หัวใจหลักของการจัดการสถานศึกษา


การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ

มีผู้กล่าวว่า สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล ผู้จัดการสถานศึกษา ซึ่งหมายถึง ผู้บริหาร ครู บุคลากรหรือกรรมการสถานศึกษา มักเน้นเรื่องงบประมาณ บุคคล หรือบริหารทั่วไป มากกว่าเน้นเรื่องงานวิชาการ

เหตุผลที่นำมาอ้าง เพราะเรื่องงบประมาณ เรื่องบุคคลหรือบริหารทั่วไป หากจัดการผิดพลาดแล้ว จะนำมาซึ่งการฟ้องร้อง ร้องเรียน หรือยุ่งยากซับซ้อนเข้ามาประทังจนกระทั่งตำแหน่งหรือหน้าที่สั่นคลอน จนถูกขับไล่หรือถูกหน่วยงานที่ตรวจสอบเรียกเงินคืนและการสอบสวนวินัย ตามมา แต่งานวิชาการถึงแม้ผิดหรือตกต่ำก็ไม่มีใครฟ้องร้องหรือไล่ออกแต่อย่างใด

เรากำลังให้ความสำคัญกับงาน 4 งานหลักที่มีค่าน้ำหนักต่างกัน ทั้งๆที่พยายามอธิบายว่าหน้าที่หลักของการจัดการศึกษา คือ ผู้เรียนที่มีคุณภาพ

คำกล่าวอ้างข้างต้น จึงไม่ใช่นักจัดการมืออาชีพที่แท้จริง เพราะหากเป็นมืออาชีพ เขาจะให้ความสำคัญของงานวิชาการเป็นลำดับแรก แต่ก็ให้ความสำคัญกับด้านอื่นๆพอๆกัน เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐ

นโยบายแห่งรัฐ อันหมายถึง ปรัชญาการศึกษา แผนการศึกษาของชาติ นโยบายของรัฐ รวมทั้งจุดเน้นต่างๆที่กำหนดมาให้ปรับใช้ตามบริบทของพื้นที่ และไม่ทิ้งการทำงานแบบ "มุ่งผลสัมฤทธิ์" โดยนำเป้าหมาย ตัวชี้วัดมาปรับใช้เป็นแผนปฏิบัติการประจำปี เพื่อให้บรรลุซึ่งแนวนโยบายของรัฐที่กำหนดให้ และต้องประเมินอย่างต่อเนื่อง

การประเมินที่ได้ผล ปัจจุบันนิยมใช้หลัก PDCA และรายงานผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหารหรือหน่วยงานที่กำกับดูแล สาธารณะและลูกค้าคือผู้ปกครอง ชุมชนอย่างสม่ำเสมอ

การทำงานที่ให้ความสำคัญของงานวิชาการ จึงลงลึกไปถึงหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน สื่ออุปกรณ์ การวัดผลประเมินผล และการเทียบกับมาตรฐานชาติหรือนานาชาติก็เป็นเรื่องสำคัญ งานวิชาการถึงแม้ผิดไม่มีใครมาลงโทษ แต่ถือว่าเป็นสาระหลักของการจัดการโรงเรียนโดยรวมและเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันให้บรรลุเป้าหมายให้ได้

รัฐจึงทุ่มเทงบประมาณในการจัดการศึกษามากที่สุด เพราะคิดว่าเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติ การจัดการศึกษา เป็นเรื่องหนึ่งที่สามารถทำได้ และเป็นที่ยอมรับว่า ทำได้จริงดั่งคำกล่าวที่ว่า "การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ"และหากใครสามารถให้ความสำคัญทั้ง 4 งาน ก็ถือว่าการเป็นนิติบุคคลมีความสมบูรณ์



หมายเลขบันทึก: 608297เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2016 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2016 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท