน นอกจากนั้นยังต้องกำหนดนโยบายในการให้ดู Fulltext ได้ฟรีว่าบริการตั้งแต่ปีไหนบ้าง จากที่ศึกษาพบว่า มักจะให้ดูได้ทุกฉบับหลังจากปีปัจจุบัน

2. ความเป็นวิชาการ อย่างที่รู้กันว่าบรรณาธิการวารสารทำหน้าที่เป็นตัวประสานระหว่างผู้เขียนกับผู้ทรงคุณวุฒิในการผลิตเอกสารวิชาการที่มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ แต่หลายครั้งที่เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้เขียนกับผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเฉพาะบทความที่ปรับมาจากงานที่ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิอีกเวทีหนึ่งแล้ว เช่น บทความที่นำมาจากวิทยานิพนธ์ที่ผ่านการสอบจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ บทความที่นำมาจากงานวิจัยที่ผ่านการพิจารณาจากกรรมการผู้ให้ทุนแล้ว หากมีความขัดแย้ง บรรณาธิการจึงต้องเล่นบทนางเอก โดยพิจารณาให้ตีพิพม์หรือไม่ตีพิมพ์ เห็นด้วย หรือเห็นแย้ง พร้อมต้องระบุเหตุผลกำกับด้วยว่าเพราะเหตุใด ...ฉันเอง และบรรณารักษ์หลายๆ คนในกองบรรณาธิการชักไม่มั่นใจในความรู้ของตนเอง...แต่ประเด็นนี้เรายังมีบรรณาธิการประจำวารสารที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่พอจะให้ช่วยให้บรรณาธิการอย่างเราๆ เอาตัวรอดได้อย่างเหมาะสมทางวิชาการ

3. กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยน มองย้อนหลังไป 3 ปี พบว่าผลงานร้อยละ 85 นั้นเป็นบทความจากนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มีบ้างที่เป็นผลงานจากการปฏิบัติงาน และร้อยละ 85 เท่ากันที่เป็นงานวิจัย ดังนั้นบทความที่นำเสนอองค์ความรู้ หรือแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน จึงไม่ค่อยมี ทำให้ความน่าสนใจในการใช้สาระองค์ความรู้ประกอบการปฏิบัติงานของวารสารลดน้อยลง (ส่วนใหญ่ผู้ที่ใช้สาระจากงานวิจัยนั้นมักจะใช้ในแวดวงของการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและการวิจัย) จึงเป็นความท้าทายของบรรณาธิการที่จะเชิญชวน กระตุ้น ให้บรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศจัดทำบทความแล้วนำมาเผยแพร่ในวารสารนี้ต่อไป ลองดูนะคะ...



หมายเลขบันทึก: 610261เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2016 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2016 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท