​KM วันละคำ : 658. ความเข้าใจ KM สำหรับคุณอำนวย


KM 3.0 มีพลังมากกว่า KM 2.0 เพราะเน้นเป้าหมาย core business ขององค์กร และใช้พลัง IT โดยเฉพาะ big data technology เน้นความรู้ที่เป็น critical knowledge เพื่อการบรรลุเป้าหมายหลัก (core business) ขององค์กร

KM วันละคำ : 658. ความเข้าใจ KM สำหรับคุณอำนวย

มศว. ต้องการพัฒนา “คุณอำนวย” สำหรับทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาจังหวัด ดังเล่าแล้วใน บันทึกนี้ ได้มาขอให้ สคส. ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการประชุมปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่จังหวัดราชบุรี เพื่อสร้าง “คุณอำนวย”

คุณวรรณา เลิศวิจิตรจรัส ทำหน้าที่หัวหน้าวิทยากร ผมไปเป็นกองหลังให้ ๑ วันในวันแรก และเตรียมตัวไปอธิบายให้เหล่าอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มาฝึกเป็นคุณอำนวยเข้าใจว่า KM คืออะไร มีสรรพคุณอย่างไร

คำว่า “ความรู้” ใน “การจัดการความรู้” (KM) เน้นที่ ความรู้จากการปฏิบัติ (tacit knowledge) คนมหาวิทยาลัยคุ้นเคยและให้คุณค่าความรู้เชิงทฤษฎี (explicit knowledge) ที่มีการตรวจสอบความแม่นยำ ถูกต้องแน่นอน จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญ และไม่ค่อยเชื่อถือความรู้ที่อยู่ในการปฏิบัติ และไม่รู้วิธีการดึงความรู้ จากการปฏิบัติ ออกมาใช้งาน การฝึกและใช้เทคนิคจัดการความรู้จึงอาจจะยากและรู้สึกฝืนใจ จึงต้องทำความเข้าใจว่า เรากำลังฝึกเป็นผู้ส่งเสริมการนำความรู้จากการปฏิบัติมาสร้างพลัง ในการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในกรณีของ มศว. คือการออกไปทำงานพัฒนาร่วมกับชุมชนใน ๒ จังหวัดคือ นครนายก และสระแก้ว โดยทำงานร่วมกันในลักษณะของ engagement คือภายใต้ความสัมพันธ์ แนวราบ ไม่ใช่ไปช่วยเหลือ

หลักการ community engagement ของมหาวิทยาลัย อยู่ใน เว็บไซต์นี้

การจัดการความรู้แนว KM 3.0 ต้องเริ่มจากเป้าหมายที่ชัดเจน กรณีของ คุณอำนวย ของ มศว. ก็ต้องมาตกลงกันว่า เป้าหมายของงานพัฒนาจังหวัด ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมคืออะไร ภายใน มศว. ต้องตกลงกันเอง

แล้วทีม คุณอำนวย จึงมาคิดร่วมกันว่า ความรู้ปฏิบัติ สำหรับบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคืออะไรบ้าง มีอยู่ในบุคคล (หรือกลุ่มบุคคล) ที่เข้าไปทำอะไรในพื้นที่ แล้วทีม คุณอำนวย จึงเข้าไปค้นหาเรื่องราว ความสำเร็จเล็กๆ ตามเป้าหมายที่กำหนด เชิญทีมงานเหล่านั้นมาเล่าเรื่อง เพื่อ ถอดความรู้ จากการปฏิบัติ ออกมากลั่นกรองตรวจสอบทำเป็นชุดความรู้ (core knowledge) เพื่อการทำงานพัฒนาในพื้นที่ทั้งสอง โดยมีการจัดหมวดหมู่ และนำเข้าไปไว้ในเว็บไซต์ของโครงการ และอาจนำเรื่องราวไปทำเป็นวีดิทัศน์สั้นๆ เอาไปแขวนไว้บน YouTube และนำเผยแพร่ใน social media สำหรับใช้ขับเคลื่อนโครงการให้คึกคัก

ทักษะสำคัญของ “คุณอำนวย” คือการฟัง และ การถาม รวมทั้งการช่วยสรุปประเด็นให้ชัดเจน ทั้งการฟังและการถาม จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ทำกิจกรรมได้เล่าเรื่องกิจกรรมออกมา และความรู้จากการปฏิบัติ จะโผล่ออกมาจากเรื่องราวเหล่านั้น ให้ “คุณอำนวย” จับประเด็น และ “คุณลิขิต” จดบันทึกไว้

คำถาม มีเป้าหมายดึงประเด็น แรงบันดาลใจ จินตนาการ หรือความฝัน ออกมา เช่นถามว่า คิดอย่างไรจึงทำเรื่องนี้ ที่ทำนั้นหวังผลอะไร ผลที่หวังมีคุณค่าอย่างไร เมื่อทำไปแล้วได้ผลอะไร ตรงกับที่คาดหรือไม่ หากไม่ตรงกับที่คาด ได้อะไร ผลที่ได้นั้นมีคุณค่าอย่างไร บทเรียนจากการลงมือทำ ครั้งนี้ ทำให้คิดตั้งเป้าทำอะไรต่อไป คำตอบที่ได้ เป็น “ความรู้” ทั้งสิ้น เพราะมันเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนไปสู่ผล หรือเป้าหมายที่ต้องการ

จะเห็นว่า ในเรื่อง “การจัดการความรู้” นั้น คำว่า “ความรู้” มีความหมายกว้างกว่าที่นักวิชาการยึดถือ อะไรก็ตาม ที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมาย ถือเป็น “ความรู้” ทั้งสิ้น

คุณอำนวย ทำหน้าที่สร้างบรรยากาศการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวา และมีการดึงความรู้จากการปฏิบัติออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ดึงเอาความรู้ที่ใช้การได้ดี มีความชัดเจน มาตรวจสอบความแม่นยำถูกต้อง จัดหมวดหมู่ เอาไปใส่เข้าคลังความรู้ให้สมาชิกเข้าไปค้น เอามาใช้ได้ง่าย และอาจจัดทำระบบที่ตรวจสอบได้ว่ามีใครเข้าไปอ่าน และมีระบบติดตามว่าเอาไปใช้ในเรื่องใด ได้ผลอย่างไร หาทางชักชวนให้นำประสบการณ์การนำความรู้ในคลังไปปรับใช้ต่อ มาเล่าในกระดานข่าวของหน่วยงาน หรือองค์กร เพื่อหมุนเกลียวความรู้ยกระดับขึ้นไปไม่หยุดยั้ง โดยมีข้อมูลว่าการหมุนเกลียวความรู้นั้น มีการยกระดับผลงานตามเป้าหมายหลักอย่างไร

เนื่องจาก มศว. เป็นหน่วยงานวิชาการ เป้าหมายอย่างหนึ่งของการเข้าไปดำเนินการ community engagement กับพื้นที่ในสองจังหวัด ย่อมมีเป้าหมายทางวิชาการเป็นเป้าหมายหลักอย่างหนึ่ง คุณอำนวย จึงมีหน้าที่ประสานงานให้ผู้เข้าไปทำงานร่วมกับพื้นที่ สามารถสร้างผลงานวิชาการที่มีคุณภาพได้ด้วย โดยอาจเริ่มตั้งแต่ดำเนินการจัดเวทีตั้งโจทย์ ที่เชื่อมจากโจทย์เชิงพัฒนา มาเป็นโจทย์เชิงวิชาการ ไปจนถึงการประสานงานให้เกิดผลงานตีพิมพ์

ข้างบนนั้นเขียนก่อนวันที่ ๙ มิถุนายน คือก่อนการประชุม

ในวันประชุม หลังจากวงผู้เข้าร่วมทำ BAR บอกความฝันของตน ว่าที่ไปเข้าประชุมปฏิบัติการนั้น ตนเองหวังอะไรในเชิงคุณค่า คุณอ้อก็โยนเวทีมาให้ผม ให้ทำหน้าที่สรุปสิ่งที่ได้ยิน

ผมจึงสรุปแบบไม่สรุป ว่าที่ผมได้ยินจากวงประชุม ผู้มาร่วมประชุมต้องการทำงานของตน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจังหวัดนครนายกหรือสระแก้วให้ได้ผลดีขึ้น โดยที่บางท่านก็ต้องการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” บางท่านต้องการทำหน้าที่นักวิชาการ ที่ลงไปในชุมชน

ผมชี้ให้เห็นว่า ทักษะสำคัญที่สุดของ “คุณอำนวย” คือ ทักษะการฟัง ฟังให้ได้ยินสิ่งที่เขาไม่ได้บอก ฟังให้เข้าใจคุณค่าของเรื่องที่กำลังคุยกัน หรือดำเนินการ หาทางชวนคุย หรือทำความเข้าใจให้ชัดขึ้น ชัดในระดับปฏิบัติ คือหาทางเชื่อมโยงความฝัน ความรู้ ไปสู่การปฏิบัติ ยิ่งมีคนที่ปฏิบัติหรือดำเนินการอยู่แล้ว ยิ่งดี “คุณอำนวย” จะได้เชื่อมโยงสู่การทำความเข้าใจเรื่องนั้นจากการปฏิบัติที่มีผู้ทำอยู่บ้างแล้ว ว่ามีวิธี ดำเนินการอย่างไร เห็นผลอะไรจากการปฏิบัติ เห็นคุณค่าอะไร จากการปฏิบัติ

คุณอำนวย ทำหน้าที่เชื่อมโยงการสื่อสาร หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากการปฏิบัติ โดยที่สมัยนี้สามารถสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องพบหน้ากัน คือสื่อสารผ่านไอซีที และสามารถสะกัดความรู้ปฏิบัติ เอาไปเข้าคลังความรู้(ปฏิบัติ) ให้คนในองค์กรเข้าไปเรียนรู้วิธีการได้ทุกที่ทุกเวลา ในทันทีที่ต้องการใช้ นี่คือพลังของ KM 3.0

พลังของ KM 3.0 อยู่ที่การเลือกทำ KM โดยมีเป้าหมายยกระดับ core business ขององค์กร “คุณอำนวย” ต้องมีวิธีชักนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยต้องชักชวนกันทำความเข้าใจ critical knowledge ที่จะช่วยการบรรลุเป้าหมายตาม core business นั้น ความรู้ที่เก็บไว้ในคลังให้พนักงานนำไปใช้ต้องเน้นที่ critical knowledge

คุณอำนวย ต้องหาทางทำให้กระบวนการ KM บูรณาการอยู่ในขั้นตอนการทำงานตามปกติ คือไม่ต้องเอ่ยคำว่า KM ก็ได้ แต่มีกระบวนการ ลปรร. และแบ่งปันความรู้อยู่ในชีวิตประจำวันของการทำงาน รวมทั้งมีวัฒนธรรม “หาทางทำให้ดีกว่าเดิม” แผ่ซ่านอยู่ทั่วทั้งองค์กร

คุณอำนวย ต้องหาทางสร้างบรรยากาศการทำงานที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามหน่วยงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อการบรรลุเป้าหมาย core business และกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมมือข้ามสายงาน

KM 3.0 มีพลังมากกว่า KM 2.0 เพราะเน้นเป้าหมาย core business ขององค์กร และใช้พลัง IT โดยเฉพาะ big data technology เน้นความรู้ที่เป็น critical knowledge เพื่อการบรรลุเป้าหมายหลัก (core business) ขององค์กร

ไม่ว่า KM รุ่นใด เน้นความรู้จากการปฏิบัติ คุณอำนวย จึงต้องหาทางจัดให้มีการบันทึกความรู้ จากการปฏิบัติ (ที่เป็น criticl knowledge) เอาไปใส่ไว้ในระบบไอที เพื่อให้พร้อมใช้ต่อพนักงานในองค์กร โดยที่ความรู้จากการปฏิบัติมักต้องบันทึกเป็นเรื่องเล่า หรือวีดิทัศน์ แสดงวิธีทำงาน

ผมเขียนบันทึกตอนหลัง workshop ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน สัปดาห์เศษให้หลัง โดยที่บันทึกเสียงพูดมันก้องฟังไม่ได้ ผมจึงต้องใช้วิธีทบทวนความจำ (อันเลือนราง เพราะผมความจำไม่ดี)

วิจารณ์ พานิช

๙ มิ.ย. ๕๙

หมายเลขบันทึก: 608601เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2016 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2016 09:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้แนวทางไปทำคลังความรู้จาก Tacit Knowledge จะพยายามค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท