ประวัติหลวงพ่อวิริยังค์ : พระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ บันทึกตอนสุดท้ายในหนังสือประวัติการสร้างพระหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก


ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต...

บันทึกตอนสุดท้ายในหนังสือ ประวัติการสร้างพระพุทธรูปหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก...

พระอาจารย์มั่นกับหลวงพ่อวิริยังค์เดินทางถึงจังหวัดอุบลราชธานีพักอยู่ที่วัดบูรพาราม อันเป็นสถานที่ถวายพระราชทนเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ การเดินทางลำบากครั้งนี้หลวงพ่อวิริยังค์ได้บันทึกไว้ว่าเป็นด้วยความกตัญญู กตเวที ที่แสดงออกต่อพระอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ที่แสดงให้ลูกศิษย์ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์

การมาของพระเถระมากมายประมาณ 500 องค์ที่ต่างเดินทางมาโดยไม่ได้รับนิมนต์ เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ต่างไม่เป็นภาระต่อวัด ต่างช่วยเหลือตนเองทั้งการฉันการอยู่ตามมีตามได้ อาศัยโคนต้นไม้ใช้ฝาบาตรเป็นหมอนหนุนศรีษะ ใช้ผ้าอาบน้ำฝนปูนอน กางกลดนอนโดยไม่เป็นภาระแก่ผู้จัดงานแต่อย่างใด

วันหนึ่ง มีพระอาจารย์องค์หนึ่งเข้ามาถามถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการเดินธุดงค์ที่ไปปักกลดตามชุมชนโดยมีการประกาศติดไว้ที่มุ้งกลดว่ามีของดี พระอาจารย์มั่นบอกว่า การธุดงค์ที่ถูกต้องคือต้องหลีกเร้นไปในแหล่งที่สงัดสงบ ยิ่งสงบยิ่งดีเพื่อบำเพ็ญขัดเกลากิเลส ต้องเปลี่ยนสถานที่เพื่อแก้ความเคยชิน อย่าเอาการอยู่ป่า อยู่บนภูเขา อยู่ในถ้ำ เป็นเครื่องโฆษณาเป็นอันขาด เพราะคนจะแตกตื่น ถือว่าเป็นการปลอมแปลงการถือธุดงค์ จะไม่ได้รับผลจากการรักษา ปฏิบัติธุดงค์ตามความมุ่งหวัง

ธุดงค์ แปลว่าคุมเครื่องกำจัดความอยาก มีฉันหนเดียว ฉันในบาตร ไม่มีภาชนะอื่น การบิณบาตร การอยู่โคนไม้ การอยู่ในป่า การปฏิบัติเช่นนี้ชื่อว่าเป็นธุดงค์ เช่นการฉันหนเดียวเป็นการตัดความอยาก ตัดการกังวลไปทั้งวันทั้งปวง ฉันในบาตรก็ไม่ต้องคิดถึงรสชาติหรือภาชนะต่างๆที่จะคิดแบ่งข้าวเพื่อหารสชาติแปลกๆก็ตัดไป การอยู่ในป่าไกลจากบ้านมากพอควร เป็นที่สัปปายะเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร อย่าไปอยู่ถ้ำที่ประชาชนไปกันมากหรือรู้จัก หรือสร้างถาวรวัตถุเพื่อเรียกให้คนไปหาถือว่าไม่เป็นธุดงค์ บางแห่งทำสถานที่โอ่อ่ายิ่งกว่าในเมืองเสียอีก ถือว่าไม่เป็นธุดงค์

เมื่อพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ได้ผ่านไปด้วยดี เป็นไปด้วยความเรียบร้อยทุกประการ หลังจากนั้นพระเถรานุเถระทั้งหมดก็จะมาประชุมเพื่อร่วมถวายสักการะแก่พระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นเป็นพระผู้ใหญ่และเป็นประธาน การถวายสักการะคณะปฏิบัติถือว่าเป็นการทำวัตร พร้อมกับรับโอวาท

หลวงพ่อวิริยังค์ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง ๒๓ ปีบันทึกไว้ว่าเป็นภาพที่พระเถรานุเถระที่พร้อมเพรียงกันสักการะนั้นน่าจะบันทึกเป็นภาพยนต์หรือภาพนิ่งภาพวาดยิ่งนัก เสียดายที่เป็นเพียงมโนภาพที่น่าเลื่อมใสและนำมาบันทึกไว้เท่านั้น

คำเตือนครั้งสุดท้ายก่อนที่บรรดาพระเถรานุเถระจะอำลากันแยกย้ายกลับถิ่นฐานตัวเองคือ อย่าประมาท จงพากันคิดว่าการมาทำศพนั้นคือการสอนตัวของเราเอง นำเอาศพมาเป็นสักขีพยานว่าความตายเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เวลาคนตายนิมนต์พระมาสวด เข้าใจว่าสวดให้คนตาย บางคนเคาะโลงศพบอกว่าพระมาสวดให้ นี่เป็นการเข้าใจผิด

ความจริงท่านต้องการให้ผู้ฟังปลงธรรมสังเวช คือเอาคนตายเป็นสักขีพยานว่านี่ยังไงศพ จะได้นึกถึงตัวเองว่าจะต้องตาย แล้วพระอาจารยืมั่นก็เล่าเรื่องบุพกรรมของท่านพระยศกุลบุตรให้ฟังจนจบ

....................

หมายเลขบันทึก: 608396เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2016 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2016 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท