หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เรื่องเล่าจาก "เด็กนิติศาสตร์"


อาจารย์ส่วนใหญ่เป็นคนต่างพื้นที่และพูดภาษากลางเกือบทั้งหมด ทำให้ชาวบ้านหลายต่อหลายคนไม่เข้าใจในข้อกฎหมายที่อาจารย์หรือวิทยากรบรรยาย ส่งผลให้ผมและเพื่อนๆ หรือกระทั่งน้องๆ ต้องเข้าไปช่วยอธิบายขยายความอีกรอบ







ปีการศึกษา 2558 ผมมีโอกาสได้ร่วมเป็นทีมทำงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของคณะนิติศาสตร์ ซึ่งเป็นงานบริการวิชาการแก่สังคมในชื่อโครงการ “ให้ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินในชุมชนบ้านโนนคัดเค้า ตำบลแห่ใต้ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม”

ระยะแรกๆ ผมไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนกับการบริการวิชาการ แต่พอได้เข้าไปช่วยงานอาจารย์เป็นระยะๆ ก็ได้เรียนรู้และเข้าใจว่าโครงการที่ว่านี้เป็นยังไง ต้องทำอย่างไร และสำคัญแค่ไหน





ผมเข้าร่วมโครงการนี้โดยไม่เกี่ยวข้องกับวิชาเรียนใดๆ เป็นการเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานด้านกิจกรรมของนิสิตในโครงการนี้ ซึ่งโดยปกติแล้วผมก็เป็นคณะทำงานด้านกิจกรรมนิสิตในคณะอยู่แล้ว พออาจารย์ชวนให้มาช่วยงาน ผมจึงไม่รีรอที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรม ซึ่งนอกจากผมและเพื่อนๆ ในกลุ่ม “นิติชน” แล้ว ยังมีเพื่อนและน้องๆ จากรายวิชาวิชากฎหมายการกระทำความผิดอาญาของเด็กและเยาวชน” เข้าร่วมอีกเป็นจำนวนมาก

โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เพราะเปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้จริงๆ จากชาวบ้าน และช่วยให้ชาวบ้านได้เรียนรู้จริงๆ กับอาจารย์และนิสิต ถึงแม้ว่าหมู่บ้านจะอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยมากนัก แต่ชาวบ้านก็ไม่รู้หรอกว่าจะเข้ามาเรียนรู้อะไรจากมหาวิทยาลัยและจะเข้ามาในรูปแบบใด พอมีโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน จึงช่วยให้ปัญหาที่ว่านั้นหมดสิ้นลง เพราะทั้งมหาวิทยาลัยและชุมชนต่างก็ได้เรียนรู้ร่วมกัน เป็นการเรียนรู้ที่ดี เป็นการเรียนรู้คู่บริการ เพราะต่างฝ่ายต่างเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับไปพร้อมๆ กัน




ผมชอบกิจกรรมหลายๆ กิจกรรมในโครงการนี้ ชอบเพราะได้ลงมือทำจริงกันจริงๆ ชอบเพราะได้สัมผัสจริงร่วมกับอาจารย์ ร่วมกับเพื่อน ร่วมกับน้องๆ ในคณะและร่วมกับชาวบ้าน รวมถึงร่วมกับพี่ๆ ศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว เช่น กิจกรรมในช่วงของการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ก็ไม่ใช่แค่ไปสำรวจ สอบถาม หรือสัมภาษณ์ประเด็นปัญหาเรื่องกฎหมาย เรื่องข้อพิพาท หรือแนวปฏิบัติดั้งเดิมในชุมชนเท่านั้น แต่กลับทำให้ผมได้เห็นมองเห็นและเข้าใจความเป็นจริงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน เห็นการกินการอยู่ เห็นการประกอบอาชีพหลักอาชีพรอง เห็นประเพณี เห็นปราชญ์ชาวบ้าน เห็นปัญหาหนี้สิน เห็นความสามัคคีในชุมชน

และที่ชอบมากๆ อีกเรื่องก็คือช่วงที่ชาวบ้านฟังเรื่องกฎหมายแล้วไม่ค่อยจะเข้าใจ เพราะอาจารย์ส่วนใหญ่เป็นคนต่างพื้นที่และพูดภาษากลางเกือบทั้งหมด ทำให้ชาวบ้านหลายต่อหลายคนไม่เข้าใจในข้อกฎหมายที่อาจารย์หรือวิทยากรบรรยาย ส่งผลให้ผมและเพื่อนๆ หรือกระทั่งน้องๆ ต้องเข้าไปช่วยอธิบายขยายความอีกรอบ ซึ่งมีทั้งที่ต้องอธิบายในแบบเฉพาะเจาะจงเป็นกลุ่มและเป็นรายบุคคล ตรงนี้แหละที่กลายเป็นสีสันของกิจกรรมที่ได้ช่วยให้ได้ทั้งความรู้และความสนุก รวมถึงการได้ความเป็นกันเองกับชาวบ้าน






ในโครงการนี้ผมก็ได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ มากมาย ได้เรียนรู้หลักการของการทำงานร่วมกับชุมชน ได้รู้ว่าหมู่บ้านนี้ตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2430 และส่วนหนึ่งก็อพยพมาจากอำเภอกันทรวิชัยอันเป็นอำเภอที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในปัจจุบัน รวมถึงการได้เรียนรู้ระบบอันเป็นกระบวนการทำงานร่วมกับอาจารย์และนิสิตอีกหลายคน เช่น

  • การประชุมวางแผนก่อนลงชุมชน
  • การมอบหมายงาน
  • การเตรียมประเด็นในการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูล
  • การมาสรุปผลการดำเนินงาน
  • ร่วมวิเคราะห์ข้อมูลกับอาจารย์และนิสิตคนอื่นๆ ซึ่งได้ทั้งความรู้ที่เป็นวิชาการ และความรู้ของการทำงานเป็นทีม

การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ผมได้เรียนรู้เรื่องการเก็บข้อมูลชุมชน ศิลปะในการสัมภาษณ์ ทักษะในการสื่อสารเรื่องกฎหมาย การได้นำความรู้เรื่องกฎหมายที่ผมเรียนไปบริการสังคมในแบบของการเป็น “อาสาสมัคร” และการเรียนรู้ความเป็นเพื่อนเป็นพี่ในคณะนิติศาสตร์

ขณะเดียวกันผมก็ได้ความรู้เรื่องกฎหมายเพิ่มเติมจากการบรรยายนอกสถานที่ของอาจารย์และวิทยากรที่เป็นศิษย์เก่าด้วยอีกต่างหาก เป็นการเรียนนอกห้องเรียน หรือเรียนนอกมหาวิทยาลัยที่มีประโยชน์มาก มันเหมือนการเรียนจากความเป็นจริงของสังคมร่วมกัน ไม่ใช่การเรียนที่เอาแต่ท่องจำตำราและรอสอบให้ได้เกรดดีๆ โดยไม่ได้เอาไปใช้จริง





ในส่วนของปัญหานั้น ผมก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งดูแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมโหฬารอะไรมากมาย เป็นเรื่องของการขาดความรู้และทักษะในการลงชุมชน รวมถึงปัญหาเครื่องเสียงที่ใช้แห่ต้นดอกเงิน (ผ้าป่า) ไปวัด ซึ่งดูแล้วก็ใช่ปัญหาอุปสรรคที่ใหญ่โตอะไร แต่เป็นปัญหาที่ทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกันระหว่างนิสิตกับอาจารย์และชาวบ้าน มันก็เหมือนเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน เหมือนวิถีประชาธิปไตยในตัวเหมือนกัน

นี่คือความสุขและความภูมิใจของผมที่มีโอกาสได้เรียนรู้ชีวิตผ่านโครงการอันดีงามของมหาวิทยาลัย ทำให้ผมมีโอกาสได้นำวิชาการที่เป็นวิชาชีพตนเองไปประยุกต์ใช้กับการบริการสังคม มองเห็นภาพอันเป็นทางเลือกของการเป็นอาสาสมัคร หรือจิตอาสาที่หลากหลายขึ้น รวมถึงการเข้าใจในเรื่องความเป็น “อัตลักษณ์นิสิต” (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา





หมายเหตุ :
เรื่อง :
จันทร์เพ็ง ขุนพิบาล : ชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์
ภาพ : จันทร์เพ็ง ขุนพิบาล และคณะนิติศาสตร์



หมายเลขบันทึก: 609673เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2016 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2016 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านบันทึกครับ

-ได้สัมผัส"“อัตลักษณ์นิสิต”ครับ

-อาจารย์สบายดีนะครับ??


สวัสดีครับ เพชรน้ำหนึ่ง

ช่วงนี้ฝนพรำสายบ่อยๆ อย่าลืมรักษาสุขภาพนะครับ

เรื่องเล่านี้ ผมใช้วิธีการสัมภาษณ์นิสิตผ่าน FB ตั้งประเด็นคำถาม ชวนโต้ตอบเป็นประเด็นๆ ให้นิสิตตอบกลับมา แล้วเอามาเรียบเรียงจัดวางเป็นเรื่อง

เป็นการทำให้เด็ก "เขียน" แบบ "ไม่รู้ว่าเขียน" ครับ

แต่ทั้งปวงนั้นก็มาจากถ้อยคำข้อเขียนนิสิตทั้งนั้นครับ เรามีหน้าที่แค่ปรับแต่งภาษานิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท